โรคระบาดเกิดจากการทำลายธรรมชาติของมนุษย์

โรคระบาดเกิดจากการทำลายธรรมชาติของมนุษย์

จุดแบ่งเขตระหว่างพื้นที่การเกษตรกับป่าฝนในอุทยานแห่งชาติอีกวาซูในบราซิล ซึ่งได้สูญเสียพื้นที่ป่าไปจำนวนมากในรายงานสถานการณ์การตัดไม้ทำลายป่ารอบโลก ภาพถ่ายโดย FRANS LANTING, NATIONAL GEOGRAPHIC


รายงานฉบับใหม่ของ WWF เรียกร้องให้มีมาตรการระดับนานาชาติในเรื่องของการค้าสัตว์ป่า การทำลายธรรมชาติ และการทำฟาร์มแบบอุตสาหกรรม

บรรดาผู้นำจากทั้งองค์การสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก และกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) เห็นตรงกันว่า โรคระบาดเช่นไวรัสโคโรนาที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้เป็นผลมาจาก การทำลายธรรมชาติ ของมนุษยชาติ และมนุษย์เองก็ละเลยความจริงนี้เป็นระยะเวลาหลายทศวรรษ

ทั้งการค้าสัตว์ป่าในรูปแบบที่ไม่ยั่งยืนและผิดกฎหมาย รวมไปถึงการทำตัดไม้ทำลายป่ายังคงเป็นสาเหตุเบื้องหลังของโรคระบาดที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน
รายงานจาก WWF ที่เผยแพร่เมื่อวันพุธที่ผ่านมาเตือนว่า ความเสี่ยงที่โรคระบาดชนิดใหม่ๆ จะเกิดขึ้นในอนาคตมีสูงมากกว่าที่เคยเป็นมา และจะมีความวุ่นวายในเรื่องของสาธารณสุข เศรษฐกิจ และความมั่นคงปลอดภัยระดับโลก

โดยบรรดาผู้นำจากหน่วยงานเหล่านี้ได้ออกชุดคำเตือนในประเด็นนี้นับตั้งแต่ในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพกล่าวว่าในอนาคตอาจจะมีการระบาดของโรคที่อันตรายมากขึ้นหากไม่มีการหยุดการทำลายธรรมชาติอย่างเร่งด่วน

โรคระบาด, ป่าฝน, การตัดไม้ทำลายป่า
พื้นที่ป่าฝนที่ถูกทำลายเพื่อการทำฟาร์มตามเส้นทางไฮเวย์ ทรานส์-แอมะซอน การทำลายพื้นที่เช่นนี้มีส่วนในการแพร่กระจายโรคระบาดเช่นมาลาเรีย ภาพถ่ายโดย RICHARD BARNES, NAT GEO IMAGE COLLECTION

เมื่อต้นเดือนมิถุนายน ประธานด้านสิ่งแวดล้อมขององค์การสหประชาชาติและนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำกล่าวว่าโควิด-19 นั้นเหมือนเป็นสัญญาณ S.O.S สำหรับการประกอบกิจการของมนุษย์ว่าแนวคิดทางเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่ได้ตระหนักว่าความมั่งคั่งของมนุษย์ก็ขึ้นอยู่กับธรรมชาติเช่นกัน

“เราได้เห็นโรคภัยหลายชนิดเกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้ง ไวรัสซิกา, เอดส์, ซาร์ส และอีโบลา ซึ่งทั้งหมดเริ่มมาจากประชากรสัตว์ป่าที่ตกอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ถูกกดดัน” อลิซาเบธ มารูนา เมรมา หัวหน้าด้านความหลากหลายทางชีวภาพขององค์กรสหประชาชาติ, มาเรีย เนย์รา ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และ มาร์โก แลมเบอร์ตินี หัวหน้า WWF international กล่าวว่าในบทความของสำนักข่าว เดอะการ์เดียนของอังกฤษ

พื้นที่ป่า, ป่าแอมะซอน, เปรู
พื้นที่อนุรักษ์ Comunal Amarakaeri ได้รับการจัดการโดยรัฐบาลประเทศเปรูร่วมกับคนในพื้นที่ ภาพถ่ายโดย DIEGO PEREZ ROMERO

เนื่องจากไวรัสโคโรนา ‘การระบาดของไวรัสแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันไม่สมดุลที่อันตรายระหว่างเรากับธรรมชาติ’ พวกเขากล่าวและเสริมว่า “สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมการทำลายล้างที่มีต่อธรรมชาตินั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเราเอง ซึ่งถือเป็นความจริงที่เราละเลยมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ”

“เราจะต้องมีการฟื้นฟูพื้นที่ธรรมชาติ และเริ่มต้นให้คุณค่ากับธรรมชาติในฐานะรากฐานของสุขภาพที่ดีในสังคม การที่ไม่ทำเช่นนั้น หรืออีกนัยหนึ่งคือความพยายามหาเงินโดยละเลยการปกป้องสิ่งแวดล้อม ระบบสุขภาพ และเครือข่ายความปลอดภัยของสังคม อาจจะนำมาซึ่งความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ และมีค่าความเสียหายที่ต้องจ่ายตามมาอีกหลายระลอก”

ในรายงานของ WWF ได้กล่าวถึงสาเหตุที่เชื้อไวรัสแพร่กระจายจากสัตว์สู่คนคือการทำลายธรรมชาติ การทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์เพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับการค้าและบริโภคสัตว์ป่าที่มีความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรค

ป่าแอมะซอน
เขื่อนบัลบินา เป็นเชื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำ Uatumã ในพื้นที่ป่าฝนแอมะซอนของประเทศบราซิล เชื่อนแห่งนี้ทำให้เกิดเกาะ 3,546 แห่ง หลายเกาะเป็นเพียงเกาะเล็กๆ และแยกจากกันในบริเวณที่ครั้งนี้เคยเป็นพื้นที่ป่าฝนที่เชื่อมต่อกัน ภาพถ่ายโดย EDUARDO M. VENTICINQUE

อย่างไรก็ตาม การห้ามค้าสัตว์ป่าที่มีความเสี่ยงนั้นยังไม่เพียงพอ หากต้องมีการจัดการในเรื่องของการทำฟาร์มในรูปแบบอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้เราต้องเข้าไปแทรกแซงธรรมชาติ ทำให้ทั้งมนุษย์ สัตว์ในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ และสัตว์ป่าใกล้ชิดกันจนเสี่ยงในการติดโรคมากขึ้น นอกจากนี้ ทั้งการผลิตน้ำมันปาล์ม และถั่วเหลืองต่างมีส่วนที่ทำให้เกิดการทำลายป่า และบรรดานักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าการหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมถือเป็นวิธีการที่สำคัญที่ช่วยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

รายงานของ WWF กล่าวว่า ร้อยละ 60-70 ของโรคใหม่ๆ ที่อุบัติขึ้นของมนุษย์นับตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมาเกิดจากสัตว์ป่า และในช่วงเวลาเดียวกันนี้ พื้นที่ป่ากว่า 1780000 ตารางกิโลเมตรถูกทำลายไป ซึ่งคิดเป็นพื้นที่มากกว่าเจ็ดเท่าของสหราชอาณาจักร ทั้งหมดล้วนเกิดจากการทำลายพื้นที่เพื่อการเกษตรกรรมและการทำปศุสัตว์ การเปลี่ยนแปลงที่ดินเพื่อกิจกรรมการเกษตรก่อให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของโลกมากถึงร้อยละ 70

มาร์โก แลมเบอร์ตินี ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า บรรดาผู้นำโลกต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างเรากับธรรมชาติ และเราต้องมีสร้างแนวทางใหม่ระหว่างคนกับธรรมชาติ เพื่อให้ธรรมชาติฟื้นตัวภายใน 2030 ซึ่งจะเป็นการปกป้องสุขภาพและวิถีชีวิตของมนุษย์ในระยะยาว

แหล่งข้อมูล

Pandemics result from destruction of nature, say UN and WHO

Human exploitation of nature is driving pandemics like coronavirus, say UN and WHO


อ่านเพิ่มเติม โอกาสการแพร่ระบาดใหญ่ระลอกสองของ COVID-19

COVID-19

Recommend