“ในความรู้สึกของผม เราไม่ต้องมาเถียงกันหรอกว่า เราจะใช้ป่าไม้อย่างไร เพราะมันเหลือน้อยมากจนไม่ควรใช้ จึงควรจะรักษาส่วนนี้เอาไว้” – สืบ นาคะเสถียร
ไม้ใหญ่ยืนต้นตายเป็นหย่อม ๆ ท่ามกลางผืนนํ้าสีดำเวิ้งว้างในหุบเขา คือภาพจำของผมเกี่ยวกับเขื่อนเชี่ยวหลาน (หรือชื่อทางการคือเขื่อนรัชชประภา) ผมมีโอกาสเดินทางไปที่นั่นครั้งแรกในฐานะเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการของมูลนิธิ สืบ นาคะเสถียร เมื่อปี พ.ศ. 2539 พร้อมกับวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ซึ่งในเวลานั้นเป็นบรรณาธิการนิตยสาร สารคดี โดยควบตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรด้วย ครั้งนั้น เราเดินทางไปมอบเงินช่วยเหลือให้ครอบครัวเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่เพิ่งถูกยิงเสียชีวิต หลังจากที่มูลนิธิตั้งกองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า
10 ปีก่อนหน้านั้น ตอนที่ยังไม่มีเขื่อนกั้นขวางลำนํ้า “เชี่ยวหลาน” เป็นชื่อแก่งกลางนํ้าบริเวณคลองแสงที่มีนํ้าไหลเชี่ยว ตั้งอยู่ระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงและอุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นป่าดิบที่ราบตํ่าอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย และเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด พอมีการสร้างเขื่อนและกักเก็บนํ้าเมื่อ พ.ศ. 2529 ป่าสมบูรณ์ผืนนี้จึงจมอยู่ใต้บาดาลตลอดกาล และทิ้งให้สัตว์ป่าไม่น้อยกว่า 338 ชนิดต้องติดอยู่ตามเกาะแก่งน้อยใหญ่ภายในอ่างเก็บนํ้า
ในตอนนั้น สืบ นาคะเสถียร ต้องรับหน้าที่เป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าจากโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ครั้งแรกของเมืองไทย พูดได้ว่าการทำงานในคราวนั้นเป็นครั้งแรก ๆ ที่สังคมไทยเห็นสืบ นาคะเสถียร ในฐานะข้าราชการนํ้าดีที่ทำงานแบบถวายชีวิตช่วยเหลือสัตว์ป่า ผ่านทางรายการ ส่องโลก สารคดีโทรทัศน์ของสันติธร หุตาคม หรือ “โจ๋ย บางจาก” ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในเวลานั้น ภาพสืบทุ่มเทออกแรงปั๊มหัวใจกวางที่เขาช่วยไว้ไม่สำเร็จ จนต้องหลั่งนํ้าตาให้กับมัน เป็นภาพติดตาของผู้ชมทั่วประเทศที่เห็นสืบทำงานอย่างจริงจังโดยไม่คิดถึงตัวเอง
“เป็นโครงการที่โหดมาก อุปกรณ์อะไรก็ไม่พร้อมสักอย่าง พี่สืบทำงานหนักมาก เรียกว่าทำทั้งวันทั้งคืน เหมือนแข่งกับเวลา เพราะแกรู้ว่า ถ้าช้าไปวันเดียวก็จะมีสัตว์อีกมากต้องตาย” วันชัย หรือ “พี่จอบ” ตอบเมื่อผมถามถึงการอพยพสัตว์ป่าให้พ้นจากนํ้าท่วมในครั้งนั้น “จริง ๆ แกไม่มีประสบการณ์จับสัตว์แบบนี้หรอก แต่อาศัยว่าเป็นนักวิชาการ พยายามเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ แต่ที่ไม่มีใครคาดคิดจริง ๆ คือตอนที่แกใช้สวิงจับงูจงอางขึ้นมาจากนํ้า แล้วใช้มือเปล่าจับยัดเข้ากระสอบ ถ้าพลาดถูกกัดก็ตายแน่ ๆ แกพิสูจน์ความเชื่อของแกให้ทุกคนเห็นว่าสัตว์ทุกตัวมีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่จริง ๆ” พี่จอบเล่า
จากการทำงานหนักร่วมสองปี แม้โครงการอพยพสัตว์ป่าจะสามารถช่วยเหลือสัตว์ป่าได้ถึง 1,364 ตัว แต่สืบประเมินว่า โครงการนี้ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ความพยายามทั้งหมดที่ลงแรงไปแทบจะสูญเปล่า เมื่อเทียบกับผลกระทบของการสร้างเขื่อนที่มีต่อระบบนิเวศป่าไม้และสัตว์ป่าซึ่งมีถิ่นอาศัยอยู่ที่นั่น ความสะเทือนใจและประสบการณ์ตรงจากเขื่อนเชี่ยวหลานทำให้สืบผันตัวเองจากนักวิจัยสัตว์ป่ามาเป็นนักอนุรักษ์เต็มตัว และมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างเขื่อนนํ้าโจนซึ่งเป็นโครงการเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าที่กั้นลำนํ้าแควตอนบนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรีเมื่อ พ.ศ. 2531 จนกระทั่งโครงการล้มพับไป กลายเป็นชัยชนะสำคัญของขบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติในยุคนั้นที่มีนิสิตนักศึกษาร่วมเป็นแกนนำสำคัญ
งานอพยพสัตว์ป่าจากเขื่อนเชี่ยวหลาน ทำให้ผมมองเขื่อนด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป ผมตระหนักว่า เขื่อนไม่ได้มีแต่ประโยชน์อย่างที่เรียนมาตั้งแต่ประถม ภาพของสัตว์ป่าที่ต้องหนีตาย และหลายตัวเอาชีวิตไม่รอดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของบ้านที่พวกมันอยู่มาก่อนทำให้ผมและคนทั่วไปในสังคมไทยเริ่มตั้งคำถามถึงข้อดีข้อเสียของเขื่อน และผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งที่เกิดขึ้นทันทีและในระยะยาว
หลายปีต่อมา ผมได้มีโอกาสทำงานกับ ดร.โทนี ไลนัม นักวิทยาศาสตร์อาวุโสชาวออสเตรเลียของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (Wildlife Conservation Society: WCS) โทนีเคยทำงานวิจัยที่เขื่อนเชี่ยวหลานหลังจากที่เขื่อนสร้างเสร็จไม่นาน โดยศึกษาประชากรสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กตามเกาะแก่งเพื่อติดตามผลกระทบของการที่ป่าถูกแบ่งแยกออกเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อย (fragmentation) อันเนื่องจากการสร้างเขื่อน งานวิจัยชิ้นนั้นเป็นวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของเขา โทนีเขียนคำอุทิศวิทยานิพนธ์ฉบับนั้นให้กับสืบ นาคะเสถียร โดยระบุว่าเป็นนักอนุรักษ์คนไทยที่จากไปเพื่อปลุกสำนึกเรื่องการอนุรักษ์
อ่านเพิ่มเติม : สืบสานงานอนุรักษ์ของบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ สืบ นาคะเสถียร
25 ปีหลังจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน ดร.ลุค กิ๊บสัน ซึ่งในเวลานั้นเป็นนักศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ได้ลงพื้นที่ศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศในระยะยาว ผลสรุปสั้น ๆ คือการพังทลายอย่างสิ้นเชิงของระบบนิเวศ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กสูญพันธุ์เกือบทั้งหมด ส่วนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่นั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะหมดไปนานแล้วตั้งแต่สมัยสร้างเขื่อนเสร็จใหม่ ๆ ลุคและนักวิจัยคนอื่น ๆ เรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า “ความล่มสลายเชิงระบบนิเวศ” (ecological armageddon) โดยระบุว่า กระบวนการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เกิดขึ้นเร็วมากอย่างไม่น่าเชื่อ งานวิจัยชิ้นนั้นตีพิมพ์ใน Science วารสารวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดฉบับหนึ่ง และกลายเป็นข่าวพาดหัวไปทั่วโลก
งานวิจัยดังกล่าวสรุปเอาไว้ว่า เราต้องอนุรักษ์ป่าขนาดใหญ่ไว้ให้ได้ และหลีกเลี่ยงการพัฒนาที่จะนำไปสู่การแบ่งแยกป่าออกเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อย เป็นบทสรุปเดียวกับแนวคิดที่สืบ นาคะเสถียร ยึดมั่นตอนที่ยังมีชีวิตอยู่และกลายเป็นแนวทางสำคัญในการทำงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร คือการรักษาป่าผืนใหญ่ ซึ่งเป็นหลักประกันในการอนุรักษ์ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพโดยรวม
เมื่อมาถึงการเคลื่อนไหวคัดค้านเขื่อนนํ้าโจนเมื่อ พ.ศ. 2531 สังคมไทยหันมาฉุกคิดถึงต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมของการสร้างเขื่อน พอ ๆ กับได้เห็นความกล้าหาญทางจริยธรรมของข้าราชการและนักวิชาการกรมป่าไม้หลายคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้าน จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้ระงับโครงการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวในที่สุด
ตั้งแต่นั้นมา ผมรู้สึกว่าความคิดที่จะสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในผืนป่าอนุรักษ์น่าจะหมดไปแล้ว แต่หลังเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2554 โครงการเขื่อนแม่วงก์ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ก็ถูกปลุกให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันนํ้าท่วมพื้นที่ภาคกลาง เก็บนํ้าไว้ใช้หน้าแล้งและขยายพื้นที่ชลประทาน โดยแลกกับการทำลายป่าที่ราบริมนํ้าภายในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ทางตอนเหนือของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งอันเป็นหัวใจของผืนป่าตะวันตก ซึ่งจะถูกนํ้าท่วมทั้งหมดและกลายเป็นอ่างเก็บนํ้าขนาดกว่าหมื่นไร่
ทุกวันนี้ ข้อมูลทางวิชาการต่างยืนยันตรงกันว่า สัตว์ป่าในแม่วงก์กำลังฟื้นตัวจากสภาพที่เคยถูกคุกคามอย่างรวดเร็วสัตว์ป่าเริ่มกลับมาชุกชุมอีกครั้งและกระจายออกไปทั่วผืนป่าอนุรักษ์โดยรอบ ปัจจุบัน สัตว์ป่าหายากอย่างเสือโคร่ง สมเสร็จ เก้งหม้อ และนกยูง กลับมาใช้ป่าแม่วงก์เป็นบ้านของพวกมันแล้ว ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ใช่ปาฏิหาริย์ แต่เกิดจากการทำงานหนักปีแล้วปีเล่าของนักอนุรักษ์ นักวิชาการ และข้าราชการในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นการทำงานหนักที่ทำให้เริ่มเห็นดอกผลน่าชื่นใจ
การหมกเม็ดอนุมัติการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2555 ทั้ง ๆ ที่รายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมยังไม่ผ่านความเห็นชอบ กลับทำให้ผมได้เห็นความเข้มแข็งของขบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติในเมืองไทย เมื่อศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรในขณะนั้น เริ่มออกเดินเท้าจากแม่วงก์ถึงกรุงเทพมหานคร เป็นระยะทางเกือบ 400 กิโลเมตร ตลอดการเดินทาง ศศินสื่อสารความเคลื่อนไหวในแคมเปญ “กอดแม่วงก์” ผ่านทางโซเชียลมีเดียทั้งวันและทุกวัน จนได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชนอย่างคึกคักและทรงพลัง เกิดเป็นปรากฏการณ์การชุมนุมใหญ่เพื่อสิ่งแวดล้อม ณ ใจกลางกรุงในวันที่ศศินเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ อย่างที่ผมไม่เคยคิดฝันมาก่อน
ปรากฏการณ์เขื่อนแม่วงก์ในเวลานั้นย่อมแยกไม่ออกจากการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-นเรศวรที่ปะทะกับพรานล่าเสือ กับข่าวโครงการตัดถนนผ่ากลางป่าคลองลาน-อุ้มผางที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน รวมไปถึงการเผยแพร่งานวิจัยจากเขื่อนเชี่ยวหลานที่พบว่า การสร้างเขื่อนและการแบ่งผืนป่าออกเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อยนำไปสู่การล่มสลายของชนิดพันธุ์อย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ
เขื่อนแม่วงก์จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของขบวนการสิ่งแวดล้อมเมืองไทย เป็นบททดสอบสังคมไทยว่า มีวุฒิภาวะกับเรื่องของการอนุรักษ์มากน้อยเพียงใด มีฉันทามติเกี่ยวกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในทิศทางไหน และเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะหาทางออกในเรื่องนี้ด้วยกันอย่างมีเหตุมีผล
วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2560 กรมชลประทานได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอถอนรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเขื่อนแม่วงก์ ออกจากการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ เป็นการปิดฉากความพยายามผลักดันการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ครั้งล่าสุด
เรื่อง ดร.เพชร มโนปวิตร
ภาพถ่าย เอกรัตน์ ปัญญะธารา
ตั้งแต่วันที่ 1-5 กันยายน พ.ศ. 2563 National Geographic Thailand จะนำเสนอสารคดีชุด “รำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร สืบสานงานอนุรักษ์ในโลกยุคใหม่” ยาว 5 ตอน โดย ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์และนักเขียนสารคดีสิ่งแวดล้อม และถ่ายภาพโดย เอกรัตน์ ปัญญะธารา บรรณาธิการภาพ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย
โปรดติดตาม “รำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร สืบสานงานอนุรักษ์ในโลกยุคใหม่” ตอน “รักษาผืนป่าตะวันตกด้วย ความเข้าใจเรื่องระบบนิเวศ” ในวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2563
สามารถติดตามเรื่องราวฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกันยายน 2563
สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2