กุญแจสำคัญในการจัดการมหาสมุทรอย่างยั่งยืน ของชุมชนเล็ก ๆ แห่งท้องทะเลเม็กซิโก ที่เคยประสบกับการล่มสลายของอุตสาหกรรมประมง
ประวัติศาสตร์การประมงในคาบสมุทรบาฮา กาลีฟอร์เนีย (Baja California) ตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศเม็กซิโก เป็นตำนานซึ่งมีทั้งรุ่งเรืองและโรยรา ตอนที่จอห์น สไตน์เบ็ก นักเขียนชื่อดัง มาเยือนคาบสมุทรแห่งนี้เมื่อปี 1940 เขารู้สึกทึ่งกับความหลากหลายทางชีวภาพอันเหลือเชื่อ ทั้งกระเบนราหูฝูงใหญ่ ดงหอยมุก และเต่าที่มีอยู่มากมายเสียจนผู้เฒ่าผู้แก่ที่นี่เล่าว่า คุณสามารถเดินข้ามทะเลได้โดยเหยียบไปบนกระดองเต่า
แต่หลังจากหลายทศวรรษของการทำประมงเกินขนาด ภูมิภาคแถบนี้กำลังประสบกับการล่มสลายของอุตสาหกรรมประมง ในพื้นที่สองสามแห่ง ชุมชนเล็กๆเริ่มคิดหาวิธีรักษาทรัพยากร ในที่สุดแนวคิดของพวกเขาก็แพร่หลาย
จากเรื่องราวความสำเร็จที่กระจัดกระจายเหล่านี้ เราพอจะมองเห็นกฎหรือข้อกำหนดห้าข้อซึ่งถือได้ว่าเป็นกุญแจสำคัญในการจัดการมหาสมุทรอย่างยั่งยืน ข้อแรก จะเป็นการดีถ้าพื้นที่นั้นตั้งอยู่ค่อนข้างโดดเดี่ยวโดยมีชุมชนเพียงหนึ่งหรือสองแห่งใช้ประโยชน์ ข้อที่สอง ชุมชนต้องมีทรัพยากรมูลค่าสูง ผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งและมีวิสัยทัศน์เป็นข้อกำหนดข้อที่สาม ข้อที่สี่ ชาวประมงต้องมีวิธีหาเลี้ยงชีพระหว่างที่ทรัพยากรกำลังฟื้นตัว และข้อสุดท้าย ชุมชนต้องร้อยรัดอยู่ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจกัน
ในบาฮา หลายชุมชนแสดงให้เห็นความสำคัญของข้อกำหนดเหล่านี้ ตัวอย่างหนึ่งที่น่าทึ่งของทรัพยากรมูลค่าสูงสามารถเห็นและสัมผัสได้ในลากูนาซานอิกนาเซียว เลียบชายฝั่งลงไปประมาณ 30 กิโลเมตร
ย้อนหลังไปเมื่อปี 1972 ตำนานท้องถิ่นเล่าว่า ฟรันซิสโก มาโยรัล กำลังจับปลาตรงบริเวณที่เขาจับตามปกติในลากูน เขามักติดไม้พายไปด้วยเพื่อใช้ตีลำเรือเมื่อใดก็ตามที่วาฬสีเทาว่ายเข้ามาใกล้เกินไป ทุกคนคิดว่าวาฬสีเทาเป็นสัตว์อันตรายไม่นานวาฬตัวหนึ่งก็เข้ามาใกล้เรือของเขาด้วยเหตุผลที่ไม่อาจรู้ได้ มาโยรัลเอื้อมมือออกไปสัมผัสตัวมันอย่างกล้าๆ กลัวๆ วาฬเอียงตัวเข้าหาและยอมให้เขาลูบเนื้อตัวและผิวหนังเรียบนุ่มของมัน พอถึงปลายทศวรรษ 1980 มาโยรัลและชาวประมงคนอื่น ๆ ก็นำนักท่องเที่ยวไปชมวาฬคราวละหลายสิบคน
ไม่มีสถานที่ใดที่กุญแจความสำเร็จข้อที่สาม นั่นคือความจำเป็นต้องมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ จะชัดเจนมากไปกว่าในกาโบปุลโม ในช่วงทศวรรษ 1980 ที่นี่เป็นหมู่บ้านประมงซบเซาใกล้ปลายคาบสมุทรบาฮา ความที่เป็นชุมชนขนาดเล็กและยากจนเกินกว่าจะซื้อเครื่องทำน้ำแข็งมาแช่ปลา และบำรุงรักษาถนนเพื่อส่งปลาไปตลาด ในช่วงกลางทศวรรษ 1980 นักชีววิทยามาเยือนและ ให้ชาวประมงยืมหน้ากากดำน้ำ สิ่งที่เห็นคือร่องรอยความเสียหายจากสมอและก้อนปะการังที่พลิกคว่ำอยู่ทุกหนทุกแห่ง
“เราเห็นแนวปะการังเหมือนสวนของเราเอง แต่ไม่เห็นเป็นระบบนิเวศ” คูดิท กัสโตร ผู้นำชุมชน กล่าว “ชาวประมงไม่รู้ถึงความเสียหายที่พวกเขากำลังก่อขึ้น”
พอถึงช่วงต้นทศวรรษ 1990 มารีโอ พี่ชายของกัสโตร ซึ่งเป็นชาวประมงและนักดำน้ำ กับตีโต มีคาเรส เจ้าของบาร์ โน้มน้าวให้ชาวประมงสนับสนุนเขตสงวนทางทะเล พอถึงปี 1995 กิจกรรมประมงส่วนใหญ่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำในพื้นที่ 71 ตารางกิโลเมตร เกิดเป็นเขตสงวนที่ห้ามจับปลาโดยเด็ดขาดและเป็นพื้นที่เดียวในภูมิภาคที่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เขตสงวนนี้ไม่ใหญ่นัก แต่ก็พิสูจน์ให้เห็นว่า คุณไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่มากมายในการฟื้นฟูชุมชีวินในมหาสมุทร ทุกวันนี้ อุทยานแห่งชาติกาโบปุลโมมีมวลชีวภาพมากกว่าเมื่อปี 2000 สองถึงสามเท่า และเศรษฐกิจที่สดใสในปัจจุบันก็พึ่งพาธุรกิจท่องเที่ยวดำน้ำ
การอนุรักษ์จะประสบผลสำเร็จก็ต่อเมื่อชาวประมงมีวิธีสร้างรายได้ขณะที่พวกเขารอคอยให้ทรัพยากรฟื้นตัว และความพยายามในการอนุรักษ์ต้องพึ่งพาแรงงานคน ด้วยเหตุนี้ ชุมชนเอลมันกลีโตบนชะวากทะเลซึ่งเป็นแนวเขตของเมืองลาปาซจึงหันมาใช้กลยุทธ์ที่น่าสนใจ
ชาวประมงที่นี่เคยเก็บหอยกันอย่างไร้การควบคุมจากอ่าวกว้างตื้นๆทางตะวันตกของเมือง พอถึงปี 2009 มีหอยเหลืออยู่น้อยมาก แต่ด้วยการสนับสนุนทางการเงินจากโนโรเอสเตซุสเตนตาเบล องค์กรไม่แสวงกำไรในลาปาซ ชาวประมงหยุดทำประมงและเริ่มหันมาจัดการทรัพยากรของพวกเขา องค์กรนี้ว่าจ้างพวกเขาให้เฝ้าระวังผู้ลักลอบทำประมง และช่วยทำการสำรวจทางชีววิทยาเพื่อประเมินจำนวนสัตว์ทะเลมีเปลือก การสำรวจครั้งแรกประเมินว่ามีสัตว์ทะเลมีเปลือกเหลืออยู่ไม่ถึง 100,000 ตัว ทุกวันนี้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2,300,000 ตัว
“ผู้คนมักพูดกันว่า ชาวประมงเป็นคนทำลายล้างชนิดพันธุ์ต่างๆ แต่ไม่ใช่อีกต่อไปแล้วครับ ทะเลให้อะไรเรามามากแล้ว ตอนนี้เราจะให้อะไรกลับคืนบ้าง” อันโตเนียว เมนเดซ ชาวประมง บอก
ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ชาวประมงซึ่งช่วยปกป้องหรือประเมินทรัพยากรได้รับค่าจ้าง ขณะที่ประชากรสัตว์ทะเลมีเปลือกค่อยๆฟื้นตัวขึ้น การได้รับค่าจ้างเปลี่ยนพวกเขาจากชาวประมงเป็นผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อมมืออาชีพ
ข้อกำหนดข้อสุดท้ายอาจเป็นเรื่องยากสุดที่จะทำตามได้ เพื่อให้การอนุรักษ์ประสบความสำเร็จ ความสามัคคีและความไว้เนื้อเชื่อใจกันของคนในชุมชนเป็นสิ่งสำคัญ
ในชนบทของบาฮา การเชื่อใจเพื่อนบ้านอาจเป็นเรื่องหายาก แต่เป็นไปได้ที่จะสร้างขึ้น อย่างน้อยนั่นเป็นสิ่งที่องค์กรอนุรักษ์ชื่อนีปาราคาซึ่งตั้งอยู่ในลาปาซกำลังวางเดิมพัน นี
ตอนที่เริ่มทำงานในชุมชนเหล่านั้น นีปาราคาไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การจับปลา แต่ให้การสนับสนุนการแข่งขันฟุตบอล “คุณจะเริ่มสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจได้อย่างไรคะ” เอมี ฮัดสัน วีเวอร์ ผู้ประสานงานโครงการ ตั้งคำถาม “คุณน่าจะคิดประมาณว่า เจ้าหมอนี่จะเตะหน้าแข้งฉันไหม หรือเขาจะเคารพกฎไหม เขาเป็นคนที่ฉันเชื่อใจได้หรือเปล่า”
การสนับสนุนการแข่งขันฟุตบอลในเมืองเล็กๆค่อยๆสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างหมู่บ้านที่คอยปกป้องแหล่งจับปลาของตนเองอย่างหวาดระแวง ขั้นต่อไป นีปาราคาพาชาวประมงบางคนไปยังกาโบปุลโมเพื่อดูผลกระทบที่การห้ามจับปลามีต่อความอุดมสมบูรณ์ของมหาสมุทร ในที่สุด หลังการปรึกษาหารือกันเป็นเวลาหลายปี แต่ละหมู่บ้านเลือกพื้นที่เล็กๆขึ้นมา และตกลงกันว่าจะไม่จับปลาในพื้นที่นั้นเป็นเวลาห้าปี พื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดมีเนื้อที่ประมาณ 7.5 ตารางกิโลเมตร แต่นี่คือจุดเริ่มต้น
เรื่อง เอริก แวนซ์
ภาพถ่าย ทอมัส พี. เพสแชก
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : ฉลาดและกระเบนทั่วโลกกำลังเสี่ยงสูญพันธุ์