พิทักษ์อุทยานแห่งแอฟริกา

พิทักษ์อุทยานแห่งแอฟริกา

เพื่อช่วยชีวิตสัตว์ป่าอันเป็นสัญลักษณ์ของทวีปแห่งนี้จากการลักลอบล่า และภัยคุกคามอื่นๆ โดยมนุษย์ องค์กรอนุรักษ์แห่งหนึ่งบริหาร อุทยานแห่งชาติแอฟริกา ที่เสื่อมโทรมราวกับธุรกิจที่กําลังล่มสลายซึ่งจําเป็นต้องได้รับ การบริหารจัดการรูปแบบใหม่ และประสบผลสําเร็จ

อาคารที่ทำการอุทยานแห่งชาติซาคูมาทางตะวันออกเฉียงใต้ ของประเทศชาด  เป็นโครงสร้างสีทราย  มีเชิงเทินกลมขอบหยักที่ทำให้ดูคล้ายป้อมปราการเก่าแก่  ด้านนอกประตูที่เปิดเข้าสู่ศูนย์ควบคุมและสั่งการบนชั้นสองมีภาพปืนไรเฟิลคาลาชนิคอฟในวงกลมสีแดงและแถบคาดแขวนอยู่  เป็นการบอกว่า  ห้ามนำอาวุธเข้าไปในห้อง

ปืนคาลาชนิคอฟมีใช้กันอย่างแพร่หลายในซาคูมา  เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทุกคน พกปืนชนิดนี้  ผู้บุกรกซึ่งมาล่าสัตว์ป่าก็เช่นกัน หมู่ต้นอะเคเซียให้ร่มเงาแก่กลุ่มอาคาร  รถแลนด์ครูสเซอร์แล่นเข้าออก  ห่างออกไปไม่กี่ก้าว  ช้างหลายตัวดื่มนํ้าจากสระ  แม้พวกมันจะดูผ่อนคลายระหว่างอยู่ที่นี่  ซึ่งใกล้เสียงอึกทึกครึกโครมของที่ทำการอุทยานมาก  แต่พวกมันก็ไม่เชื่อง  พวกมันระวังตัวแต่กระหายนํ้า

อุทยานแห่งชาติแอฟริกา, คองโก, ป่าไม้, อุทยานแห่งชาติ, แอฟริกา
อุทยานแห่งชาติกาแรมบา สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ผืนป่าและทุ่งหญ้าสะวันนา ในกาแรมบาแบนราบเสียจนกระทั่งผืนดินซึ่งยกตัวสูงขึ้นเล็กน้อยที่เรียกว่า เมานต์บากุนดา  ใช้เป็นจุดสังเกตการณ์ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าได้  ทีมเจ้าหน้าที่สามารถเฝ้าระวังไฟป่า  ตรวจตราพรานลักลอบล่า สัตว์  และถ่ายทอดข่าวสาร สู่ฐานที่มั่นได้อย่างทันท่วงที

ซาคูมาซึ่งมีสถานะอุทยานแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 1963  เป็นเขตสงครามสำหรับช้างเป็นช่วงๆ  ย้อนหลังไปห้าสิบปีก่อน  ทั่วชาดอาจมีช้างมากถึง 300,000 ตัว  แต่นับจากกลางทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา  จำนวนดังกล่าวลดลงอย่างฮวบฮาบ  เนื่องจากถูกพวกลักลอบล่าสัตว์ที่มีอาวุธครบมือฆ่าไปเป็นจำนวนมาก  จนกระทั่งซาคูมากลายเป็นแหล่งพักพิงที่ไม่ปลอดภัยสำหรับช้างซึ่งเหลืออยู่มากที่สุดประมาณ 4,000 ตัว

จากนั้นในช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษนี้  ประชากรช้างในซาคูมาถูกฆ่าไปกว่าร้อยละ 90  ส่วนใหญ่โดยกองกำลัง กึ่งทหารชาวซูดานที่ขี่ม้าเข้ามาโจมตีจากทางตะวันออกเพื่อเอางาช้าง โจรเหล่านี้รู้จักกันในชื่อ จันจาวีด (Janjaweed)  ซึ่งเป็นคำภาษาอาหรับแปลคร่าวๆ ได้ว่า “ปีศาจบนหลังม้า”

อุทยานแห่งชาติแอฟริกา, ทหาร, เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า
อุทยานแห่งชาติซาคูมา ชาด การฝึกยิงปืนประกอบการเคลื่อนที่ด้วยกระสุนจริง เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ ซาคูมา  เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ซึ่งแอฟริกันพาร์กส์บริหารจัดการ  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  ปีเตอร์ เฟิร์นเฮด  ปฏิเสธคำกล่าวที่ว่า  เอพีคือ “องค์กรที่มีความเป็นทหารสูง”  แต่บอกว่า  มีการบังคับใช้กฎหมายอย่าง “เข้มงวดที่สุด”

แม้บางคนจะขี่อูฐ  พวกเขาสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มชนเร่ร่อนชาวอาหรับผู้ชํ่าชองด้านการขี่ม้าซึ่งเคยติดอาวุธและมีรัฐบาลซูดานหนุนหลัง  แล้วกลายมาเป็นกองกำลังที่โจมตีอย่างอำมหิตระหว่างความขัดแย้งในดาร์ฟูร์  ต่อมาจึงเป็นกองโจรอิสระที่กระหายงาช้าง  ช่วงหนึ่งดูเหมือนพวกเขาน่าจะ ฆ่าช้างทุกตัวในชาด

ต่อมาในปี 2010  ด้วยคำเชิญจากรัฐบาลชาด  องค์กรเอกชนชื่อ แอฟริกันพาร์กส์  หรือเอพี (African Parks: AP) เข้าบริหารจัดการอุทยานซาคูมา  แล้วแนวโน้มดังกล่าวก็สิ้นสุดลงทันที  เอพีซึ่งดำเนินงานไม่แสวงกำไร ก่อตั้งขึ้นในปี 2000  โดยนักอนุรักษ์กลุ่มเล็กๆ ที่กังวลเรื่องการสูญเสียสัตว์ป่าในแอฟริกาอย่างมากมาย  ทำสัญญากับรัฐบาลประเทศต่างๆ  เพื่อฟื้นฟูและบริหารอุทยานแห่งชาติ โดยมีเงื่อนไขว่า  เอพีจะเข้าควบคุมการบริหารจัดการพื้นที่ อย่างเบ็ดเสร็จ

อุทยานแห่งชาติแอฟริกา, คองโก
อุทยานแห่งชาติกาแรมบา สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าของสถาบัน เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติแห่ง คองโก (ไอซีซีเอ็น) ลงจากเฮลิคอปเตอร์ของเอพี  เพื่อต่อกรกับพรานลักลอบล่าสัตว์ที่คุกคามช้าง  นี่ไม่ใช่การฝึกซ้อม พรานลักลอบล่าสัตว์สองคน เสียชีวิตจากการยิงต่อสู้กัน ส่วนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าหนึ่งคนได้รับบาดเจ็บ  ไม่มีช้างถูกฆ่า  เอพีทำงานร่วมกับไอซีซีเอ็นเพื่อปกป้องกาแรมบา

ปัจจุบันเอพีบริหารจัดการอุทยาน 15 แห่งในเก้าประเทศ  โดยนำแหล่งเงินทุนจากภายนอก  การดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และการบังคับใช้กฎหมาย อย่างเข้มงวด  เข้ามาในพื้นที่ธรรมชาติที่ประสบปัญหามากที่สุดหลายแห่งของแอฟริกา

ที่ซาคูมา การบังคับใช้กฎหมายใช้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าติดอาวุธที่มีประสิทธิภาพและได้รับการฝึกฝนอย่างดีกว่า 100 นาย  เป็นผู้ปฏิบัติ  ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ชาย  แต่ก็มีเจ้าหน้าที่หญิงด้วย  โดยวางกำลังผ่านปฏิบัติการที่มีการประสานงานและวางกลยุทธ์อย่างซับซ้อน

ลีออน  แลมเพรชต์ ชาวแอฟริกาใต้ผู้เติบโตในอุทยานแห่งชาติครูเกอร์  ซึ่งพ่อของเขาเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่นั่น  เป็นผู้จัดการอุทยานซาคูมาของเอพี “เราไม่ใช่องค์กรทางการทหารครับ”  แลมเพรชต์บอกขณะแสดงอาวุธนานาชนิดและเครื่องกระสุนในคลังแสง ซึ่งเป็นโรงเก็บของที่ลั่นกุญแจไว้ที่ชั้นล่างของที่ทำการ “เราเป็นองค์กรอนุรักษ์ที่ฝึกเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าสำหรับ ปฏิบัติการกึ่งทหารครับ”

ปีเตอร์  เฟิร์นเฮด  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแอฟริกันพาร์กส์และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง  ไม่ชอบความคิดที่ว่าองค์กรของเขามีความเป็นทหารอยู่มาก  แต่ระหว่างพูดคุยกันทางโทรศัพท์ เขายังคงยํ้าถึงความจำเป็นของการรักษาความปลอดภัยในอุทยานด้วยอาวุธที่มีประสิทธิภาพ  ไม่ใช่เพียงเพื่อคุ้มครองสัตว์ป่า  แต่ยังเพื่อปกป้องผู้คนในชุมชนใกล้เคียงซึ่งมีโอกาสถูกปีศาจบนหลังม้าปล้นฆ่าและข่มขืนในอนาคต  “ชาวบ้านยอมรับว่า  อุทยานนี่เอง ที่นำความมั่นคง  ความปลอดภัย  และสวัสดิภาพมาให้ พวกเขา”  เฟิร์นเฮดกล่าว

อุทยานแห่งชาติแอฟริกา
อุทยานแห่งชาติเพนด์จารี เบนิน ในเขตกันชนซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์สารพัดติดกับเพนด์จารี  ทะเลสาบตื้นๆ นี้ เปิดให้คนท้องถิ่นจับปลาได้ ปีละหนึ่งหรือสองครั้ง  ชาวบ้านยังปลูกฝ้าย  เก็บฟืน  และเผาถ่านในเขตกันชน  ฝ่ายบริหารจัดการอุทยานทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อจำกัดผลกระทบ เช่น  ให้สิ่งจูงใจเพื่อแลกกับ การปลูกฝ้ายอินทรีย์

แลมเพรชต์วาดแผนภูมิรูปพีระมิดแสดงลำดับชั้นของงานในความรับผิดชอบของแอฟริกันพาร์กส์ให้ผมดูแล้วอธิบายว่า  คุณสร้างฐานพีระมิดด้วยการบังคับใช้กฎหมายโครงสร้างพื้นฐาน  เจ้าหน้าที่ที่ไว้ใจได้  หรือเรียกทั้งหมดนี้ว่า “ความมั่นคงในพื้นที่”  หลังจากนั้น  คุณค่อยขยับขึ้นด้านบน  ได้แก่  การพัฒนาชุมชนสำหรับคนท้องถิ่น การท่องเที่ยว  และงานวิจัยทางนิเวศวิทยา

ฐานบัญชาการของความพยายามนี้อยู่ที่ศูนย์ควบคุมและสั่งการที่ซึ่งข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับตำแหน่งของช้าง  และกิจกรรมใดๆของมนุษย์ที่สร้างปัญหา  เช่น  การตั้งแคมป์ตกปลา อย่างผิดกฎหมาย  การยิงปืน  โจรบนหลังม้าติดอาวุธหนึ่งร้อยคนควบม้ามาทางอุทยาน  ถูกนำมาพิจารณาเพื่อส่งเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าออกไปปฏิบัติงาน  ที่มาของข้อมูลมีทั้งที่ได้จากการบินลาดตระเวน  การเดินเท้าสำรวจ  ปลอกคอ จีพีเอสบนตัวช้าง  และวิทยุพกพาในมือสายข่าวที่เชื่อใจได้ตามหมู่บ้านรอบอุทยาน

อุทยานแห่งชาติแอฟริกา, สิงโต
อุทยานแห่งชาติเพนด์จารี เบนิน สิงโตกลุ่มสุดท้ายในแอฟริกาตะวันตกอยู่ในประชากรย่อยที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง และสิงโตหนุ่มตัวนี้เป็นหนึ่งในประมาณ 100 ตัวที่เพนด์จารี  อุทยานซึ่งทอดตัวไปตามพรมแดนทางทิศเหนือของเบนินแห่งนี้ช่วยจัดตั้ง ระบบอุทยานสามประเทศ ซึ่งองค์การยูเนสโกเรียกว่า ผืนป่าดับเบิลยู-อาร์ลี- เพนด์จารี  อุทยานนี้เป็นเกาะแห่งความหวังสำหรับสัตว์ป่าในแอฟริกาตะวันตก

แม้จะต้องเผชิญความสูญเสียเจ้าหน้าที่ในการปะทะ เอพีก็หยุดยั้งการหลั่งเลือดของช้างลงได้ นับตั้งแต่ปี 2010  มีช้างถูกฆ่าเพียง 24 ตัว  และไม่มีการสูญเสียงาช้างเลย  จันจาวีด ถูกผลักดันออกไปยังเป้าหมายที่อ่อนแอกว่าในพื้นที่อื่น  อย่างน้อยก็ชั่วคราว  และหลังจากถูกคุกคามและอยู่อย่างหวาดกลัวมานานหลายทศวรรษ  ช้างในซาคูมากลับมาให้กำเนิดลูกช้างอีกครั้ง  ประชากรช้างในปัจจุบัน  รวมลูกช้างด้วยมีอยู่ราว 150 ตัว  นับเป็นสัญญาณของความสมบูรณ์และความหวัง

การให้ความสำคัญกับกองกำลังเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ากึ่งทหารยังทำให้เอพีมีปัญหาละเอียดอ่อนอย่างที่สอง นั่นคือ ความรับผิดชอบต่อกองกำลังติดอาวุธดังกล่าว “รูปแบบของเราทำให้เรารับผิดชอบต่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโดยตรง  พวกเขาเป็นคนของเราค่ะ”  มาร์เกตา  อันโตนิโนวาบอกผม  เธอผู้นี้เกิดในสาธารณรัฐเช็ก  ได้รับการศึกษาในกรุงปราก  และทำงานกับเอพีมานานกว่าหนึ่งทศวรรษ ล่าสุดอันโตนิโนวาทำหน้าที่เป็นผู้จัดการโครงการพิเศษของ เอพีที่อุทยานแห่งชาติเพนด์จารีทางตอนเหนือของเบนิน  โดยรับผิดชอบเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายและงานวิจัย

ช้างแอฟริกา
อุทยานแห่งชาติซาคูมา ชาด ในช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษนี้  อุทยานทางตะวันออกเฉียงใต้ของชาดแห่งนี้  สูญเสียช้างไปกว่าร้อยละ 90  โดยส่วนใหญ่สังเวยให้แก่กองโจรบนหลังม้า (จันจาวีด) จากซูดาน เอพีเข้าควบคุมการบริหาร จัดการในปี2010  ปัจจุบัน ช้างรู้สึกปลอดภัยมากพอที่จะกระจายพันธุ์ออกไปกว้างไกลขึ้นและให้กำเนิดลูกมากมาย

เธอบอกผมว่า  เอพีว่าจ้างเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโดยตรง  และรับผิดชอบทุกอย่างที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเหล่านั้นทำเพนด์จารีเป็นแหล่งพักพิงสำคัญแห่งสุดท้ายในแอฟริกาตะวันตกของช้างและสิงโต ที่นี่เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าข้ามพรมแดนซึ่งรวมอุทยานที่อยู่ติดกันในบูร์กินาฟาโซและไนเจอร์  และพื้นที่คุ้มครองเพนด์จารี (เช่นเดียวกับระบบ นิเวศกาแรมบา) รวมเขตกันชนที่เลาะเลียบชายขอบทางทิศใต้และตะวันออกซึ่งคนท้องถิ่นได้รับอนุญาตให้ล่าสัตว์ได้

จากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ได้รับการฝึกมาอย่างกระท่อนกระแท่นแค่ 15 คน  กำลังพลที่เพนด์จารีเติบโตเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่เข้มแข็งประมาณ 100 คน พอหมดฤดูแล้ง  อุทยานแห่งชาติกาแรมบาจะเฉลิมฉลองวัน เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า (Ranger Day) ปีละหนึ่งครั้ง  เทศกาลนี้ประกอบด้วยการแสดงศิลปะการต่อสู้  และการยกย่องผู้ที่รับผิดชอบในการปกป้องสัตว์ป่าและความสงบเรียบร้อยของอุทยาน  ปีนี้  วันงานเริ่มต้นอย่างอบอุ่นและสดใส  เรามารวมตัวกันที่ลานสวนสนามในช่วงสาย  ขณะผู้ทรงเกียรติและแขกนั่งประจำที่ในเต็นท์  ส่วนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า 100 คนยืนประจำตำแหน่งในท่าพักอยู่กลางลาน

ชาด, ประเทศชาด, อุทยานแห่งชาติแอฟริกา, เสาหิน
เขตสงวนเอนเนดี ชาด ลึกเข้าไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลทรายสะฮารา  หมู่เสาหินทรายเหนือที่ราบสูงเอนเนดี ช่วยปกป้องแอ่งนํ้า พืชพรรณโอเอซิส  สัตว์ป่า และภาพจำหลักโบราณบนผนังหุบผาชัน  องค์กรอนุรักษ์ชื่อ แอฟริกันพาร์กส์ (เอพี)  รับผิดชอบการบริหารจัดการเขตสงวนธรรมชาติและวัฒนธรรมเอนเนดี  โดยร่วมมือกับรัฐบาลชาด

จอห์น  แบร์เรตต์  ผู้จัดการทั่วไปของกาแรมบา  พูดภาษาฝรั่งเศสเร็วๆ ด้วยนํ้าเสียงที่ยกย่องเหล่าผู้กล้าทั้งในอดีตและปัจจุบัน  “เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า 19 คนเสียชีวิต ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ที่นี่  วันนี้เราจะไว้อาลัยให้พวกเขา” จอห์น  สแกนลอน  ผู้แทนพิเศษของเอพี  ซึ่งทำหน้าที่คล้ายทูตในระดับโลกขององค์กร  พูดถึงการพัฒนาชุมชนใกล้เคียงอย่างยั่งยืน  และความจำเป็นในการต่อต้านการ ลักลอบล่าสัตว์อย่างเอาจริงเอาจัง  โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด

ขณะเราออกจากงาน  เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ายังคงต่อสู้อย่างกล้าหาญในสภาวะที่เต็มไปด้วยอุปสรรค  ซึ่งเป็นเช่นนั้นเสมอมา

เรื่อง เดวิด ควาเมน

ภาพ เบรนต์ สเตอร์ตัน


อ่านเพิ่มเติม การอนุรักษ์ : ความหวังใหม่ในโกรองกอซา

การอนุรักษ์

Recommend