เคราะห์ร้ายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการทรุดตัวของแผ่นดินที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ริมชายฝั่งกำลังพบเจอกับภาวะ ระดับน้ำทะเล ที่สูงขึ้นอย่างรุนแรง
ผู้คนที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่ชายฝั่งแห่งต่างๆ ของโลกกำลังพบเจอการเพิ่มขึ้นของ ระดับน้ำทะเล ที่เกินกว่าจะรับได้ อันเป็นผลมาจากการที่พวกเขาอาศัยรวมกันอย่างหนาแน่นในพื้นดินที่กำลังจมอย่างรวดเร็ว ตามงานศึกษาที่เผยแพร่ในวารสาร Nature Climate Change เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ระดับน้ำทะเลกำลังสูงขึ้นทั่วโลกเนื่องจากการละลายของแผ่นน้ำแข็งโลก และการขยายตัวของผืนน้ำทะเลที่อบอุ่น (warming sea water) ส่วนในระดับท้องถิ่น พื้นที่ทรุดตัว หรือพื้นที่ที่กำลังจมก็ได้ซ้ำเติมปัญหาให้รุนแรงขึ้นอีก เมืองใหญ่หลายเมือง เช่น นิวออร์ลีนส์ในสหรัฐฯ หรือจาการ์ตาในอินโดนีเซียกำลังเจอปัญหาระดับน้ำทะเลที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับระดับชายฝั่ง-หรือภาวะที่แผ่นดินกำลังจมเนื่องจากระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น
ขณะนี้ ทีมนักวิจัยนานาชาติแสดงให้เห็นว่าสองสถานการณ์ที่เชื่อมโยงกันนี้เป็นมากกว่าปัญหาของแต่ละท้องถิ่น พื้นดินที่กำลังจมทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งรอบโลกอยู่ในภาวะเสี่ยงจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น โดยพวกเขาต้องพบเจอกับอัตราการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลมากกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก 3 ถึง 4 เท่า
“สิ่งที่เรากำลังพูดถึงไม่ใช่การคาดการณ์ เรากำลังพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในวันนี้” Robert Nicholls ผู้นำงานศึกษาจากศูนย์วิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทินดัลล์ มหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย (University of East Anglia) สหราชอาณาจักร กล่าว
แต่ยังมีข่าวดี นั่นคือ พื้นที่ชายฝั่งที่กำลังจมส่วนใหญ่นั้นเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่นการขุดเจาะน้ำบาดาลมาใช้ ซึ่งบรรดาเมืองชายฝั่งสามารถทำบางอย่างเพื่อแก้ปัญหาได้
จากปัญหาท้องถิ่นสู่ระดับโลก
ปัจจัยบางประการที่ส่งผลต่อการลดลง (หรือเพิ่มขึ้น) ของพื้นที่ชายฝั่งบนโลกนั้นอยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์ พื้นที่บางส่วนของโลกกำลังปรับตัวกับภาวะการสูญหายของธารน้ำแข็งที่เคยห่มคลุมพื้นที่ในยุคน้ำแข็งครั้งหลังสุด (last ice age) ซึ่งทำให้เกิดพื้นที่น้ำผุดขึ้นในบางพื้นที่และไปจมพื้นดินแห่งอื่น ส่วนในพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำชายฝั่งหลายแห่งก็กำลังลดลงเนื่องจากตะกอนดินที่ทับถมกำลังถูกบีบอัด (ให้เล็กลง) อย่างช้าๆ
แต่นอกเหนือไปจากกระบวนการทางธรรมชาติแล้ว กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ เช่นการขุดเจาะน้ำบาดาล น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ การขุดเหมืองทราย และการสร้างแนวกั้นน้ำท่วม (flood barriers) รอบแม่น้ำ ล้วนเป็นสาเหตุให้พื้นดินจมลง แม้การป้องกันน้ำท่วมนั้นเป็นสิ่งที่ดีในตัวเอง แต่ก็ทำให้แม่น้ำหยุดการแพร่ตะกอนดินซึ่งเป็นสร้างพื้นดินใหม่อย่างช้าๆ เช่นกัน
เพื่อที่จะคาดการณ์อัตราการเพิ่มขึ้นของน้ำทะเลในชายฝั่งนับพันแห่งทั่วโลก Nicholls และทีมงานได้รวบรวมข้อมูลหลักๆ จากทั้งดาวเทียมสำรวจภูมิอากาศ-ซึ่งเป็นตัวเพิ่มภาวะน้ำทะเลสูงขึ้น, แบบจำลองที่คาดการณ์ว่าแผ่นดินเปลี่ยนไปอย่างไรจากยุคน้ำแข็งครั้งหลังสุด, ข้อมูลการทรุดตัวตามธรรมชาติของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำกว่า 117 แห่ง และค่าประมาณการของแผ่นดินที่ทรุดตัวเนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ใน 138 เมืองใหญ่
ผลลัพธ์ที่ค้นพบนั้นน่าทึ่ง การคาดการณ์จากดาวเทียมได้ระบุว่าภูมิอากาศก่อให้เกิดระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นประมาณ 3.3 มิลลิเมตรต่อปี Nicholls และทีมงานพบว่า ในช่วงระหว่างปี 1993-2015 โดยเฉลี่ยแล้วพื้นที่ชายฝั่งของโลกมีระดับที่ต่ำลงกว่านี้เล็กน้อย หรืออยู่ที่ราว 2.6 มิลลิเมตรต่อปี เนื่องจากแผ่นดินจำนวนมากยังคงสูงขึ้นเนื่องจากการฟื้นคืนตัวของธารน้ำแข็ง (glacial rebound) แต่นั่นไม่ใช่สถานที่ซึ่งคนส่วนมากของโลกอยู่อาศัย ในช่วงเวลาเดียวกัน ผู้ที่อาศัยอยู่พื้นที่ชายฝั่งได้พบเห็นปรากฏการณ์น้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 7.8 ถึง 9 มิลลิเมตรต่อปี
ผู้เขียนงานวิจัยกล่าวว่า สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความจริงว่าผู้ที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งกำลังรวมตัวอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในพื้นที่ที่ทรุดตัว รวมไปถึงดินดอนสามเหลี่ยมแม่น้ำและเมืองชายฝั่งที่กำลังจม ปัญหานี้เห็นได้ชัดเจนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิภาคซึ่งในปี 2015 ประชากรกว่า 185 ล้านคนอาศัยอยู่ในที่ราบน้ำท่วมขัง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 75 ของประชากรโลก ผู้คนที่อาศัยอยู่นี้ต้องพบเจอทั้งภัยน้ำท่วมที่เกิดจากแม่น้ำและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น
หากการทรุดตัวของแผ่นดินยังดำเนินต่อไปในอัตราที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ผู้คนที่อาศัยอยู่พื้นที่ชายฝั่งอาจตกอยู่ในภาวะเสี่ยงในอีก 2-3 ทศวรรษข้างหน้า และจากการคาดการณ์การเติบโตของจำนวนประชากรเพียงอย่างเดียวทำให้เกิดจำนวนผู้คนที่อาศัยอยู่ในที่ราบน้ำท่วมขังริมชายฝั่งเพิ่มขึ้นจาก 249 ล้านคนในปี 2015 ไปยัง 280 ล้านคนในปี 2050 ตามข้อมูลของงานศึกษา การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลที่เกิดจากภูมิอากาศจะทำให้ผู้คนราว 25 ถึง 30 ล้านคนอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ยิ่งไปกว่านั้น เมืองที่กำลังอยู่ในภาวะทรุดตัวก็มีผู้คนที่ต้องอาศัยอยู่พื้นที่น้ำท่วมเพิ่มขึ้นอีก 25 ถึง 40 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม Harold Wanless ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล แห่งมหาวิทยาลัยไมอามี เตือนว่าข้อมูลตัวเลขนี้อาจไม่แม่นยำพอที่จะใช้คาดการณ์ว่าอัตราการทรุดตัวที่สูงของแผ่นดินในเมืองในปัจจุบันจะดำเนินต่อไปจนถึงช่วงกลางศตวรรษนี้
“ยกตัวอย่างเช่นที่เซี่ยงไฮ้ ก็มีความพยายามที่จะจำกัดสภาวะนี้” Wanless กล่าวในอีเมล์ และเสริมว่า การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในอีก 30 ปีข้างหน้าจะก่อให้เกิดการอพยพบางส่วนในเมืองที่อยู่ในระดับต่ำเหล่านี้
กลยุทธ์การปรับตัวต่อภาพอากาศ
แน่นอนว่า ความหมายโดยนัยที่ได้จากงานศึกษานี้คือ บรรดาเมืองชายฝั่งทั่วโลกต้องทำกระบวนการที่จะจำกัดการทรุดตัวของเมืองโดยทันที ก่อนที่ผลจากภาวะแผ่นดินทรุดตัวและน้ำทะเลที่สูงขึ้นจะบีบให้ผู้อาศัยที่ละทิ้งแผ่นดินของพวกเขาไป
สำหรับในหลายๆ เมือง Nicholls กล่าวว่า รากฐานของปัญหาคือการขุดเจาะน้ำบาดาล ซึ่งทำให้ตะกอนในชั้นหินอุ้มน้ำบีบอัดกันแน่นจนพื้นดินด้านบนทรุดตัวลงมา อันเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองเซี่ยงไฮ้มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1920 และได้มีการจัดการปัญหาดังกล่าวผ่านการจัดการน้ำบาดาล เช่นเดียวกับกรุงโตเกียวที่บางส่วนของเมืองจมไปเกือบ 4 เมตร ในช่วงศตวรรษที่ 20 เนื่องจากการลดลงของน้ำบาดาล ในปัจจุบัน โตเกียวได้จัดการปัญหาแผ่นดินทรุดตัวผ่านข้อบังคับการสูบน้ำบาดาลที่เข้มงวด
“หน่วยงานส่วนท้องถิ่นในทุกที่ต้องเข้าใจสถานการณ์ของตัวเอง” Arnoldo Valle-Levinson นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลและวิศวกรชายฝั่งแห่งมหาวิทยาลัยฟลอริดา ผู้ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัย กล่าวและเสริมว่า งานศึกษานี้ได้ให้ “วิธีการที่ดีในการเตือนบรรดาเมืองชายฝั่งว่าไม่ควรใส่ใจแค่สถานการณ์การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเนื่องจากสภาพภูมิอากาศเท่านั้น” และเขากล่าวว่า แต่ละพื้นที่ต้องมีกลยุทธ์ในการปรับตัวตามความท้าทายของปัญหาที่พบเจอในแต่ละพื้นที่
ด้าน Nicholls เห็นด้วยว่าการทำความเข้าใจและกล่าวถึงปัญหาของท้องถิ่นซึ่งก่อให้เกิดปัญหาแผ่นดินทรุดตัวเป็นเรื่องสำคัญ แต่เขาก็หวังว่า การระบุกรอบปัญหาเรื่องการทรุดตัวของอสังหาริมทรัพย์ชายฝั่งถือเป็นประเด็นในระดับโลก และงานศึกษาชิ้นใหม่นี้จะสนับสนุนให้เกิดการแบ่งปันความรู้ระหว่างภูมิภาคในเรื่องการพัฒนากลยุทธ์เพื่อบรรเทาปัญหานี้ให้ประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับการพิจารณาประเด็นปัญหานี้โดยผู้กำหนดนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศ
“คุณสามารถคิดถึงการบรรเทาปัญหาการทรุดตัวของแผ่นดินเช่นเดียวกับการบรรเทาปัญหาด้านภูมิอากาศ” Nicholls กล่าวและเสริมว่า “นั่นคือ เราไม่ควรแก้ปัญหาแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ทำทั้งสองอย่างไปเลยครับ”