“แม่น้ำสายใหญ่ ไหลจากเทือกเขาลงสู่ทะเล ข้าคือแม่น้ำ แม่น้ำคือข้า”
ด้วยคำกล่าวนี้ ชนเผ่าเมารีแห่งฟังกานุยในนิวซีแลนด์ประกาศสายสัมพันธ์ที่ไม่อาจตัดขาด ของตนกับแม่น้ำที่เปรียบดังบรรพชน แม่น้ำสายนี้เกิดจากทุ่งหิมะของภูเขาไฟสามลูกทางตอนกลางของเกาะเหนือ ชนเผ่าเมารีกลุ่มต่างๆ มีตำนานเล่าขานว่า น้ำตาหยดหนึ่งของนภบิดรหรือเทพแห่งท้องฟ้าตกลงสู่ตีนเขาลูกที่สูงที่สุดในบรรดาขุนเขาเหล่านี้ นั่นคือภูเขารัวพีฮูอันโดดเดี่ยว และแม่น้ำสายนี้จึงถือกำเนิดขึ้น
แม่น้ำที่เอ่อท้นเพราะได้น้ำจากแควมากมายไหลคดเคี้ยวดุจปลาไหลแหวกว่ายผ่านแดน แห่งขุนเขา ตลอดระยะทาง 290 กิโลเมตรสู่ทะเล หากเดินทางตามถนนสูงชันเลียบแม่น้ำสายนี้ เราจะเห็นนักพายเรือแคนูลอยล่องไปตามช่วงที่นิ่งสงบของแม่น้ำ เป็นหนึ่งเดียวกับกระแสน้ำ กิ่งไม้ใบไม้ และฟองคลื่นขาว ก่อนจะจ้วงไม้พายลึกทะยานผ่านช่วงที่สายน้ำเชี่ยวกราก
นี่คือแม่น้ำที่ชนพื้นเมืองแห่งฟังกานุยควบคุม ดูแล และพึ่งพามากว่า 700 ปี นี่คือ อาวาทูพัว แม่น้ำแห่งพลังศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา แต่เมื่อผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยุโรปมาถึงในช่วงกลางศตวรรษที่สิบเก้า อำนาจตามประเพณีของชนเผ่าต่างๆก็ถูกลดทอน และท้ายที่สุดก็สูญสิ้นไปด้วยกฎหมายของรัฐบาล
นับแต่นั้น ชนพื้นเมืองได้แต่เฝ้ามองแม่น้ำของพวกเขาทรุดโทรมและถูกย่ำยี แก่งน้อยใหญ่ ถูกระเบิดเพื่อเปิดร่องน้ำให้เรือกลไฟของนักท่องเที่ยวแล่นได้สะดวกขึ้น และเปิดทางสู่การยึดครองที่ดินที่อยู่ลึกเข้าไป กรวดก้นแม่น้ำถูกขุดไปทำหินโรยทางรถไฟและทำถนน
ที่น่าเศร้าที่สุดคือน้ำจากต้นน้ำถูกผันไปยังพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ที่ขยายตัว ทำให้กระแสน้ำตามธรรมชาติในลำน้ำตอนบนแห้งเหือด ซึ่งถือเป็นการดูหมิ่นทางวัฒนธรรมอย่างถึงแก่น เพราะตามคติความเชื่อของเมารี หัวคือส่วนศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของบุคคล และสำหรับพวกเขา แม่น้ำสายนี้คือบุคคล เป็น ทูพูนา หรือบรรพบุรุษคนหนึ่งจริงๆ
แต่เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ปี 2017 เกิดเรื่องน่าทึ่งเรื่องหนึ่ง เมื่อนิวซีแลนด์ออกกฎหมายยอมรับ สิ่งที่ชาวเมารียืนหยัดมาตลอด นั่นก็คือ แม่น้ำสายนี้เป็นสิ่งมีชีวิต รัฐสภาผ่านกฎหมายที่ประกาศว่า “เทอาวาทูพัว” แม่น้ำทั้งสายและองค์ประกอบที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมทั้งหมดเป็นชีวิตหนึ่ง ที่สมบูรณ์ มิอาจแบ่งแยกได้ และดังนั้นจึงมี “สิทธิ อำนาจ หน้าที่ และความรับผิดทั้งปวงเฉกเช่น บุคคลตามกฎหมาย”
นี่ไม่ได้เป็นกฎหมายเพียงฉบับเดียว จากตัวอย่างของฟังกานุย พื้นที่ป่า ทะเลสาบ และแม่น้ำรวม 2,127 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเดิมเป็นอุทยานแห่งชาติเทอูเรวีราก็ได้สถานะบุคคลตามกฎหมายเช่นกัน และอีกไม่นาน ภูเขาทารานาคีจะได้รับสถานะบุคคลเป็นลำดับสาม
ประเทศอื่นๆก็มีความพยายามมอบสิทธิตามกฎหมายให้ธรรมชาติ รวมถึงแม่น้ำคงคาและยมุนา อันศักดิ์สิทธิ์ของอินเดีย ด้วยแนวคิดริเริ่มใหม่เหล่านี้ คำถามแรกสุดในใจหลายคนก็คือ เครื่องมือทางกฎหมายเช่นนั้นจะมีเขี้ยวเล็บหรือประโยชน์อะไรในห้องพิจารณาคดีของศาลหรือไม่ เป็นต้นว่าธรรมชาติจะฟ้องร้องมนุษย์เพราะความเสียหายที่มนุษย์ก่อขึ้นได้ไหม
คำตอบคือ ไม่มีใครรู้ ยังไม่เคยมีคดีฟ้องร้องแบบนี้ จึงเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาผลลัพธ์ได้
สำหรับเหล่าผู้นำเผ่าเมารี ความสนใจเรื่องสิทธิตามกฎหมายไม่ใช่ประเด็น สิ่งสำคัญคือมุมมองใหม่ที่มนุษย์มีต่อโลกธรรมชาติ มุมมองที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิทธิ แต่อยู่บนหน้าที่ นัยของกฎหมายฉบับนี้จึงอยู่ที่ “การยอมรับในคุณค่าครับ” เจอร์ราร์ด อัลเบิร์ต ประธานกลุ่มชนเผ่าที่ได้รับมอบหมายภารกิจในการสร้างการยอมรับในสถานะใหม่ของแม่น้ำให้เป็นจริงในทางปฏิบัติ บอก เป็นการยอมรับคุณค่าของแม่น้ำในฐานะ “ชีวิตหนึ่งที่สมบูรณ์และไม่อาจแบ่งแยกได้” ตามคติความเชื่อของชาวเมารี หาใช่องค์ประกอบเป็นส่วนๆ อันไร้ชีวิตของน้ำ ก้นแม่น้ำ ตลิ่ง แควน้อยใหญ่ และลุ่มน้ำ อันเป็นวิธีคิดและแนวทางของผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยุโรป
ความเชื่อที่ว่า “ธรรมชาติคือครอบครัว” เป็นศูนย์กลางจักรวาลวิทยาของเมารี พวกเขามองโลกของสิ่งมีชีวิตเป็นส่วนต่อขยายของเครือข่ายความสัมพันธ์ซึ่งมนุษย์มิได้เหนือกว่าหรือต่ำกว่าสิ่งมีชีวิตรูปแบบอื่นๆ
เรื่อง เคนเนดี วอร์น
ภาพถ่าย แมเทียส สวอลด์