ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ : ผมเชื่อว่าทุกคนรักธรรมชาติ เพียงแค่เราอาจจะหลงลืมไป

ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ : ผมเชื่อว่าทุกคนรักธรรมชาติ เพียงแค่เราอาจจะหลงลืมไป

เปิดมุมมองของ ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวด้านนิเวศทางทะเล ที่อุทิศทั้งชีวิตให้กับการอนุรักษ์ท้องทะเลไทย จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สังคมในวงกว้าง และได้รับรางวัล Thailand Sustainability Shaper Award 2021

เป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้วที่ชื่อของ “ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเลและรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ปรากฎขึ้นในฐานะนักเขียน อาจารย์ และนักสื่อสาร ที่ช่วยขับเคลื่อนแนวคิดในการอนุรักษ์ท้องทะเลจนเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

จากเด็กชายที่สนุกสนานกับการตามติดบิดา ซึ่งทำงานด้านการเกษตร ป่าไม้ ทรัพยากร และได้ค้นพบความชื่นชอบในท้องทะเลจนอุทิศชีวิตทางด้านการศึกษาและการทำงานให้กับท้องทะเลมาตลอดชีวิต เขาได้ใช้พื้นที่ในช่องทางสื่อโซเชียลมีเดียของตัวเองบอกเล่าเรื่องราวของสภาพทางทะเล ทั้งในแง่มุมที่สวยงาม หรือถ้าหากมีสถานการณ์เกี่ยวกับทะเลไทยที่ย่ำแย่ เขาก็ได้สื่อสารเรื่องราวเหล่านั้นเพื่อให้สังคมทุกภาคส่วนมองเห็นถึงปัญหาทางทะเลที่จำต้องได้รับการแก้ไข จนไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า การที่สังคมไทยได้หันมาตระหนักถึงคุณค่าของท้องทะเลในวงกว้างมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการทำงานด้านอนุรักษ์มาอย่างยาวนานของเขา

ในโอกาสที่คณะกรรมการตัดสินรางวัลแห่งความยั่งยืน Thailand Sustainability Shaper Award 2021 รางวัลที่จัดทำขึ้นเพื่อยกย่องบุคคลที่ได้ลงมือทำงานก้านการพัฒนาที่ยั่งยืน และสร้างผลงานอย่างเป็นรูปธรรมในวงกว้าง ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม และในด้านสังคม มอบรางวัลให้กับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เราจึงได้พูดคุยเพื่อเปิดมุมมองของการเป็นนักอนุรักษ์ทางทะเลของเขาในหลากหลายแง่มุม รวมไปถึงข้อความที่อยากสื่อสารให้คนทั้งโลกสามารถเป็นนักอนุรักษ์ในแบบของตัวเอง เพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และของโลก

จุดเริ่มต้นของการหลงใหลในทะเลของเด็กชายธรณ์

ถามว่าเด็กไทยผูกพันกับทะเลมากมายแค่ไหนนี่ ผมว่าค่อนประเทศนะครับ เพราะครั้งแรกที่ไปทะเลทุกคนก็ประทับใจทั้งนั้น เพียงแต่ของผมอาจจะแตกต่างนิดหนึ่ง อย่างแรกสุด ผมเป็นเด็กกลางกรุงเกิดใจกลางกรุงเทพฯแล้วก็อยู่ในกรุงเทพฯ ใจกลางเมืองหลวงมาตลอดชีวิต พอดีว่าผมโชคดีเพราะคุณพ่อผม (ดร.เถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีต รมช. และปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) ทำงานเกี่ยวกับเรื่องทางทะเล เรื่องของการเกษตร ป่าไม้ ทรัพยากรต่าง ๆ เพราะฉะนั้นตั้งแต่เด็ก ๆ ผมก็ไปตามป่าตามทะเลมาตลอด

สิ่งหนึ่งที่ต่างจากเด็กคนอื่น ก็คือผมไปกับข้าราชการเพราะพ่อผมเป็นข้าราชการ ก็มีข้าราชการลูกน้องเยอะแยะ ก็จะมาประชุมกัน มาพูดคุยเรื่องปัญหา เราไม่ได้ไปดูแค่ว่าทะเลสวยหรือเปล่า คุณพ่อจะต้องไปดูว่าปัญหากับทะเลคืออะไร มีโครงการอะไรต่าง ๆ นานา ผมก็ต้องติดไปด้วยทุกครั้ง ก็ได้ยินปัญหา ก็เลยกลายเป็นว่าทะเลที่ไม่ใช่เรื่องของ เที่ยวทะเล แต่กลายเป็นเหมือนกับว่าผมคุ้นเคยกับการทำงานในทะเลมาตั้งแต่สมัยผมเด็ก ๆ จนผมโตขึ้นมา ผมก็จะคุ้นกับเรื่องเหล่านี้มาตลอด

เพราะฉะนั้นเมื่อถึงวันที่ตัดใจว่าจะเรียนอะไรต่อ จะจบมาเพื่อทำงานอะไร อย่างแรกสุดเรารักทะเล เราคุ้นเคยกับทะเลพอสมควร แต่อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือเราเห็นปัญหา อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือเราคิดว่าเรามีส่วนช่วยเหลือได้ เราเข้าไปช่วยได้ และสุดท้ายที่สำคัญก็คือเป็นงานที่คุณพ่อผมทำมาทั้งชีวิต ผมเป็นลูกคนโต บางครั้งลูกคนโตก็อยากทำให้พ่อยิ้มแม้ตอนนี้พ่อจะไม่อยู่แล้ว

ชีวิตในวัยเด็ก ตอนที่จำเป็นต้องเลือกว่าจะไปทะเล หรือไปป่าเขา ป่าเขาจริง ๆ ก็สนใจนะ แต่จริง ๆ แล้วในป่าเขาเนี่ย มีคนทำค่อนข้างเยอะแล้ว ขณะที่ในทะเล ยุคนั้นไม่ค่อยมีใครพูดถึง ในฐานะที่เป็นเด็กก็อยากทำอะไรที่มันเร้าใจ ท้าทาย เราอยากไปดำน้ำในแนวปะการังที่ไม่เคยมีใครดำมาก่อนหน้าเราเลย เราอยากดำน้ำลงไปเจอกุ้งปูหรือสัตว์ต่าง ๆ ที่ไม่เคยมีบันทึกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เพราะฉะนั้นตรงนั้นก็เป็นสาเหตุสำคัญว่า ไปทะเลดีกว่า เพราะว่าป่าก็มีคนศึกษากันมาค่อนข้างเยอะแล้วยุคนั้น

พอไปทะเลก็มีโอกาส ที่ตั้งใจไว้นะ เพราะว่าตั้งแต่เข้าไปครั้งแรกก็เลือกเรียนที่วิทยาศาสตร์ทางทะเลที่จุฬาฯ อาจารย์ผมก็คืออาจารย์สุรพล สุดารา ท่านก็เป็นนักสิ่งแวดล้อมมาตลอด ผมใช้ชีวิตในการเรียนมหาวิทยาลัย 5 ปี แทบจะไม่ได้เรียนเลย ดำน้ำอยู่ตลอด ปีหนึ่งเป็น 100 วัน ไปดำในเกาะต่าง ๆ ที่ไม่เคยมีใครดำ

จากนั้นพอเข้ามาถึงในยุคปลาย ๆ เข้าปริญญาโท ก็เริ่มสนใจในสิ่งที่ตัวเองอยากให้มันกว้างขึ้น ซึ่งเรื่องที่กว้างขึ้นก็คือเรื่องของดาวเทียม และเรื่องของระบบสารสนเทศ ซึ่งยุคนั้นก็ไม่มีใครพูดถึง มันเป็นนิสัยที่ชอบอะไรที่เร้าใจท้าทายอยู่ตลอด หลังจากดำน้ำติดต่อกันหลายปีไม่รู้กี่พันครั้ง ก็ไปใช้เครื่องมือดาวเทียมสำรวจแนวปะการังแหล่งหญ้าทะเลด้วยดาวเทียมเป็นคนแรกของประเทศไทย ทำเรื่องของสมุทรศาสตร์ ใช้ระบบ GIS ที่สมัยนั้นยังไม่ค่อยมี เราทำทุกสิ่งทุกอย่าง เริ่มตั้งแต่ดำน้ำจนมาถึงดาวเทียม

เราเห็นปัญหาที่มันโผล่ขึ้นมาตรงนั้นตรงนี้เต็มไปหมด เราเห็นว่ามันต้องมีการแก้ไข และการแก้ไขแบบเจาะจง แก้ทีละจุด ๆ มันไม่เวิร์คนะ มันทำไม่ได้ สิ่งที่เราต้องการก็คือการแก้ไขปัญหาในภาพรวม แล้วถ้าต้องการคนอย่างนั้นหนึ่งคนที่ไปเชื่อมต่อจากคุณลุงเฒ่าทะเลไปถึงปลาการ์ตูนที่อยู่ในแนวปะการัง ไปถึงเรื่องของภูมิอากาศ ดินฟ้าต่าง ๆ คุณต้องการคนที่มีความรู้หลากหลาย มีประสบการณ์หลากหลาย ก็เลยตัดสินใจว่าตัวเองเนี่ย คงจะต้องลงมาทำเอง ซึ่งคนอื่นก็คงเรียกผมว่านักอนุรักษ์ แต่ส่วนตัวผมเองเป็นนักบริหารจัดการมากกว่า

จุดเปลี่ยนของการผันตัวมาเป็นนักสื่อสาร และนักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมทางทะเล

ชีวิตช่วงแรก เป็นเด็กอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ ท้าทาย อยากเจอสัตว์ ชีวิตช่วงที่สอง มาเรียน มาทำงาน ได้ท้าทายได้ดำน้ำ ไปดำที่ต่าง ๆ เยอะแยะมากมาย ใช้ดาวเทียมดำลงไปดูสัตว์ใต้น้ำ ทำทุกรูปแบบ สำหรับนักวิทยาศาสตร์รู้สึกว่าโอเคแล้ว แต่ยิ่งเราไปทำงานทางวิทยาศาสตร์เท่าไร ยิ่งเราออกสำรวจพื้นที่เท่าไร สิ่งที่เราเห็นคือปัญหามากมาย เห็นปลาตาย เห็นน้ำเสีย เห็นปะการังฟอกขาว เห็นนั่นนี่เยอะแยะ บางอย่างเรารู้สึกเสียดาย เสียดายว่าทำไมทำอย่างนี้ มันไม่ใช่ของเราก็จริง แต่มันเป็นของประเทศ ของโลก เรารู้สึกเสียดาย มันก็จะมาถึงจุดหนึ่งสำหรับชีวิตการเป็นนักวิทยาศาสตร์ ว่าเราทำได้แค่นี้เหรอ เราทำได้แค่รายงานความเสียหายที่เกิดขึ้น เราแค่เสนอแนะว่าควรจะทำอย่างไรบ้าง จากนั้นก็ไม่มีใครฟัง ก็จบ

เพราะฉะนั้นมันก็เลยมาถึงช่วงที่จำเป็นต้องการพลังการขับเคลื่อน ต้องการความสนับสนุนจากสังคม ต้องการเรื่องราวที่มีมากไปกว่า paper ทางวิทยาศาสตร์ มีการลงมือทำจริง มีการวัดผลได้จริง ทำให้ทะเลที่เรารักเสียหายให้น้อยที่สุด ตรงนั้นก็เลยเข้ามาถึงจุดที่พลิกผันมาเป็นนักอนุรักษ์ นักสื่อสารทางธรรมชาติ และอื่น ๆ เพื่อที่จะสร้างกระแสขึ้นในสังคมไทย เพื่อที่จะให้คนที่คิดเหมือนเรามารวมตัวกัน เพื่อที่จะทำให้ผู้บริหาร ไม่ว่าจะภาครัฐภาคเอกชน รู้สึกเห็นถึงปัญหา และรู้สึกว่าเขามีส่วนรับผิดชอบกับการแก้ปัญหานั้น ๆ และที่สำคัญก็คือเพื่อให้เด็ก ๆ น้อง ๆ มองเห็นเส้นทางว่าถ้าน้องรักทะเล น้องยังมีหนทางที่น้องจะไป ที่น้องจะช่วยทะเลได้ นอกเหนือไปจากที่บอกว่าหนูรักทะเล

เส้นทางชีวิตของนักอนุรักษ์ทางทะเลที่ชื่อธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

งานอนุรักษ์ที่ทำมีเต็มไปหมด ผมทำงานด้านนี้มาค่อนข้างนาน งานหลัก ๆ ของผมคืองานปะการัง สิ่งที่ผลักดันก็มีทั้งอุทยานแห่งชาติทางทะเลบางแห่ง ผมก็เป็นคนผลักดันมาตั้งแต่ต้น พื้นที่คุ้มครองทางทะเลในปัจจุบันหลายต่อหลายแห่งก็ทำ รวมมาถึงเรื่องของการสำรวจปะการัง ปะการังฟอกขาว เรื่อยมาจนถึงเรื่องโลกร้อน ขยะในปะการังต่าง ๆ  รายงานในสายปะการัง เรื่องการท่องเที่ยว ปริมาณนักท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ ผลักดันอุทยานแห่งชาติให้กลายมาเป็นอุทยานมรดกโลกอันดามัน อันนั้นก็ทำอยู่ ในสายนั้นก็จะทำไปแพทเทิร์นหนึ่ง

อีกสายหนึ่งก็จะเป็นเรื่องสัตว์ทะเลหายาก ก็ผลักดันสัตว์ทะเล 4 ตัว ฉลามวาฬ วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ และเต่ามะเฟือง เพราะเราคิดว่าเราจำเป็นต้องการ product champion ต้องการอะไรที่จะมาเป็นสุดยอดของสัตว์สงวนทางทะเล เพื่อให้คนหันมารักสัตว์ จากนั้นเขาก็จะรักทะเล มันก็ประสบความสำเร็จได้เป็นสัตว์สงวนในที่สุด อาจจะใช้เวลานานแต่ในที่สุดก็ได้เป็น แล้วก็ส่งผลอย่างชัดเจน เต่ามะเฟือง ได้กลายเป็นที่พูดถึงทั้งประเทศ ทุกครั้งที่ขึ้นมาวางไข่ วาฬบรูด้าก็กลายเป็นอะไรที่แชร์กันมากมาย ตอนที่วาฬบรูด้าขึ้นมาอ้าปากอยู่ห่างจากกรุงเทพฯไปเพียงไม่กี่กิโลเมตร เรื่องของฉลามวาฬก็เป็นที่รู้จักกันไปทั่ว ตรงนั้นก็ถือว่าประสบความสำเร็จในการผลักดันสัตว์สงวน

นอกจากนี้ก็ยังทำงานอื่น ๆ เกี่ยวกับสัตว์ทะเลหายาก จริง ๆ สัตว์ทะเลหายากนั้นผมทำค่อนข้างเยอะ และเรื่องของการประมงแบบยั่งยืน เรื่องของพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากที่จะใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อันนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่กำลังทำอยู่ นอกจากนั้นก็จะเป็นเรื่องอื่น ๆ เช่น เรื่องของน้ำเสีย เรื่องของขยะทะเล ซึ่งก็ทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นแล้ว

เรื่องโลกร้อนที่พูดมาเมื่อ 30 ปีก่อน ปัจจุบันก็ยังพยายามผลักดันอยู่ ทำจนตัวเองกลายเป็นมนุษย์ปราศจากก๊าซเรือนกระจกคนแรก ๆ ของประเทศไทยด้วยซ้ำ ทำในเรื่องของการประมงก้าวหน้าเพื่อความยั่งยืนในอนาคต ซูเปอร์กระชัง ง่าย ๆ ว่าผมทำทุกอย่างที่ผมเคยคิดว่าผมอยากจะทำสมัยเด็ก ๆ ผมเคยสงสัยอยู่เสมอว่าทำไมเราไม่ทำตรงนั้นตรงนี้ สิ่งเดียวที่ผมทำถ้าสรุปง่ายที่สุด ก็คือผมทำตามความฝันที่เคยฝันสมัยเด็ก ผมแค่ไม่ลืมมันเท่านั้นเอง

ข้อความที่อยากสื่อสารให้คนทั้งโลกสามารถเป็นนักอนุรักษ์ในแบบของตัวเอง เพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และของโลก

ผมเชื่อว่าทุกคนตั้งแต่เราเป็นเด็ก เรารักโลก รักทะเล รักแม่น้ำ รักต้นไม้ เราวิ่งเล่นท่ามกลางทุ่งหญ้า เราสนุกกับผีเสื้อตัวแรกที่เราเห็น เราว่ายน้ำไล่ตามปลาตัวแรกที่เราเจอ นั่นคือความรู้สึกรัก เมื่อเราโตขึ้นมา เราเพียงแค่ลืมมันไป ดังนั้นการช่วยโลกนี่ง่ายที่สุดแล้ว ไม่มีอะไรง่ายมากไปกว่านี้แล้ว คิดถึงผีเสื้อ คิดถึงปลา คิดถึงวันหนึ่งในอดีตที่คุณรู้สึกว่าคุณรักป่า รักทะเล รักแม่น้ำ รักทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวคุณในธรรมชาติมากมายเหลือเกิน

จำความรักนั้นไว้ ทำตามความฝันที่คุณเคยคิด แม้กระทั่งในวันนี้ คุณเติบโตขึ้นมา คุณมีโอกาสอีกมากมาย วันหนึ่งคุณเป็นเด็กคุณอาจจะทำอะไรไม่ได้ แต่วันนี้คุณเป็นผู้ใหญ่แล้ว อย่าให้ข้ออ้างของการเป็นผู้ใหญ่มาลบล้างความฝันที่คุณเคยอยากทำสมัยเด็ก อย่าให้ข้ออ้างข้อติดค้างใด ๆ มาบอกกับตัวเองว่าเราทำไม่ได้ เราไม่สามารถจะรักธรรมชาติเหมือนที่เรายังเป็นเด็กได้ โลกสวยกว่านี้ครับ

ขอบคุณภาพถ่ายบางส่วนจาก Facebook: Thon Thamrongnawasawat

Recommend