เผย ทวีปเอเชียถูก ” ภัยภูมิอากาศ ” ร้อน-แล้ง-ท่วม เล่นงานมากที่สุด

เผย ทวีปเอเชียถูก ” ภัยภูมิอากาศ ” ร้อน-แล้ง-ท่วม เล่นงานมากที่สุด

ภัยภูมิอากาศ “เอเชีย” ได้รับผลกระทบจาก “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” มากที่สุดในปี 2023 

ภัยภูมิอากาศ – รายงานใหม่จากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organisation, WMO) ของหน่วยงานสภาพอากาศแห่งสหประชาชาติเผย ภาวะโลกร้อนทำให้อากาศในเอเชียเมื่อปีที่แล้วสุดขั้วยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ 

ท่ามกลางคลื่นความร้อนจัดที่โหมกระหน่ำอย่างยาวนาน ส่งผลให้อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลทำลายสถิติตามที่ต่าง ๆ ขณะที่บางแห่งร้อนจัดยิ่งกว่า แต่บางแห่งกลับพบน้ำท่วมในระดับที่ไม่เคยเจอมาก่อน หรือไม่ก็หิมะตกหนักจนเมืองเป็นอัมพาต สภาพอากาศกำลังคาดเดาไม่ได้ไปทั่วโลก ภัยพิบัติเหล่านี้เกิดขึ้นในทุกมุมโลก แต่ เอเชีย กลายเป็นภูมิภาคที่ถูกโจมตีหนักที่สุด

“หลายประเทศในภูมิภาค (เอเชีย) ได้เผชิญกับปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2023 ควบคู่ไปกับสภาวะที่รุนแรงตั้งแต่ภัยแล้ง คลื่นความร้อน ไปจนถึงน้ำท่วมและพายุ” เซเลสต์ เซาโล (Celeste Saulo) เลขาธิการของ WMO กล่าว 

ประชาชนมากกว่า 9 ล้านคนบนทวีปได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและพายุ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตนับพันคนในเฉพาะเหตุการณ์นี้ ขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มว่าจะเกิดคลื่นความร้อนที่รุนแรงเป็นระยะเวลานานดำเนินต่อไปราวกับไม่มีอะไรหยุดยั้งได้

“การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทำให้ความถี่และความรุนแรงของเหตุการณ์ดังกล่าวสุดขั้วยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และที่สำคัญที่สุดคือชีวิตมนุษย์” เซาโล กล่าวเสริม

ภัยภูมิอากาศ อุณหภูมิพุ่งสูง

รายงานสถานะด้านสภาพอากาศในเอเชียปี 2023 ได้เน้นย้ำให้เห็นถึงความรุนแรงที่ปัจจัยต่าง ๆ ได้เร่งตัวขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ไม่ว่าจะเป็น อุณหภูมิพื้นผิว การละลายของธารน้ำแข็ง และระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น 

มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือมีอุณหภูมิระดับผิวน้ำสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ แม้แต่มหาสมุทรอาร์กติกก็ประสบปัญหาคลื่นความร้อน แต่ทว่าเอเชียนั้นร้อนเร็วขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ซึ่งเพิ่มขึ้น 2 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงปี 1961-1990  อุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงเป็นพิเศษถูกบันทึกไว้ตั้งแต่ไซบีเรียตะวันตกไปจนถึงเอเชียกลาง และจากจีนตะวันออกไปจนถึงญี่ปุ่น ความร้อนได้แพร่กระจายไปทั่วโลก

“เป็นอีกครั้งที่ในปี 2023 ประเทศกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบอย่างไม่สมส่วน ตัวอย่างเช่น พายุหมุนเขตร้อนโมคา ซึ่งเป็นพายุไซโคลนที่มีกำลังแรงสุดในอ่าวเบงกอลในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ได้พัดถล่มบังกลาเทศและเมียนมาร์ การเตือนล่วงหน้าและการเตรียมพร้อมที่ดีขึ้นจะช่วยชีวิตผู้คนได้หลายพันคน” อาร์มิดา ซาลเซียช์ อลิสจาฮ์บานา (Armida Salsiah Alisjahbana) เลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำรายงานกล่าว

ความร้อนดังกล่าว ส่งผลกระทบรุนแรงต่อทุกสิ่งที่อยู่ในเอเชีย โดยเฉพาะกับปริมาณน้ำแข็งในทวีปซึ่งตั้งอยู่บนที่ราบสูงทิเบต มันเป็นพื้นที่ที่มีน้ำแข็งครอบคลุมประมาณ 100,000 ตารางกิโลเมตร และเป็นแหล่งน้ำจืดให้กับธรรมชาติรอบข้างและผู้คนอีกนับล้านที่อยู่ใต้ลงมา 

ทว่าในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ธารน้ำแข็งเหล่านี้กำลังถอยร่นในอัตราที่นักวิทยาศาสตร์กังวล ธารน้ำแข็งกว่า 20 แห่งจากทั้งหมด 22 แห่งในภูมิภาคเอเชียมีการสูญเสียมวลต่อเนื่อง จากอุณหภูมิที่ทำลายสถิติ ขณะเดียวกันความร้อนก็ไปละลายชั้นดินเยือกแข็งที่ชื่อว่า ‘เพอร์มาฟอร์สต์’ (Permafrost) ใกล้เคียง ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เขตหิมะที่ปกคลุมเอเชียมีขอบเขตในปี 2023 น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในปี 1998–2020

“เนื่องจากแนวโน้มภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้น 2 เท่า (ในเอเชีย) นับตั้งแต่ปี 1960-1990 เอเชียจึงร้อนเร็วขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ยโลก โดยมีผู้เสียชีวิตและความสูญเสียทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น” รายงานของ WMO ระบุ

เช่นเดียวกับคลื่นร้อนยังแพร่กระจายไปตามแหล่งน้ำในเอเชียและมหาสมุทรต่าง ๆ เช่น ทะเลอาหรับ ทะเลแบเร็นตส์ตอนใต้ ทะเลคาราตอนใต้ และทะเลลาเปเตฟทางตะวันออกเฉียงใต้ก็กำลังอุ่นขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 3 เท่า โดยเฉพาะทะเลแบเร็นตส์ที่ได้รับการประเมินว่าเป็นจุดร้อนของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

ซึ่งส่งผลกระทบต่อการปกคลุมของน้ำแข็งในทะเลให้เกิดการสูญเสียมากขึ้น ขณะเดียวกัน เมื่อน้ำแข็งหายไป มหาสมุทรก็ดูดซับความร้อนเพิ่มมากขึ้นซึ่งไปซ้ำเติมภาวะโลกร้อน สิ่งนี้มีความรุนแรงเป็นพิเศษในทะเลอาหรับตะวันตกเฉียงเหนือ ทะเลฟิลิปปินส์ และทะเลทางตะวันออกของญี่ปุ่น ที่ร้อนเร็วกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 3 เท่า 

เหตุการณ์สุดขั้ว

รายงานระบุว่าในปี 2023 เหตุการณ์ภัยพิบัติจากสภาพอากาศกว่าร้อยละ 80 นั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดจากน้ำท่วมและพายุรุนแรง โดยเฉพาะน้ำท่วมที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ซึ่งเกิดขึ้นในอินเดีย เยเมน และปากีสถาน สิ่งนี้ชี้ให้เห็นภูมิภาคแห่งนี้มีความเปราะบางมากที่สุดและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในด้านพายุเองก็เช่นกัน ในปี 2023 มีพายุหมุนเขตร้อนสุดขั้วกว่า 17 ลูกที่ก่อตัวขึ้นเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตก และทะเลจีนใต้ แม้จำนวนจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ย แต่ทว่ามันกลับสร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งทำให้มีปริมาณน้ำฝนตกหนักในคราเดียวทำลายสถิติเหนือประเทศต่าง ๆ เช่นจีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ 

หอสังเกตการณ์สำนักงานใหญ่ในฮ่องกงสามารถบันทึกปริมาณน้ำฝนรายชั่วโมงรวมกว่า 158.1 มิลลิเมตรได้ในวันที่ 7 กันยายน ซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุดนับตั้งแต่มีการเริ่มบันทึกในปี 1884 หรือกว่า 140 ปีที่แล้ว ขณะเดียวกันหลายสถานีในเวียดนามก็บันทึกปริมาณน้ำฝนรายวันทำลายสถิติในเดือนตุลาคมด้วยเช่นกัน 

ฝนตกหนักเหล่านี้ทำให้เกิดน้ำท่วมในประเทศซาอุดีอาระเบีย และสหัฐอาหรับเอมิเรตส์ในเดือนพฤศจิกายน รวมถึงเยเมนด้วยเช่นกัน อีกทั้งผลกระทบยังเดินทางไปไกลถึงพื้นที่ทางตะวันออกไกลของรัสเซีย ซึ่งเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมาเมื่อเดือนสิงหาคมและกันยายนในปี 2023

จำเป็นต้องมีการเตรียมพร้อมที่ดีกว่านี้

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก เรียกร้องให้มีการเตรียมความพร้อมด้านสภาพอากาศที่ดีขึ้น จากข้อมูลของ WMO เผยให้เห็นว่าร้อยละ 82 ของประเทศในเอเชียมีการให้บริการด้านข้อมูสภาพอากาศ เพื่อช่วยให้ประชาชนรับทราบสิ่งที่เกิดขึ้น 

อย่างไรก็ตาม มีน้อยกว่า 50% ที่มีการแนะนำแนวทาง แผนรับมือ และอุปกรณ์เครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติให้กับชุมชน หรือกล่าวอีกนัยว่ามีแค่เพียงการแจ้งข้อมูล แต่ไม่มีการสนับสนุนด้านอื่นเพิ่มเติมเลย ซึ่งทำให้เหตุการณ์อันตรายยิ่งขึ้น 

ภูมิภาคนี้ประสบภัยธรรมชาติมาแล้วกว่า 3,612 ครั้งระหว่างปี 1970 ถึง 2021 ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 49 ล้านล้านบาท และมีผู้เสียชีวิตเกือบ 1 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 47% ของการเสียชีวิตทั่วโลกจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในช่วงเวลาเดียวกัน

ตามข้อมูลของ WMO ความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติเหล่านี้สามารถลดลงได้ 30% หากมีการออกคำเตือนล่วงหน้าพร้อมกับแผนรับมือภายใน 24 ชั่วโมง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องพัฒนาแนวทางให้ดียิ่งกว่าเดิม เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจากภัยพิบัติให้ดีขึ้น

“ในบริบทนี้ รายงานสถานการณ์สภาพภูมิอากาศในเอเชียปี 2023 เป็นความพยายามที่จะเชื่อมช่องว่างระหว่างวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงจากภัยพิบัติผ่านข้อเสนอนด้านโยบายที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์” ซาลเซียช์ อลิสจาฮ์บานา กล่าว

“ESCAP และ WMO ซึ่งทำงานร่วมกันจะเดินหน้าลงทุนในการเพิ่มความพยายามด้านสภาพภูมิอากาศและความเร่งด่วนในการดำเนินการตามนโยบายที่ดี รวมถึงการเตือนภัยล่วงหน้าแก่ทุกคนในภูมิภาคเพื่อไม่ให้ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในขณะที่วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเรายังคงดำเนินต่อไป”

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://wmo.int/news/media-centre/climate-change-and-extreme-weather-impacts-hit-asia-hard

https://news.un.org/en/story/2024/04/1148886


อ่านเพิ่มเติม ไม่จบแค่ “โลกร้อน” ระวัง ” น้ำทะเลสูงขึ้น ” จะทำให้เรา-โลก อยู่ในอันตราย

น้ำทะเลสูงขึ้น

Recommend