การฟื้นฟูคลองแม่ข่า ไม่เพียงเพิ่มพื้นที่เชิงนิเวศให้เมืองเชียงใหม่ แต่ยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้าทั้งยังเพิ่มโอกาสในการเชื่อมโยงผู้คนและสถานที่ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
คลองแม่ข่า มีความสำคัญต่อจังหวัดเชียงใหม่มาตั้งแต่สมัยอดีต เนื่องจากเป็นแหล่งน้ำเลี้ยงที่ไหลผ่านใกล้กับตัวเมืองมากที่สุด บทบาทของมันคือ การเป็นน้ำใช้ การเป็นน้ำระบบที่แจกจ่ายสู่พื้นที่การเกษตร และการเป็นพื้นที่ป้องกันน้ำท่วม เวลามีน้ำหลากมาจากแม่น้ำปิง คลองแม่ข่าจะเป็นตัวตัดน้ำไม่ให้ไหลเข้าไปท่วมภายในตัวเมือง ซึ่งบทบาทสุดท้ายยังคงทำหน้าที่ของมันอย่างต่อเนื่องมาจนถึงในปัจจุบัน
เมื่อกล่าวถึงความเป็นปัจจุบัน สังคมมนุษย์และเทคโนโลยีต่างพัฒนาขึ้น บทบาทของคลองแม่ข่าถูกลดทอนลง ไม่มีการใช้น้ำจากคลองแม่ข่าในการดำรงชีพเหมือนเมื่อก่อน ทางน้ำไม่ได้มีการกระจายตัว สาเหตุเพราะพื้นที่ทางการเกษตรโดยรอบต่างถูกปลูกทับด้วยอาคารบ้านเรือน อีกสิ่งหนึ่งคือการหายไปของพื้นที่หน่วงน้ำขนาดใหญ่ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการระบายน้ำลดลงตามไปด้วย
โครงสร้างระบบท่อระบายน้ำของเมือง เป็นสิ่งที่ถูกปลูกสร้างขึ้น เพื่อช่วยเหลือคลองแม่ข่า แต่ทว่าความช่วยเหลือนั้นกลับนำมาซึ่งผลเสียที่สร้างบาดแผลให้แก่คลองแม่ข่าไม่ใช่น้อย เมื่อโครงสร้างท่อระบายน้ำซึ่งไม่ใช่ระบบสมบูรณ์ เชื่อมกับคลองแม่ข่า ทันทีที่น้ำเสียไหลตามระบบไม่ได้ มันจะล้นลงสู่คลองแม่ข่า ทำให้คลองประวัติศาสตร์แห่งนี้กลายเป็นแหล่งรวมน้ำเสีย
จึงเป็นที่มาของโครงการฟื้นฟูคลองแม่ข่า หรือ Imagine Maekha ได้เกิดขึ้นจากการร่วมมือของหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคมและประชาชน เพื่อขับเคลื่อนคลองแม่ข่าและพื้นที่ต่อเนื่องคืนสู่ชีวิตอีกครั้ง เราจะไปคุยกับ ทนวินท วิจิตรพร สถาปนิกจากใจบ้านสตูดิโอ หนึ่งในขณะทำงานโครงการ เพื่อทำความเข้าใจอดีต ปัจจุบันและอนาคตของคลองเก่าแก่เส้นนี้แห่งเมืองเชียงใหม่ไปพร้อมกัน
01 โอกาสพัฒนาในปัญหา
พื้นที่โดยรอบคลองแม่ข่าเป็นพื้นที่สาธารณะ ที่ผู้คนไม่ได้เข้าถึงอย่างทั่วไป ส่งผลให้พื้นที่โดยรอบมีความสมบูรณ์ทางนิเวศสูง เต็มไปด้วยแหล่งต้นไม้ใหญ่ นับเป็นบริเวณที่มีการกระจุกตัวของแหล่งต้นไม้ใหญ่เยอะที่สุดในเขตเมือง
ในอีกแง่หนึ่งคือ การที่บริเวณนั้นไม่ได้อยู่ในพื้นที่ซึ่งผู้คนเข้าถึงอย่างทั่วไป ส่งผลให้ผู้คนจากดอย จากต่างจังหวัด หรือผู้คนที่เข้ามาหาโอกาสภายในเมือง แต่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักเป็นแหล่ง ต่างทยอยเข้ามาตั้งถิ่นฐาน จนกลายเป็นชุมชนหนาแน่นที่ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน
“กลุ่มคนนี้มีความสำคัญ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะพวกเขาทำงานบริการเมือง เก็บขยะ กวาดถนน งานแรงงานต่าง” ทนวินทอธิบาย
จะเห็นได้ว่า คลองแม่ข่า เป็นพื้นที่ที่มีทั้งจุดแข็งและจุดด้อยปะปนกันไป ใจบ้านสตูดิโอ หนึ่งในคณะทำงานของ Imagine Maekha มองเห็นสถานการณ์ปัญหาที่มีโอกาสพัฒนา ด้วยบทบาทนักออกแบบ พวกเขาไม่ได้กรอบวิธีคิด แต่นำองค์ประกอบทั้งหมดในพื้นที่เหล่านั้นมารวบรวมเข้าด้วยกัน และทำงานบนโครงสร้างความคิดที่เรียกว่า Design with Nature หรือ การทำงานออกแบบร่วมกับธรรมชาติ เป็นการครอบคุลมมิติของคนและสิ่งแวดล้อมไปในเวลาเดียวกัน เพื่อฟื้นฟูคลองแม่ข่าในทุกมิติ
02 คลองแม่ข่าเป็นอะไรได้บ้าง
ใจบ้านสตูดิโออธิบายถึงโอกาสในพื้นที่ว่า ตามแนวกำแพงเมืองเก่าชั้นนอกที่พาดผ่าน คาบเกี่ยวพื้นที่คลองแม่ข่า ความยาว 4.7 กิโลเมตร หากสามารถเชื่อมโยงมิติต่าง ๆ ของพื้นที่โดยรอบให้กลายเป็นมากกว่าสถานที่ในมุมมืด เริ่มต้นจากเพียงแค่ 800 เมตร ซึ่งเป็นระยะการเดิน พื้นที่คลองแม่ข่าจะสามารถสร้างโอกาสการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่นิเวศสมบูรณ์ให้แก่ผู้คนได้อย่างง่ายดายและมีประสิทธิภาพ
เมื่อทุกอย่างเชื่อมโยงกันก็จะนำมาซึ่งโอกาสทางเศรษฐกิจ เพราะแต่เดิมเศรษฐกิจนักท่องเที่ยวในปัจจุบันของเชียงใหม่มักจะไปกระจุกอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง เพราะฉะนั้นหากเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกัน กลุ่มเศรษฐกิจอีกกลุ่มหนึ่ง เช่น การค้าขายระดับชาวบ้าน ทุนรายย่อย ก็จะได้รับโอกาสในการถูกเข้าถึงมากกว่าที่ผ่านมา
อีกประเด็นที่สำคัญ คือการพัฒนาปรับปรุงที่อยู่อาศัย ซึ่งเดิมมีการวางผังที่ไม่เป็นระเบียบนัก แม้จะมีสัญญาของกรมธนารักษ์ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ ในการห้ามผู้อยู่อาศัยก่อสร้าง ต่อเติม และดัดแปลง แต่ในความเป็นจริง ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยได้ทำการก่อสร้าง ต่อเติมและดัดแปลงพื้นที่เพื่อความสะดวกสบายในการอยู่อาศัย
ด้วยเหตุนี้ หากแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของชาวบ้านในบริเวณนี้ ให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นได้ พื้นที่ตรงนี้จะไม่เป็นเพียงแค่พื้นที่สาธารณะ แต่จะเป็นที่ที่มีชีวิตและวัฒนธรรมอยู่ภายในนั้น และยังสามารถหาทางออกร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“การขับเคลื่อนแบบ Bottom Up หาคำตอบในการพัฒนาฟื้นฟูคลองแม่ข่าผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ค่อย ๆ ทำการ Small Upgrading ขยับปรับเปลี่ยนไปทีละจุด วิธีนี้อาจกินระยะเวลาในการทำงาน แต่สามารถเชื่อมโยงผู้คน สร้างความร่วมมือได้ และนำไปสู่คำตอบที่ยั่งยืนกว่า”
03 คำตอบจากกระบวนการมีส่วนร่วม
“เนื่องจากพื้นที่คลองแม่ข่า ประกอบไปด้วยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายภาคส่วน เจ้าของที่ดินคือกรมธนารักษ์ ในขณะที่กำแพงเมืองซึ่งพาดผ่านพื้นที่ อยู่ใต้การจัดการของกรมศิลป์ และกรมเจ้าท่า รับผิดชอบพื้นที่คลอง พร้อมกันนั้นยังมีชาวบ้านในเขตเทศบาลเมืองเชียงใหม่อีก ดังนั้นกระบวนการมีส่วนร่วมจึงสำคัญมาก เพราะแต่ละภาคส่วนล้วนมีจุดประสงค์และวิธีทำงานไม่เหมือนกัน ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงจึงต้องค่อยเป็นค่อยไป
โครงการฟื้นฟูคลองแม่ข่าไม่ได้ราบรื่นเสียไปทั้งหมด ถึงแม้ว่าจะมีข้อเสนอที่ชัดเจน และการดำเนินงานในจุดที่ยืนอยู่ตอนนี้จะดีกว่าที่ผ่านมา แต่อุปสรรคที่ต้องพบเจอนั้นก็ใช่ว่าจะดีขึ้นตามไปด้วย
เช่น การสร้างสะพานเชื่อมระหว่างคลองแม่ข่า ในช่วงสองปีที่ผ่านมา มีการสร้างสะพาน 2 แห่ง ที่แรกใช้ระยะเวลาในการสร้างไม่ถึง 2 เดือน เนื่องจากเป็นการซ่อมแซมสะพานเก่าที่มีอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขออนุญาต
ทว่าสะพานแห่งที่สอง ที่อยากให้กระบวนการถูกต้องตามระเบียบทั้งหมด ทุกอย่างต้องเข้าสู่กระบวนการของส่วนกลาง สะพานสำหรับคนเดินข้ามตั้งอยู่ที่เชียงใหม่แต่ต้องทำเรื่องเพื่อขออนุญาติที่กรุงเทพฯ ระยะเวลาในการอนุมัติจึงกินเวลาทั้งสิ้น 1 ปี นอกจากนี้ยังมีในส่วนของความไม่ชัดเจนของการทำงานร่วมกับแผนการพัฒนาที่ไม่ชัดเจน
“ถ้าอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วทันทีทันใด เราต้องการคนที่มากุมสภาพ ปลดล็อคข้อจำกัดด้านต่าง ๆ ของแต่ละภาคส่วน รวมไปถึงการช่วยผลักดันและขับเคลื่อนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด”
การฟื้นฟูคลองแม่ข่าจึงเปรียบเสมือนการผ่าตัด ต้องมีการเจ็บตัว เสียเลือด แต่มันจะสามารถรักษาโรคนี้ได้ ทุกการทำงานอยู่บนพื้นฐานของการเข้าใจซึ่งกันและกัน การยอมถอยคนละก้าวเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
เช่น การโยกย้ายที่อยู่อาศัยเดิมเพื่อจัดผังที่ดินใหม่ หรือจะเป็นการจัดการน้ำที่ต้องยอมรับว่า โครงสร้างการระบายน้ำเมืองในปัจจุบันยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ ทุกอย่างต้องมีการปรับเปลี่ยนตั้งแต่กระบวนการการรวมท่อ แยกท่อ น้ำใช้ควรจะไปเส้นทางหนึ่ง น้ำฝนควรไปอีกเส้นทางหนึ่ง และการแบ่งแยกระดับครัวเรือน ระดับย่าน ระดับเมือง เพื่อความเหมาะสมในการจัดการ ทั้งหมดมันคือระบบการจัดการน้ำเมือง
04 สวนผักคนเมือง
โครงการฟื้นฟูคลองแม่ข่าถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ถูกผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กระบวนการทำงานแทบทั้งหมดที่กำลังเดินไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องถูกชะลอลงด้วยความไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการทำงานในแหล่งชุมชน
ทว่าสิ่งหนึ่งที่ทางใจบ้านสตูดิโอสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้คือ โครงการสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ สวนผักที่ถูกสร้างขึ้นจากพื้นที่รกร้าง
สวนผักคนเมือง มีจุดประสงค์หลักคือ ‘การสร้าง’
‘สร้าง’ ที่หนึ่งคือ การสร้างอาหารให้แก่ชุมชนเพื่อช่วยเหลือผู้คนบริเวณคลองแม่ข่าที่ลำบากหรือตกงานในช่วงระหว่างวิกฤตไวรัสโควิด-19 โดยอาหารเหล่านั้นได้แก่ ผักและไข่ที่จะถูกนำไปขายในชุมชนอาทิตย์ละสองครั้ง ในขณะเดียวกันก็จะถูกส่งไปยังศูนย์พักพิงคนไร้บ้านในละแวกใกล้เคียง และจะถูกนำไปประกอบอาหารเพื่อนำมาขายในราคาถูกเพื่อช่วยเหลือคนในบริเวณนั้น
การนำวัตถุดิบเหล่านั้นออกไปขาย ถือเป็นการสร้างงานให้แก่ชุมชน เพราะนอกจากจะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน รายได้ที่ได้จากการขายอาหารเหล่านั้นก็จะถูกนำมาจ่ายเป็นเงินเดือนให้แก่คนกลุ่มนี้ที่เข้ามาช่วยงานภายในสวนผัก
‘สร้าง’ ที่สอง คือ การสร้างพื้นที่สาธารณะ ในช่วงที่การแพร่ระบาดของโควิดทุเลาลง ทางสวนผักได้มีการจัดกิจกรรมทุกสองอาทิตย์ต่อครั้ง เพื่อเป็นการเชื่อมโยงผู้คนผ่านการทำกิจกรรมหลากหลายรูปแบบร่วมกัน เช่น การเรียนรู้การปลูกผักในเมือง เรียนเรื่องรุกขกร บางครั้งกลุ่ม Home School หรือพ่อแม่ที่สอนลูกด้วยตัวเองก็ได้จัดทำหลักสูตรธรรมชาติและพากลุ่มเด็ก ๆ เข้ามาเรียน นอกจากนี้ยังมีการ่วมมือกันกับทางโรงเรียนเทศบาลศรีดอนชัยเพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับเรียนวิชาเกษตรอีกด้วย
“ช่วงก่อนโควิดรอบสามก็จัดสองอาทิตย์ครั้งอย่างต่อเนื่องตลอด 6-7 เดือน ซึ่งอีกกิจกรรมหนึ่ง ช่วงนี้เราก็กลับมารื้อฟื้นละ ช่วงทุกวันศุกร์เย็นเราจะชวนคนมาทำสวนด้วยกัน ใครจะมาก็ได้ ถอนหญ้า ทำ แปลง ผสมปุ๋ย”
‘สร้าง’ อย่างสุดท้าย คือ การสร้างกลไกการพัฒนาเมืองแบบใหม่ เป็นการขับเคลื่อนจากภาคประชาชนประชาสังคม ภาคธุรกิจ และทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐไปพร้อม ๆ กันเพื่อลดข้อจำกัดที่แต่ละฝ่ายมี อย่างในส่วนของภาครัฐซึ่งครบครันไปด้วยเครื่องจักร วัสดุ อุปกรณ์ แต่ในแง่ของความคล่องตัว การแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว หรือว่าการเชื่อมโยงคน ภาคประชาชนเห็นจะมีประสิทธิภาพมากกว่าในส่วนนี้ กล่าวในอีกทางหนึ่ง มันคือการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน
สวนผักคนเมืองจึงกลายเป็นพื้นที่สาธารณะของเมืองที่มีหน้าที่ในการเชื่อมโยงมิติในส่วนของผู้คนเข้าด้วยกันอย่างไม่มีการแบ่งแยก อีกทั้งยังเพรียบพร้อมไปด้วยทัศนียภาพโดยรอบที่มีวิวของดอยสุเทพประดับให้มองเห็นจากทางด้านหน้าอย่างชัดเจน นอกจากนี้การสร้างซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักสามอย่างต่างสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมทั้งในช่วงเวลาปกติและช่วงเวลาที่ผู้คนห่างเหินกันจากสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิ
05 อนาคตไม่ไกล
การเกิดขึ้นของโครงการฟื้นฟูคลองแม่ข่า ในเชิงของการเชื่อมโยงที่มีสวนผักคนเมืองเป็นผลลัพธ์ตัวอย่างนั้นสร้างผลอันน่าพึงพอใจ เพราะสามารถกล่าวได้ว่า โครงการนี้จะเพิ่มพูนโอกาสให้แก่เชียงใหม่ได้อย่างมากมาย ไม่เพียงเฉพาะแง่ของผู้คน การท่องเที่ยว หรือการเดินทางสัญจรที่สามารถทำได้ง่ายขึ้นจากการเอื้ออำนวยต่อการเดินและปั่นจักรยาน (ซึ่งในส่วนนี้อาจเกี่ยวเนื่องได้กับการลดมลพิษทางอากาศ)
แต่ยังรวมไปถึงในแง่ของเศรษฐกิจที่จะสามารถกระจายรายได้ไปยังชาวบ้านซึ่งเป็นกลุ่มทุนรายย่อยได้ดีกว่าในปัจจุบันที่ทุกอย่างกระจุกตัวอยู่ภายในกลุ่มทุนรายใหญ่
“4.7 กิโลเมตร จะเป็นพื้นที่นิเวศที่ยาวมาก ๆ ที่หนึ่งในเชียงใหม่ การมีต้นไม้เยอะ ๆ เนี่ย กระรอก แมลงปอ ผีเสื้อ ผึ้ง ต้นไม้ใหญ่ คนก็จะร่มรื่นได้ มันก็จะทำให้กลุ่มคนโดยรอบเดินเข้ามาถึงได้ เราประเมินว่า 1 ใน 3 ของพื้นที่เทศบาลสามารถเดินเข้ามาที่สวนนี้ได้
“ถ้าตรงนี้เปลี่ยนได้อย่างมีคุณภาพ มันจะกลายเป็นแลนด์มาร์คใหม่ของเชียงใหม่ เราอยากจะเลือกว่าให้พื้นที่นี้ทำอะไรให้เราในแบบที่เรากำหนดฟังก์ชันของมันเอง” ทนวินท กล่าวถึงบทบาทที่สามารถเป็นได้ของคลองแม่ข่าซึ่งเต็มไปด้วยศักยภาพหากได้รับการฟื้นฟูอย่างมีคุณภาพ
เรื่อง พัทธนันท์ สวนมะลิ
ภาพ ณัฐกิตติ์ มีสกุล
(โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย)
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม โครงการฟื้นฟูคลองแม่ข่าและโครงการสวนผักคนเมืองเชียงใหม่
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : เมื่ออิสรภาพของ แม่น้ำ ส่งผลโดยตรงต่อความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศและผู้คน