นับจากอดีต มนุษย์ประดิษฐ์ล้อเพื่อช่วยในการขนส่ง ทว่าในคาวาอีเจียน คนงานเหมือง กำมะถัน ยังคงพึ่งพาสองบ่าของตนเอง…
อากาศเช้านี้สดใสพอสมควร เหมาะแก่การไปเยือนคาวาอีเจียน (Kawah Ijen) ณ เวลานี้ เรามองเห็นปล่องภูเขาไฟได้อย่างแจ่มชัด มวลควันอวลกลิ่น กำมะถัน ที่ปกคลุมหาได้บดบังความงามของทัศนียภาพที่ปรากฏแก่สายตาผู้มาเยือน อันที่จริงทะเลสาบสีฟ้าสดเหนือปากปล่องบอกเล่าเรื่องราวได้มากมาย
ไกลออกไป แคลดีรา (caldera) หรือแอ่งภูเขาไฟขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางขุนเขา แอ่งภูเขาไฟและทะเลสาบที่งดงามจนทำให้ใครหลายคนแทบลืมหายใจนี้ก่อตัวขึ้นจากการปะทุครั้งใหญ่ในสมัยไพลสโตซีน ก่อนหน้านี้มันเคยเป็นส่วนหนึ่งของภูเขาไฟอีเจียนอันเก่าแก่และสูงเสียดฟ้าด้วยความสูงกว่า 3,500 เมตร ทุกวันนี้ภูเขาไฟเก่าแก่ลูกนี้ก็ยังมีพลังอยู่ ทำให้คาวาอีเจียนเป็นทะเลสาบปล่องภูเขาไฟที่มีฤทธิ์เป็นกรดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
คาวาอีเจียนตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของเกาะชวาอินโดนีเซีย ประเทศที่รุ่มรวยไปด้วยภูเขาไฟมีพลังมากกว่า 100 ลูกกระจายอยู่ตามเกาะสำคัญต่าง ๆ นักเดินทางสามารถมาเยือนคาวาอีเจียนได้จากเมืองบอนโดโวโซ (Bondowoso) หรือบันยูวังกี (Banyuwangi) ในชวาตะวันออก แต่ส่วนใหญ่มักเลือกเส้นทางจากทางบอนโดโวโซ เพราะถนนหนทางสะดวกกว่า และยังเห็นทัศนียภาพของแอ่งภูเขาไฟได้ตลอดทางจนถึงเบสแคมป์
อีเจียน (Ijen) ตามรูปศัพท์มีความหมายว่า สงบวิเวกกระนั้น ภูเขาไฟลูกนี้หาได้อยู่เพียงลำพังหรือโดดเดี่ยวเดียวดาย เพราะ ณ ปากปล่องภูเขาไฟยังมีผู้คนอีกหลายร้อยชีวิตที่ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงปากท้อง พวกเขาคือคนงานเหมืองกำมะถันผู้เริ่มต้นชีวิตที่นี่ตั้งแต่รุ่งสาง
รถบรรทุกคันแรกมาถึงเบสแคมป์พร้อมคนงานเหมืองหลายสิบคนจากหมู่บ้านที่อยู่ไกลออกไป พวกเขากระโดดลงจากรถอย่างกระปรี้กระเปร่า เป็นสัญญาณว่าพร้อมเริ่มงาน แต่ละคนเร่งรุดไปยังเพิงพักเพื่อหยิบตะกร้า ก่อนเดินเรียงแถวมุ่งหน้าสู่ปล่องภูเขาไฟ คนงานบางคนคุยกันไปพลาง บางคนสูบบุหรี่ บางครั้งก็ส่งยิ้มทักทายนักท่องเที่ยวที่พบระหว่างทาง
การเดินทางถือว่าไม่ลำบากมากนัก เพราะเป็นเส้นทางที่พวกเขาใช้ประจำอยู่แล้ว กระนั้น สำหรับนักท่องเที่ยวบางคน ทางเดินขึ้นสู่ปล่องภูเขาไฟไม่ต่างจากการเข็นครกขึ้นภูเขา คนงานเหล่านี้เดินถึงที่หมายโดยไม่ต้องหยุดพักก่อนจะบ่ายหน้าลงสู่ก้นปล่องอย่างคล่องแคล่ว ไม่นานนักก็มาถึงก้นปล่องที่ขนาบข้างด้วยทะเลสาบกรดขนาดใหญ่
พวยควันหนาทึบจากท่อที่เรียงรายอยู่พุ่งสู่เบื้องบน ท่อเหล่านี้เชื่อมต่อกับพุแก๊สซึ่งเป็นแหล่งของกำมะถัน ครั้นควบแน่นกำมะถันหลอมละลายสีแดงเลือดนกก็ไหลเยิ้มออกมาจากปลายท่อ กำมะถันหลอมละลายที่อาจร้อนจัดถึง 200 องศาเซลเซียสค่อย ๆ เย็นลงและจับตัวเป็นก้อนแข็ง ภายใต้สภาพแวดล้อมที่อันตรายเช่นนี้ คนงานเหมืองทำได้แต่เพียงปิดจมูกและปากด้วยผ้าเปียก เพื่อป้องกันไม่ให้แก๊สพิษเข้าสู่ร่างกาย เสียงไอสำลักดังไม่ขาดสายระคนไปกับเสียงชะแลงสกัดก้อนกำมะถัน
การทำงานบนภูเขาไฟมีพลังเป็นงานที่เสี่ยงชีวิต พุแก๊สหรือแก๊สภูเขาไฟที่พวยพุ่งออกมาตามรอยแยกของปล่องภูเขาไฟเต็มไปด้วยสารประกอบอันตรายและแก๊สพิษเข้มข้น ยิ่งไปกว่านั้น คนงานเหมืองกำมะถันหลายร้อยคนยังต้องเผชิญกับความร้อนจากพุแก๊สที่อาจสูงถึง300 – 600 องศาเซลเซียส
การทำงานท่ามกลางสภาพแวดล้อมเช่นนี้โดยมีเครื่องป้องกันเพียงน้อยนิดเป็นเวลายาวนานต่อเนื่องกัน ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพและอายุขัยของคนงานอย่างไม่ต้องสงสัย ไซฟูล คนงานเหมืองวัย 39 ปี บอกเราว่า “แก๊สอาจพลุ่งออกมาได้ตลอดเวลาครับ ผมต้องพร้อมเสมอ เราทำอะไรไม่ได้หรอกครับ อย่างมากก็แค่หลับตา พยายามไม่สูดหายใจเข้าไปตรง ๆ และหวังว่าผ้าที่ปิดจมูกอยู่คงพอที่จะกรองมันได้”
สิบห้านาทีผ่านไป คนงานที่ทำหน้าที่เป็นลูกหาบทยอยเข้ามาหยิบตะกร้าที่เต็มไปด้วยก้อนกำมะถัน พวกเขาพยายามจัดเรียงก้อนกำมะถันเพื่อถ่วงน้ำหนักให้เท่ากันทั้งสองข้าง เพื่อจะได้แบกได้อย่างสมดุล คนที่ตะกร้าเต็มแล้วก็พร้อมออกเดินเท้า โดยเริ่มเดินไต่ขึ้นสู่ปากปล่องไปตามทางที่เต็มไปด้วยโขดหินระเกะระกะ
ทางกลับสู่เบสแคมป์คือส่วนที่ยากที่สุดของกระบวนการทำเหมืองกำมะถัน เพราะเป็นการเดินที่ยาวนานและเหนื่อยแสนสาหัส คนงานต้องไต่เขาโดยแบกน้ำหนัก 80 – 100 กิโลกรัมไปด้วย คานไม้ไผ่แกว่งไกวจนน่าหวาดเสียว จากเสียงที่เราได้ยิน บอกให้รู้ว่ามันหนักหนาเพียงใดที่หมายต่อไปอยู่ห่างออกไปราวสองกิโลเมตร คือสถานีชั่งน้ำหนักกำมะถัน อันเป็นจุดที่คนงานเหมืองใช้พักค้างแรมด้วยเช่นกัน เมื่อชั่งน้ำหนักเรียบร้อยแล้วคนงานจะได้รับตั๋วที่ระบุว่าแต่ละคนแบกกำมะถันมาเท่าใด แต่การเดินทางไม่ได้สุดสิ้น ณ จุดนี้ เพราะคนงานยังต้องบ่ายหน้าสู่จุดหมายสุดท้าย นั่นคือเบสแคมป์ในพัลทุดิงซึ่งหมายถึงระยะทางอีกสองกิโลเมตร
ช่วงตอนกลางของเส้นทางทางเดินเป็นทราย ทำให้ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นอย่างมาก ไม่เช่นนั้นคงลื่นล้มได้โดยง่าย คนงานพากันเดินอย่างช้า ๆ ไปตามทางที่ด้านหนึ่งเป็นเหว ตามจังหวะของคานไม้ไผ่ที่ส่งเสียงเอี๊ยดอ๊าดตลอดทาง หยุดพักบ้างเป็นระยะๆ เพื่อปลดเปลื้องภาระหนักอึ้งของร่างกาย หายใจเข้าออกเพื่อเรียกพลัง ปาดเหงื่อท่วมหน้าและดื่มน้ำบางคนพักสูบบุหรี่ เมื่อถึงพัลทุดิง เรียกได้ว่างานจวนเสร็จสิ้นแล้ว เหลือเพียงสำแดงกำมะถันที่แบกมาเพื่อแลกรับเงินสด คนงานไม่น้อยเดินทางเช่นนี้วันละสองเที่ยว เป็นเวลาหลายวันติดต่อกัน
การทำเหมืองกำมะถันที่คาวาอีเจียนเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อห้าทศวรรษก่อนในปี 1968 ที่แห่งนี้จึงเต็มไปด้วยหลากเรื่องราวชีวิตของคนงานเหมืองอุตสาหกรรมนี้มีการหมุนเวียนแรงงานโดยเฉลี่ยมากถึง 500 คนในแต่ละปี นับจากช่วงยุคก่อตั้งระหว่างทศวรรษ 1970 – 1990 คนงานส่วนมากมาจากหมู่บ้านทามันซารี ซึ่งเป็นจุดที่โรงงานแปรรูปกำมะถันตั้งอยู่ แม้งานเหมืองจะเป็นงานที่ใช้แรงงานหนักที่สุดเท่าที่เคยมีในช่วงเวลาดังกล่าว กระนั้น แรงงานก็ไม่เคยขาดแคลนและยังคงหลั่งไหลเข้าสู่เหมือง เพราะเป็นทางเลือกที่ยังพอ “เห็นหน้าเห็นหลัง” สำหรับผู้คนที่ดำรงชีวิตในหมู่บ้านอันทุรกันดารเช่นนั้น
กระทั่งวันหนึ่งกลางปี 1997 เมื่อวิกฤติเศรษฐกิจในเอเชียเริ่มสั่นคลอนความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางการเมืองของอินโดนีเซีย ค่าเงินที่ตกต่ำ ตามมาด้วยราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ทะยานขึ้น ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนงานและครอบครัวที่พวกเขาต้องเลี้ยงดู เมื่อค่าแรงที่ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำเพื่อแลกมาแทบจะไร้ค่า คนงานจำนวนมากเลือกอยู่บ้านเพื่อประคับประคองชีวิตไปวัน ๆ แรงงานหายไปกว่าครึ่ง เหลือเพียง 200 คนโดยเฉลี่ย ส่งผลให้บริษัทผู้ดำเนินกิจการเหมืองประสบความยากลำบาก จนต้องประกาศการปรับขึ้นค่าแรง เพื่อเชิญชวนให้คนงานกลับมาทำงานอีกครั้ง
กระนั้น การเป็นคนงานเหมืองหมายถึงการจ้างงานอย่างไม่เป็นทางการ ไม่มีสัญญาจ้างใด ๆ และเป็นการทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมอันสุ่มเสี่ยง แม้ทางการอินโดนีเซียจะประกาศอย่างชัดเจนในกฎหมายแรงงานฉบับปี 2003 ว่าลูกจ้างทุกคนควรได้รับสิทธิค่าชดเชยในสถานการณ์ต่าง ๆ แต่บริษัทยังคงหลบเลี่ยงและใช้อำนาจทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่าต่อรองกับเหล่าคนงานที่ต้องหาเลี้ยงครอบครัวและไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า
ในช่วงบ่ายเมื่อดวงอาทิตย์เริ่มคล้อยไปทางทิศตะวันตก คนงานจำนวนหนึ่งเริ่มมาถึงพัลทุดิง ตะกร้ากำมะถันหลายสิบใบวางเรียงรายที่จุดชั่งน้ำหนักเพื่อรอชั่งกำมะถันที่ขนมาได้อีกครั้งและแลกรับเงิน คนงานเหล่านี้จะได้รับเงินตามน้ำหนักกำมะถันที่พวกเขาสามารถแบกได้ นับเป็นรายได้จากภูเขาไฟที่ช่วยให้ครอบครัวมีอาหารกรอกหม้อและพอส่งเสียลูก ๆ ไปโรงเรียน
สำหรับคนที่เสร็จงานแล้ว บางคนเก็บข้าวของและอาศัยรถบรรทุกขนกำมะถันโดยสารกลับบ้าน แต่ใช่ว่าคนงานทุกคนจะทำเช่นนั้น คนที่ต้องการหาเงินมากกว่าเดิมมักเลือกค้างแรมที่เบสแคมป์ โดยปกติ เมื่อได้รับเงินสำหรับกำมะถันที่ขนมาได้ในช่วงบ่ายแก่ ๆ งานในวันนี้ก็ถือว่าเสร็จสิ้นลง ท้องฟ้าเริ่มมืด คนงานต่างเริ่มจัดเตรียมหุงหาอาหารด้วยการหาไม้ฟืนและก่อเตา คนงานกลุ่มเล็ก ๆ 4 – 5 คนนั่งล้อมรอบกองไฟ รอข้าวสุก และนั่งเบียดเสียดกันยามที่อากาศรอบตัวเริ่มหนาวเย็นลงพูดคุยกันถึงวันที่เพิ่งหมดไปในคาวาอีเจียน หลายคนเล่าถึงครอบครัวที่รออยู่ในหมู่บ้าน แบ่งปันเรื่องตลกขบขันและนึกถึงวันข้างหน้าเมื่อพวกเขาไม่สามารถแบกกำมะถันได้อีกต่อไป
“ผมเริ่มทำงานที่คาวาอีเจียนเมื่อ 4 ปีก่อน ตอนแรกพ่อตาผมก็ไม่อยากให้ทำงานแบบเดียวกับที่แกทำมาก่อนหรอก แต่มันเป็นงานที่ผมพอทำได้ และได้เงินเร็วนาน ๆ ทีผมจะออกเดินทางตั้งแต่มืด จะได้กลับถึงบ้านเร็วหน่อย” ซาลาเมต คนงานวัย 30 เล่าให้เราฟัง
หลังอาหารเย็น เวลายามค่ำคืนนับว่ามีค่ามาก เพราะทุกคนจะพยายามเข้านอนแต่หัวค่ำ เพื่อเอาแรงไว้สำหรับงานในวันพรุ่งนี้และก้อนกำมะถันที่รอพวกเขาอยู่ พอตกกลางดึก อุณหภูมิรอบตัวลดต่ำลงเหลือเพียง 10 – 15 องศาเซลเซียส แม้จะเป็นอุณหภูมิที่หนาวเหน็บ ถึงกระดูกสำหรับผู้คนในเขตอากาศร้อนชื้น แต่สำหรับคนงานเหมือง ความหนาวเย็นหาใช่อุปสรรคแม้แต่น้อยพวกเขาเริ่มออกเดินเท้าอีกครั้ง โดยมีเพียงแสงไฟจากไฟฉายอันน้อยเป็นเพื่อนร่วมทาง
ท่ามกลางความเงียบสงัด ความเคลื่อนไหวที่เห็นค่อย ๆ หายลับไปกับมวลหินผา มีเพียงความวิเวกของค่ำคืนและท้องฟ้าหลุบดาวร่วมเป็นสักขีพยานให้กับครรลองแห่งชีวิต วันใหม่มาถึงพร้อมเพื่อนร่วมชะตาชีวิตที่หวนคืน ทั้งที่ต้องทำงานแลกค่าจ้างน้อยนิด และบรรดานักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกที่เดินทางมาหมายชื่นชมทัศนียภาพอันแปลกตา อาคันตุกะที่เดินทางมาเยี่ยมเยือนเพียงระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนจะบ่ายหน้าเดินทางสู่จุดหมายแห่งต่อไป
กระนั้น การเดินทางของชาวเหมืองหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะสถานที่ที่งดงามราวต้องมนตร์และอันตรายไม่ต่างจากขุมนรกนี้ คือที่ที่พวกเขาฝากชีวิตไว้ อย่างน้อยก็ในวันนี้และวันหน้า แต่จะเป็นเช่นนี้ไปอีกนานเพียงใดไม่มีผู้ใดล่วงรู้ได้
เรื่อง อาน อนูกราห์
ภาพถ่าย อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา