การ ประมงเกิน ขนาด ส่งผลให้ความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเลกำลังถูกทำลาย ด้านบรรดาผู้นำโลกพบเจออุปสรรคในการวางมาตรการป้องกัน
การประมงเกินขนาด (overfishing) ซึ่งเป็นการทำประมงเกินอัตราที่ปลาจะเพิ่มประชากรมาแทนที่ได้อย่างสมดุลสร้างความกังวลแก่นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญมานับทศวรรษแล้ว อย่างไรก็ตามเหล่าผู้นำโลกยังไม่มีข้อตกลงที่แน่ชัดในการจัดการต่อปัญหานี้ การตกปลามากเกินนำไปสู่ความเสียหายต่อความหลากหลายทางชีวภาพและความยั่งยืนของอุตสาหกรรมประมงเอง และนักวิทยาศาสตร์ทำนายว่าปัญหานี้อาจพัฒนาเป็นวิกฤตได้ในไม่ช้า
อะไรที่ทำให้เกิดการ ประมง เกินขนาด
ปรากฏการณ์ของ การประมงเกินขนาด มีมาตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่สหรัฐอเมริกาจากการล่าวาฬในบริเวณทะเลตื้น สเตลวาเกน (Stellwegen Bank) นอกชายฝั่งคาบสมุทรเคป (Cape Cod) ซึ่งประชากรวาฬจำนวนมากถูกฆ่าและสกัดไขมันวาฬไปทำน้ำมันสำหรับตะเกียงไฟ
การทำประมงมากเกินไปเริ่มขยายวงกว้างอย่างรวดเร็วในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในหลายประเทศเริ่มผลักดันให้อาหารจากการประมงมีความมั่นคงและทั่วถึงต่อประชากร เงินอุดหนุนและนโยบายต่างๆ จากรัฐบาลทำให้อุตสาหกรรมการประมงขนาดใหญ่เติบโตอย่างรวดเร็วและแทนที่การประมงท้องถิ่นที่เคยเป็นผู้ผลิตหลัก เทคโนโลยีและกลวิธีการจับปลาพัฒนาอย่างต่อเนื่องทำให้ปลาถูกจับมากขึ้นเรื่อยๆ ผลผลิตทางการประมงจึงมีความหลากหลายและเข้าถึงง่ายอย่างที่หลายคนคุ้นชินอย่างปัจจุบัน
ในปี ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) มีปลาจำนวนกว่า 90 ล้านตันถูกจับในมหาสมุทร ซึ่งนั่นถือเป็นจุดสูงสุดของอุตสาหกรรมประมง จำนวนปลาที่จับได้ในแต่ละปีมีจำนวนคงที่หรือลดลงตั้งแต่นั้นมา ปลาที่เป็นที่นิยมบางสายพันธุ์เช่นปลาหัวเมือก (Orange Roughy) และปลาทูน่ายักษ์ (Bluefin Tuna) เริ่มขาดตลาดเนื่องจากประชากรปลาลดลงอย่างเฉียบพลัน ข้อมูลในปี 2003 คาดการณ์ว่าปลาใหญ่ในมหาสมุทรเช่นปลาค็อดบางสายพันธุ์ (codfish) และฉลามมีจำนวนเหลือเพียงแค่ร้อยละ 10 หากเทียบจำนวนกับช่วงก่อนอุตสาหกรรมประมงรุ่งเรือง
ผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
การตกปลามากเกินไปทำให้เรือประมงพาณิชย์ต้องขยายพื้นที่ในการจับปลาเพื่อชดเชยต่อประชากรปลาที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในแต่ละพื้นที่ การขยายพื้นที่นี้ส่งผลกระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเลในหลายๆ ด้าน ความเสียหายที่พบได้บ่อยเกิดจากการจับปลาแบบลากอวนซึ่่งมักมีสัตว์หลงติดอวน (bycatch) อย่างเต่าทะเล โลมาหรือแม้กระทั่งฉลามติดอวนอยู่เสมอ ซึ่งสิ่งมีชีวิตเหล่านี้อาจได้รับบาดเจ็บและตายได้
การจับปลามากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของแนวปะการังได้เช่นกัน ปลาบางชนิดช่วยทำความสะอาดแนวปะการังด้วยการกินตะไคร่น้ำซึ่งช่วยให้ปะการังเติบโตและแข็งแรงพอที่จะทนต่อความเปลี่ยนแปลงของอุณภูมิน้ำได้ การจับปลาในบริเวณเหล่านี้อาจทำให้ไม่มีปลาเพียงพอในการทำความสะอาดปะการังซึ่งทำให้ปะการังอ่อนแอและตายได้ง่ายท่ามกลางภูมิอากาศโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง อุปกรณ์การประมงอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อแนวปะการังโดยตรงได้เช่นกัน
ความพยายามในการหยุดการตกปลามากเกินไป
จำนวนปลาที่ลดน้อยลงอย่างฉับพลันทำให้นักวิทยาศาสตร์เตือนถึงขีดจำกัดของทะเล ข้อมูลการจับปลาจากวารสาร “Science” ในปี ค.ศ. 2006 ทำนายว่าอุตสาหกรรมประมงอาจล่มสลายในปี ค.ศ. 2048 (พ.ศ. 2591) หากยังมีจับปลาโดยไม่คำนึงถึงความยั่งยืน
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าประชากรปลายังสามารถฟื้นฟูได้ด้วยมาตรการเข้มงวดจากรัฐบาลเช่นการจำกัดจำนวนการจับปลาและการสนับสนุนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติหรือ FAO (Food and Agriculture Organization of the United Nations) มีการจัดวางมาตรการสากลสำหรับการประมงที่ยั่งยืนซึ่งมีรายงานในปี ค.ศ. 2020 ถึงผลผลิตจากการประมงที่คงที่หรือเพิ่มขึ้นจากพื้นที่ที่ปฏิบัติตามมาตรการ อย่างไรก็ตาม กว่าหนึ่งในสามของทรัพยากรปลา (fish stock) ทั่วโลกยังคงประสบกับการการตกปลามากเกินไป ซึ่งทาง FAO รายงานว่าเกิดจากการที่มาตรการสากลยังไม่ถูกใช้อย่างครอบคลุม
จะหยุดการตกปลามากเกินไปได้อย่างไร
การให้เงินอุดหนุอุตสาหกรรมประมงโดยรัฐบาลยังคงเป็นแนวโน้มการบริหารที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และกลายเป็นอุปสรรคหลัก เพราะเงินอุดหนุนซึ่งเป็นการสนับสนุนการตกปลามากเกินไป เช่นการให้เงินสนับสนุนค่าน้ำมันให้เรือสามารถออกทะเลไปยังพื้นที่ที่ไกลขึ้น ถือว่าเป็น ”เงินอุดหนุนที่อันตราย” (harmful subsidies) ผลสำรวจในปี ค.ศ. 2018 พบว่าประเทศทั่วโลกมีการให้เงินอุดหนุนอันตรายกว่า 7 แสนล้านบาทซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากปี ค.ศ. 2009 สำหรับประเทศจีนมีการเพิ่มเงินอุดหนุนอันตรายถึงสองเท่าตัวในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
องค์การการค้าโลก (World Trade Organization) มีการพูดคุยถึงการจำกัดเงินอุดหนุนเหล่านี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้ายังเป็นไปอย่างล่าช้าและแม้มีการวางแผนถึงการตั้งข้อตกลงให้เสร็จสิ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2020 ในปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อตกลงเป็นรูปธรรม
คุณอึงโกซี อะโคนโจ-อิเวลา (Ngozi Okonjo-Iweala) ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลกยังคงเรียกร้องให้สมาชิกตั้งข้อตกลงนี้ขึ้นมาและ “ความล้มเหลวในการตั้งข้อตกลงจะเป็นภัยมหาศาลต่อความหลากหลายทางชีวภาพและความยั่งยืนทางทะเลซึ่งเป็นทั้งแห่งอาหารและรายได้แก่ผู้คนมากมาย” เธอกล่าว
เรื่องโดย AMY MCKEEVER และ NATIONAL GEOGRAPHIC STAFF
แปล นิธิพงศ์ คงปล้อง
โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย