ความงามแห่ง ถ้ำน้ำแข็ง แห่งเทือกเขาแอลป์กำลังละลาย เพราะภาวะโลกร้อน

ความงามแห่ง ถ้ำน้ำแข็ง แห่งเทือกเขาแอลป์กำลังละลาย เพราะภาวะโลกร้อน

บรรดา ถ้ำน้ำแข็ง ในเทือกเขาแอลป์เป็นหนึ่งในความมหัศจรรย์น่าตื่นตาของโลก  ตอนนี้ภาวะโลกร้อนกำลังคุกคามโลกใต้ดินอันตระการตาเหล่านี้

สมัยเป็นเด็ก คาโรลีเน ซังเคอร์ มีสนามวิ่งเล่นแสนวิเศษ จากบ้านของเธอในหมู่บ้านซังต์มาร์ตินบายโลเฟอร์อันแปลกตา  ใกล้เมืองซัลทซ์บวร์ค เธอจะเดินขึ้นเขาผ่านโบสถ์เล็กๆที่เป็นจุดหมายของนักแสวงบุญ ขึ้นสู่เทือกเขาโลเฟอร์ ที่ระดับความสูงราว 1,585 เมตร ใต้หมู่ยอดเขาสูงตระหง่าน เธอจะแทรกตัวผ่านทางเข้าเล็กแคบในหินปูน แล้วคลานเข้าไปในภูเขา ใน ถ้ำน้ำแข็ง พรักซ์นั้น เธอบอกว่าเหมือนโลกในเทพนิยาย

น้ำแข็งย้อยลงมาจากเพดานถ้ำเหมือนน้ำตกจับตัวเป็นน้ำแข็ง และพอกขึ้นจากพื้นเป็นหอสูงตามทางเดินยาวเป็นร้อยเมตร ผลึกน้ำแข็งและน้ำแข็งย้อยทอประกายเหมือนเพชรพลอยล้ำค่าอยู่ตามผนัง

“มันอัศจรรย์เหลือเชื่อมากค่ะ” ซังเคอร์ ซึ่งปัจจุบันอายุ 48 ปี และเป็นไกด์นำชมถ้ำ รำลึกความหลัง

ไอส์โคเกลฮือเล, ออสเตรีย น้ำที่ไหลซึมผ่านถ้ำอันเย็นเยือกในแถบเทือกเขาแอลป์เช่นถ้ำแห่งนี้ ซึ่งอยู่สูงขึ้นไปในเทือกเขาเทนเนน ทางใต้ของซัลทซ์บวร์ค สลักเสลาตนเองเป็นโครงสร้างงดงามตราตรึง ตั้งแต่น้ำแข็งย้อยรูปดาบขนาดมหึม โคนน้ำแข็งพอกสูงจากเบื้องล่าง ไปจนถึงน้ำแข็งลดหลั่นแผ่เต็มพื้นถ้ำ น้ำแข็งเหล่านี้อาจมีอายุหลายพันปี

โลกเทพนิยายดังกล่าวสูญสิ้นไปแล้วตลอดกาลเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา ฉันไปคลาน ปีนป่าย และมุดถ้ำพรักซ์อยู่หลายชั่วโมง จ่อไฟฉายคาดศีรษะส่องเข้าไปในหลืบโพรงลึกที่สุด หวังจะได้เห็นอย่างน้อยก็เศษเสี้ยวของภาพที่ติดตราตรึงใจเด็กหญิงคาโรลีเนเมื่อเนิ่นนานปีก่อนโน้น  แต่เทอร์โมมิเตอร์บอกว่าอุณหภูมิอยู่ที่ราวสามองศาเซลเซียส กระทั่งในโถงกว้างใหญ่ที่สุดก็ไม่มีผลึกน้ำแข็งให้เห็นสักกระผีก

“อาจถึงเวลาต้องตัดคำว่า ‘น้ำแข็ง’ ออกจากชื่อทางการของถ้ำนี้แล้วมั้งคะ” ซังเคอร์กล่าว

ถ้ำส่วนใหญ่ก่อตัวขึ้นในหินปูนและโดโลไมต์ ซึ่งเป็นหินที่ละลายง่ายเป็นพิเศษ ตลอดช่วงเวลาหลายแสนปี น้ำที่ซึมลงมาจากผิวดินกัดเซาะหินจนเกิดเป็นปล่อง เป็นทางเดินแตกแขนง และคูหาถ้ำที่อาจใหญ่พอจะซุกซ่อนแม่น้ำและทะเลสาบไว้ได้ บางครั้งแร่ธาตุเกิดการตกตะกอนจากน้ำที่หยดลงมาในถ้ำ แล้วก่อรูปเป็นหินย้อยที่ห้อยลงมาจากเพดาน และหินงอกที่ผุดขึ้นมาจากพื้น

เอลเชโนเต, อิตาลี หิมะฤดูหนาวที่กำลังละลายถมแอ่งแห่งหนึ่งในทิวเขาโดโลไมต์แอลป์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีทะเลสาบอยู่ตลอดปี เมื่อปี 1994 นักสำรวจชาวอิตาลีค้นพบว่า ทะเลสาบดังกล่าวสาบสูญไปแล้ว เพราะน้ำแข็งที่อุดโพรงแห่งหนึ่งที่ก้นทะเลสาบละลายหายไป ทำให้น้ำไหลออกทางปล่องแคบเส้นหนึ่งเข้าสู่ถ้ำน้ำแข็งลึก 285 เมตร

หลายช่วงของเทือกเขาแอลป์รุ่มรวยด้วยถ้ำเหล่านี้ บางแห่งเยือกเย็นพอจะให้น้ำแข็งงอกอยู่ข้างในได้แทนที่จะเป็นหิน ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า มี ถ้ำน้ำแข็ง อยู่กี่แห่งในภูมิภาคแถบนี้ แต่ที่ไร้ข้อกังขาคือ น่าจะมากมายกว่าที่อื่นใดในโลก ลำพังในออสเตรียก็พบแล้วราว 1,200 แห่ง และยังมีอีกหลายร้อยถ้ำในแถบตะวันออกเฉียงเหนือของอิตาลี

ถ้ำบางแห่งเป็นเพียงหลุมเปิดที่กักอากาศที่เย็นกว่า หนักกว่าไว้ที่ก้นหลุม ขณะที่ในถ้ำอื่นๆ ความต่างของระดับความสูงระหว่างทางเข้ากับทางออก ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ปล่องควัน (chimney effect) อันทรงพลัง กล่าวคือ ในฤดูหนาว เมื่ออุณหภูมินอกถ้ำลดต่ำกว่าข้างใน อากาศที่อุ่นและเบากว่าในถ้ำจะเริ่มลอยตัวขึ้น แล้วหายออกไปทางปากทางออก ที่อยู่สูงขึ้นไป อากาศที่เย็นและสดใหม่จะถูกดูดเข้ามาตามจุดทางเข้าที่อยู่ต่ำกว่า กระบวนการนี้ทำให้ถ้ำเย็นลง ในฤดูร้อน กระแสอากาศจะเวียนกลับด้านกัน อากาศอุ่นที่ถูกดูดเข้ามาจากทางด้านบนจะเย็นลงเมื่อไหลผ่านหินลงมา ขณที่อากาศเย็นจะไหลออกผ่านทางเข้าที่อยู่ต่ำกว่า ปกติแล้ว ปรากฏการณ์ปล่องควันจะรักษาส่วนต่างๆ ของถ้ำที่อยู่ในระดับต่ำกว่า ซึ่งเป็นบริเวณที่จะพบน้ำแข็งถาวร ให้มีอุณหภูมิต่ำค่อนข้างคงที่ตลอดทั้งปี

โคลอฟรัตสฮือเล, ออสเตรีย การละลายนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ทำให้ถ้ำโคลอฟรัตสฮือเลเปลี่ยนโฉมไปอย่างลิบลับ นักวิจัยในปัจจุบันยืนอยู่ ในบริเวณเดียวกันของถ้ำที่เคยเต็มไปด้วยน้ำแข็ง

เมื่ออุณหภูมิเย็นพอ น้ำที่หยดเข้าถ้ำจะแข็งตัวเป็นรูปทรงสวยงามตราตรึงที่เปลี่ยนแปรตลอดเวลา น้ำแข็งย้อยแท่งยาวหรือกว้างหลายเมตรจะห้อยระย้าอยู่เต็มเพดาน แผ่นน้ำแข็งหนาๆ ลดหลั่นลงมาตามกำแพงบนพื้นถ้ำ การหยดอย่างเชื่องช้าจะค่อยๆ สร้างโคนน้ำแข็งที่อาจพอกสูงเท่าอาคารหลายชั้น หรือกลายเป็นลานน้ำแข็งใหญ่โตมโหฬารจนผนึกโพรงถ้ำได้ทั้งโพรง ในถ้ำบางแห่ง น้ำแข็งที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุย้อนกลับไปหลายพันปี

เราไม่ได้กำลังสูญเสียแค่สิ่งมหัศจรรย์น่าตื่นตาอย่างหนึ่งของโลก แต่รวมถึงเบาะแสสู่ประวัติศาสตร์ของมันด้วย เอาเรล แปร์โซยู นักภูมิอากาศบรรพกาลวิทยา จากสถาบันถ้ำวิทยาเอมิลราโควีตาในโรมาเนีย กล่าวและเสริมว่า “ถ้ำน้ำแข็งเหล่านี้ทำหน้าที่รักษาความทรงจำของภูมิอากาศในอดีตกาลครับ” คล้ายชั้นตะกอนลึกในมหาสมุทร หรือน้ำแข็งจากธารน้ำแข็งขั้วโลก

ผลึกน้ำค้างแข็งบอบบางก่อตัวขึ้นบริเวณที่ความชื้นและอากาศเย็นมาบรรจบกันในไอส์รีเซนเวลต์ ถ้ำในออสเตรียที่โด่งดังจากหมวดน้ำแข็งขนาดใหญ่ยักษ์ แต่ตอนนี้กำลังหดเล็กลง

ในถ้ำสการิชัวราในเทือกเขาอาปูเซนีของโรมาเนีย แปร์โซยูไต่ขึ้นลงโพรงถ้ำลึก 47 เมตร เพื่อไปยังบล็อกน้ำแข็งถาวร ที่มีพื้นผิวขนาดสนามบาสเกตบอลเจ็ดสนาม การหาอายุด้วยวิธีคาร์บอนกัมมนตรังสีจากมูลค้างคาว หรือสสารพืชที่ถูกกักอยู่ในน้ำแข็ง บอกให้เขารู้ว่า น้ำแข็งขยายตัวหรือถอยร่นในช่วงเวลาใด ระหว่างที่สภาพภูมิอากาศเย็นลงหรืออบอุ่นขึ้น เขาเคยเจาะบล็อกน้ำแข็งดังกล่าวลงไปลึก 25 เมตร แต่ก็ยังไม่ถึงก้น และตัวอย่างน้ำแข็งเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เขาเก็บได้มีอายุมากกว่า 10,000 ปี ตอนเห็นผลวิเคราะห์ เขาอีเมลไปถามเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการเพื่อให้แน่ใจว่า ทางนั้นไม่ได้เติมเลขศูนย์เกินมาหนึ่งตัว

การวิเคราะห์ทางเคมีของน้ำแข็งแสดงให้เห็นว่า หยาดน้ำฟ้าส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้มาจากมหาสมุทรแอตแลนติกกระทั่งราว 5,000 ปีที่แล้ว เมื่อมันเปลี่ยนทิศไปทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ปัจจุบัน ความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่อีกระลอกกำลังมาเยือนสการิชัวราและถ้ำน้ำแข็งอื่น ๆ ในเทือกเขาแอลป์ กล่าวคือ น้ำแข็งของถ้ำเหล่านี้กำลังถูกทำลายล้างจากอากาศที่อบอุ่นขึ้นและฝนฤดูร้อนที่ตกชุกขึ้น

“เหมือนเทน้ำอุ่นลงบนพื้นผิวน้ำแข็งน่ะครับ” แปร์โซยู เปรียบเปรย

ไอส์กรูเบน, ออสเตรีย ขณะโรยตัวลงไปตามกำแพงน้ำแข็งสูง 21 เมตร ตองกี ราซีน นักภูมิอากาศบรรพกาลวิทยา (ทางขวา) และเพื่อนร่วมงานคนหนึ่ง หยุดชั่วครู่เพื่อสกัดตัวอย่างออกมาชิ้นหนึ่ง ราซีนพบว่า น้ำแข็งบริเวณใกล้ก้นถ้ำลึก 100 เมตรแห่งนี้อาจมีอายุถึง 5,300 ปี น้ำแข็งสะสมตัวในถ้ำนี้เกือบตลอด 2,000 ปีที่ผ่านมา

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เหล่านี้กำลังสูญหายไป ทรัพยากรของนักวิทยาศาสตร์มีจำกัด ถ้ำน้ำแข็งมีมากมาย และอัตราการละลายก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว นักวิทยาธารน้ำแข็งวางแผนกันแล้วที่จะขนส่งตัวอย่างแกนน้ำแข็งจากธารน้ำแข็งของเทือกเขาแอลป์ไปเก็บไว้ในแอนตาร์กติกา นักวิจัยหวังจะเก็บตัวอย่างไว้ในที่ที่ปลอดภัยสักแห่งเพื่อรักษาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา

เรื่อง  เดนีส ฮรูบี

ภาพถ่าย  รอบบี โชน

ติดตามสารคดี เมื่อมนตราละลายหาย ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนตุลาคม 2565

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/559422


อ่านเพิ่มเติม เทือกเขาแอลป์ หากไร้เหมันต์

Recommend