สึนามิ วิธีรับมืออย่างปลอดภัย

สึนามิ วิธีรับมืออย่างปลอดภัย

สึนามิ กับข้อควรปฏิบัติเมื่อต้องเผชิญกับภัยจากคลื่นยักษ์ซึ่งสามารถซัดทุกสิ่งให้ราบเป็นหน้ากลองได้

สึนามิถือเป็นภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุดสำหรับผู้อาศัยบริเวณแนวชายฝั่ง เนื่องจากความเร็วมากกว่า 48 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในการเคลื่อนที่เข้าหาฝั่งและความสูงกว่า 30 เมตรของคลื่นยักษ์นี้สามารถคร่าชีวิตผู้คนได้เป็นจำนวนมาก ตัวอย่างความเสียหายจากภัยสึนามิที่รุนแรงเป็นอันดับต้น ๆ ได้แก่ เหตุภัยสึนามิในมหาสมุทรอินเดียเมื่อปี 2547 และเหตุสึนามิถล่มโทโฮคุในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2554

 

สึนามิ
เฮลิคอปเตอร์บรรทุกอาหารจากหน่วยงานสหรัฐฯ ขณะบินผ่านหาดลำปึก (Lampuuk) บริเวณเกาะสุมาตราเหนือหลังเกิดเหตุการณ์สึนามิครั้งใหญ่ซึ่งคร่าชีวิตชาวบ้านไปกว่า 7,000 รายและผู้อาศัยบริเวณชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียกว่า 230,000 ราย (ภาพโดย JOHN STANMEYER, NAT GEO IMAGE COLLECTION)

 

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสึนามิ

สึนามึคือคลื่นขนาดมหึมาที่มีพลังทำลายล้างสูง สาเหตุการเกิดคลื่นชนิดนี้มักจะมาจากแผ่นดินไหวใต้พื้นมหาสมุทร และสึนามิยังรุนแรงพอที่จะทำลายชุมชนทั้งชุมชนและพัดซากหมู่บ้านทั้งหมดลงสู่ท้องทะเลได้

สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อต้องเผชิญกับสึนามิหรือภัยพิบัติต่าง ๆ คือ การศึกษาว่าพื้นที่ที่อาศัยอยู่นั้นสามารถรับมือกับภัยพิบัติได้มากเพียงใด ด้วยเหตุนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในหลายประเทศจึงจัดทำแผนที่แสดงพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษ พร้อมระบุเส้นทางสำหรับอพยพให้แก่คนในชุมชนขึ้น หน่วยงานสภาพอากาศแห่งชาติสหรัฐฯ ( the U.S. National Weather Service) เองก็จัดทำแผนที่ขึ้น เพื่อติดตามสภาพอากาศและภัยพิบัติที่อาจจะเกิดภายในประเทศ และสำหรับประเทศไทยเองมีหน่วยงานหลักสองหน่วยงานคือศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.) และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ที่ทำหน้าที่ติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับภัยพิบัติและแจ้งให้ประชาชนทราบผ่านช่องทางต่าง ๆ

เควิน เจ ริชาดส์ เจ้าหน้าที่ด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติประจำสำนักจัดการภาวะฉุกเฉิน ณ เกาะฮาวายได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า “คุณควรรู้ว่าคุณสามารถรับความเสี่ยงได้แค่ไหนเมื่อเกิดภัยธรรมชาติขึ้น และควรประเมินด้วยว่าภัยพิบัติชนิดไหนมีโอกาสจะสร้างความเสียหายให้กับที่พักหรือพื้นที่ที่คุณอาศัย”

 

ซากปรักหักพังหลายเอเคอร์รายล้อมชายชาวอินโดนีเซียที่ขนสินค้าจากร้านค้าที่ได้รับความเสียหายใน Banda Aceh 6 วันหลังเหตุการณ์สึนามิปี 2547 ถล่มเมืองชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียด้วยคลื่นยักษ์สูงถึง 9 เมตร

 

วิธีเตรียมตัวเบื้องต้น

  • รู้จักสัญญาณเตือนการเกิดเกิดสึนามิ

เช่น ระดับน้ำบริเวณชายฝั่งเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างรวดเร็ว เสียงดังผิดปกติจากใต้ทะเล หรือเสียงแผ่นดินแยกตัว โดยร็อกกี้ โลเปส ผู้บริหารโครงการบรรเทาภัยสึนามิ (National Tsunami Hazard Mitigation Program: NTHMP) หนึ่งในโครงการด้านภัยพิบัติของสหรัฐอเมริกากล่าวว่า “หากเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ปี 2547 ผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณแนวมหาสมุทรอินเดียทราบว่าความผิดปกติที่เกิดขึ้นคือสัญญาณเตือนสึนามิ คงมีผู้เสียชีวิตน้อยกว่านี้” โลเปสยังเสริมอีกว่า “คนเชื่อกันว่าจะเกิดสึนามิขึ้นหากน้ำทะเลลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณเกาะต่าง ๆ สัญญาณเตือนเช่นนี้อาจไม่เกิดขึ้นเลย”

  • ฝึกตนเองให้คุ้นชินกับระบบเตือนภัยของรัฐบาลและติดตามการเตือนภัยผ่านช่องทางต่าง ๆ

สำหรับผู้ที่อาศัยในประเทศอเมริกา วิทยุแจ้งเตือนสภาพอากาศโดยหน่วยงานบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศ (National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA) ถือเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ และสำหรับผู้ที่อาศัยในประเทศไทยสามารถติดตามการแจ้งเตือนภัยพิบัติหรือภัยธรรมชาติได้จากช่องทางต่าง ๆ ของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และกรมอุตุนิยมวิทยา

  • ร่างแผนที่สำหรับอพยพในกรณีฉุกเฉิน

แผนที่สำหรับอพยพนี้ควรมีเส้นทางหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางจากบ้าน ที่ทำงาน โรงเรียน หรือสถานที่อื่น ๆ ที่คนในครอบครัวมักจะไป นอกจากนี้การรู้วิธีเดินเท้าอย่างปลอดภัยท่ามกลางภัยพิบัติที่เกิดก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากในบางกรณีสภาพแวดล้อมอาจไม่เหมาะสำหรับการเดินทางด้วยยานภาหนะ

  • เตรียมแผนที่สำหรับอพยพให้พร้อมและซ้อมหากมีโอกาส

การเตรียมตัวเช่นนี้จะทำให้สามารถเคลื่อนย้ายไปศูนย์อพยพหรือศูนย์พักพิงได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย

  • พกกล่องปฐมพยาบาลหรือกระเป๋าเก็บอุปกรณ์และของใช้ที่จำเป็นไว้ที่บ้านหรือบนรถเสมอ

สภากาชาดสหรัฐอเมริกาแนะนำว่านอกจากการเตรียมของจำเป็นแล้วยังควรเตรียมอาหาร น้ำดื่ม พร้อมทั้งโทรศัพท์มือถือและแบตเตอรี่สำรองไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินด้วย

  • ติดต่อกับครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิดเป็นระยะ ระหว่างเดินทางมาพบกัน

หากเกิดภัยพิบัติขึ้นขณะที่คนในครอบครัวไม่ได้อยู่สถานที่เดียวกัน ควรติดต่อและหาวิธีที่ทุกคนจะสามารถกลับมารวมตัวกันได้โดยเร็ว

 

สึนามิ
มุมมองภาพถ่ายทางอากาศของเมือง Batticaloa ศรีลังกา แสดงให้เห็นภูมิประเทศรกร้างว่างเปล่าหลังเหตุการณ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดียที่กวาดล้างชายฝั่งเข้าไปในแผ่นดินมากกว่าครึ่งไมล์ (1 กิโลเมตร) ในน้ำลึก คลื่นสึนามิสามารถเดินทางได้ด้วยความเร็วถึงถึง 500 ไมล์ (800 กิโลเมตร) ต่อชั่วโมง

 

วิธีปฏิบัติตัวระหว่างเกิดสึนามิ

  • หากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นขณะอยู่ในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ ควรหมอบกับพื้น 

ป้องกันบริเวณศีรษะและคอของตนไม่ให้ถูกกระทบกระเทือน และยึดอะไรก็ได้ที่มั่นคงไว้ให้ดี ในกรณีอยู่ในบริเวณที่น้ำท่วมถึง ควรออกจากบริเวณนั้นโดยเร็วและหาสถานที่อื่นเพื่อหลบภัย 

  • คอยฟังประกาศต่าง ๆ จากทางการและสังเกตสัญญาณเตือนภัยจากธรรมชาติตลอดเวลา

หากพบว่าสถานการณ์ไม่ปกติควรอพยพทันที ไม่จำเป็นต้องรอคำสั่งจากรัฐบาลหรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

  • ไม่ควรอพยพไปไกลเกินความจำเป็น

ริชาดส์อธิบายไว้ว่า “ผู้คนมักจะเข้าใจผิดว่าควรอพยพไปไกล ๆ เมื่อเกิดภัยสึนามิ ทว่าจริง ๆ แล้วการอพยพนั้นไม่จำเป็นจะต้องไปไหนไกล เพียงหาสถานที่ปลอดภัยใกล้ ๆ ก็พอแล้ว” นอกจากนี้ริชาดส์ยังแนะนำเพิ่มอีกว่า “สำหรับนักท่องเที่ยวที่พักในโรงแรมที่ตัวอาคารสูงอยู่แล้ว การอยู่ชั้นที่สี่ขึ้นไปถือว่าปลอดภัยกว่าการอพยพไปที่อื่น”

  • อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยจนกว่าทางการจะประกาศว่าสถานการณ์คลี่คลายแล้ว

อย่างไรก็ดี คลื่นลูกแรกที่ซัดมานั้นอาจจะไม่ใช่คลื่นลูกสุดท้ายหรือคลื่นที่รุนแรงที่สุด และอันตรายจากคลื่นที่ซัดสูงอาจกินเวลาหลายชั่วโมงหรือหลายวัน

 

สึนามิ
เรือประมงสีสันสดใสถูกพัดขึ้นฝั่งเมื่อเดือนธันวาคม 2547 ท่ามกลางกลุ่มอาคารที่พังยับเยินในหมู่บ้านน้ำเค็ม หมู่บ้านชาวประมงในประเทศไทย จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขนาด 9.0 แมกนิจูด นอกชายฝั่งเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย อันก่อให้เกิดพิบัติภัยสึนามิ

 

วิธีปฏิบัติตัวหลังเกิดสึนามิ

  • หลีกเลี่ยงบริเวณที่ได้รับความเสียหายรุนแรง น้ำท่วม หรือมีสายไฟขาด
  • รอฟังประกาศเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถาณการณ์และศึกษาวิธีไปศูนย์ผู้อพยพหรือศูนย์พักพิงต่าง ๆ
  • ติดต่อครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิดด้วยการส่งข้อความแทนการโทร เนื่องจากในขณะนั้นสัญญาณโทรศัพท์อาจยังขัดข้องอยู่หรือยังไม่มีการกู้คืน

 

เมื่อเกิดภัยสึนามิขึ้น นอกจากการปฏิบัติตามคำแนะนำที่กล่าวไว้ข้างตนแล้ว สิ่งที่ควรปฏิบัติเพิ่มเติมคือการพกน้ำดื่มและอาหารที่สามารถเก็บรักษาได้นานติดตัวไว้ตามคำแนะนำเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหารจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อแห่งสหรัฐอเมริกา

 

เรื่องโดย คริสตินา นูเนซ
แปลโดย พรรณทิพา พรหมเกตุ
โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

 


อ่านเพิ่มเติม 10 อันดับสึนามิร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

สึนามิ

Recommend