ระดมสมองและไอเดีย Greener Bangkok Hackathon Public Presentation

ระดมสมองและไอเดีย Greener Bangkok Hackathon Public Presentation

Greener Bangkok Hackathon 2022 เดินทางมากว่าครึ่งทางของโครงการแล้ว ทั้งหมดเป็นเสมือนการรวบรวมความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างกรุงเทพฯ ที่เขียวกว่า

ผ่านเวลามาร่วมเดือน กับการชักชวนคนเมืองเข้ามาร่วมคิด และค้นหาข้อเสนอใหม่ๆ ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในย่านละแวกให้กับกรุงเทพมหานคร เพื่อสานฝันของสวน 15 นาทีให้เป็นพื้นที่จริงสำหรับทุกคน ผ่านกิจกรรมที่เกิดขึ้นตลอดเดือนกันยายนและตุลาคมนี้

จากงานเปิดตัวแรกสุดที่ UddC ร่วมกับ กทม. และภาคีพัฒนาเมือง ได้ชักชวนทุกคนมาเปิดข้อมูลความเป็นไปได้ร่วมกันในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพมหานคร พร้อมกับประกาศรายละเอียดโครงการ กิจกรรมที่ตามมายังเกิดขึ้นเพื่อให้การประกอบสร้างไอเดียเป็นไปได้จริง ผ่านการพูดคุยกับที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาในงานเวิร์คช็อป ก่อนจะนำมาสู่การนำเสนอผลงานเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา

เราชวนคุณมาชมความเคลื่อนไหวโครงการครั้งนี้  แล้วมาลุ้นไปพร้อมกันว่า โครงการใดจากผู้เข้าประกวดที่จะได้รับรางวัล แล้วจะผสานความร่วมมือจากแนวคิดของผู้เข้าประกวด สู่มือนักพัฒนา และต่อยอดทำจริงได้อย่างไร

Greener Incubation Workshop & Hackathon

เพื่อสานต่อไอเดียให้เป็นไปได้ในสนามจริง ทางโครงการจึงได้จัดให้มีกิจกรรมเวิร์คช็อปพิเศษสำหรับทีมที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก ผ่านการบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญทุกศาสตร์ครอบคลุมประเด็นการพัฒนาพื้นที่สีเขียว 15 นาทีในทุกมิติ เป็นการช่วยดึงศักยภาพของแต่ละโครงการออกมาให้ได้มากที่สุด และเป็นไปได้จริงในทางปฏิบัติมากที่สุด

เนื้อหาสาระในการบรรยายมาจากทุกมิติของการปฏิบัติงานจริงในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในละแวกย่าน ตั้งแต่เนื้อหาด้านยุทธศาสตร์ ผังเมือง เศรษฐศาสตร์ การออกแบบ การบริหารจัดการ กลไกทางกฎหมาย การเงิน การออกแบบแรงจูงใจทางภาษี จนถึงการดูแลรักษาต้นไม้ เปิดมุมมองภาพรวมด้านการพัฒนาที่เป็นไปมากกว่าการระดมเรื่องราวความสนใจ แต่จะต้องสร้างอรรถประโยชน์ให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม

วิทยากรทั้ง 8 ท่านที่ร่วมบรรยาย และเปิดมุมมองครั้งนี้ มาจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายศาสตร์ ได้แก่

– ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

– อาจารย์ธนิชา นิยมวัน อาจารย์พิเศษภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

– คุณอาสา ทองธรรมชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาและฟื้นฟูเมือง สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร

– คุณกรกช อรรถสกุลชัย Senior Executive Direct, Chief of Non-Capital Market Solution, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย

– คุณมนตรี ถนัดค้า กรรมการผู้จัดการ บริษัท แลนโดมิเตอร์ จำกัด

– คุณยศพล บุญสม ผู้ก่อตั้งกลุ่ม WE! PARK และผู้บริหาร บริษัท ฉมา จำกัด

– คุณสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด

– คุณสายธาร บัวทอง รุกขกรอาชีพ สมาคมรุกขกรรมไทย

“โจทย์ของสวน 15 นาทีเป็นมากกว่าแค่เรื่องสวน แต่ยังเป็นพื้นที่วัฒนธรรมสาธารณะที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน” ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวไว้ในพิธีเปิดงานในช่วงเวิร์คช็อป ซึ่งอีกหัวเรื่องสำคัญนอกจากการเป็นเจ้าของพื้นที่ร่วมกัน ยังเป็นเรื่องความยั่งยืนของการพัฒนา ที่นับเป็นประเด็นท้าทายสำหรับหน่วยงานภาคบริหารที่จะต้องขับเคลื่อนทุกมิติทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และธรรมาภิบาล เพื่อผลักดันให้เดินทางไปสู่เป้าหมายการเป็นมหานครสีเขียว (Green Bangkok 2030) ร่วมกัน

Greener Bangkok Hackathon Public Presentation

จากภาคบรรยายที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมประกวดต่างก็ผนวกแนวความคิดและหัวเรื่องที่ตนสนใจ กับเนื้อหาสาระที่ได้จากการเข้าร่วมเวิร์คช็อป จนออกมาเป็นผลงานแนวทางการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับกรุงเทพมหานคร เพื่อนำเสนอสู่กรรมการผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วน พร้อมกับการแลกเปลี่ยนความเห็นและแนวทางในการพัฒนางานต่อไป

จากกติกาของโครงการที่แบ่งออกเป็นประเภท A เน้นผลลัพธ์ด้านการออกแบบ และประเภท B เน้นผลลัพธ์ด้านกลไกและการบริหารจัดการ มาสู่การนำเสนอผลงานโดย 19 ทีมที่ผ่านคัดเลือกต่อหน้าคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญทั้ง 9 ท่าน ได้แก่

– คุณพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

– คุณปิติภัทร บุรี กรรมการบริหาร กลุ่ม บริษัท ภิรัชบุรี จำกัด

– อาจารย์ธนิชา นิยมวัน สถาปนิกอาวุโส บริษัท สถาปนิกหนึ่งร้อยสิบ จำกัด และอาจารย์พิเศษภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

– ผศ.สุภาพิมพ์ คชเสนี อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

– ดร. พงษ์พิศิษฐ์ หุยากรณ์ กรรมการฝ่ายบริการสังคม สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย ผู้อำนวยการหลักสูตรการออกแบบพัฒนาชุมชนเมืองบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยชุมชนเมือง

– คุณมังกร ชัยเจริญไมตรี อุปนายกคนที่ 1 ฝ่ายวิชาชีพ (2565) และนายกสมาคม (2566) สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย

– คุณปาจริยา มหากาญจนะ ผู้อำนวยการส่วน สวนสาธารณะ1 สำนักสิ่งแวดล้อม

– คุณนทีทิพย์ จึงสมประสงค์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล

– คุณสุรเชษฐ์ เมืองแมน รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการส่วนผังเมืองรวม สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง

จากการนำเสนอผลงานของทั้ง 19 ทีม ทำให้ได้เห็นมุมมองของการสร้างสรรค์เป้าหมายของสวน 15 นาทีให้เป็นจริงได้ในหลากหลายมิติ ทั้งในแง่ของงานออกแบบกายภาพให้พื้นที่ให้สอดรับกับความต้องการสาธารณะ การบริหารจัดการพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน ไปจนถึงโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ต้องการสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับกรุงเทพฯ พร้อมกับการมีส่วนร่วมของชุมชน​

การนำเสนอครั้งนี้นอกจากจะเป็นการบอกเล่าแนวทางการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในขอบข่ายที่แต่ละทีมสนใจแล้ว ยังเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะจากกรรมการผู้เชี่ยวชาญ อันจะนำไปสู่การพัฒนาโครงการให้แข็งแรงขึ้น และพร้อมที่จะสานต่อเป็นโครงการจริงในภาคปฏิบัติเพื่อชาวกรุงเทพมหานคร

งานประกาศผลรางวัล Green Bangkok Hackathon 2022 รอบสุดท้าย จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เวลา 12.30 – 16.00 น. ณ ห้องประชุม Amber 1 – 3 BHIRAJ CONVENTION CENTRE AT BITEC พร้อมกับการรับฟังงานเสวนาสาธารณะ Green Matching ในหัวเรื่องประเด็นการขับเคลื่อนข้อเสนอเหล่านี้ไปสู่การปฏิบัติจริงต่อไป


อ่านเพิ่มเติม ชวนระดมไอเดีย แฮคกรุงเทพฯ ให้เขียวไปด้วยกัน กับโครงการ Greener Bangkok Hackathon 2022

Recommend