วิกฤติสิ่งแวดล้อมโลกมากหมาย มีรากจากปัญหาเดียว และ Nature Based Solution การฟื้นฟูธรรมชาติคือหนทางแก้ปัญหาที่ทำหนึ่งได้ผลหลายอย่าง
ถึงตอนนี้ไม่มีใครไม่รู้สึกว่าโลกกำลังแปรปรวนอย่างหนัก อากาศที่เปลี่ยนแปลงฉับพลัน ภัยธรรมชาติที่เกิดถี่ขึ้นทุกที เรายอมรับกันแล้วว่าผลกระทบจากโลกร้อนมาถึงตัว แต่นั่นก็เป็นเพียงหนึ่งในวิกฤติที่โลกกำลังเผชิญ
เราได้พูดคุยกับดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ อดีตประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว เจ้าของทุ่งน้ำนูนีนอย สวนเกษตรอินทรีย์ที่เชียงดาว และเจ้าของผลงานเขียนล่าสุด ‘Homo Gaia’ หนังสือที่อ่านแล้วเหมือนได้ลอกเปลือกที่กั้นขวางเรากับธรรมชาติออก (เพียงบางชั้น) ในวันที่เราตระหนกกับวิกฤติโลกว่า หรือเราไม่อาจแก้ไขอะไรได้แล้ว แต่ก็ยังมีความหวังที่ได้เห็นความเคลื่อนไหวในด้านดีเกิดขึ้นตรงนั้นตรงนี้
เราอาจเคยได้ยินเรื่องเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่ประกาศโดยองค์กรระดับโลก เช่น การลดคาร์บอนให้เป็นศูนย์ เพื่อควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นกว่า 1.5 องศาเซลเซียส หรือการตั้งเป้าหมายรักษาพื้นที่ธรรมชาติเป็นตัวเลขต่างๆ ทั้งหมดถูกคิดอยู่บนฐานของขีดจำกัดของโลกที่สามารถรองรับได้ (Planetary Boundaries) เมื่อธรรมชาติถูกทำลายด้วยกิจกรรมทำลายล้างของมนุษย์ โลกมีกลไกของมันอยู่ เมื่อการทำลายธรรมชาติเกินขีดจำกัดอันตราย มนุษย์เราก็ไม่อาจจะรับมือกับผลที่ตามมาได้ การละเมิดขีดจำกัดของโลกมีอยู่ 9 ด้าน และต่างระดับความรุนแรง ซึ่งขอไม่ลงรายละเอียดในที่นี้ แต่ปัญหาทั้งหมดสามารถแก้ได้ด้วย Nature-based Solution การแก้ปัญหาโดยใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน
Nature-based Solution ฟื้นฟูธรรมชาติเพื่อแก้ปัญหาโลก
หากมองแต่ปัญหาอาจรู้สึกสิ้นหวังที่เห็นโซนอันตรายขึ้นในกราฟวงกลมเป็นสีส้มสีแดงเต็มไปหมด แต่ที่จริงทางแก้ไม่ได้ยากขนาดนั้น
“Nature-based Solution ก็เหมือนสมาร์ทโฟน ที่ทำงานหนึ่งอย่างแล้วแก้ปัญหาได้หลายอย่าง” ท่ามกลางข่าวร้าย ยังมีข่าวดีที่ว่า “รากปัญหาคือเรื่องเดียวกันหมด คือการทำลายธรรมชาติและการจัดการทรัพยากร ถ้าคุณฟื้นฟูธรรมชาติก็สามารถแก้ปัญหาหลายอย่างพร้อมกัน Nature-based Solution เปรียบเหมือนเทคโนโลยี ที่ทำอย่างหนึ่งได้อีกหลายอย่าง” ดร.สรณรัชฎ์ กล่าว
แต่การฟื้นฟูธรรมชาติต้องทำอย่างมียุทธศาสตร์และอาศัยความใส่ใจอย่างละเอียด ใส่ใจทั้งการหาความรู้และการสังเกตธรรมชาติดั้งเดิมของพื้นที่นั้นๆ
“อันดับแรกคุณต้องหยุดการทำลายธรรมชาติก่อน” ทุกวันนี้มีโครงการที่ทำลายธรรมชาติมากมาย แม้จุดประสงค์คือการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่การกระทำโดยไม่ได้คำนึงถึงภาพรวมที่ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ นั่นก็คือการทำลายธรรมชาติไปในตัว หลายโครงการควรหยุดและหาวิธีจัดการใหม่ เพราะมีทางออกมากมายที่สามารถทำให้ธรรมชาติอยู่กับเมือง ให้คนได้ประโยชน์จากเมืองและธรรมชาติไปพร้อมกัน
พื้นที่ชายน้ำ เชื่อมพื้นที่อนุรักษ์เดิมสู่ความหลากหลายของระบบนิเวศ
ขณะนี้ เรามีแล้วพื้นที่อนุรักษ์แบบเข้มข้น เช่น อุทยานแห่งชาติและเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งมีความสำคัญมาก แต่เขตพื้นที่สงวนเหล่านี้ยังกระจายอยู่เป็นหย่อมๆ เหมือนเกาะที่แยกขาดจากกัน เราไม่รอดด้วยการอนุรักษ์แบบนี้เท่านั้น เพราะพืชหรือสัตว์ต่างๆ ไม่สามารถไปมาหากัน อีกทั้งยังไม่ครอบคลุมทุกระบบนิเวศ ไม่ครอบคลุมทุกหน้าที่ที่เราต้องการจากระบบนิเวศต่างๆ (เมื่อมองจากมนุษย์เป็นศูนย์กลาง)
แล้วเราจะหาวิธีเชื่อมพื้นที่เหล่านั้นเข้าหากันอย่างไร
ก็ด้วย ‘พื้นที่ชายน้ำ’ ดร.สรณรัชฎ์บอก
พื้นที่ชายน้ำ คือรอยต่อระหว่างพื้นที่บนบกและในน้ำ ซึ่งมีหลายบทบาท เป็นทั้งแนวกันชนช่วยดักสารพิษที่จะไหลจากบกสู่น้ำ เป็นแนวป้องกันการกัดเซาะของสายน้ำ คลื่นลมที่จะทำลายชายฝั่ง และเป็นถิ่นอาศัย หลบภัย วางไข่ของทั้งสัตว์น้ำและสัตว์บก การอนุรักษ์ดงพืชตามแนวพื้นที่ชายน้ำยังจะทำหน้าที่เป็น Corridor หรือเส้นทางอพยพไปมาหาสู่ของสัตว์ป่าต่างๆ ให้สามารถเชื่อมถึงกันได้
ในหลายๆ ที่ มันหลอมรวมเข้าไปเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างหนองบึงและป่าชายเลน บ้านของสิ่งมีชีวิตหลากหลาย เพราะเป็นแหล่งอาหารที่ได้จากการดักตะกอนที่ชายน้ำ ปกป้องแหล่งน้ำ เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์วัยเยาว์มากมาย ด้วยมีพืชน้ำ พืชครึ่งบกครึ่งน้ำขึ้นรกเรื้อ เป็นกำบังภัยให้สัตว์วัยอ่อนหลายชนิดที่อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่ตัวเต็มวัย
นิยามง่ายๆ พื้นที่ชุ่มน้ำก็คือ “พื้นที่ที่รกๆ แฉะๆ พื้นที่น้ำท่วมที่ไม่ลึกเกินไป มีความลึกระดับต่างๆ กัน จึงมีองค์ประกอบของทั้งน้ำและดิน เกิดการแลกเปลี่ยนกันตลอดเวลาของดิน น้ำ ลม ไฟ (แสงแดด) อาจไม่มีผู้อยู่อาศัยเป็นประจำหลากหลายมากนัก แต่ที่เยอะหลากหลายมากที่สุดคือผู้ที่เดินทางไปมา ผู้อพยพ เข้ามาใช้ประโยชน์ เปลี่ยนไปตามการใช้งาน เช่น น้ำขึ้นชนิดหนึ่งมา น้ำลงอีกชนิดหนึ่งมา เป็นชุมทางของความหลากหลายทางชีวภาพ”
นอกจากจะต้องรักษาพื้นที่ชายน้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำโดยการรักษาพื้นที่ดั้งเดิมไว้ การฟื้นฟูพื้นที่ธรรมชาติเหล่านี้โดยมีมนุษย์เป็นผู้ดูแลก็สำคัญ อย่างทุ่งน้ำนูนีนอยของดร. สรณรัชฎ์ สวนส่องแสงของดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ และพื้นที่อนุรักษ์บ้านปากทะเล โดยการระดมทุนของสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย เป็นต้น ที่เอกชนลงมือทำเอง
พื้นที่ชุ่มน้ำยังสามารถสร้างได้ในสวนเกษตรของเกษตรกรที่เลือกวิธีผสมผสาน และแม้ในบ่อเก็บน้ำของประปา ซึ่งไม่เป็นแค่บ่อตัดตรงเอาไว้เก็บน้ำ แต่ยังสามารถออกแบบขอบของที่เก็บน้ำให้มีความลาดเอียงลงไป ให้พงพืชชายน้ำหลายประเภทขึ้นได้ เพื่อสร้างระบบนิเวศที่อาศัยในความลึกของระดับน้ำต่างๆ กัน
การฟื้นฟูธรรมชาติจากระดับบุคคลไปจนถึงเมือง
เราสามารถฟื้นฟูธรรมชาติได้ในหลายรูปแบบ ธรรมชาติหมายรวมพื้นที่ธรรมชาติทุกอย่าง ในระดับบุคคลที่เราทำกันเองได้ สวนหน้าบ้าน สวนดาดฟ้า ก็นับว่าเป็น Nature-based Solution ได้ แต่เป็นหน่วยย่อยเล็กๆ ในระดับเมือง การมีสวนสาธารณะ การสร้างเมืองที่ให้ธรรมชาติเติบโตไปพร้อมกับสิ่งก่อสร้างของมนุษย์ก็สามารถทำได้
เช่นที่สิงคโปร์เรียกตัวเองว่า City in the Garden เป็นเมืองในสวน ด้วยนโยบายเกี่ยวกับพื้นที่สีเขียวที่ชัดเจนและเข้มงวด ส่วนลอนดอนคิดไปอีกขั้น ตั้งเป้าให้เป็น City in the National Park เมืองในอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้คะแนนโหวตจากชาวเมืองเอง แน่นอนว่าลอนดอนไม่ปล่อยให้เมืองเต็มไปด้วยสิงสาราสัตว์ หรือปล่อยให้ธรรมชาติเข้ามาครอบครองทุกจุด แต่สามารถออกแบบพื้นที่และการจัดการได้ ดร. สรณรัชฎ์ ยกตัวอย่างสวนสาธารณะที่มีรูปแบบเป็นทางการอย่าง St.James’s Park สวนหลวงที่ตั้งอยู่หน้าพระราชวังบักกิงแฮม ซึ่งจัดแต่งอย่างมีระเบียบ ก็ยังมีพื้นที่ที่ปล่อยให้เป็นพื้นที่ชายน้ำ มีพงไม้ริมน้ำขึ้นอย่างอิสระ มีความรกเรื้อบ้าง เพื่ออนุญาตให้สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศนั้นได้เติบโต เราต้องอนุญาตให้สวนสาธารณะรกได้ เพราะความรกคือการอนุญาตให้ความเป็น ‘ป่า’ กลับมา
เพราะการ “ปลูกต้นไม้ขึ้นเป็นดงแถวไม่น่าเรียกว่าสวนป่า ป่ามีโครงสร้างที่หลากหลายสลับซับซ้อนกว่านั้น ทำให้มันมีบทบาททางนิเวศที่หลากหลาย” ดร. สรณรัชฎ์ ย้ำ ฉะนั้น การจะสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็น ‘สวนป่ากลางเมือง’ ต้องออกแบบให้เลียนแบบลักษณะของป่าธรรมชาติจริงๆ ในถิ่นนั้น เลือกพันธุ์ไม้ที่จะดึงดูดชีวิตต่างๆ เข้ามา ซึ่งมีมิติต่างๆ ให้คิด เช่น ระหว่างพันธุ์ไม้ที่ไม่มีสัตว์ใดอาศัยเป็นอาหารได้ หรือพันธุ์ที่จะมีสัตว์น้อยใหญ่มาเก็บกินพึ่งพิงได้ พันธุ์ไม้ที่เป็นแหล่งอาหารแหล่งอาศัยของสัตว์อยู่ในบนพื้นดิน สัตว์ที่อยู่บนต้นไม้ หรือสัตว์ที่บินไปบินมาบนท้องฟ้า การออกแบบพื้นที่สวนกลางเมืองที่จะสร้างความหลากหลายของระบบนิเวศจึงต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหลายศาสตร์ มาแลกเปลี่ยนความรู้กัน และอนุญาตให้ธรรมชาติได้ทำงาน ปล่อยให้สวนสวยๆ สวยแบบรกบ้าง มีความเป็น ‘ป่า’ กลับมาบ้าง
ถ้าพูดถึงกรุงเทพฯ ถึงตอนนี้ก็มีสัญญาณดี ที่เริ่มมีการออกแบบสวนสาธารณะโดยคิดถึงภูมิศาสตร์ดั้งเดิมของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มชุ่มน้ำแล้ว สวนป่าเบญจกิติในเฟส 2 ที่มีความพยายามจำลองพื้นที่ชุ่มน้ำก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างพื้นที่ชุ่มน้ำกลับมา
“แต่สิ่งที่อยากเห็นคือการ Rewild คือปล่อยให้ธรรมชาติพื้นถิ่นกลับคืนมา เช่น ถ้าปล่อยเอาไว้ เดี๋ยวก็จะมีเม็ดนู่นนี้ลอยมาปลิวมาขึ้นเอง คนดูแลสวนก็ต้องหาสมดุล ถ้าจะให้เป็นป่า ต้องยอมให้องค์ประกอบของป่ากลับเข้ามา อนุญาตให้มันรกกว่านี้ อนุญาตให้พืชที่คนเรียกว่าวัชพืชขึ้นบ้าง เช่น พงแขม มนุษย์ทำมาดีแล้วส่วนหนึ่ง ต้องอนุญาตให้ธรรมชาติเติบโต แต่ก็เข้าใจคนดูแลสวน เพราะคนที่ใช้สวนก็มีหลากหลาย ต้องหาจุดสมดุล”
เพราะพื้นที่เหล่านี้ ยังมีคนใช้ประโยชน์อยู่ จึงต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ถึงขนาดปล่อยให้ธรรมชาติครอบครองไปทั้งหมด อย่างการรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำที่ย่อมมีตะกอนสะสมจนกลายเป็นดินตื้นเขินขึ้นมา ก็ต้องคอยขุดลอกดูแล
พ้นไปจากความพยายามปกป้องธรรมชาติในพื้นที่ตัวเองแล้ว ในระดับที่บุคคลทั่วไปไม่สามารถทำได้ เช่น เมือง ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างโดยผู้บริหารเมือง
แล้วเราคิดว่าเมืองคืออะไร
“เมื่อก่อนเราคิดว่าเมืองคือศูนย์กลางเศรษฐกิจ แต่เมืองคือถิ่นอาศัยของมนุษย์ แล้วมนุษย์ต้องการอะไรล่ะ จะออกแบบเมืองให้รถอยู่หรือมนุษย์อยู่ นอกจากปัจจัย 4 มนุษย์ต้องการสิ่งที่มากกว่านั้นในฐานะ Habitat เราต้องการความหลากหลายทางชีวภาพมากมายที่จะเกื้อหนุนสุขภาพของเรา สุขภาพของเราขึ้นอยู่กับจุลชีพมากมายในน้ำในอากาศ เราต้องฟื้นฟูธรรมชาติ เมืองเป็นที่ที่สร้างความหลากหลายทางชีวภาพได้ เราต้องออกแบบเมืองอย่างน้อมรับ เข้าใจ และสอดรับกับพลังที่ขับเคลื่อนนิเวศท้องถิ่นนั้น
“เช่น กรุงเทพฯ คือพื้นที่ลุ่มปากน้ำ มันคืออะไร มันคือ Flood Plain พื้นที่ราบลุ่มที่น้ำจะท่วมในฤดูหนึ่ง และแห้งผากในบางฤดู แทนที่จะไปต้าน ปกปิดพื้นผิวเอารถมาวิ่งเต็มไปหมด จริงๆ ไม่ใช่ บรรพบุรุษเราก็รู้ เขาจึงขุดคลองมากมาย”
ชื่อเขตต่างๆ ในกรุงเทพฯ ก็บอกว่าเราเป็นห้วย หนอง คลอง บึง มีที่ลุ่มที่ดอน เท่ากับว่าที่ผ่านมา การถมคลองสร้างถนนปิดทับเราออกแบบการใช้พื้นที่ผิดธรรมชาติ
“ในการสร้างเมือง ถ้าเราเอาทรัพยากรทั้งหมดไปต้านธรรมชาติ ยังไงเขาก็ชนะเรา พืชและสัตว์วิวัฒน์มาด้วยการไม่ต้าน แต่น้อมรับธรรมชาติให้เกื้อหนุนเรา ดูอย่างการสร้างบ้าน แค่ดูทิศทางลม แดด หันบ้านให้ถูกทิศก็ประหยัดค่าไฟไปมากแล้ว”
แม้ดร. สรณรัชฎ์จะบอกว่าทางแก้ปัญหาวิกฤติโลกไม่ได้ยากขนาดนั้น เพียงเรานำธรรมชาติกลับมา แต่จริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่มีสูตรสำเร็จ และไม่อาจสำเร็จได้ด้วยการบอกว่า “แค่เริ่มต้นที่ตัวเอง” เพราะการจัดการพื้นที่ใช้งานในเมืองให้น้อมรับธรรมชาติเข้ามา ต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนในระดับเมืองและระดับประเทศ
การแก้ปัญหาโดยใช้ธรรมชาติเป็นหลักอ้างอิง
นอกจากการฟื้นฟูพื้นที่ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพให้กลับมาแล้ว มนุษย์เรายังแก้ปัญหาวิกฤติโลกได้อีกหลายวิธี อย่างการแก้ปัญหาโดยการใช้เทคโนโลยี (Technical Solutions) เช่น การออกแบบนวัตกรรมที่เลียนแบบธรรมชาติ อย่างการสร้างอาคารที่ได้แรงบันดาลใจจากจอมปลวก นวัตกรรมการทำซีเมนต์โดยเลียนแบบปะการังที่จะได้ซีเมนต์มาโดยไม่ต้องระเบิดภูเขาหินปูน หรือแบบที่ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ก็ใช้ความคิดสร้างสรรค์มาหาวิธีการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ไม่สร้างขยะตั้งแต่ต้นทาง หรือกระบวนการของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ก็เลียนแบบวงจรธรรมชาติ เพราะธรรมชาติไม่มีขยะ หรือจะออกแบบเมืองที่เลียนแบบธรรมชาติป่าเขตร้อนก็ย่อมทำได้ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะว่ายากก็ยาก จะว่าสนุกก็สนุก เพราะเป็นการท้าทายความคิดสร้างสรรค์ที่ทุกอาชีพสามารถมีส่วนร่วมได้
และยังมีการแก้ปัญหาโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Behavioral Solutions) ซึ่งมีส่วนช่วยได้มาก ปัญหาก็คือ มีคนส่วนหนึ่งยินดีจะปรับพฤติกรรมแม้จะลำบากสักหน่อย แต่คนส่วนใหญ่ไม่พร้อมหากไม่มีความสะดวกมากพอ ฉะนั้น หากจะส่งเสริมให้คนปรับพฤติกรรม ก็ต้องเริ่มที่โครงสร้างเมืองและระบบต่างๆ ที่เอื้อให้เขาอยากจะใช้ชีวิตแบบลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้
ในการสนทนาครั้งนี้ ดร. สรณรัชฎ์พูดถึง ‘ความเชื่อมโยง’ หลายครั้ง ทั้งพื้นที่ชายน้ำซึ่งเชื่อมโยงระบบนิเวศหลากหลายเข้าด้วยกัน และความเชื่อมโยงกับธรรมชาติที่มนุษย์หลงลืมไป เพราะการใช้ชีวิตแบบสวนทางต้านธรรมชาติทำให้เราปิดกั้นตัวเองออกจากสภาพรายรอบ เราหลบความร้อนระอุบนท้องถนนอยู่ในรถแอร์เย็นฉ่ำ จนลืมไปว่าก็ถนนคอนกรีตไร้ร่มเงาไม้นั่นแหละคือตัวการ แล้วเราจะหาวิธีเปลี่ยนเมืองให้เย็นขึ้นได้อย่างไร หากเราไม่ ‘รู้สึก’ ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่าง
ในหนังสือ Homo Gaia ดร. สรณรัชฎ์ชวนให้เราย้อนกลับมาเชื่อมโยงกับธรรมชาติ เพราะนี่คือเบื้องต้นของการอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติ เราจะ ‘ตระหนัก’ ถึงปัญหาที่แท้จริงได้อย่างไร ถ้าเรายังเห็นว่าเราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ก็ต่อเมื่อเราเชื่อมโยงกับธรรมชาตินั่นแหละ เราจะคิดหาหนทางแก้ปัญหาได้ ไม่ว่าจะยากแค่ไหน เพราะเรารู้แล้วว่านี่คือเรื่องของเรา
“การฟื้นฟูธรรมชาติเรียกบริการนิเวศกลับคืนมา มันเป็นประโยชน์ส่วนรวม แต่ขณะเดียวกันมันก็เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของเราเอง”
เรื่อง อาศิรา พนาราม
ภาพ สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
และทุ่งน้ำนูนีนอย Nunienoi Wetland
อ่านเพิ่มเติม วิถีอนุรักษ์ใหม่ในอเมริกา ตอน 4 เพิ่มพื้นที่เกษตรอนุรักษ์ธรรมชาติ