วิถีอนุรักษ์ธรรมชาติแบบใหม่ในอเมริกา ตอน 4 สร้างวิถีชีวิตสัมพันธ์ มนุษย์-สัตว์

วิถีอนุรักษ์ธรรมชาติแบบใหม่ในอเมริกา ตอน 4 สร้างวิถีชีวิตสัมพันธ์ มนุษย์-สัตว์

แค่อุทยานและเขตสงวนต่างๆ ยังไม่พอ การอนุรักษ์ผืนดิน น้ำ และสัตว์ป่า ในสภาพภูมิอากาศที่ร้อนขึ้น หมายถึงการปฏิบัติตามแนวทางอนุรักษ์ทุกหนแห่ง

อ่านตอนที่ 1 : สร้างแนวเชื่อมต่อคน-ธรรมชาติ ได้ที่ https://ngthai.com/environment/44919/appalachian-lace/

อ่านตอนที่ 2 : พาเกษตรกรท่องอ่าว ได้ที่ https://ngthai.com/environment/44930/farmers-to-the-bay/

อ่านตอนที่ 3 : พื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติในเมืองใหญ่ ได้ที่ https://ngthai.com/environment/44935/a-creek-in-yonkers/


ตอนที่ 4 สร้างวิถีชีวิตสัมพันธ์ มนุษย์-สัตว์

สายสัมพันธ์อันงอกงาม
แทนที่จะกันตัวเองออกไป เราจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วยดี

เมื่อกลับบ้านที่ลุ่มน้ำคลามัท ฉันครุ่นคิดถึงเรื่องน้ำ ว่าทั้งสวยและสำคัญต่อชีวิตอย่างไร พื้นที่ไม่น้อยของเราอยู่ในบริเวณที่กรมอุตุนิยมวิทยาใช้คำว่า “แห้งแล้งสุดขั้ว” ตามปกติแล้ว เขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่าแห่งชาติโลเวอร์คลามัทเป็นจุดแวะพักบนเส้นทางอพยพแปซิฟิก (Pacific flyway) ของนกน้ำราวครึ่งหนึ่ง

ที่นั่นพึ่งพาน้ำที่บริหารจัดการโดยสำนักฟื้นฟูสภาพแหล่งน้ำของสหรัฐฯ และได้น้ำที่เหลือหลังปันส่วนให้เกษตรกรทั้งหลายแล้ว ทุกวันนี้ไม่มีอะไรเหลือมาถึงเลย เขตสงวนกลายเป็นฝุ่น การชลประทานยังดึงน้ำไปจากทะเลสาบอัปเปอร์คลามัท ซึ่งอาจจำกัดการเข้าถึงพื้นที่วางไข่ของปลาซักเกอร์อีกด้วย

ทางออกหนึ่งคือการใช้น้ำเพื่อการเกษตรให้น้อยลง นั่นเป็นเรื่องร้ายแรงสำหรับเกษตรกรจำนวนมาก แต่อาจเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรองรับการอพยพของนก อนุรักษ์ปลาซักเกอร์ และส่งน้ำเย็นสะอาดปริมาณมากพอไปตามแม่น้ำคลามัทเพื่อให้แซมอนชีนุกและแซมอนโคโฮอยู่ต่อไปได้

ดอน เจนทรี ประธานสภาชนเผ่าคลามัทที่เพิ่งพ้นตำแหน่งไป กังวลอย่างมากเรื่องของ ชวอม กับ คอปตู หรือปลาซักเกอร์ในภาษาคลามัท ก่อนยุคอาณานิคม ปลาเหล่านี้มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของชนเผ่าในยามที่เสบียงอาหารในฤดูหนาวเหลือน้อย ทุกฤดูใบไม้ผลิ ปลาทั้งสองชนิดได้รับการยกย่องและอำนวยพรจากเหล่าผู้อาวุโสของเผ่า ในพิธีกรรม พวกมันเป็นอาหารทางวัฒนธรรมที่มีความสำคัญอย่างลึกซึ้ง แต่การที่พวกมันมีจำนวนลดลง ทำให้ชาวเผ่าไม่ได้จับปลาเหล่านี้มาตั้งแต่ปี 1986 แล้ว

“ผมเป็นห่วงจริงๆว่าเราจะสูญเสียคอปตูไป” เจนทรีบอกโดยระบุถึงชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์กว่า “ตอนที่ผมออกไปเดินเลียบทะเลสาบและมองไปยังเทือกเขาที่มีหิมะอยู่ด้วย ผมคิดแค่ว่าบ้านเกิดของเราช่างสวยงาม” เขาว่า แต่ความคิดของเขาจะวกกลับไปเรื่องปลาเสมอ “ไม่นานก็กลับไปคิดถึงมันอีกครับ”

ชวอม หรือปลาซักเกอร์ชนิดหนึ่ง ว่ายวนรอบลูกปลาสามตัว

เผ่าคลามัทกำลังพยายามฟื้นฟูปลาซักเกอร์ด้วยการทำสถานเพาะเลี้ยงเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางพันธุกรรมของปลา และวิจัยภาวะต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับพวกมันในการเจริญเติบโต ฤดูใบไม้ผลิปีนี้ ทางเผ่าฟ้องร้องรัฐบาลกลางที่จัดสรรน้ำให้เกษตรกรตอนที่น้ำในทะเลสาบต่ำกว่าระดับต่ำสุดตามข้อแนะนำในรายงานของรัฐบาลว่าด้วยความต้องการของปลาชนิดดังกล่าว เจนทรีเชื่อว่าลุ่มน้ำคลามัทมี “ความยืดหยุ่นและผลิตภาพในระดับหนึ่ง” ซึ่งควรจะเอื้อให้มันหล่อเลี้ยงการเกษตร เช่นเดียวกับที่เจือจุนพวกนกน้ำและปลาซักเกอร์ แต่เขาบอกว่า การปันส่วนน้ำจะต้องอาศัยความร่วมมือ โดยเฉพาะในขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลวร้ายลงและนำไปสู่ความแห้งแล้งยาว นานขึ้น นั่นจะยังไม่เกิดขึ้นหรอก ส่วนหนึ่งเพราะการแบ่งแยกทางความคิดที่หยั่งรากมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม

โมเดลการอนุรักษ์ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่อุทยานต่างๆ และพื้นที่คุ้มครองแบบเข้มงวดอื่นๆ บางครั้งเรียกว่า การอนุรักษ์แบบป้อมปราการ (fortress conservation) การอนุรักษ์ลักษณะนี้ที่มุ่งสู่เป้าหมายการเป็นป่าธรรมชาติปลอดมนุษย์ตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นเรื่อยๆว่า เป็นความเพ้อฝันที่ไม่เคยมีอยู่จริง ในบริเวณที่เป็นประเทศสหรัฐฯในปัจจุบัน มนุษย์อยู่มาตั้งแต่ตอนที่ธารน้ำแข็งจากสมัยน้ำแข็งสุดท้ายหดหายไป ซึ่งหมายความว่า ระบบนิเวศทั้งหมดของเราล้วนพัฒนาโดยมีมนุษย์อยู่ในนั้นด้วย

ทุ่งหญ้า พื้นที่ชุ่มน้ำ และผืนป่ามากมาย เป็นรูปเป็นร่างมาตลอดหลายพันปีจากน้ำมือมนุษย์ที่ใช้วิธีเผาเป็น ครั้งคราว และสิ่งมีชีวิตหลายชนิดก็ได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี ชนเผ่าคลามัทจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ 25,000 ไร่ ที่มีบัวชื่อบัวโวคัสซึ่งเมล็ดนำไปทำแป้งชั้นเยี่ยมได้ ทุกวันนี้ บัวโวคัสหายากรอบทะเลสาบอัปเปอร์คลามัท บางครั้ง การเคลื่อนย้ายคนออกไปก็ทำร้ายสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วย

การฟื้นฟูเทคนิคการจัดการของชนพื้นเมือง เช่น การเผาตามกำหนด การเพาะเลี้ยงหอย และการจับปลา แบบดั้งเดิม ล้วนได้รับความนิยมสำหรับการอนุรักษ์ ก็เหมือนการอนุรักษ์ในป่าไม้ใช้สอย ไร่นา และเมืองใหญ่ การจัดการแบบชนเผ่าเป็นเรื่องของการตอบสนองความต้องการของคนและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในเวลาเดียวกัน เป็นเรื่องของการรุ่งเรืองไปด้วยกัน นักอนุรักษ์ตระหนักว่า งานของพวกเขาไม่ใช่การปกป้องสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จาก มนุษย์ ถึงแม้การจำกัดการเข้าถึงหรือการเก็บเกี่ยวผลผลิตอาจจำเป็นในบางโอกาส แต่การอนุรักษ์จำเป็นต้องเป็นเรื่อง ของการปกป้องสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ร่วมกับ มนุษย์ เป็นเรื่องของการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น หาใช่ตัดขาดไม่ใยดี

ในบ่ายอันเหน็บหนาววันหนึ่งของฤดูใบไม้ผลิ รถบรรทุกแทงก์น้ำความจุ 2,300 ลิตรมาถึงฟาร์มของคาร์ล เวนเนอร์ เพื่อนของฉันผู้เป็นเจ้าของร่วมไร่เลกไซด์ฟาร์มที่กล่าวไว้ในตอนแรก (ลิงก์) พร้อมลูกแซมอนชวอมและแซมอนคอปตู 1,712 ตัวจากสถานเพาะเลี้ยงของรัฐ ถึงเวลาทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำที่มนุษย์สร้างนี้ทำหน้าที่แหล่งอนุบาลปลาที่ใกล้สูญพันธุ์แล้ว

เวนเนอร์กำลังคึกคัก ถึงจะเกิดภัยแห้งและความตึงเครียดเรื่องการขาดแคลนน้ำ แต่เขายังมองโลกแง่ดีสำหรับอนาคต ที่ผ่านมา เขาได้เห็นว่าสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ชุ่มน้ำหวนกลับมายังฟาร์มของเขาเร็วเพียงใด ทันทีที่เขาเชื้อเชิญพวกมันกลับมา “ทันทีเลยครับ ฤดูใบไม้ร่วงนี้ เรามีเป็ดและห่าน 10,000 ตัวในที่ดิน 177 ไร่” ถ้าเจ้าของที่ดินได้รับเงินและความช่วยเหลือให้ประคองตัวผ่านระบบราชการที่ยุ่งยากล่าช้ามากกว่านี้ เขาคิดว่าลุ่มน้ำคลามัทอาจเป็นกรณีศึกษาสำหรับการอนุรักษ์ภูมิทัศน์อย่างเป็นองค์รวมได้ เขาบอกว่า คำถามก็คือ “เราสามารถมองภาพใหญ่และทำให้ทุกคนขยับไปในทิศทางเดียวกันได้หรือเปล่า สิ่งนั้นยังไม่เกิดขึ้นครับ” แต่เขาเสริมว่า “ถ้าเราทำได้ที่นี่ เราย่อมทำที่ไหนก็ได้”

นกนางแอ่นต้นไม้จับแมลงริ้นน้ำจืดเหนือศีรษะเรา และนกแบล็กเบิร์ดก็ร้องดังกลบเสียงจราจรบนทางหลวงใกล้ๆ ที่แว่วมาตลอดเวลา นักชีววิทยาของกรมประมงและสัตว์ป่าสหรัฐฯ เปิดวาล์วและน้ำกับปลาก็พรั่งพรูสู่ตาข่าย ที่รอท่าอยู่ ลูกปลาซักเกอร์ตัวยาวประมาณ 10 เซนติเมตร หลังเป็นสีเขียวมะกอกอมดำ ท้องสีเงิน เวนเนอร์ถือสวิงแรกไปยังบึง วินาทีที่ปลาตัวจิ๋วลงถึงน้ำ พวกมันก็หายไป พรางกายได้อย่างสมบูรณ์แบบ อีกไม่กี่สัปดาห์ ปลาอีกชุดจะมาถึง คราวนี้มาจากสถานเพาะเลี้ยงของชนเผ่า “คุณรู้สึกยังไงบ้างคะ คาร์ล” ฉันตะโกนถาม “ผมรู้สึกดีครับ!” เขาตะโกนตอบ “ผมรู้สึกดี”

ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ง่วนกับงาน ปลาตัวหนึ่งก็กระโดดจากตาข่ายตกลงบนทางเลน ฉันเอื้อมมือไปจับมันโดยไม่ทันคิด รู้สึกได้ถึงร่างที่แน่นด้วยกล้ามเนื้อดิ้นไปมาอยู่ในมือ ฉันวิ่งไปปล่อยมันลงน้ำ มันพุ่งปราดเป็นสีเงินยวง พลิกตัวให้เข้าที่ และแหวกว่ายออกไปสู่อนาคต

เรื่อง เอมมา แมร์ริส

ภาพถ่าย สตีเวน วิลก์ส

ศิลปกรรม เดนีส เนสเตอร์

อ่านตอนที่ 4 : สร้างวิถีชีวิตสัมพันธ์ มนุษย์-สัตว์ ได้ที่ https://ngthai.com/environment/44945/growing-relationships/

ติดตามสารคดี อเมริกาในวิสัยทัศน์ใหม่ ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนตุลาคม 2565

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/559422


อ่านเพิ่มเติม บรรดาสัตว์นับล้านสายพันธุ์กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เนื่องจากมนุษย์

Recommend