ภัยแล้ง ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในโลกต่างส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ภัยพิบัติทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่น ภัยแล้ง อุทกภัย และพายุที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เป็นต้น
ภัยแล้ง (Drought) คือ ภัยธรรมชาติที่เกิดจากการขาดแคลนน้ำ และหยาดน้ำฟ้า (Precipitation) ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเวลานาน เนื่องจากปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในสภาวะปกติ หรือฝนไม่ตกตามฤดูกาล จึงส่งผลให้ความชื้นในดิน ปริมาณน้ำใต้ดิน และแหล่งน้ำธรรมชาติลดลง จนกลายเป็นแห้งแล้งที่สร้างเสียหายแก่ผลผลิตทางการเกษตรสภาวะการขาดแคลนน้ำที่กระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้คน และสมดุลของระบบนิเวศ
ภาพถ่าย Chanelle
ความแห้งแล้งเป็นภัยธรรมชาติที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยระดับความรุนแรงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งปริมาณความชื้นในอากาศและในพื้นดิน ระยะเวลา รวมไปถึงขนาดของพื้นที่ ส่งผลให้นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถระบุจุดเริ่มต้นหรือจุดสิ้นสุดของการเกิดภัยแล้งได้อย่างชัดเจน
การเกิดภัยแล้งมีความแตกต่างไปจากภัยธรรมชาติรูปแบบอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เช่น พายุเฮอร์ริเคน หรือภูเขาไฟระเบิด ภัยแล้งในบางพื้นที่สามารถคงอยู่ได้นานนับสิบปี และยังสามารถสร้างความเสียหายต่อผู้คนและระบบนิเวศในระยะยาว
ภาพถ่าย Rostyslav Savchyn
สาเหตุของการเกิดภัยแล้ง
ภัยแล้งที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ เช่น การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศ หรือระดับน้ำทะเลที่ส่งผลต่อระบบการหมุนเวียนของกระแสอากาศและสภาพภูมิอากาศโลก ทำให้เกิดความผันผวนของสภาวะอากาศในฤดูกาลปกติ
ความแปรปรวนของสภาพอากาศที่ตามมาสามารถเกิดได้ทั้งปริมาณฝนทิ้งช่วง การเกิดพายหมุนเขตร้อนจำนวนมากในมหาสมุทร การเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำใต้ดิน รวมถึงการเกิดภัยธรรมชาติอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุของการเกิดภัยแล้ง เช่น วาตภัย และแผ่นดินไหว
ภัยแล้งที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ทั้งจากการใช้ทรัพยากรน้ำในการอุปโภค-บริโภค ที่สิ้นเปลือง และการทำการเกษตรที่ขาดการวางแผนอย่างเหมาะสม ส่งผลให้ปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อน อ่างเก็บน้ำต่าง ๆ แหล่งน้ำธรรมชาติ หรือแม้แต่ปริมาณน้ำใต้ดินลดลง ล้วนเป็นสาเหตุของการเกิดภัยแล้ง
นอกจากนี้กิจกรรมของมนุษย์รวมไปถึงพฤติกรรมการดำรงชีวิตของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล และการพัฒนาของอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดมลภาวะมากมายที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน
ภัยแล้งในประเทศไทย
ภัยแล้งส่วนใหญ่ในประเทศไทยมักเกิดจากสภาวะฝนแล้งที่ฝนไม่ตกตามฤดูกาล จากการมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านประเทศไทยในจำนวนน้อยกว่าปกติ ทำให้เกิดฝนทิ้งช่วง (Dry Spell) ซึ่งเป็นภาวะที่มีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย หรือมีฝนตกไม่ถึงวันละ 1 มิลลิเมตร ติดต่อกันยาวนานเกินกว่า 15 วัน ในช่วงฤดูฝน โดยทั่วไป ภัยแล้งมักเกิดขึ้นใน 2 ช่วงเวลา ดังนี้
ช่วงระหว่างฤดูหนาวต่อเนื่องถึงฤดูร้อน (ตั้งแต่ครึ่งหลังของเดือนตุลาคมเป็นต้นไป) คือ ภัยแล้งที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีบริเวณตอนบนของประเทศ โดยจะมีปริมาณน้ำฝนลดลงตามลำดับ จนกระทั่งเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมของปีถัดไป อีกทั้ง ยังเป็นภัยแล้งที่มักก่อให้เกิดไฟป่าเป็นประจำทุกปี
ช่วงกลางฤดูฝน (ปลายเดือนมิถุนายน – เดือนกรกฎาคม) คือ ภัยแล้งที่เกิดขึ้นจากฝนทิ้งช่วง สามารถเกิดขึ้นในแต่ละท้องถิ่นหรืออาจครอบคลุมพื้นที่เป็นอาณาบริเวณกว้าง โดยเฉพาะบริเวณประเทศไทยตอนบนที่มักจะเกิดความแห้งแล้งราว 1 – 2 สัปดาห์ หรืออาจยาวนานไปจนถึง 1 เดือน เป็นภัยแล้งที่สร้างความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตรในประเทศมากที่สุด
ภาพถ่าย Juanita Swart
ผลกระทบของภัยแล้ง
นอกจากปรากฏการณ์เอลนิโญ (El Niño) เป็นสาเหตุของการเกิดภัยแล้งในหลายพื้นที่แล้ว ยังเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีความรุนแรงในระดับที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำฝนและหยาดน้ำฟ้าในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งการขาดแคลนน้ำ และสภาวะความแห้งแล้ง สามารถสร้างความเสียหายโดยตรงต่อพืชพรรณในธรรมชาติ และพืชผลทางการเกษตร
นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ ภาวะการขาดแคลนน้ำทำให้เกิดการเจ็บป่วยล้มตายของทั้งพืชและสัตว์ที่นำไปสู่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Loss) และปัญหาต่าง ๆ ในสังคมของมนุษย์ ทั้งคุณภาพชีวิต ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เช่น ความอดยาก การตกงาน หรือความเปลี่ยนแปลงของแหล่งน้ำธรรมชาติที่สามารถสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศในระยะยาว เป็นต้น
สืบค้นและเรียบเรียง คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ และณภัทรดนัย
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.nationalgeographic.org/encyclopedia/drought/
http://ndwc.disaster.go.th/cmsdetail.ndwc-9.283/26675/menu_7525/4214.1/รู้จักภัยจาก+ภัยแล้ง+(Droughts)
https://www.tmd.go.th/info/info.php?FileID=71
https://www.ldd.go.th/Web_UNCCD/new_Nov_54/page1.htm#:~:text=ภัยแล้ง%20คือ%20ภัยที่,ส่งผลกระทบต่อชุมชน