โลกเราเหลือแหล่งน้ำสะอาดเพียงพอหรือไม่?

โลกเราเหลือแหล่งน้ำสะอาดเพียงพอหรือไม่?

 โลกเรามีน้ำมากมายแต่ทำไมผู้คนบนโลกบางส่วนกลับไม่มีแหล่งน้ำสะอาดบริโภค? มีการสำรวจกันว่าในสัดส่วนที่น้อยนิดเราสามารถใช้น้ำบริโภคได้จริงเพียงร้อยละ 10.71 ของน้ำจืดบนโลก และยิ่งปัญหามลภาวะในปัจจุบันยิ่งทำให้น้ำสะอาดลดน้อยลงไปอีก

โลกเราในปี พ.ศ.2565 ยังมีประชากรโลกที่เสียชีวิตจากการดื่มน้ำไม่สะอาด…ข้อมูลตอนต้นอาจทำให้ผู้คนในหลายประเทศที่เข้าถึงน้ำสะอาดอาจคิดว่าเป็นเรื่องโกหก หรือเป็นการปล่อยข่าวเท็จเพื่อสร้างความแตกตื่น แต่ข้อความนั้นเป็นรายงานข้อเท็จจริงจากองค์การอนามัยโลก (WHO : World Health Organization) รายงานว่ายังมีประชากรโลกเสียชีวิตจากการดื่มน้ำไม่สะอาดและก่อโรคทั้งอหิวาตกโรค และไทฟอยด์ (ไข้รากสาดน้อย) ถึงปีละ 500,000 คน และร้อยละ 90 เป็นประชากรเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี 88%ของการเสียชีวิตเกิดจากการบริโภคน้ำไม่สะอาด

โลกเรามีน้ำมากมายแต่ทำไมผู้คนบนโลกบางส่วนกลับไม่มีแหล่งน้ำสะอาดบริโภค? ข้อเท็จจริงคือโลกใบนี้ประกอบด้วยน้ำมากถึง 70% ของพื้นที่ทั้งหมด แต่ร้อยละ 97.3% ของน้ำเป็นกลุ่มน้ำเค็ม เหลือแหล่งน้ำจืดที่ใช้อุปโภคบริโภคไม่ถึง 3% และในจำนวนนั้นก็ไม่ได้เป็นแหล่งน้ำสะอาดสามารถบริโภคได้ทั้งหมด มีการสำรวจกันว่าในสัดส่วนที่น้อยนิดเราสามารถใช้น้ำบริโภคได้จริงเพียงร้อยละ 10.71 ของน้ำจืดบนโลก แต่ด้วยมลภาวะในปัจจุบันยิ่งทำให้น้ำสะอาดลดน้อยลงไปอีก

รายงานจากกรมควบคุมโรค ปี พ.ศ.2563 พบคนไทยป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงจากการดื่มน้ำไม่สะอาดถึง 1 ล้านคน เสียชีวิต 4 คน ในช่วงฤดูร้อน และรายงานครึ่งปีแรก พ.ศ.2565 พบเสียชีวิต 2 ราย ถึงแม้การเสียชีวิตจะน้อยเมื่อเทียบกับตัวเลขการเสียชีวิตทั้งโลกแต่ก็เป็นข้อบ่งชี้ว่าประเทศไทยเองยังมีประชากรที่เข้าไม่ถึงแหล่งน้ำสะอาดเพื่อการบริโภค และการเกิดโรคอุจจาระร่วงพบในช่วงฤดูร้อนซึ่งเป็นช่วงที่บางพื้นที่แล้งและขาดแคลนน้ำ

ปัญหาเรื่องโลกเราขาดแคลนน้ำได้ปรากฏชัดขึ้นในช่วงสิบปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา บางประเทศถึงขั้นกำหนดวัน Day Zero คือวันหยุดจ่ายน้ำประปาแก่ครัวเรือน เช่น ที่เมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ที่เกิดปัญหาภัยแล้งต้องหยุดจ่ายน้ำและจัดสรรให้ประชาชนไปเข้าแถวรับส่วนแบ่งน้ำ จนองค์การสหประชาชาติ (United Nations) แสดงความกังวลว่าหากสถานการณ์การขาดแคลนน้ำยังดำเนินต่อไปภายในไม่กี่ปีอาจเกิดสงครามแย่งน้ำกันได้

รายงานความกังวลสถานการณ์น้ำสอดคล้องกับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nation Population Fund :UNFPA) ได้รายงานว่าในขณะที่ความแห้งแล้งลุกลามไปทั่วทวีปแอฟริกา ไร่นาของผู้คนในทวีปนี้ได้แปรสภาพเป็นทะเลทรายและกินพื้นที่มากขึ้นทุกปี จนองค์การสหประชาชาติต้องก่อตั้งองค์กรต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย หรือ United Nations Convention to Combat Desertification ในวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ.1992 ได้มีการประชุมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ที่ประเทศบราซิลและได้มีการกำหนดวันอนุรักษ์น้ำขึ้น ซึ่งเป็นการประกาศว่าโลกของเรากำลังอยู่ในยุคไม่มั่นคงของทรัพยากรน้ำ

แล้วเราเหลือน้ำสะอาดไว้อุปโภคบริโภคเท่าไหร่กัน? หากแบ่งตามแหล่งน้ำที่มนุษย์นำมาใช้อุปโภคบริโภคได้นั้นมักนำมาจาก 2 แหล่ง ปริมาณมากที่สุดคือน้ำผิวดิน (Surface water) และน้ำใต้ดิน (Ground water) แหล่งกักเก็บน้ำผิวดินแหล่งใหญ่คือทะเลสาบน้ำจืดทั้งหลาย โลกเรามีทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดคือ ทะเลสาบสุพีเรีย (Lake Superior)ในอเมริกาเหนือ ทะเลสาบวิคตอเรีย (Lake Victoria) ในแอฟริกา ทะเลสาบฮูรอน (Lake Huron) ในอเมริกาเหนือ ทะเลสาบมิชิแกน (Lake Michigan)ในสหรัฐอเมริกา ทะเลสาบแทนกันยีกาในแอฟริกา (Lake Tanganyika) และทะเลสาบไบคาล (Lake Baikal) ที่รัสเซียซึ่งไบคาลยังเป็นทะเลสาบที่ลึกที่สุดในโลกและมีปริมาณน้ำสำรองมากที่สุดในโลกประมาณ 5,670 ลูกบาศก์ไมล์ เมื่อเทียบกับทะเลสาบสุพีเรียที่จุน้ำ 2,900 ลูกบาศก์ไมล์

lake Baikal
ทะเลสาบไบคาล ทะเลสาบน้ำจืดที่ลึกที่สุดและจุน้ำไว้ได้มากที่สุด

สำหรับแหล่งน้ำใต้ดิน หรือแหล่งน้ำบาดาล เป็นแหล่งน้ำสำคัญของประชากรโลก ในการประชุม World Water Week 2022 ที่จัดขึ้นที่กรุงสตอร์กโฮม ประเทศสวีเดนได้ให้ความสนใจกับแหล่งน้ำบาดาลและบรรจุเรื่องน้ำบาดาล การจัดการอย่างยั่งยืนเป็นหัวข้อการประชุม นั่นเพราะประชากรโลกส่วนใหญ่เข้าถึงแหล่งน้ำบาดาลจำนวนมากอีกทั้งน้ำบาดาลเองนอกจากจะพบได้ทั่วไปแต่ก็สร้างปัญหาถ้าการจัดการไม่ดีเช่นที่ เกิดปัญหาแผ่นดินทรุดที่หมู่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซียที่สาเหตุหนึ่งมาจากการสูบน้ำบาดาลจำนวนมาก

นั่นคือรายงานแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคของมนุษย์ แต่เมื่อมีการจัดอันดับน้ำสะอาดบริเวณที่พบน้ำสะอาดจนสามารถจัดการระบบประปาเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานจนสามารถนำมาดื่มได้ก็คือยุโรป ในทวีปยุโรปโซนตะวันตก ได้แก่ สวิสเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ลักแซมเบิร์ก ฝรั่งเศส ออสเตรีย อิตาลี อังกฤษ และสวีเดน ส่วนยุโรปตะวันออกได้แก่ประเทศกรีซที่น้ำประปาสามารถดื่มได้ และมีการจัดอันดับกันว่าน้ำประปาในสวิตเซอร์แลนด์จัดเป็นน้ำประปาดื่มได้ที่ดีที่สุด รองลงมาคือในบริเวณอเมริกาเหนือและกลาง คือสหรัฐอเมริกา แคนาดา กรีนแลนด์ อันดับสามคือออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ส่วนในกลุ่มนอกจากนี้น้ำประปายังไม่สามารถนำมาดื่มได้

สำหรับประเทศไทย แม้จะมีการรับรองว่าน้ำประปาดื่มได้ ผ่านการจัดการน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคอย่างมีมาตรฐานแต่เพราะปัญหาท่อส่งน้ำ หรือภาวะน้ำกร่อยในบริเวณกรุงเทพและปริมณฑลทำให้ประชาชนชาวไทยไม่ดื่มน้ำประปา แต่จะซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดมาบริโภคแทน ซึ่งเคยมีการคำนวนค่าใช้จ่ายสำหรับน้ำดื่มบรรจุขวดหากซื้อบริโภคทั้งปีราคาอยู่ที่ 12,775-15,330 บาท แต่ถ้าเป็นน้ำแร่ค่าใช้จ่ายน้ำดื่มต่อปีโดยประมาณคือ 18,250-21,900 บาท

แล้วน้ำประปาที่ไหนได้ชื่อว่าดีที่สุดและดื่มได้อย่างรู้สึกปลอดภัย? มีการจัดอันดับน้ำประปาดื่มได้จากหน่วยงานทั้งภาคเอกชนและการวิจัยอาจมีการให้ความเห็นต่างกัน แต่โดยรวมอันดับต้นๆมาจากยุโรป และหลายการจัดอันดับยกให้สวิสเซอร์แลนด์ยังอยู่ในอันดับต้นๆของน้ำประปาที่ดีที่สุด น้ำส่วนใหญ่เป็นน้ำผิวดิน ซึ่งสวิสเซอร์แลนด์มีน้ำทั้งจากชั้นใต้ดินที่ผ่านการกรองจากชั้นหิน และน้ำพุที่มีจุดบริการหลายแห่งในประเทศ นอกจากนี้ยังมีประเทศอื่นๆในยุโรปที่ได้มาตรฐานน้ำประปาดื่มได้ เช่น ฝรั่งเศสที่ได้ชื่อว่ามีระบบประปาในประเทศที่ดีมากมาตั้งแต่ พ.ศ.2324

น้ำพุแฌโด (Jet d’Eau หรือ Geneva water fountain) น้ำพุที่ตั้งอยู่กลางทะเลสาบเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์

สถาบันการจัดการน้ำระหว่าประเทศ (IWMI : International Water Manage institute) ที่ก่อตั้งขึ้นในครั้งแรก ค.ศ.1985 ในชื่อ International Irrigation Management Institute หรือ IIMI ที่ทำงานเกี่ยวกับระบบชลประทานในประเทศศรีลังกาก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นสถาบันการจัดการน้ำระหว่างประเทศ มีการประมาณการว่าราวปี ค.ศ.2025 ประชากรโลก 2 ใน 3 ของโลกจะเผชิญกับภาวการณ์ขาดแคลนน้ำ

น้ำก๊อกจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศสที่ได้ชื่อว่าน้ำก๊อกดื่มได้ที่ดีที่สุดในโลก

แม้การขาดแคลนน้ำในอนาคตจะดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่จากการจัดอันดับประเทศที่น่าจะมีความเสี่ยงในการก้าวเข้าสู่ภาวะขาดแคลนน้ำในอนาคตของ World Resources Institute’s Aqueduct Water Risk Atlas (WRI) เราแทบนึกไม่ออกเลยว่าลอนดอน ประเทศอังกฤษจะเป็นหนึ่งในนั้นจากสภาพปัจจุบันที่มีฝนชุกและอากาศชื้นให้เห็น แต่จริงๆแล้วลอนดอนมีระดับน้ำฝนเฉลี่ยเพียง 600 มิลลิเมตรต่อปี แหล่งน้ำที่ใช้มาจากแม่น้ำเทมท์ ที่หากยังรักษาสภาพแวดล้อมโลกไว้ไม่ได้ระดับน้ำในแม่น้ำจะลดลงและส่งผลกระทบในอีกไม่เกิน 2 ปี หรือในปี พ.ศ.2568

หรือกรณีญี่ปุ่นที่เรามักได้ฟังข่าวอุทกภัยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะโตเกียวที่มีฝนตกชุกอยู่4 เดือนเท่านั้น หากยังคงจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพไม่ได้ก็ยังอยู่ในกลุ่มเสี่ยงไม่ต่างจากลอนดอน แม้กระทั่งมอสโค ประเทศรัสเซีย แม้จะเป็นประเทศที่มีแหล่งบรรจุน้ำจืดปริมาณมากที่สุดของโลกแต่มลภาวะจากภาคอุตสาหกรรมและเกษตรก็ทำให้น้ำที่ผ่านสุขอนามัยมีไม่เกินร้อยละ 60 หรืออาจน้อยกว่านั้น นอกจากนี้ภาวะโลกร้อนยังทำให้น้ำปนเปื้อนเชื้อโรคต่างๆที่ก่อตัวเงียบๆจากน้ำแข็งละลายเช่นกัน

สำหรับประเทศไทยที่มีแม่น้ำหลายสาย และเขื่อนอีกหลายเขื่อนก็ยังถูกจัดอันดับเป็นหนึ่งในห้าสิบประเทศที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำในอนาคต จากปัญหาดินไม่อุ้มน้ำที่เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนทำให้ฝนตกน้อยไม่เป็นไปตามฤดูกาล และการบริหารจัดการน้ำยังมีประสิทธิภาพน้อย

จากข้อมูลของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมีการสำรวจการเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดในปี พ.ศ. 2553-2562 พบว่าครัวเรือนไทยเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดเพียงร้อยละ 30 ส่วนที่เหลือพึ่งพาประปาหมู่บ้านที่ส่วนใหญ่ไม่ผ่านเกณฑ์ในการใช้บริโภค ประชากรจึงดื่มน้ำบรรจุขวดที่มีราคาแพงเมื่อเทียบกับค่าแรงที่ต้องทำงานแลกกับน้ำสะอาด ดังนั้นการพัฒนาในเรื่องน้ำดื่มสะอาดสำหรับประชาชนยังต้องดำเนินการต่อไปเพราะเป็นปัจจัยชี้วัดหนึ่งในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในประเทศ

แต่ก็มีข้อมูลที่ขัดแย้งเมื่อพบการจัดอันดับประเทศที่มีการใช้น้ำต่อคนต่อวันมากที่สุด 10 อันดับโลก ขององค์การสหประชาชาติพบว่ากรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ใช้น้ำมากที่สุดรองมาจากอินเดีย จีน สหรัฐอเมริกา ปากีสถาน และญี่ปุ่น  ข้อมูลดังกล่าวอาจแสดงให้เห็นถึงการสื่อสารเรื่องการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพยังมีน้อยเกินไป เพราะในบางพื้นที่ของประเทศยังเป็นพื้นที่ขาดแคลนน้ำ เข้าถึงน้ำเพื่อการบริโภคและอุปโภคลำบาก

แล้วน้ำสะอาดดื่มได้ใช้อะไรเป็นตัววัด? แน่นอนว่ามีการจัดอันดับน้ำประปา น้ำก๊อกดื่มได้หลายครั้ง โดยการจัดอันดับต้องมีมาตรฐานพื้นฐานเป็นหนึ่งในตัวชี้วัด องค์การอนามัยโลก (WHO: World Health Organization) ก็ได้กำหนดมาตฐานน้ำดื่มได้ไว้ หรือแม้แต่ของประเทศไทยเองก็มีการกำหนด โดยกรมอนามัย ที่ล้อตัวชี้วัดคุณภาพน้ำมาจากองค์การอนามัยโลก โดยเฉพาะแบคทีเรียในกลุ่มโคลิฟอร์ม (Coliform Bacteria) และฟีคอลโคลิฟอร์ม (Faecal Bacteria) ซึ่งแบคทีเรียตัวหลังมีข้อกำหนดว่าห้ามพบในน้ำดื่ม หรือแม้การกำหนดการพบสารพิษจากภาคเกษตรเหล่านี้คือมาตรฐานเบื้องต้นของน้ำสะอาดและปลอดภัย

นอกจากข้อมูลการเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคของคนไทยจะมีจำนวนน้อยแล้วคนไทยยังต้องเผชิญกับภาวะแล้งและขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูร้อน การเข้าถึงทรัพยากรน้ำในบางพื้นที่เป็นไปด้วยความลำบากจนถึงต้องรอการปันส่วนน้ำจากหน่วยงานท้องถิ่น คำถามก็คือหากโลกเราเข้าสู่ยุคแห่งการขาดแคลนน้ำประเทศเราเตรียมพร้อมกับการรับมือปัญหานี้มากน้อยเท่าไหร่ เพราะหากประชากรโลกยังปล่อยให้สภาพแวดล้อมแย่ลงไปเรื่อยๆ ในอีกไม่นานเราคงได้เห็นภาวะโลกแล้งในที่สุด

เรื่องและภาพ : แก้ว การะบุหนิง

Recommend