ทราย – สิรณัฐ สก็อต ว่ายน้ำข้ามทะเล 3 จังหวัด เพื่อรณรงค์คนหยุด bully ทะเล

ทราย – สิรณัฐ สก็อต ว่ายน้ำข้ามทะเล 3 จังหวัด เพื่อรณรงค์คนหยุด bully ทะเล

ทราย – สิรณัฐ สก็อต  นักอนุรักษ์ท้องทะเล และประธานโครงการ “Sea You Strong” ว่ายน้ำข้าม 3 จังหวัด ใน 2 วัน กับโครงการ Sea You Strong: หยุด bully ทะเล’ หวังรณรงค์คนไทยหยุดทำร้านทะเล

สิรณัฐ สก็อต – ท่ามกลางอุณหภูมิทางการเมืองที่ร้อนระอุ แทบทุกลมหายใจของผู้คน-สะท้อนมายังสื่อมวลชน ล้วนมุ่งไปสู่การเลือกตั้งในกลางเดือนพฤษภาคม 2566 จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเบียดเรื่องราวเพื่อการอนุรักษ์ทะเลให้ตกขอบ

เช่น เมื่อวันที่ 28-29 เมษายน 2566 มีกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์เล็กๆ ที่ไม่ปรากฎตามหน้าสื่อมากมายนัก (เพราะเจ้าของงานตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น) อย่างกิจกรรม  Sea You Strong: หยุด bully ทะเล’ ที่จัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล  โดยหน่วยงาน Sea You Strong องค์กรเอกชนที่ไม่แสวงผลกำไรที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์และปกป้องระบบนิเวศทางทะเล มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และการช่วยกันลดมลพิษจากพลาสติกในมหาสมุทรของเรา พร้อมทั้งเป็นการร่วมเรียกร้องความยุติธรรมและคืนความเป็นธรรมชาติสู่ท้องทะเล

กิจกรรมครั้งนี้ นำทีมโดย ทราย – สิรณัฐ สก็อต (Psi Scott) นักอนุรักษ์ท้องทะเล และประธานโครงการ “Sea You Strong” ร่วมกับอาสาสมัครอีก 36 ท่าน ด้วยการว่ายข้ามทะเลอันดามัน เริ่มจากหาดยาว จังหวัดกระบี่ ไปจังหวัดที่สองที่เกาะยาวใหญ่ จ.พังงา และสิ้นสุดที่ท่าเรืออ่าวปอจังหวัดภูเก็ต ซึ่งทราย- สิรณัฐ สก็อต ก็ได้ทำภารกิจว่ายน้ำตัวเปล่าข้ามทะเลรวม 2 วันระยะทาง 50 กิโลเมตร ร่วมกับอาสาสมัครอีก 36 คน ได้สำเร็จ

สิรณัฐ สก็อต, sea you strong

สิรณัฐ สก็อต, sea you strong

หากแต่ความสำเร็จอันน่าตื่นเต้นนี้ไม่ใช่จุดประสงค์หลักของทรายและการทำกิจกรรม เขาเน้นย้ำอยู่เสมอว่า งานครั้งมีเป้าประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และที่สำคัญคือการเรียกร้องความยุติธรรมและคืนความเป็นธรรมชาติสู่ท้องทะเล-ในแนวทางเขาเชื่อ

คนทั่วไปอาจจะไม่คุ้นชื่อของทรายซักเท่าใดนัก แต่ในแวดวงของการอนุรักษ์ทะเล ทรายคือหนึ่งในนักอนุรักษ์ที่ทุ่มเทชีวิตให้กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลไทยมานานหลายปี เพราะความหลงใหลในท้องทะเลของตัวเองจนสามารถนิยามตัวเองว่าเป็น ‘มนุษย์เงือก’ ได้อย่างภาคภูมิใจ

อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งหนึ่งที่ท่านผู้อ่านควรทราบ คือในแวดวงไฮโซ ชื่อของทรายคือหนึ่งในทายาทของตระกูล “ภิรมย์ภักดี” ดังนั้นพื้นฐานครอบครัวของเขาย่อมไม่ธรรมดาแน่ แต่ภาพที่หนุ่มผมทอง ผิวแทนจากการดำผุดดำว่ายในน้ำทะเลผู้เลือกที่จะมาทำงานด้านอนุรักษ์ทะเล คงไม่ใช่ภาพจำของ ‘คนมีเงิน’ ตามที่คนทั่วไปเข้าใจ

แต่ทำไมเขาถึงเลือกที่เลือกเส้นทางชีวิตเช่นนี้ พร้อมกับจัดกิจกรรมอนุรักษ์แบบ “สุดขั้ว” เช่นการว่ายน้ำข้ามจังหวัด หวังเพียงให้คนตระหนักถึงความสำคัญของทะเล โดยประกาศว่าไม่รับเงินบริจาคแม้แต่บาทเดียว

National Geographic Thailand ได้มีโอกาสสนทนากับทราย ถึงเรื่องราวเบื้องหลังกิจกรรม และแนวคิดด้านการอนุรักษ์ทะเลในแบบของเขาเอง

ชีวิตวัยเด็ก-เริ่มสร้างจิตใจอนุรักษ์

ตอนเด็กๆ ทรายเป็นคนที่เติบแบบมีโอกาสในชีวิตเยอะพอสมควร เราเรียนโรงเรียนอินเตอร์ ในโรงเรียนได้เรียนรู้ถึงเรื่องของสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศ และการอนุรักษ์

ส่วนเรื่องความรักในทะเล และสัตว์ทะเล เหมือนมันมีอยู่ในตัวทราย แล้วค่อยๆ พัฒนามาเรื่อยๆ อย่างตอนเด็กๆ เราเคยเห็นโชว์โลมาที่จัดแสดงตามสวนสัตว์ ตอนนั้นก็รู้สึกแล้วว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เราเชื่อว่าสัตว์พวกนี้มีความมหัศจรรย์เกินกว่าที่มนุษย์จะมาเล่นกับเขาแบบนี้ ซึ่งประเทศไทยก็มีเรื่องนี้เยอะเหมือนกัน เรามองว่าเรื่องการถูกคุกคามเกิดขึ้นได้กับทุกสิ่งมีชีวิต

เราเคยมีความฝันว่าอยากทำอาชีพวาดรูป หรือทำแอนิเมชั่นเหมือนกัน แต่พอเวลาเราวาดรูป จิตใจเราก็อยากวาดแต่สัตว์ทะเล พอได้ไปใช้ชีวิตต่างประเทศแล้วกลับมาพบเจอกับคนไทยรอบๆ ตัวที่ไม่ค่อยรู้เรื่องการรักษาทรัพยากรพื้นฐานเท่าไหร่นักก็คิดว่านี่เป็นปัญหาที่ใหญ่พอสมควร มันกระทบกับบ้านของเราก็คือทะเล และเราก็ชอบทำงานช่วยเหลือคนอื่นในสังคม เราเลยต้องลุกขึ้นมาทำในเรื่องของการอนุนักษ์ ช่วยทำให้คนเข้าใจสิทธิของสัตว์

ถ้าทรายเป็นคนต่างชาติ ทรายคงมีความสุขกับการว่ายน้ำเฉยๆ ได้ แต่ในประเทศไทย การว่ายน้ำของทรายคือ “เครื่องมือ” ที่จะปกป้อง เหมือนมนุษย์เงือกที่ปกป้องทะเล

สิรณัฐ สก็อต, sea you strong

สิรณัฐ สก็อต, sea you strong

ฐานะที่ได้เปรียบ คือโชคชะตาที่นำไปสู่การอนุรักษ์

คนที่คิดถึงเรื่องฐานะของทเราอาจจะมองไม่เห็นถึงความสำคัญของทะเลในภาพรวม เพราะถ้าจะให้คนทั่วไปมาทำอย่างเดียวก็จะไม่ถึงเป้าหมาย เรามีใจที่รักทะเล เราเองก็พอมีทุนทรัพย์ในการสร้างความเปลี่ยนแปลง เรามองว่ามันเป็นโชคชะตาที่นำพาเรามา

คนรวยคนอื่นๆ ที่เราอาจรู้จักไม่ได้ลงมาทำงานแบบเรา ความเห็นส่วนตัว คนรวยทั่วไปอาจสร้างปัญหาให้ทะเลมากกว่าคนทั่วไปด้วยซ้ำ ส่วนตัวคิดว่าเราคงไม่เหมาะที่จะอยู่ในพื้นที่ของคนมีเงิน เพราะเรารู้ตัวว่าเราเป็นคนของทะเล เราแค่เกิดมาในครอบครัวที่ใหญ่และมีโอกาสมากกว่าคนอื่นๆ  ซึ่งก็อยากบอกว่า ถ้ามีโอกาสในชีวิตขนาดที่เลือกที่จะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรก็ได้ ทำไมเราต้องเลือกที่จะมาทำงานที่โคตรยากแบบนี้ด้วย ทุกอย่างที่เราทำใช้เงินซื้อไม่ได้   แต่เราใช้เงินที่เปิดโอกาสให้คนอื่นๆ มาทำแบบเดียวกับเราได้ อย่างการที่เราว่ายน้ำข้ามจังหวัด ทรายว่ายคนเดียวก็ได้ ไม่ต้องใช้เงินสักบาท แต่เราเอาเงินมาเปิดโอกาสให้คนเรียนรู้ ร่วมงาน เพื่อสร้างโลกที่คนต่อๆ ไปจะได้เห็น ได้สร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้เห็นภาพในอนาคตว่าเขาควรเดินไปทางไหน นั่นคือผลลัพธ์จากสิ่งที่ทรายมี

พูดกันตรงๆ ทรายไม่ได้พูดคุยกับครอบครัวในเรื่องทรายทำ เราแยกออกมาจากครอบครัวเพื่อทำเรื่องนี้มาสักพักแล้ว

เรารู้ว่าเราสามารถอยู่ในเกาะทั้งชีวิตได้ เราไม่ต้องอยู่ปราสาทที่สุขสบาย แต่เราอยู่กับทะเลได้สบาย และทรายคิดว่าความสุขเล็กๆ ที่เราลงมือทำกำลังถูกทำลายด้วยอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่เรากำลังถูกละเมิดสิทธิ เราเลยปลีกตัวออกมา ซึ่งไม่ใช่แค่อุตสาหรรมของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นอุตสาหกรรมทุกชนิด ที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

สิรณัฐ สก็อต, sea you strong

เหตุผลที่เลือกมาจัดกิจกรรมที่กระบี่-ภูเก็ต

ทรายคิดว่าทะเลของประเทศไทยมีโอกาสมีเสียหายมากที่สุด เพราะเราเป็นประเทศท่องเที่ยว ทุกคนเข้ามาหาทรัพยากรของเรา แต่เรากลับดูแลได้ไม่ดี  แต่ก็ยังมีแง่มุมความสำเร็จในการอนุรักษ์มากที่สุดเช่นกัน

ทรายคิดว่ากระบี่เป็นจังหวัดที่เข้มงวดที่สุดในการอนุรักษ์ มีแผนนโยบาย มีการพูดคุยกับสมาคมโรงแรม หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ว่าจะทำให้การท่องเที่ยวที่กระบี่เป็นการท่องเที่ยวที่ดี เช่น กระบี่ไม่ให้คนที่เล่นกีฬาทางน้ำที่ต้องใช้เครื่องยนต์อย่างเจ็ตสกี มีการส่งเสริมธุรกิจที่ยั่งยืน มีวัฒนธรรมการอนุรักษ์ธรรมชาติที่แข็งแรง ทรายคิดว่ากระบี่น่าจะเข้าใจว่าทรัพยากรของเรามีความสำคัญขนาดไหน ตอนเราไปพูดคุยกับทางจังหวัด เราเริ่มมีพลังใจ ทำให้ทรายเชื่อมั่นว่าที่นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของเรา

ขณะเดียวกัน ทรายเลือกภูเก็ต เพราะว่าภูเก็ตอาจจะมีการดูแลที่ไม่มากเท่าที่ควร ยังมีจุดที่น้ำเสีย ในระหว่างการว่าย เราจะเห็นจุดที่น้ำเขียว ก็คือน้ำเสีย ซึ่งเป็นจุดที่มีสาหร่าย หรือปรากฏการณ์สาหร่ายสะพรั่ง (Eutrophication) ซึ่งเกิดจากอุตสาหกรรมทำให้น้ำทะเลข้างใต้มันร้อนและออกซิเจนในน้ำน้อยลง เรามีตัวอย่างของทะเลที่ถูกทำลายให้ผู้คนได้เห็น ซึ่งปกติเราคงไม่ได้เจออะไรแบบนี้

เหมือนเราไปจากพื้นที่ที่เข้มงวด ไปสู่พื้นที่ที่แลกเปลี่ยนทรัพยากรไปกับอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวแบบไม่ได้ควบคุม ทรายคิดว่าภูเก็ตเป็นสถานที่ที่มีทรัพยากรทะเลสวยมาก แต่เราดูแลกันไม่ค่อยดี อาจเป็นเพราะภูเก็ตไม่ได้มีคนดั้งเดิมอยู่เยอะ กลายเป็นนายทุนที่เข้ามาในพื้นที่ เขาไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับทรัพยากรที่นี่ ถ้าที่นี่เสียหาย เขาก็ไปทำลายที่อื่นได้ต่อ เพราะไม่ได้มีความผูกพันกับที่นี่

ที่กระบี่ ชุมชนชาวบ้านมีความแข็งแรง ทรายทำงานร่วมกับทางอุทยานแล้วก็ ทช. (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง) แล้วมันมีแรงผลักดัน คนในชุมชนหลายคนรอที่จะมีคนช่วยเหลืออย่างจริงจัง และเราก็มีศักยภาพในการเป็นกระบอกเสียงให้กับพวกเขา

นี่เป็นสิ่งที่ทรายอยากทำ เราไม่เชื่อที่จะให้คนอื่นพูดแทนสัตว์ทะเล เราเชื่อว่าคนอื่นๆ ไม่มีเหตุผลแรงพอที่จะทำ เราไม่ได้ว่ายตรงนี้เพื่อให้คนอื่นรู้ว่าเราว่ายน้ำเก่ง แต่เราว่ายเพื่อให้คนอื่นเข้าใจสิทธิสัตว์ว่ามนุษย์แบบทรายกับสัตว์ทะเลไม่ได้ต่างกัน เราอยากพาไปให้เห็นทั้งน้ำเสียและน้ำสวย มันคือแรงบันดาลใจหลักของเรา

สิรณัฐ สก็อต, sea you strong

การต่อสู้กับตัวเองระหว่างการว่ายน้ำ 50 กิโลเมตรข้ามจังหวัด

การว่ายน้ำตลอดทั้งสองวันเป็นเหมือนกันหมด ในช่วงกลางวัน เหมือนแดดและท้องฟ้า เป็นใจให้กับเรา แต่จะมีพายุเข้าตอนหนึ่งทุ่มตลอดทั้งสองวัน ซึ่งตอนที่พายุเข้า ทรายก็จะว่ายคนเดียว และจะมีคนคอยช่วยดูแลความปลอดภัยให้กับทราย ทรายได้เรียนรู้จากงานนี้ว่าเรารักทุกอย่างที่เป็นทะเล แม้ทะเลจะอยู่ในช่วงพายุ

ระหว่างว่ายน้ำท่ามกลางพายุ เราคิดอยู่ตลอดว่าอยากไปถึงจุดมุ่งหมายให้ได้ เราระลึกอยู่เสมอว่าเราทำเพื่อโลมาและฉลามทะเลทุกตัว และเราก็ทำเพื่อตัวเอง ถ้าเรารู้ว่าเราผ่านจุดนี้ไปได้ เราจะสร้างประวัติศาสตร์ คนที่จะว่ายแบบนี้ต้องมาจากใจ ร่างกายเราจะเป็นไปตามจิตใจ

วันแรกที่ว่าย เรารู้ว่าเราว่ายเกินกว่าที่เราทำได้ไปแล้ว ทรายสังเกตว่าใจเรากับสติของเรายังชอบมันอยู่ เราเลยอยากทำต่อ เราจะโอเค และเราเราจะสมหวังในสิ่งที่เราต้องการ

ขณะที่พายุเข้า ทรายก็กังวลว่าคนที่พายเรือคายัค เรือกู้ภัย จะขึ้นไปอยู่ด้วยกันได้ไหมเพราะตอนพายุเข้าไม่มีใครมองเห็นอะไร เราก็อยากให้ทุกคนขึ้นมาอยู่บนเรือด้วยกัน ไม่อยากให้มีใครขาดหรือตกหล่น ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่กังวลคือทุกอย่างเรียบร้อยไหม เพราะเราไม่ได้ว่ายแค่งานนี้ เรายังมีงานที่ต้องเตรียมต่อ เพราะเรามีสองบทบาท คือการเป็นผู้นำกิจกรรมอนุรักษ์ แล้วก็เป็นนักว่ายน้ำด้วย

สิ่งที่ควรปรับปรุงของทะเลไทย

ทรายคิดว่ามันมีปัญหาใหญ่เรื่องการคุกคามทะเล ซึ่งไม่ได้เจาะจงอยู่ที่ใดที่หนึ่ง เราไม่เข้าใจสังคมที่คิดว่าการเอาเปรียบชีวิตอื่นเป็นเรื่องที่ธรรมดา ถ้าเราปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นกับสัตว์ได้ ก็ทำให้เกิดกับคนได้เหมือนกัน เราเห็นนักดำน้ำหลายคนบอกว่าชอบทะเล แต่ยังใช้หลอด ใช้พลาสติก จริงๆ คุณอาจไม่ได้ชอบทะเล คุณแค่อยากเอาเปรียบทะเล ทรายกังวลว่ามีคนดึงอะไรจากทะเลไป แล้วไม่คืนกลับไปให้เขา ทรายกลัวความคิดของคนที่คิดแบบนี้

การจัดการในฐานะ ‘คนอนุรักษ์’ ตัวเล็กๆ

ส่วนตัวที่เราทำได้ ในการจัดงานทุกครั้ง เราก็จะยึดในสิ่งที่เชื่อ เราไม่ใช้หลอด-ถุง เราไม่กินอาหารทะเล เราไม่ทนกับคนที่ Bully (กลั่นแกล้ง) คนอื่น ถ้าเราร่วมงานกับเขาเราจะตัดออกจากงานเลย แม้จะกระทบงาน แต่มันก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำ เรารู้ว่าการเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นจากการกระทำ

ส่วนในสเกลใหญ่ การที่ทรายพูดเรื่องสิทธิ ทำตัวอย่างให้ดู เช่นการว่ายน้ำโดยไม่ได้รับบริจาคจากการทำแบบนี้ ด้วยเหตุผลว่าการคุกคามชีวิตอื่นไม่สมควรเอามูลค่าของเงินมาวัด เช่น ถ้ามีคนบริจาคเงิน 10 ล้าน เงิน 10 ล้านนี้ไม่อาจทดแทนมูลค่าของทะเลทำลายทะเลที่ถูกทำลายไป รวมไปถึงอนาคตของเด็กๆ ที่อยู่ในชุมชนชาวเล สำหรับกิจกรรมนี้ เรามองว่าเงินไม่ได้ช่วยอะไร

ทรายมองว่าทะเลเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของทราย เราไม่เห็นด้วยกับการกินสัตว์ทะเล อย่างไรก็ตาม ทรายคิดว่ามนุษย์ก็คงห้ามตัวเองไม่ได้ มันก็ยังมีช่องว่างตรงนี้ ทรายเลยคิดว่าให้คนในพื้นที่ทำประมง เพราะพวกเขาจะเลือกที่จะดูแลทรัพยากรของเขาด้วยเช่นกัน แต่การทำประมงแบบอุตสาหกรรมใหญ่ๆ เช่นอวนลาก ทรายไม่เห็นด้วยเลย เพราะทรายคิดว่าถ้าเขาทำพื้นที่เสียหายไปแล้ว เขาก็แค่ไปทำที่อื่นต่อ จากการทำงาน เรารู้ว่าคนพื้นถิ่นมีปัญหากับประมงอุตสาหกรรม เพราะมันทำให้ทรัพยากรของเขาแย่ลง แล้วก็เอาปลาไปเยอะด้วย ถ้าให้เลือก ทรายก็ต้องเลือกคนในพื้นที่ เพราะพวกเขาคุยเจรจากันได้ และเราคำนึงถึงสิทธิของพวกเขา เขาก็ถูก abuse (ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในทางที่ผิด) เช่นกัน เราอยากพูดถึงสิทธิของทุกอย่าง

สิรณัฐ สก็อต, sea you strong

ภาพฝันการอนุรักษ์ธรรมชาติของชายที่ชื่อ ทราย สก๊อต

ทรายอยากเห็นประเทศไทยมีมาตรการและการดำเนินการธุรกิจที่ปกป้องธรรมชาติเป็นพื้นฐาน ถ้าทุกคนทำแบบนี้ ประเทศเราเจริญขึ้นแน่ ทรายคิดว่าทรัพยากรของเราคือสิ่งสุดท้ายและเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่ถ้าเราทำทรัพยากรเสียหาย ประเทศเราแตกสลายแน่ เพราะถึงสังคมตอนนี้จะเครียด หรือจะเป็นอย่างไร เราก็ยังมีอาหารกิน เรายังมีอากาศอยู่ในระดับที่พออยู่อาศัยได้ แต่ถ้าเราไปคุยกับคนภาคเหนือ พวกเขาอาจจะเริ่มไม่ค่อยมีความสุขกันแล้ว เพราะทรัพยากรของบ้านเขาในหลายๆ อย่างมันเริ่มหายไป

ข้อความที่อยากส่งให้กับสังคมผ่านกิจกรรมครั้งนี้

เราอยากว่ายน้ำเพื่อสื่อสารให้คนเห็นว่า สิ่งที่อยู่ใต้ทะเลมันไม่ใช่สิ่งที่ลึกลับ คนทั่วไปอาจจะคิดว่า ทะเลเป็นพื้นที่ใหญ่ๆ ที่ลึกลับ ตอนที่เราว่ายน้ำผ่าน 3 จังหวัด เราจะทำให้เขาได้เห็นว่าทะเลไม่ใช่เรื่องที่แปลกประหลาด เหมือนเราพาเขาให้ไปรู้จักกับทะเลเพิ่มขึ้นว่าทะเลไม่ได้ลึกลับเหมือนอย่างที่เขาคิด และอยากคนได้คิดทบทวนกับตัวเองว่า พอทรายว่ายเพื่อการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติขนาดนี้แล้ว เราสามารถสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทะเลได้เหมือนกับทรายได้ไหม เพราะเราก็เป็นคนไทยเหมือนกัน

สิรณัฐ สก็อต, sea you strong

สัมภาษณ์ ไตรรัตน์ ทรงเผ่า (บ้านและสวน Explorer Club)

บรรณาธิการ-เรียบเรียง เกียรติศักดิ์ หมื่นเอ

ภาพ โครงการ “ว่ายน้ำอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล”


อ่านเพิ่มเติม ความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเลกำลังเปลี่ยนไป จากการบุกรุกแหล่งกำเนิดสัตว์ทะเล

Recommend