โลกของเรากำลังเผชิญ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยอุณภูมิเพิ่มสูงขึ้นในทุกพื้นที่จากขั้วโลกเหนือถึงขั้วโลกใต้ เว็บไซต์ globalchange.gov รายงานว่า ตั้งแต่ปี 1906 อุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 0.9 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เปราะบาง อย่างขั้วโลก
ผลกระทบจาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ต้องรอไปถึงอนาคตอันไกลโพ้น แต่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้ ความร้อนที่เพิ่มขึ้นกำลังละลายธารน้ำแข็งและพืดน้ำแข็งในทะเล เกิดความแปรปรวนของฟ้าฝน และบีบให้สัตว์หลายชนิดต้องอพยพย้ายถิ่น
ประชาชนหลายคนเข้าใจว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและภาวะโลกร้อนเป็นคำที่มีความหมายเหมือนกัน แต่นักวิทยาศาสตร์มักใช้คำว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เมื่อต้องการอธิบาย การเปลี่ยนแปลงอันซับซ้อนที่ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศ และระบบของสภาพภูมิอากาศโลก

บางครั้ง ผู้คนอาจเข้าใจผิดระหว่างคำว่า “ภูมิอากาศ” และ “สภาพอากาศ” ซึ่งสองคำนี้มีความหมายต่างกันในเชิงวิทยาศาสตร์ เนื่องจากสภาพอากาศสามารถเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้ภายในวันเดียว หรือปีเดียว เช่น ช่วงเช้าฝนตก ช่วงบ่ายแดดออก ทำให้อุณหภูมิของอากาศ ลดลงและสูงขึ้นภายในวันเดียวกัน
ในทางตรงกันข้าม ภูมิอากาศประกอบไปด้วยหลายปัจจัยมากกว่าสภาพอากาศ โดยรวมไปถึงพื้นที่ ฤดูกาล ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย กระแสลม และกระแสน้ำในมหาสมุทร เป็นต้น ดังนั้น เมื่อพื้นที่แตกต่างกันก็จะมีภูมิอากาศที่แตกต่างกัน อย่างภูมิอากาศแบบทะเลทราย ซึ่งหมายถึง พื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยน้อยตลอดทั้งปี หรือภูมิอากาศแบบอื่นๆ เช่น ป่าฝนเขตร้อน ซึ่งมีอุณภูมิและความชื้นค่อนข้างสูงตลอดปี หรือภูมิอากาศเขตอบอุ่น ที่มีอุณหภูมิอบอุ่นในฤดูร้อน และหิมะตกในฤดูหนาว

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะกับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ แต่ยังเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว การเปลี่ยนแปลงประชากรในระบบนิเวศและการอพยพ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และผลกระทบด้านอื่นๆ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ และส่งผลให้ความร้อนที่ผิวโลกไม่สามารถเคลื่อนผ่านชั้นบรรยากาศไปได้

เหล่านี้ คือผลการวิจัยเชิงประจักษ์ที่นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบ “ผลกระทบอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
1. น้ำแข็งทั่วโลกกำลังละลาย โดยเฉพาะน้ำแข็งที่ขั้วโลก และการละลายนี้ก็เกิดขึ้นทั้งกับภูเขาน้ำแข็ง พืดน้ำแข็งที่ปกคุลมแอนตาร์กติกาและกรีนแลนด์ รวมไปถึงหิ้งน้ำแข็งในทะเลอาร์กติก ตัวอย่างที่ชัดเจนปรากฏขึ้นที่อุทยานแห่งชาติมอนแทนา สหรัฐอเมริกา โดยพบว่า ในปัจจุบันอุทยานฯ เหลือธารน้ำแข็งอยู่น้อยกว่า 30 แห่ง จากจำนวน 150 แห่ง เมื่อปี 1910
2. จากการละลายของน้ำแข็งทั่วโลกได้ส่งผลกระทบตามมาคือ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล นักวิทยาศาสตร์พบว่า ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้น 0.13 นิ้ว ต่อปี และอัตรานี้ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยการคำนวนอาจได้เห็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นในทศวรรษหน้า

3. อุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลต่อสัตว์ป่าและแหล่งที่อยู่อาศัย ปริมาณของพืดน้ำแข็งที่หายไปกลายเป็นเรื่องท้าทายสำหรับสิ่งมีชีวิตบางชนิด อย่างนกเพนกวินอะเดลีในแอนตาร์กติกา ที่นักวิทยาศาสตร์ได้สำรวจพบว่า ประชากรของเพนกวินอะเดลีที่ครอบครองพื้นที่ทางตะวันตกของทวีป สูญหายไปกว่าร้อยละ 90

ภาพถ่าย / Mike Erskine
4. เมื่ออุณหภูมิเปลี่นยแปลงไป สัตว์หลายชนิดก็ต้องอพยพหาที่อยู่ใหม่ เช่น ควายป่า สุนัขจิ้งจอก และพืชในเขตอบอุ่นหลายชนิด ที่กระจายพันธุ์เข้าไปยังพื้นที่ทางตอนเหนือ หรือพื้นที่สูงขึ้น เพื่อแสวงหาอากาศที่เย็นมากกว่า
5. ปริมาณหยาดน้ำฟ้า (ฝนและหิมะ) โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นทั่วโลก ในขณะเดียวกัน บางพื้นที่ก็ประสบภัยแล้งยาวนานขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลได้สร้างผลกระทบต่อสัตว์ป่า พืชผลทางการเกษตร และปริมาณน้ำสำหรับบริโภค

6. ประชากรของสิ่งมีชีวิตบางชนิด เช่น ยุง เห็บ แมงกะพรุน และแมลงศัตรูพืชบางชนิด กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การระเบิดของจำนวนประชากรสิ่งมีชีวิตอย่างไม่สมดุล ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศ ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในสหรัฐอเมริกา การระเบิดของด้วงเจาะเปลือกไม้สน (bark beetles) ที่กัดกินยอดอ่อนและเนื้อไม้ของต้นสน ในป่าสนตามธรรมชาติ ทำให้พื้นที่ป่าสนของสหรัฐฯ สูญหายไปหลายล้านไร่
ผลกระทบอื่นๆ ที่คาดว่า อาจจะเกิดขึ้นภายในศตวรรษนี้ หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
– ระดับน้ำทะเลอาจเพิ่มสูงขึ้นระหว่าง 10 ถึง 32 นิ้ว หรือมากกว่านั้น ภายในสิ้นศตวรรษนี้
– พายุเฮอริเคน และพายุอื่นๆ ทั่วโลก มีแนวโน้มทวีกำลังแรงขึ้น เหตุการณ์น้ำท่วม และภัยแล้ง จะกลายเป็นเรื่องปกติใหม่ เช่น ในสหรัฐฯ หลายพื้นที่มีโอกาสเผชิญ “มหาภัยแล้ง” ภายในปี 2100
– ปริมาณน้ำจืดลดลง เนื่องจากธารน้ำแข็งทั่วโลกละลายมากขึ้น ซึ่งธารน้ำแข็งเป็นแหล่งเก็บกักน้ำจืดปริมาณสามในสี่ของน้ำจืดทั่วโลก
– โรคบางชนิดกับกลับมาระบาดอีกครั้ง โดยเฉพาะโรคที่มียุงเป็นพาหะ อย่างมาลาเรีย (ก่อนหน้านี้ ในปี 2016 ไข้ซิกาก็กลับมาระบาดอีกครั้ง)
– ระบบนิเวศจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หวนกลับ สิ่งมีชีวิตบางชนิดจะอพยพไปยังละติจูดที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เช่น หมีขั้วโลก และบางชนิดก็จะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวกับสภาพภูมิอากาศแบบใหม่ได้
สืบค้นและเรียบเรียง ณภัทรดนัย
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.un.org/en/climatechange/what-is-climate-change
https://nsidc.org/learn
https://www.globalchange.gov/browse/indicators/global-surface-temperatures
https://www.nationalgeographic.com/environment/article/global-warming-effects