แผ่นดินไหว ความรู้เบื้องต้นที่คนไทยควรตระหนักและเตรียมตัว

แผ่นดินไหว ความรู้เบื้องต้นที่คนไทยควรตระหนักและเตรียมตัว

แผ่นดินไหว ไม่ใช่เหตุการณ์ใหม่สำหรับบ้านเรา หากแต่เกิดขึ้นมาอยู่เสมอตราบใดที่เรายังอาศัยอยู่บนผืนแผ่นดิน

แผ่นดินไหว เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ยากจะหลีกเลี่ยง เพราะแม้แต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถพยากรณ์อนาคตของภัยพิบัตินี้ ทั้งในเรื่องวัน เวลา สถานที่ หรือระดับความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ ความรู้และการทำความเข้าใจในผืนแผ่นดินที่ตัวเองอาศัยอยู่ กระบวนการเกิดแผ่นดินไหว จะนำไปสู่แนวทางปฏิบัติเพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขื้นอย่างฉุกเฉินนี้

ในส่วนของประเทศไทย เรามีกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ให้ข้อมูลด้านแผ่นดินไหว และถอดบทเรียนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวจากรอบโลก มาสู่การสร้างความตระหนักให้ประชาชนในการเตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหวภายในประเทศ

โดยเฉพาะกับการสำรวจรอยเลื่อนมีพลังพร้อมกับการจัดทำสมุดแผนที่รอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย เล่มล่าสุด ฉบับปี 2562 ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ที่ ลิงค์ (https://online.anyflip.com/kera/pimh/mobile/index.html?fbclid=IwAR3wKGA2bIIt69-YaaPGntPte8J33B-YW2eSX8_X1wWW4hqs9Xn2AecuTyE) เพื่อนำไปเทียบเคียงกับพื้นที่อยู่อาศัยของตนว่าอยู่ในพื้นที่รอยเลื่อนมีพลังพาดผ่านหรือไม่ และควรเตรียมพร้อมอย่างไรต่อ

แผ่นดินไหวในประเทศไทย

รอยเลื่อนมีพลัง

ประเทศไทยอยู่ในพื้นที่เกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กถึงปานกลาง ในปัจจุบัน (2566) ความรุนแรงสูงสุดของการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยอยู่ที่ระดับ 6.1 ที่อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2557

หากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้นโดยตลอดตั้งแต่มีการบันทึกไว้ในพงศาวดาร เมื่อปี พ.ศ.690 ที่ทำให้โยนกนครจมหายลงไปทั้งเมืองจนกลายเป็นหนองน้ำใหญ่ ซึ่งคาดว่าต้องมีระดับความรุนแรงมากกว่า 7 จึงจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้ (และในยุคปัจจุบันก็ยังไม่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงสูงขนาดนี้) ซึ่งต้องอาศัยการขุดร่องสำรวจของรอยเลื่อนมีพลัง และสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้มาช่วยวิเคราะห์วงรอบการเกิดแผ่นดินไหวในปัจจุบันและอนาคต

หรือถ้าใกล้ยุคสมัยของเราขึ้นมาอีก เหตุการณ์แผ่นดินไหวศูนย์กลางบริเวณส่วนปลายของเขื่อนศรีนครินทร์ ระดับสูงสุด 5.9 ซึ่งรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ถึงกรุงเทพมหานคร จากการวิเคราะห์พบว่าเกิดจากกลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ที่พาดผ่านทางด้านภาคตะวันตกของประเทศไทย

แม้แต่ในปี 2565 ที่ผ่านมา เราได้ยินข่าวแผ่นดินไหวขนาด 4.2 ที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ จากแนวรอยเลื่อนย่อยดอยสะเก็ด แสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวยังคงเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ และทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังคงศึกษาด้วยการขุดร่องสำรวจรอยเลื่อนมีพลังตามระดับความอันตราย และอัปเดตข้อมูลส่งต่อให้กับภาคประชาชนอย่างสม่ำเสมอ

ปัจจัยของความรุนแรง และการเตรียมความพร้อมในภาคนโยบาย

แผ่นดินไหว
ภาพอาคารถล่มจากความรุนแรงของเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ตุรกี ในเดือนตุลาคม ปี 2564

กรมอุตุนิยมวิทยาให้ข้อมูลเรื่องปัจจัยความรุนแรงของเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน แบ่งเป็นข้อได้แก่

  1. ขนาดความรุนแรงและแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว โดยแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มักเกิดในแนวแผ่นดินไหวโลก บริเวณที่มีการชนกันของเปลือกโลก หรือแนวรอยเลื่อนมีพลัง ส่วนขนาดรองลงมาอาจเกิดจากการกระทำของมนุษย์อย่าง การทำเหมือง หรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่
  2. ความลึก โดยแผ่นดินไหวระดับตื้น ตั้งแต่ระดับพื้นผิวจนถึงลึกลงไป 30 กิโลเมตร ก่อให้เกิดความเสียหายได้มากกว่า
  3. การศึกษารอยเลื่อน และการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนที่มีผลต่อพื้นที่บริเวณนั้น ๆ
  4. การเตรียมความพร้อมของชุมชน โดยเฉพาะในเรื่องความแข็งแรงของโครงสร้างอาคาร ที่ต้องสอดคล้องไปกับรูปแบบของพื้นที่ตั้ง นั่นเท่ากับว่า พื้นที่เฝ้าระวังแผ่นดินไหวจำเป็นต้องอาศัยความรู้ทั้งทานด้านวิศวกรรมในการก่อสร้างบนแผ่นดินรอยเลื่อนมีพลัง พื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิ และอาคารสูง

การเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติของประเทศไทย จึงจำเป็นต้องอาศัย 3 ส่วนหลัก ทั้งภาคองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ทั้งด้านเทคโนโลยี สถิติ เครื่องมือตรวจวัด งานวิจัย และการใช้ระเบียบบริหารทางกฎหมาย, ภาครัฐ ในบทบาทของการบริหารจัดการ ทั้งกรมทรัพยากรธรณี และกรมบรรเทาสาธารณภัย และสุดท้ายที่ภาคประชาชน ที่จะต้องรู้จักกับแผ่นดินของตัวเอง โดยต้องไม่ลืมให้ความสำคัญกับผลพวงและการฟื้นฟูหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวด้วย

แผ่นดินไหว
เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่อิตาลี เมื่อปี 2559 ระดับ 6.2 สาเหตุจากรอยเลื่อนมีพลัง

โจทย์สำคัญของกลไกการเตรียมความพร้อมในการจัดการแผ่นดินไหว จึงเป็นการวางกลยุทธ์ร่วมกันในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นการปิดสวิตช์ปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับประชาชนทุกคน โดยการเสนอยุทธศาสตร์ร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นไปดังนี้

  1. การจัดทำแผนแม่บทป้องกันและบรรเทาภัยจากแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม พร้อมกับการขับเคลื่อนแผนไปสู่ภาคปฏิบัติ
  2. กฎหมายควบคุมอาคาร สำหรับอาคารสูงเกิน 10 เมตร
  3. การสำรวจรอยเลื่อนมีพลัง 16 แห่ง และคาดว่าจะมีพลัง
  4. การเฝ้าระวัง และสร้างแผนที่เสี่ยงภัย (Risk Map) สำหรับความปลอดภัยของอาคารที่ไม่ได้ควบคุมหรืออาคารเก่า
  5. การจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยระดับชุมชน เพื่อลดความเสี่ยงจากอาคารภัยพิบัติ โดยเฉพาะกับอาคารบ้านเรือนที่สร้างขึ้นโดยช่างท้องถิ่น

หลายหน่วยงานมีความพยายามในการสร้างภาคประชาชนที่เป็น Active Citizen หรือพลเมืองตื่นรู้ เพื่อเร่งให้เกิดกลไกในระดับท้องถิ่น อย่างในเรื่องการสร้างเสริมความรู้งานอาคารและโครงสร้างความแข็งแรงให้กับช่างชุมชนหรือสล่าพื้นบ้าน หรือการให้ความรู้ในเรื่องการจัดทำโซนนิ่งจากแผ่นที่แสดงพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้ทุกปัจจัยสามารถเดินไปพร้อมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เครือข่ายตรวจวัดแผ่นดินไหว และการบูรณาการ

บ้านเราเริ่มต้นติดตั้งเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวครั้งแรกเมื่อปี 2506 ที่จังหวัดเชียงใหม่ และมีการพัฒนาปรับปรุงจนในปัจจุบัน สถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมอุตุนิยมวิทยามีทั้งสิ้น 152 สถานี ส่งต่อข้อมูลเข้าสู่ฐานข้อมูลแผ่นดินไหว ที่สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งเปิดเป็นสาธารณะให้สามารถเข้าถึงและโหลดข้อมูลไปใช้งานต่อได้

สำหรับกรุงเทพมหานครเอง มีโครงการ Bangkok Metropolitan Strong Motion Network (BSMN) ในการติดตั้งเครื่องมือวัดแรงสั่นสะเทือนที่ 50 สถานีที่ทำการเขต โดยเฉพาะกับเขตที่มีอาคารสูงหนาแน่น เพื่อรวบรวมข้อมูลเป็นข้อมูลกลาง และประมวลผลค่าแรงสั่นสะเทือน สำหรับการจัดทำรายงานเพื่อนำไปปรับค่าการออกแบบต้านแผ่นดินไหว การเตรียมการจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวของอาคารสูงในกรุงเทพฯ (BKK Risk Map) และเปิดเป็นข้อมูลสาธารณะโดยสำนักผังเมือง เพื่อให้นักวิจัยนำไปใช้งานได้ต่อไป

แผ่นดินไหว

สิ่งหนึ่งที่ประเทศไทยยังคงต้องเดินหน้าพัฒนาต่อไปในการเตรียมความพร้อมรับมือเหตุการณ์แผ่นดินไหว คือการรวบรวมข้อมูลจากหลายหน่วยงาน วิเคราะห์และบูรณาการโดยนักวิทยาแผ่นดินไหว (Seismologist) และวิศวกรแผ่นดินไหว (Earthquake Engineer) เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ต่อสำหรับงานก่อสร้างเพื่อรับมือสถานการณ์แผ่นดินไหว

ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีกฎหมายควบคุมอาคารต้านทานแผ่นดินไหว (อ่านที่ลิงค์ https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/elaw_parcy/ewt_dl_link.php?nid=3025) เรียบร้อยแล้ว แต่บ้านเราก็ยังขาดการจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวอย่างเป็นทางการระดับชาติ (National Seismic Hazard Map) ซึ่งเป็นแผนงานที่จำเป็นต้องเดินทางต่อเพื่อประโยชน์มวลรวมของประเทศ

ภาพจากงานสัมมนาวิชาการ ‘35 วัน หลังแผ่นดินไหวตุรกี ประเทศไทยพร้อมรับมือแผ่นดินไหวแล้วหรือยัง’

เราลดความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวอาจจะยากเพราะเป็นพิบัติภัยตามธรรมชาติ แต่ความเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายสามารถลดลงได้ หากมีการเตรียมพร้อมข้อมูลให้ดี ทั้งรู้เขา – การศึกษาเขตพื้นที่ของตัวเองอยู่ในรอยเลื่อนมีพลังส่วนใดหรือไม่ และรู้เรา – การเตรียมโครงสร้างอาคารให้เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่ตั้ง แต่ก็จะช่วยลดความเสียหายจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันในอนาคต

ข้อมูลจากงานสัมมนาวิชาการ ’35 วัน หลังแผ่นดินไหวตุรกี ประเทศไทยพร้อมรับมือแผ่นดินไหวแล้วหรือยัง’ โดยกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับวิทยากรจากกรมอุตุนิยมวิทยา ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรุงเทพมหานคร


อ่านเพิ่มเติม รศ. เอนก ศิริพานิชกร สภาวิศวกร แผ่นดินไหวในไทย อาคารแบบไหนรับมือได้?

รศ. เอนก ศิริพานิชกร

Recommend