ความร้อน เริ่มแย่ลงทุกปีและทุกปี แล้วเราจะทำอย่างไรได้บ้าง? นี่คือสิ่งจำเป็นที่ต้องรู้เพื่
เริ่มต้นวันที่ 1 เมษายนปีพ.ศ. 2567 ด้วยการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาแห่งประเทศไทย ที่บอกไว้ว่าบ้านของเราจะร้อนในระดับ ‘แดงดำ’ ซึ่งเป็นระดับความร้อนสูงสุดที่อาจทำให้อุณหภูมิที่วัดได้พุ่งไปเกิน 38 องศาเซลเซียสเป็นเรื่องปกติ แม้จะเป็นที่รู้กันดีว่าความร้อนเหล่านี้มีสาเหตุมาจากอะไร แต่ดูเหมือนว่าประเทศไทยที่ร้อนอยู่แล้ว ก็ยังสามารถร้อนได้มากขึ้นอีก เช่นเดียวกับเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกที่ร้อนขึ้น
“เราพบว่าการเสียชีวิตจากความร้อนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” เดวิด ฮอนดูลา (David Hondula) ผู้อำนวยการสำนักงานตอบสนองและบรรเทาความร้อนเมืองฟินิกซ์ ในสหรัฐอเมริกา กล่าว
ฮอนดูลากล่าวว่าการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นนั้นเชื่อมโยงกับความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม เช่นการเข้าถึงที่พักอากาศหรือพาหนะที่มีเครื่องปรับอากาศ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่มีเงินทุนซื้อได้ ดังนั้นจำนวนคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงเป็นพิเศษ และหลายครั้งมักถูกละเลย
กระนั้นวิกฤติด้านสุขภาพก็สามารถป้องกันได้ และนั่นเป็นสาเหตุที่เมืองและรัฐหลายแห่งกำลังพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า การศึกษาในพื้นที่สาธารณะ และทรัพยากรในชุมชนต่าง ๆ เช่นศูนย์ทำความเย็นที่มีให้ผู้คนสามารถหลบพักจากอุณหภูมิที่สุดขีดได้
คำแนะนำด้านความปลอดภัยจากความร้อนอาจฟังดูคุ้นเคยสำหรับบุคคลทั่วไปเช่น งดจัดกิจกรรมกลางแจ้งโดยเฉพาะช่วงเที่ยงวันที่อุณหภูมิพุ่งขึ้นสูงสุด รักษาความชุ่มชื้นไว้ และเพิ่มที่คลายร้อนในที่สาธารณะอย่างห้องสมุดประชาชนที่มีระบบระบายความร้อน
เคล็ดลับดังกล่าว “ดูเหมือนเป็นการบอกอย่างเจาะลึกถึงสิ่งที่ชัดเจน แต่เรายังคงต้องชี้ชัดถึงปัญหา เพราะเรายังคงเห็นผู้คนเสียชีวิตระหว่างเหตุการณ์ที่ร้อนจัดเหล่านี้” เจเรมี เฮสส์ (Jeremy Hess) นักวิทยาศาสตร์ด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน กล่าว
สำหรับระยะยาว มาตราการต่าง ๆ เช่นการปลูกต้นไม้ให้ร่มเงาและการติดตั้งหลังคาสะท้อนแสงในบางจุดอาจช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต่ออากาศร้อนในบ้านและชุมชนได้ แต่สำหรับตอนนี้ นี่อาจเป็นวิธีที่คุณสามารถทำได้เลยเพื่อคลายร้อน
ทำไมความร้อนถึงเป็นอันตรายถึงตาย?
เฮสส์ ได้เผยไว้ในรายงานซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 2023 โดยมุ่งเน้นไปที่ปฏิกิริยาโดยตรงที่ร้ายแรง เช่น ฮีทสโตรก ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจากความร้อนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ความร้อนดังกล่าวอาจส่งผลต่อเนื่องต่อภาวะเรื้อรังให้รุนแรงขึ้นอย่าง โรคหัวใจ โดยคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของการเสียชีวิตจากความร้อนในสหรัฐอเมริการะหว่างปี 1999 ถึง 2018
“ในการศึกษาบางชิ้น จำนวนผู้ที่มีอาการกำเริบของโรคเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับความร้อน จริง ๆ แล้วมีจำนวนมากกว่ากรณีเจ็บป่วยเฉียบพลัน” เฮสส์ กล่าว อุบัติเหตุการจมน้ำก็เพิ่มขึ้นในช่วงความร้อนโจมตีเช่นกัน เนื่องจากผู้คนไปสระน้ำหรือแหล่งน้ำเพื่อคลายร้อน
ส่วนกลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ คนทำงานกลางแจ้ง คนตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ เด็กและทารก คนไร้บ้าน และผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์และใช้ยาเสพติด ฮอนดูลา กล่าวว่าประมาณครึ่งหนึ่งของการเสียชีวิตจากความร้อนในฟินิกซ์มีความเกี่ยวข้องกับการใช้ยาเสพติด
ความชื้นที่สูงขึ้นควบคู่กับอุณหภูมิสูงก็ทำให้เกิดอันตรายเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากอากาศชื้นทำให้เหงื่อที่เป็นตัวระบายความร้อนของร่างกายออกมายากขี้น ทำให้ความร้อนถูกเก็บไว้ข้างใน
วิธีการป้องกันตัวเองจากความร้อน
ติดตามการคาดการณ์ รวมถึงดัชนีความร้อนในพื้นที่ของคุณเพื่อให้ทราาบว่าสภาพอากาศที่รุนแรงจะมาถึงเมื่อใด และสามารถวางแผนได้อย่างเหมาะสม หากเป็นไปได้ ให้จำกัดเวลาอยู่กลางแจ้งและหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใชกำลังมากในช่วงที่ร้อนที่สุดของวัน
หลีกเลี่ยงน้ำตาล คาเฟอีน และแอลกอฮอล์ที่อยู่ในเครื่องดื่ม ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้คุณสูญเสียของเหลว ดื่มน้ำให้มาก และอย่างรอให้รู้สึกกระหายถึงจะเริ่มดื่ม เฮสส์ กล่าวว่า เครื่องดื่มเกลือแร่มีประโยชน์ต่อร่างกายในการเติมน้ำ โดยเฉพาะในระหว่างทำกิจกรรมต่อเรื่อง แต่คุณไม่จำเป็นต้องมองหายี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งเป็นพิเศษ เพราะแค่เพียงน้ำผสมเกลือแร่เล็กน้อยนั้นก็เพียงพอแล้ว
ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ให้ดื่มน้ำที่คุณมี และพกติดตัวไปด้วยหากคุณออกไปเที่ยวตามธรรมชาติ สวมเสื้อผ้าสีอ่อน และมีน้ำหนักเบา เมื่ออกไปข้างนอก ให้หาที่ร่มหากเป็นไปได้ ทาครีมกันแดด และสวมหมวกหรือพกร่มกันแดดมาด้วย
วิธีการปกป้องบ้านของคุณ
ปิดม่านและใช้แผ่นสะท้อนแสงออกจากหน้าต่าง หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ที่ปล่อยความร้อนเช่น เตาอบและเตาไฟฟ้า หากเป็นไปได้ให้ใช้แผ่นกั้นสภาพอากาศกับฉนวนเพื่อให้อากาศเย็นไหลเข้าและอากาศร้อนไหลออก
ผลลัพธ์จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ในปี 2019 ชี้ให้เห็นว่าการใช้พัดลมไฟฟ้ามีประโยชน์เมื่ออากาศร้อนและชื้นเท่านั้น แต่อาจเป็นอันตรายได้หากอากาศทั้งร้อนและแห้งมาก ในทางเดียวกัน ทีมงานของฮอนดูลาใช้งานวิจัยนี้เป็นพื้นฐานเพื่อบอกข้องดีและข้อเสียของวิธีการทำความเย็นแบบต่าง ๆ ที่ใช้ต้นทุนต่ำ หรือไม่มีค่าใช้จ่ายเลย
การใช้เท้าในน้ำเย็น ผ้าเย็น และเสื้อผ้าเปียก ล้วนเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ ส่วนแนวคิดอื่น ๆ ใช้ได้เฉพาะในบางเงื่อนไขเท่านั้น เครื่องทำความเย็นแบบระเหยมีราคาถูกกว่าเครื่องปรับอากาศในการทำงาน แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้มากเมื่อมีความชื้นมากอยู่แล้ว
เครื่องลดความชื้นก็อาจช่วยให้รู้สึกสบายได้ แต่อย่าคาดหวังว่าจะทำให้อุณหภูมิห้องลดลงอย่างชัดเจน
จะทำอย่างไรเมื่อสิ่งต่าง ๆ ร้อนขึ้น?
“สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักว่าความร้อนเป็นอันตรายอย่างยิ่งเมื่อผู้คนไม่ได้รับการปกป้องจากความร้อน” เฮสส์ กล่าว
เมื่อเกิดฮีทสโตรก จะมีอาการคลื่นไส้ ปวดศีรษะ และเหนื่อยล้า เมื่อถึงจุดนั้นผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ระบายความร้อนอย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันอันตราย เฮสส์ กล่าวว่าสัญญาณหลัก 2 ประการของฮีทสโตรกคือ อุณหภูมิที่สูงขึ้น พร้อมกับอาการสับสนของผู้ป่วย หากมีสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องพบแพทย์ในทันที
หาศูนย์ทำความเย็นหากบ้านของคุณร้อนเกินไป เห็นได้ชัดเจนว่าเครื่องปรับอากาศนั้นมีประสิทธิภาพมากในการทำความเย็น แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีได้ และสำหรับบางคนการใช้เครื่องปรับอากาศก็มีราคาแพงมาก
“เครื่องปรับอากาศมีข้อควรระวังแน่นอน เนื่องจากการติดตั้งมีราคาแพง และต้องใช้ไฟฟ้ามากกว่าวิธีอื่น ๆ ในการทำงาน” เฮสส์ กล่าว “ในด้านสาธารณสุข เราไม่เต็มใจที่จะมุ่งเน้นย้ำว่าการใช้เครื่องปรับอากาศเป็นกลยุทธ์หลัก(ในการคลายร้อน)”
สถานที่เช่นห้องสมุดประชาชน ห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์ชุมชนสามารถช่วยบรรเทาทุกข์ได้ ศูนย์ทำความเย็นสาธารณะ สถานีเติมน้ำ และวธีการเข้าถึง ล้วนเป้นส่วนหนึ่งของความพยายามในการรักษาผู้คนให้ปลอดภัยของเมืองฟินิกซ์
“เรามักจะบอกกับผู้คนที่อาศัยอยู่ในรถบ้านของพวกเขาในลานจอดรถ และพวกเขาก็มักไม่รู้ว่าอาคารถัดจากที่ที่พวกเขาจอดอยู่นั้นเปิดให้เข้าไปพักผ้อนได้สองสามชั่วโมง” ฮอนดูลา กล่าว
เฮสส์ ตั้งข้อสังเกตว่าช่วงเย็นอาจเป็นเวลาที่เปราะบางสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากความร้อนที่สะสมมาตลอดทั้งวันโดยเฉพาะในเมือง และผู้คนอาจคิดกันว่าในช่วงบ่ายแก่ ๆ ความร้อนที่เลวร้ายที่สุดได้ผ่านไปแล้ว
ฮอนดูลา สะท้อนคำเตือนนี้ “ใช้เวลาไม่นานนักในการเปลี่ยนแปลงจากการอยู่ในสถานการณืที่ดี ไปเป็นสถานการณ์ที่ไม่ดี” เขากล่าว “เรามักจะไม่ได้ติดต่อกัน(เพื่อเช็คสุขภาพ)มากนักในวันที่ร้อนที่สุดของเรา”
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา nationalgeographic