Rewilding ในเมืองใหญ่ พวกเขาฟื้นฟูธรรมชาติอย่างไร? ทำได้มากน้อยแค่ไหน?

Rewilding ในเมืองใหญ่ พวกเขาฟื้นฟูธรรมชาติอย่างไร? ทำได้มากน้อยแค่ไหน?

5 มิถุนายน เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) และในวาระนี้คงไม่มีเรื่องใดที่น่าพูดถึงมากไปกว่า ความเป็นไปของธรรมชาติในปัจจุบัน ทั้งที่ประเทศไทยและประเทศอื่นๆทั่วโลก

การดำรงอยู่ของธรรมชาตินั้นมีหลายรูปแบบ และนับเฉพาะในเมือง (ทั้งขนาดใหญ่และเล็ก) แนวคิดที่พูดถึงมาตลอดหลายปี คือการ Rewilding ให้กับธรรมชาติ ด้วยความหมายที่ว่า หากระบบนิเวศได้ถูกทำลายเพราะการเติบโตของเมืองและน้ำมือมนุษย์ เช่นนี้แล้ว หากเราปล่อยให้ธรรมชาติได้ฟื้นฟูตัวเองบ้าง ความหลากหลายที่อาจจะสมบูรณ์บ้างไม่สมบูรณ์บ้างเหล่านั้นก็มีโอกาสย้อนกลับมา (Re-wind)

 

ถึงตรงนี้ อย่าเพิ่งคิดว่าพื้นที่ธรรมชาติซึ่งรอการย้อนกลับมาได้ ต้องเป็นป่าขนาดใหญ่ ลำธาร แม่น้ำ เพียงเท่านั้น เพราะในกรณีนี้นับรวมถึงพื้นที่ว่างชุ่มน้ำเล็กๆ ไม่ไกลจากบ้านก็ได้ด้วย ใครนึกไม่ออกลองมองสวนสาธารณะ พื้นที่ป่ารก และอีก ฯลฯ รอบตัว ซึ่งแม้จะไม่ได้มีขนาดใหญ่แต่ก็มีองค์ประกอบของทั้งน้ำและดิน หญ้า ไม้ล้มลุก ไม้พุ่ม ไม้ยืนต้น รวมถึงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์อย่างแมลง สัตว์เลื้อยคลาน นก ฯลฯ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้หากมนุษย์ไม่ไปยุ่ง ไม่ไปรุกล้ำ อีกสักพักพื้นที่ธรรมชาติเล็กๆนี้ก็จะกลับมา


การฟื้นฟู “Re-wilding” พื้นที่ธรรมชาติเล็กๆ มีบทพิสูจน์แล้วว่าเกิดขึ้นจริงได้ เป็นแนวคิดและผ่านประสบการณ์ที่หลายเมืองทำกัน และในแต่ละเมืองก็เกิดกลุ่มที่เรียก Rewilding ไม่เว้นแม้แต่ในกรุงเทพ ซึ่งมี กลุ่ม Rewilding Bangkok ขับเคลื่อนและเผยแพร่เรื่องนี้อยู่ รวมถึงองค์กรเอกชนเองก็มีกิจกรรมเพื่อสังคมที่เน้นหลักคิดของการ Rewilding อยู่ เช่น การทำป่าในเมือง การเอื้อประโยชน์เพื่อปลูกต้นไม้ยืนต้น พยายามเอื้อประโยชน์ให้องค์ประกอบทางธรรมชาติฟื้นฟูได้เอง

.
ในต่างประเทศ แคมเปญการ Rewilding ที่เราน่าจะคุ้นเคยดีคือ Rewilding Britain ซึ่งการร่วมมือกันขององค์กรในสหราชอาณาจักรทั้งรัฐและภาคประชาสังคม มีเป้าหมายที่จะทำให้ ผืนป่าและระบบนิเวศทั้งเกษตรกรรม ป่าไม้ ในสหราชอาณาจักร มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น 25%


ย้อนไปในเดือนธันวาคม 2020 นี้ รัฐบาลอังกฤษมีแผนแผนปลูกป่าจำนวนมากเพื่อช่วยให้พื้นที่ป่าของสหราชอาณาจักรให้ได้ 187,500 ไร่ และมีการจัดสรรงบประมาณ 40 ล้านปอนด์ให้กับโครงการ 68 โครงการให้ไปปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น 800,000 ต้น เป็น 10,000 ต้นที่จะปลูกในพื้นที่ 50 แห่งของ National Health Service (NHS) หรือระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ และอีก 12 แห่งในพื้นที่เล็ก ๆ ตามชนบท

นอกจากนี้ ยังจัดสรรงบอีก 12.1 ล้านปอนด์ให้รัฐบาลในการนำไปลงทุนกับแผนปลูกป่า 500 เฮกตาร์ หรือคิดเป็นประมาณ 3,125 ไร่ ในพื้นที่ป่าชุมชน 10 ชุมชน รวมถึง รัฐบาลสัญญาว่าจัดสรรงบอีก 4 ล้านปอนด์เป็นทุนในการปลูกต้นไม้ในเมือง และบริเวณใกล้แม่น้ำเพื่อลดความเสี่ยงจากน้ำท่วม ทั้งเตรียมทุนสำหรับแผนการปลูกต้นไม้ใหม่ 30,168 ต้นในเขต Upper Thames และ Cotswold Area of Outstanding Natural Beauty และอีก 10,257 ต้นในอ่างเก็บน้ำ Ure และ Wharfe ใน Yorkshire เพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัย และการเชื่อมต่อของสัตว์ป่า


ทีม Rewilding ของสหราชอาณาจักร ให้มุมมองว่า พวกเขามีความต้องการให้ธรรมชาติฟื้นฟูเองเป็นวิธีตั้งต้น ยกเว้นว่าต้นไม้จะไม่สามารถกระจายไปด้วยตัวมันเอง หรือโตช้า เนื่องจากแหล่งเมล็ดพันธุ์อยู่ห่างกันเกินไป หรือพื้นที่ถูกสัตว์เข้ามาแทะเล็มหญ้ามากเกินไป ถ้าเป็นแบบนี้ นักปลูกป่าอาจจะต้องเข้ามาเคลียร์พื้นที่ กระจายเมล็ด หรือควบคุมการเข้าแทะเล็มหญ้าของสัตว์ และนำต้นกล้าของต้นไม้ท้องถิ่นมาปลูก อย่างที่พวกขำกันอยู่

.
Rebecca Wrigley หนึ่งในหัวหน้าฝ่ายบริหารของ Rewilding Britain ให้สัมภาษณ์ว่า ผู้คนมักจะมีความคิดว่าการเพิ่มพื้นที่ป่าแปลว่าต้องปลูกป่า ทั้งที่ ธรรมชาติก็สามารถทำสิ่งนี้ได้ด้วยตนเองได้อย่างดี การฟื้นฟูตามธรรมชาติก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ นั่นเพราะเราจะได้ต้นไม้ที่ถูกต้องในสถานที่ที่เหมาะสม จะไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่อาจเกิดขึ้นจากการปลูกบนดินพรุ ช่วยเพิ่มความซับซ้อนของระบบนิเวศ สร้างความยืดหยุ่น การฟื้นฟูตามธรรมชาติยังช่วยให้สายพันธุ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงและปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีหลักฐานเพิ่มมากขึ้นว่าสามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากขึ้น แม้ว่ายังไม่มีฐานการวิจัยที่กว้างขวาง เนื่องจากการฟื้นฟูทางธรรมชาติไม่ได้อยู่ในสายตาของผู้คน

ในปัจจุบันนี้ สหราชอาณาจักรไม่ได้เป็นที่เดียวที่ถูกพูดถึง มีรายงานว่า หลายเมืองก็ดำเนินโครงการตามหลักแนวคิดนี้ เช่น เมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน สหรัฐฯ ซึ่งสิ่งแวดล้อมเคยล่มสลายด้วยอุตสาหกรรม แต่ก็พยายามฟื้นฟูด้วยแนวคิดนี้ โดยการรื้อถอนเขื่อนหรือการสร้างอุโมงค์เพื่อเชื่อมต่อกับทางเดินของสัตว์ที่เคยถูกตัดด้วยถนนอีกครั้ง นอกจากนี้คนงานยังนำสัตว์กลับเข้าไปในพื้นที่ และบรรดาสัตว์นักล่า เช่น หมาป่า ก็ช่วยสร้างสมดุลให้กับสภาพแวดล้อมอีกด้วย

หรือที่เมืองฮันโนเวอร์ แฟรงก์เฟิร์ต และเดสเซา-รอสเลา ของเยอรมนี มีรายงานว่า เมืองได้กันพื้นที่เอาไว้ ซึ่งรวมถึงทุ่งหญ้าที่กว้างใหญ่ และทางน้ำ เพื่อให้ฟื้นฟูตัวเองตามธรรมชาติได้ เมื่อดอกไม้ป่าพื้นเมืองเริ่มปรากฏขึ้น นก ผีเสื้อ ผึ้ง และเม่นก็เริ่มกลับเข้ามา ขณะที่สิงคโปร์ก็ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในเมือง เช่น บริเวณแม่น้ำ Kallang ที่ทอดยาว 2.7 กิโลเมตร ได้เปลี่ยนจากช่องทางที่ปูด้วยคอนกรีตให้เป็นทางน้ำที่คดเคี้ยวซึ่งเรียงรายไปด้วยต้นไม้ หิน และอื่นๆ วัสดุธรรมชาติและขนาบข้างด้วยทุ่งหญ้าเขียวขจี

คีย์หลักของสิ่งนี้นั่นคือ ถ้าคุณอาศัยอยู่ในระบบนิเวศที่ธรรมชาติถูกปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ถูกรบกวน ระบบนั้นก็จะกลับมาดั่งที่มันเคยเป็นนั่นเอง

ภาพ : National Geographic

อ้างอิง

Theguardian
Ngthai
AP


อ่านเพิ่มเติม พื้นที่ชุ่มน้ำและการ Rewilding ระบบนิเวศและแนวคิดที่ต้องไม่ถูกลืม

พื้นที่ชุ่มน้ำ

Recommend