ภาวะโลกร้อนส่งผลให้ โกโก้ แพงขึ้น 129% ในปีนี้ ส่วนผักกาดขาวที่ใช้ผลิตกิมจิเกาหลีใต้ก็ขาดแคลน และวงจรชีวิตของปลาแซลมอนธรรมชาติก็ถูกสภาพอากาศที่แปรปรวนคุกคามจนลดจำนวนลงอย่างมาก
หากใครที่มองว่าสภาวะโลกร้อนหรือโลกรวนที่ส่งผลให้ภูมิอากาศปั่นป่วนแบบสุดขั้วยังเป็นเรื่องไกลตัว ตอนนี้อาจต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ เพราะนอกจากคนทั่วโลกกำลังเผชิญกับภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นทั้ง พายุ แผ่นดินไหว หลุมอากาศ ไฟป่า คลื่นยักษ์ ดินถล่ม นํ้าท่วม ฯ แล้ว อาหารที่เรากำลังกินดื่มในช่วง 2-3 ปีนี้ ก็มีราคาสูงขึ้นอย่างมาก รวมถึงบางวัตถุดิบยังขาดแคลน และเสี่ยงที่จะหายไปในอนาคต
โกโก้ราคาทะยานทะลุเพดาน ทำร้านคาเฟ่-เบเกอรี่ขาดทุนจนปิดกิจการ
ปี 2024 คือวิกฤตราคาโกโก้ที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 60 ปี จากภาวะขาดแคลนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งราคาโกโก้ล่วงหน้าในตลาดนิวยอร์กเมื่อเดือนพฤษภาคมแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 10,080 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (3.7 แสนบาท) ซึ่งในภาพรวมตลาด ราคาโกโก้เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าในปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นกว่า 129% ในปีนี้
ทั้งนี้ สาเหตุหลักที่ทำให้ราคาโกโก้พุ่งขึ้นต่อเนื่องมาจากการที่ประเทศไอวอรี่โคสต์ผู้ผลิตโกโก้รายใหญ่ที่สุดในโลกเผชิญกับอุณหภูมิที่ร้อนกว่าปกติ ทำให้เกิดสภาพอากาศแห้งแล้งกระทบต่อผลผลิตโกโก้ หลายพื้นที่อากาศร้อนจัดจนดอกโกโก้ร่วงหมดและยืนต้นตาย ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด 19 ก็ทำให้เกิดการบวมของหน่อคาเคาที่นำไปผลิตเป็นโกโก้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้โกโก้ลดลงจำนวนมาก
ด้านองค์การโกโก้นานาชาติ (ICCO) คาดการณ์ว่า ปริมาณการขาดแคลนจะอยู่ที่ 374,000 ตันในฤดูกาล 2023-2024 โดยเพิ่มขึ้น 405% จากปริมาณการขาดแคลน 74,000 ตันในฤดูกาลก่อนหน้า ซึ่งส่งผลให้บางช่วงโกโก้ราคาสูงกว่าทองแดง และปีนี้ขึ้นแท่นเป็นวัตถุดิบที่มีราคาแพงที่สุดในโลก
ส่วน Michele Buck ซีอีโอของ Hershey ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมช็อกโกแลต เปิดเผยว่า บริษัทมีกลยุทธ์รับมือกับความผันผวนของราคา และสมาคมขนมหวานแห่งชาติของสหรัฐอเมริกามองว่าผู้ผลิตกำลังร่วมมือกับร้านค้าปลีกเพื่อจัดการต้นทุนไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภคมากเกินไป แต่เมนูเครื่องดื่มที่ใช้โกโก้และช็อกโกแลตต่างก็ต้องทยอยปรับราคาสูงขึ้นทั่วโลก
นอกจาก โกโก้ แล้ว ร้านคาเฟ่ ร้านเบเกอรี่ และผู้ผลิตขนมต่างๆ ยังต้องเผชิญกับภาวะวัตถุดิบราคาสูงขึ้นและขาดแคลนอีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น วนิลา เครื่องเทศที่แพงที่สุดเป็นอันดับสองของโลก รองจากหญ้าฝรั่นที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ โดย มาดากัสการ์ ประเทศที่ส่งออกวานิลลามากที่สุดในโลกมีผลผลิตลดลงกว่า 30% ในปี 2021 จากปัญหาฝนตกน้อยกว่าปกติ รวมถึงพายุไซโคลนที่พัดถล่ม โดยในระยะยาวก็กำลังเจอกับปัญหาค่าความเค็มของดิน ระดับเกลือในดิน และปริมาณน้ำที่ระเหยมากกว่าปกติ
ขณะเดียวกันยังมีเมนูเครื่องดื่มอีกหลายชนิดที่กำลังขาดแคลนจนราคาสูงขึ้นไม่ว่าจะเป็น กาแฟ ชา ที่ปลูกยากขึ้นกว่าเดิม ด้านสาเกของญี่ปุ่นและไวน์ทั่วโลกก็มีรสชาติที่เปลี่ยนไปจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นที่ส่งผลต่อการบ่มเพาะเครื่องดื่ม 2 ชนิดนี้
สำหรับ นม ที่เป็นเครื่องดื่มหลักและวัตถุดิบสำคัญในการทำอาหารหรือขนมก็เข้าสู่ภาวะขาดแคลนมาหลายปี จากภาวะโลกร้อนที่ทำให้วัวทั่วโลกผลิตนมได้ลดลง มีผลการจัยระบุว่า การเพิ่มขึ้นของอุณหภมิเฉลี่ยและ ความชื้นสัมพัทธ์ 1% สงผลกระทบตอผลผลิตนํ้านมของวัวที่ลดลง 1.45% และ 1.10% ตามลำดับ ทำให้ ราคาเนยในตลาดโลกแพงพุ่งพรวดแตะตันละ 300,000 บาท ในช่วงต้นปี 2024 โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาราคาเนยในยุโรปพุ่ง 83% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากภาวะขาดแคลนนม
อนึ่ง กาแฟ ชา โกโก้ นํ้าผึ้ง เนย ชีส และครีม ที่มีราคาแพงขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2022 ก็ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภคทั่วโลกที่ต้องจ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่มที่ใช้วัตถุดิบเหล่านี้ในราคาที่สูงขึ้น นอกจากนั้น ร้านเบเกอรี่กับคาเฟ่เล็กๆ ในท้องถิ่นหลายแห่งก็ต้องพากันปิดกิจการไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสู้ราคาต้นทุนวัตถุดิบหลักจำนวนมากที่พาเหรดกันขึ้นราคาพร้อมๆ กันไม่ไหว
ผักกาดขาวปลูกยากขึ้น เกาหลีใต้ต้องนำเข้ากิมจิจากจีน
ราคาผักกาดขาวที่เป็นวัตถุดิบหลักในการทำกิมจิ อาหารประจำชาติของเกาหลีใต้ ปรับตัวสูงขึ้นถึง 260% จากราคาปกติ โดยสถานการณ์นี้กำลังสร้างความกังวลให้กับทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต สาเหตุเกิดจากช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมาเกาหลีใต้ต้องเจอกับปัญหาคลื่นความร้อนและฝนตกมากกว่าปีอื่นๆ ในช่วงเดือนกันยายนซึ่งเป็นฤดูร้อนของเกาหลี
เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น แกนกลางของผักกาดขาวจะเน่า รากจะนิ่ม ทำให้ผักกาดขาวเสียหาย นอกจากนี้เกษตรกรยังต้องประสบปัญหาของโรคพืชที่เกิดจากสภาพอากาศแปรปรวน โดยสำนักงานสถิติของรัฐบาลเปิดเผยว่า พื้นที่เพาะปลูกผักกาดขาวบนที่สูงในปีที่แล้ว ลดลงเหลือไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเมื่อ 20 ปีก่อน จาก 54,975 ไร่ ปัจจุบันเหลือเพียง 24,968.75 ไร่
อุณหภูมิที่สูงขึ้น ฝนตกหนักที่คาดเดาไม่ได้ และศัตรูพืชที่ควบคุมยากขึ้นในฤดูร้อนอันยาวนาน คือปัจจัยหลักที่ทำให้ผักกาดขาวขนาดใหญ่สายพันธุ์ของเกาหลีใต้ที่เหมาะนำมาทำกิมจิขาดแคลน ทำให้อุตสาหกรรมกิมจิของเกาหลีใต้กำลังเผชิญปัญหา อาทิ การแข่งขันกับกิมจินำเข้าราคาถูกจากจีนที่เริ่มเป็นที่นิยมในร้านอาหาร โดยข้อมูลจากศุลกากรเกาหลีใต้ล่าสุดเปิดเผยว่า การนำเข้ากิมจิของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นถึง 6.9% คิดเป็นมูลค่าถึง 98.5 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3,360,000,000 บาท ในปีนี้ และกิมจิเกือบทั้งหมดมาจากประเทศจีน
เกษตรกรในประเทศเกาหลีใต้เองก็กังวลกับปัญหานี้ ทั้งราคาผักกาดขาวที่สูงขึ้น รสชาติที่เปลี่ยนแปลงไปของกิมจิ รวมถึงความเสี่ยงที่ผักกาดขาวสายพันธุ์ท้องถิ่นอาจสูญพันธุ์ไปในอนาคต อย่าว่าแต่การรักษาตำแหน่งเบอร์ 1 การส่งออกกิมจิ ตอนนี้แม้แต่จะบริโภคกันในประเทศยังมีไม่เพียงพอ
รัฐบาลเกาหลีใต้พยายามแก้ปัญหาด้วยการสร้างห้องเก็บผักกาดขาวขนาดใหญ่ที่ควบคุมอุณหภูมิได้ เพื่อป้องกันราคาผักกาดขาวสูง และขาดแคลน โดยนักวิทยาศาสตร์เกาหลีเองก็กำลังเร่งพัฒนาสายพันธุ์ผักกาดขาวที่สามารถปลูกในสภาพอากาศร้อน รวมทั้งทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝน และการติดเชื้อต่างๆ ได้
เช่นเดียวกับ กล้วย ผลไม้ที่ทั่วโลกนิยมรับประทานก็กำลังเผชิญกับปัญหาการผลิตที่น้อยลง พืชเศรษฐกิจที่มีการเพาะปลูกกว่า 120 ประเทศทั่วโลก กำลังได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะใน อินเดีย ไอวอรีโคสต์ บราซิล ที่มีผลผลิตลดลงเรื่อยๆ ซํ้าร้ายในในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กล้วย ในหลายพื้นที่ทั่วโลกยังถูกคุกคามจากโรคเชื้อราอย่าง โรคปานามา กับ โรคซิกาโตกา ที่ทำให้มีการยืนต้นตายจากการขาดน้ำไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของกล้วยในระยะยาว และทำให้ราคาของกล้วยที่ควรจะถูกจึงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
พืชอีก 2 ชนิดที่น่าห่วงไม่แพ้กันคือ อะโวคาโด และ สตรอว์เบอร์รี ที่คลื่นความร้อนและความแห้งแล้งทำให้มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยอะโวคาโดมีปัญหาเพราะเป็นพืชที่ต้องการนํ้ามาก ขณะที่สตรอว์เบอร์รีก็เติบโตได้ดีในอุณหภูมิหนาวเย็นถึงอบอุ่น เมื่อโลกร้อนขึ้นพืชทั้งสองชนิดนี้จึงปลูกยากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีวัตถุดิบอย่าง ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ น้ำมันมะกอก ที่มีราคาแพงขึ้นจากผลผลิตที่ลดลงเหมือนกัน
แซลมอนธรรมชาติส่อแววสูญพันธุ์จากทะเลเดือด
อุณหภูมิของน้ำทะเลและแหล่งนํ้าทั่วโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาหลายปี โดยเริ่มส่งผลกระทบต่อสัตว์นํ้าต่างๆ สภาผู้พิทักษ์ทางทะเล หรือ MSC องค์กรไม่แสวงหากำไรสำหรับการประมงอย่างยั่งยืน เปิดเผยว่า มหาสมุทรทำหน้าที่ดูดซับความร้อนที่สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศโลกกว่า 93% ทำให้ในพื้นที่เขตร้อนจะสามารถจับสัตว์ทะเลเพื่อการบริโภคลดลงกว่า 40%
ด้าน ปลาน้ำจืด ก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก 1 ใน 3 ของปลาเหล่านี้อยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ ซึ่ง สัตว์ทะเล เองก็หลีกเลี่ยงผลกระทบไม่ได้ แต่ปลาแซลมอนที่อาศัยและเติบโตทั้งในนํ้าจืดกับนํ้าเค็มซึ่งมีความอ่อนไหวต่อระดับออกซิเจนในน้ำอย่างมากจะได้รับผลกระทบมากกว่าสัตว์ทะเลชนิดอื่น
ภัยคุกคามต่อแซลมอนจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศส่งผลต่อวงจรชีวิตของแซลมอนชัดเจน โดยอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้ตัวอ่อนแซลมอนฟักตัวก่อนกำหนด ขณะที่พวกมันยังไม่มีทักษะในการหาอาหารและว่ายน้ำจากแม่น้ำสู่ทะเล สุดท้ายส่วนใหญ่ก็จะถูกปลาใหญ่กินและทำให้อัตราการผสมพันธุ์ของแซลมอนลดลง เมื่อความต้องการบริโภคแซลมอนทั่วโลกเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น แต่จำนวนประชากรแซลมอนธรรมชาติกลับสวนทาง คือน้อยลงจนถึงขาดแคลน
ในตอนนี้แซมมอนอาจเพียงแค่ราคาสูงขึ้น จากการที่จำนวนสินค้าในตลาดลดลง ทว่าหากไม่มีการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ปลาแซลมอนธรรมชาติอาจหมดไปในอนาคตอันใกล้ ไม่ต่างกับ ปลา กุ้ง หอย ปู สาหร่าย หลายสายพันธุ์ที่ทยอยหายไป อนาคตอาหารทะเลเกือบทุกชนิดที่ราคาสูงอยู่แล้ว จึงมีโอกาสที่ราคาจะแพงยิ่งขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2022 วารสารวิทยาศาสตร์ Nature Climate Change ระบุว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นของน้ำทะเลเพียง 3-5 องศาเซลเซียส จะทำให้ 90% ของพันธุ์สัตว์น้ำในโลกมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ภายในปี 2100 หากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังไม่ถูกควบคุม ซึ่งประเทศไทยเองก็มีสัตว์ทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์จากโลกเดือดอย่าง พะยูน เนื่องจากขาดแคลนแหล่งอาหารคือหญ้าทะเลที่ตายไปเกือบหมดจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นของมหาสมุทร
ดังนั้น วัฏจักรดังกล่าวจึงเป็นปัญหาที่สำคัญอันดับต้นๆ ของโลกในที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม ซึ่งภาวะโลกร้อนในตอนนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบอาหาร และระบบอาหารที่ไม่ยั่งยืนก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ย้อนศรกลับมากระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเช่นกัน
สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์
อ้างอิง