สำรวจธรรมชาติ ยามตะวันลับฟ้า ในป่าดงดิบชายแดนไทย-มาเลเซีย

สำรวจธรรมชาติ ยามตะวันลับฟ้า ในป่าดงดิบชายแดนไทย-มาเลเซีย

ราตรีแดนใต้ ลับตะวันในดงดิบ สำรวจความร่ำรวยทางทรัพยากรธรรมชาติในเขตชีวภูมิศาสตร์ Sundaic biogeographic region ชายแดนไทย-มาเลเซีย

เมื่อพูดถึงจังหวัดยะลา คุณนึกถึงอะไร?

บางคนอาจจะนึกถึงอาหารจานเด็ดอย่างไก่เบตง บางคนอาจนึกถึงชื่ออำเภอใต้สุดสยาม บ้างอาจนึกถึงสีเขียวและเมฆฝนของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา สายประวัติศาสตร์อาณานิคมอาจนึกถึงกบฏพระยาแขกเจ็ดหัวเมืองในสมัยรัชกาลที่ 5 

ไก่เบตงที่มีชื่อเสียงเป็นที่ร่ำลือ คือพันธุ์ไก่ลูกผสมระหว่างไก่เนื้อที่ถูกนำมาจากมณฑลกวางไสกับไก่บ้านพื้นเมือง นำไปต้มกับสมุนไพรก่อนสับแล้วราดซีอิ้วผสมน้ำมันงาและกระเทียมเจียว เป็นเมนูที่หาทานได้ไม่ง่ายนักเพราะแม้แต่ในจังหวัดเองก็มีผู้รอซื้ออยู่เป็นจำนวนมาก สวนทางกับพันธุ์ไก่ที่ต้องค่อยๆ เลี้ยงนานหลายเดือนเพื่อให้ได้เนื้อสัมผัสที่เป็นเอกลักษณ์​

ไก่สับเบตง และภาพตัวเมืองเบตง จังหวัดยะลา

ของดีจังหวัดยะลาไม่ได้มีเท่านี้ เพียงแต่เราต้องเดินทางไปให้ถึงเสียก่อน

เนื่องจากท่าอากาศยานนานาชาติเบตงปิดทำการไปในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2565 (2022) หลังเปิดทำการได้เพียงเจ็ดเดือน โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ให้คำตอบว่าเป็นไปเพื่อปรับปรุงขยายรันเวย์[1] การเดินทางไปจังหวัดยะลาจากกรุงเทพฯ ของเราจึงเริ่มต้นด้วยเที่ยวบินเช้าไปลงที่ท่าอากาศยานหาดใหญ่ จากนั้นต่อด้วยรถตู้ที่ขับผ่านปัตตานีก่อนจะถึงยะลาโดยใช้เวลาราวสี่ถึงห้าชั่วโมง น้องที่รู้จักคนหนึ่งซึ่งมีบ้านเกิดที่เบตงเล่าให้ฟังในภายหลังว่า หลังจากที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ปีหนึ่งก็กลับบ้านไม่กี่ครั้ง เพราะการเดินทางที่กินเวลาหลายต่อนี่เอง ถึงแม้ว่าอาจจะเลือกเดินทางโดยขบวนรถไฟได้ด้วยก็ตาม

ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา รัฐไทยใช้งบประมาณไปกับสามจังหวัดภาคใต้กว่าห้าแสนล้านบาท[2][3] งบประมาณเหล่านี้ถูกใช้ในนามของความสงบเรียบร้อยเสียมากกว่าจะเป็นไปเพื่อการพัฒนาสาธารณูปโภค ตลอดเส้นทางเราจึงได้พบกับด่านตรวจเป็นระยะ แต่เนื่องจากเป็นช่วงที่ไม่มีความตึงเครียดเป็นพิเศษ การตรวจตราจึงไม่ได้เข้มงวดเท่าใดนัก 

เช่นเดียวกับหลายแห่งในประเทศไทยที่เลือกพัฒนาเมืองแบบให้รถเป็นใหญ่ (Auto-oriented land use) เมื่อถนนยกสูงขึ้น ชุมชนเดิมกลายเป็นอยู่ในที่ต่ำ พื้นที่ระบายน้ำลดลง ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมและน้ำท่วมขังที่เรื้อรังและรุนแรงมากขึ้น

เส้นทางสำรวจธรรมชาติของพวกเราเริ่มต้นที่อำเภอธารโต ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับเกอดะฮ์ของมาเลเซีย และความร่ำรวยทางทรัพยากรธรรมชาติในเขตชีวภูมิศาสตร์ Sundaic biogeographic region ก็ไม่ทำให้เราผิดหวัง

ตุ๊กกายมลายูโตเต็มวัย (Banded forest gecko, Cyrtodactylus consobrinus) ตุ๊กกายขนาดใหญ่ที่สุดที่พบได้ในประเทศไทย อาศัยในป่าดิบชื้น

การเดินสำรวจตอนกลางคืนอาจดูน่ากลัวเมื่อยังไม่คุ้นเคย แต่ความมืดที่อุณหภูมิเย็นลงเป็นเวลาที่สัตว์ในกลุ่ม herpetology หรือ “herp” (ชื่อเรียกรวมๆ ของสัตววิทยาแขนงสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก) จะคึกคักเป็นที่สุด ตุ๊กกายมลายูในภาพด้านบนก็เช่นกัน กลุ่มตุ๊กกายมีลักษณะภายนอกที่คล้ายคลึงกับตุ๊กแกอยู่มาก แต่แทนที่จะอาศัยตามผนังถ้ำหินปูนอย่างตุ๊กแก พวกมันชอบบ้านที่เป็นป่ามากกว่า จึงมีนิ้วเท้าที่เล็บแหลมยาวและไม่มีปุ่มดูดแบบตุ๊กแก

สัตว์หลายชนิดที่เราได้พบเจอในการสำรวจครั้งนี้ ในประเทศไทยสามารถพบได้ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม การเดินป่าในตอนกลางคืนพึงมีข้อควรระมัดระวังและไม่แนะนำให้เดินคนเดียวลำพัง ระหว่างการสำรวจครั้งนี้ มีหลายครั้งที่พวกเราต้องหันหลังกลับออกจากเส้นทางเนื่องจากได้ร่องรอยใหม่ๆ ของช้างป่า รวมถึงครั้งหนึ่งที่ได้ยินเสียงหักกิ่งไม้หากินในระยะจวนตัว จนต้องจ้ำอ้าวกันออกมาอย่างเกือบจะหายใจไม่ทัน

หลังจากเฝ้ารออยู่นานนับชั่วโมง นกเค้าแดง (Reddish scops-owl, Otus rufescens) ก็เผยโฉมออกมาให้ได้ยล นกเค้าขนาดเล็กชนิดนี้ชอบป่าดงดิบที่ราบต่ำไปจนถึงป่าพรุซึ่งรกทึบทำให้เห็นตัวได้ยาก แถมยังร้องเสียงเบาๆ เพียงพยางค์เดียวเท่านั้น พวกเราโชคดีที่ได้พบถึงสองตัวในคราวเดียว
ปาดเขียวตีนแดง (Malayan flying frog, Zhangixalus prominanus) สีเขียวสดใส กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม ใกล้ๆ กันเรายังพบงูเขียวตุ๊กแกเพศเมีย (Wagler’s pit viper, Tropidolaemus wagleri) งูชนิดนี้แสดงภาวะของ sexual dimorphism ที่เพศผู้และเพศเมียมีลักษณะภายนอกที่แตกต่างกัน
อึ่งกรายจมูกแหลมเพศเมีย (Long-nosed horned frog, Pelobatrachus nasutus) สีและเขาแหลมของมันเนียนตาไปกับใบไม้แห้งบนพื้นจนมองแทบไม่ออก ปัจจุบันในประเทศไทยมีรายงานพบเห็นในพื้นที่จังหวัดยะลาและนราธิวาสเท่านั้น
(จากบนลงล่าง) 1. สีสันที่สวยงามของกิ้งก่าบินคอสีฟ้าเพศเมีย (Sumatran flying dragon, Draco sumatranus) ช่วยพรางตัวจากผู้ล่า 2. งูสายม่านหลังทอง (Elegant bronzeback, Dendrelaphis formosus) ในประเทศไทยพบได้เฉพาะภาคใต้ เป็นงูที่ไม่มีอันตรายต่อมนุษย์ เคลื่อนไหวรวดเร็ว โดยมากพบตามต้นไม้ที่มีแหล่งอาหาร เช่น กบ เขียด จิ้งเหลนต่างๆ 3. มอธมะเดื่อท้องแดง (Tinolius ebernigutta) 4. กบเขาหลังตองมลายู (Malayan white-lipped frog, Chalcorana labialis) มีรายงานการพบเห็นจากภาคใต้ตอนล่างเป็นหลัก

ฝนที่ตกกระหน่ำลงมาไม่ยั้งทุกเย็น ยังทำให้เราได้พบสัตว์ชอบฝนและผู้ล่าของมันได้ง่ายขึ้น ความน่าตื่นเต้นของการเดินป่าตอนกลางคืนยังทำให้ได้พบสิ่งมีชีวิตสุดมหัศจรรย์ (ที่อาจจะดูน่าแขยงสักหน่อยสำหรับคนไม่ชอบตัวยึกยือ) ที่หาตัวได้ยาก อย่างปลิงกินไส้เดือนในวงศ์ Gastrostomobdellidae ซึ่งไม่ได้ดูดเลือดจากสัตว์เลือดอุ่น แต่เขมือบไส้เดือนทั้งตัวเป็นอาหาร และตุ๊กแกบินหางเฟิน (Horsfield’s flying gecko, Gekko horsfieldii) ที่น้อยคนนักจะมีโอกาสได้พบเห็นตามธรรมชาติ

ปลิงกินไส้เดือนในวงศ์ Gastrostomobdellidae
ตุ๊กแกหัวโต (Cat gecko, Aeluroscalabotes felinus) ตุ๊กแกหนึ่งเดียวในภูมิภาคนี้ที่มีเปลือกตาทั้งบนและล่าง ชื่อสามัญในภาษาอังกฤษและชื่อลาตินล้วนหมายถึงแมว เนื่องจากหางที่ม้วนกลมและท่าเดินเยื้องย่างราวกับแมวนั่นเอง
ทั้งไกลลิบและหมอกลงจัด แต่ลีดเดอร์ตาผีของพวกเราก็ยังปักหมุดตุ๊กแกบินหางเฟิน (Horsfield’s flying gecko, Gekko horsfieldii) ให้จนได้ โดยพวกเราน่าจะเป็นกลุ่มสำรวจกลุ่มที่สองในโลกที่มีโอกาสได้พบเห็นและบันทึกภาพตุ๊กแกบินชนิดนี้ตามธรรมชาติของประเทศไทย

ธรรมชาติที่สมบูรณ์และงดงามของพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซียอาจดูไม่คล้ายพื้นที่สีแดงที่เคยมีเรื่องราวการสู้รบมาอย่างเข้มข้น เมื่อหลังการลงนามเพื่อสันติภาพหาดใหญ่ อดีตสมาชิกกองทัพประชาชนบางส่วนเดินทางกลับมาเลเซีย บางส่วนเลือกเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติและตั้งรกรากในประเทศไทย โดยยังอนุรักษ์สถานที่ประวัติศาสตร์ไว้เพื่อรำลึกถึงการยุติความเป็นศัตรูในการเจรจาครั้งนั้น

อนุสรณ์วีรชน หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10

อดีตพรรคคอมมิวนิสต์มลายา หรือ พคม. คือหนามยอกอกรัฐบาลมาเลเซีย แต่กลับมีฐานที่มั่นในเขตแดนไทยและมีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนร่วมกับรัฐบาลจีนและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) สาขาภาคใต้ นอกจากในยะลาแล้ว เทือกเขาชายแดนเดียวกันที่ทอดไปถึงสงขลา ยังคงพบร่องรอยอุโมงค์ฐานที่มั่นของ พคม. ที่เขาน้ำค้าง อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ซึ่งปัจจุบันอุโมงค์นี้เปิดให้เข้าชมได้อีกด้วย 

พคม. คงสถานะเป็นความอิหลักอิเหลื่อในรอยตะเข็บชายแดนไทย-มาเลเซียอยู่นานเกือบ 40 ปี จนกระทั่งไทยในยุคเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า หลังการเปลี่ยนถ่ายอำนาจนายกรัฐมนตรีจาก เปรม ติณสูลานนท์ สู่ ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 17 กระทรวงการต่างประเทศของไทยเป็นเจ้าภาพเปิดโต๊ะเจรจา “สันติภาพหาดใหญ่” ที่โรงแรมลีการ์เดนส์ของจังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2532 (1989)[4] โดยมีผู้เข้าร่วมจากสามฝ่าย คือหัวหน้าคณะเจรจาสันติภาพฝ่ายมาเลเซีย อับดุล ราฮิม คนสนิทของมหาเธร์และผู้บัญชาการ Special Branch ในขณะนั้น (หน่วยงานที่เทียบได้กับสันติบาลของไทย ซึ่งในมาเลเซียนั้นฝ่ายความมั่นคงที่กุมกำลังสูงสุดคือตำรวจ) จีน เป็ง ชาวปีนัง เป็นตัวแทนของ พคม. และตัวแทนฝ่ายไทยที่ได้รับมอบหมายคือ พล.อ.กิตติ รัตนฉายา แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น[5] เป็นการปิดฉากความเคลื่อนไหวของ พคม. ในประเทศไทยอย่างสมบูรณ์

เขื่อนบางลาง เขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกในลุ่มน้ำปัตตานีและภาคใต้ของประเทศไทย สร้างขึ้นในพื้นที่ที่เคยอยู่ภายใต้ความเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ปัจจุบันเป็นจุดที่นักดูนกนิยมล่องเรือชมนกเงือก เหยี่ยวปลาใหญ่หัวเทา และเหยี่ยวปลาเล็กหัวเทา

หากใช้กรณีสันติภาพหาดใหญ่เป็นมาตรวัด สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ หรือที่เรียกรวมต่อเนื่องว่า “ไฟใต้” ที่อาจเริ่มนับตั้งแต่เหตุการณ์ดุซงญอในปี พ.ศ. 2491 (1948), อุ้มหายหะยีสุหลง พ.ศ. 2497 (1954), ฆาตกรรมสะพานกอตอ พ.ศ. 2518 (1975), ทวงคืนมัสยิดกรือเซะ พ.ศ.​ 2530-2533 (1987-1990), ปล้นปืนปิเหล็ง พ.ศ. 2547 (2004), อุ้มหายทนายสมชาย นีละไพจิตร พ.ศ. 2547 (2004), เหตุการณ์กรือเซะ พ.ศ. 2547 (2004), เหตุการณ์ตากใบ พ.ศ. 2547 (2004), ตันหยงลิมอ-ครูจูหลิง พ.ศ. 2548-2549 (2005-2006), เรื่อยมาจนถึงเหตุอัตวินิบาตกรรมทั้งสองครั้งของคณากร เพียรชนะ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้น ศาลจังหวัดยะลา ในปี พ.ศ. 2562-2563 (2019-2020) ก็สะท้อนให้เห็นถึงการขาดการชำระประวัติศาสตร์อย่างตรงไปตรงมาร่วมกันทุกฝ่าย 

แม้ทรัพยากรของพื้นที่แห่งนี้จะมากล้น ทั้งภูมิศาสตร์ ความหลากหลายทางชีวภาพ วัตถุดิบท้องถิ่นและอัตลักษณ์อาหาร รวมถึงผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ที่ยินดีต้อนรับนักเดินทางต่างถิ่น แต่ความหวาดระแวงว่าสามจังหวัดชายแดนเป็นพื้นที่อันตรายร้ายแรง ก็สวนทางกับความพยายามของคนในพื้นที่ในการสร้างมูลค่าจากการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ (ทั้งที่ในขณะเดียวกัน เราก็อาจมีโอกาสเดินตกท่อ หรือว่าถูกวัสดุก่อสร้างจากทางด่วนหล่นใส่ได้ในทุกวันธรรมดาของกรุงเทพฯ ทำให้เกิดภาพชวนตั้งคำถามว่า “พื้นที่อันตราย” ในสายตาของคนเมืองหลวงมีหน้าตาเป็นอย่างไรกันแน่) 

เมื่อพูดถึงจังหวัดยะลา คุณคิดว่าคนที่นั่นฝันถึงอะไร?

ถ้าหากว่าเคยจินตนาการถึงการได้มีชีวิตและโอกาสที่ดี มีความมั่นคงให้กับครอบครัว และได้รู้สึกว่าเป็นเจ้าของบ้านในบ้านของตัวเอง ความฝันของคนยะลาและคนกรุงเทพฯ ที่แท้ก็อาจไม่ได้ต่างกันอย่างที่เคยเข้าใจ

 

รายชื่อสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่พบทั้งหมด 56 ชนิด

  1. งูสิงทอง (Brown rat snake, Ptyas fusca)
  2. งูสายม่านฟ้าเขียว (Wall’s bronzeback, Dendrelaphis cyanochloris)
  3. งูสายม่านหลังทอง (Elegant bronzeback, Dendrelaphis formosus)
  4. งูเขียวตุ๊กแก (Wagler’s pit viper, Tropidolaemus wagleri)
  5. งูกินทากเกล็ดเรียบ (Smooth slug snake, Asthenodipsas laevis) 2 ตัว
  6. งูสายม่านแดงหลังลาย (Gray bronzeback, Dendrelaphis caudolineatus) 2 ตัว
  7. งูทับสมิงคลา (Malayan krait, Bungarus candidus
  8. งูกินทากเกล็ดสัน (Keeled slug snake, Pareas carinatus
  9. งูกินทากหัวโหนก (Blunthead slug snake, Aplopeltura boa) 2 ตัว
  10. งูปล้องฉนวนสีน้ำตาล (Scarce wolf snake, Lycodon effraenis
  11. จิ้งเหลนเกล็ดสัน (Rough-scaled sun skink, Eutropis rugifera
  12. จิ้งเหลนบ้าน (Common sun skink, Eutropis multifasciata)
  13. กิ้งก่าคอแดง (Oriental garden lizard, Calotes versicolor)
  14. กิ้งก่าพระอินทร์​ (Dusky earless agama, Aphaniotis fusca)
  15. กิ้งก่าบินคอสีฟ้า (Sumatran flying dragon, Draco sumatranus)
  16. กิ้งก่าบินมลายู (Formosa gliding lizard, Draco formosus)
  17. กิ้งก่าบินยักษ์ (Great flying dragon, Draco maximus)
  18. กิ้งก่าเขียวหูดำ (Green crested lizard, Bronchocela cristatella)
  19. กิ้งก่าดงใหญ่ (Malayan crested lizard, Gonocephalus grandis)
  20. กิ้งก่าดงคิ้วสัน (Abbott’s anglehead lizard, Gonocephalus doriae abbotti)
  21. กิ้งก่าดงคอสีฟ้า (Bell’s anglehead lizard, Gonocephalus bellii)
  22. กิ้งก่าแก้ว (Forest garden lizard, Calotes emma)
  23. ตุ๊กกายมลายู (Banded forest gecko, Cyrtodactylus consobrinus)
  24. ตุ๊กกายลายสี่ขีด (Four-striped bent-toed gecko, Cyrtodactylus quadrivirgatus)
  25. ตุ๊กกายลายสี่ขีด (Four-striped bent-toed gecko – highland form, Cyrtodactylus quadrivirgatus)
  26. ตุ๊กกายตุ่มใหญ่ (Large-tubercled bent-toed gecko, Cyrtodactylus macrotuberculatus)
  27. จิ้งจกหางหนาม (Asian house gecko, Hemidactylus frenatus)
  28. จิ้งจกหางอ้วน (Common four-clawed gecko, Gehyra mutilata)
  29. จิ้งจกนิ้วยาวนราธิวาส (Narathiwat round-eyed gecko, Cnemaspis narathiwatensis)
  30. ตุ๊กแกบินมลายู (Malaysia parachute gecko, Gekko cicakterbang)
  31. ตุ๊กแกบินหางแผ่น (Kuhl’s flying gecko, Gekko kuhli)
  32. ตุ๊กแกบินหางเฟิน (Horsfield’s flying gecko, Gekko horsfieldii)
  33. ตุ๊กแกหัวโต (Cat gecko, Aeluroscalabotes felinus)
  34. ตุ๊กแกหลังจุดคู่ (Double-spotted gecko, Gekko monarchus)
  35. กบเขาหลังตองมลายู (Malayan white-lipped frog, Chalcorana labialis)
  36. อึ่งแม่หนาว (Malcolm’s narrow-mouthed frog, Microhyla malcolmi)
  37. อึ่งข้างดำ (Dark-sided chorus frog, Microhyla heymonsi)
  38. กบหนอง (Rice field frog, Fejervarya limnocharis)
  39. ปาดเขียวตีนดำ (Wallace’s flying frog, Rhacophorus nigropalmatus)
  40. ปาดบ้าน (Common Southeast Asian tree frog, Polypedates leucomystax)
  41. ปาดหูดำ (Dark-eared tree frog, Polypedates macrotis)
  42. อึ่งอ่างมลายู (Wide-disked narrow-mouthed frog, Kaloula latidisca)
  43. อึ่งหลังขีด (Deli little pygmy frog, Micryletta inornata)
  44. ปาดเรียวมลายู (Malayan slender tree frog, Polypedates discantus)
  45. กบแรด (Rhinoceros frog, Limnonectes plicatellus)
  46. คางคกแคระ (Lesser toad, Ingerophrynus parvus)
  47. ปาดเขียวตีนแดง (Malayan Flying Frog, Zhangixalus prominanus)
  48. อึ่งกรายจมูกแหลม (Long-nosed horned frog, Pelobatrachus nasutus)
  49. ปาดป่าจุดขาว (Peter’s tree frog, Nyctixalus pictus)
  50. กบว้ากเล็ก (Side-spotted swamp frog, Pulchrana laterimaculata)
  51. กบชะง่อนผาใต้ (Poisonous rock frog, Odorrana hosii)
  52. กบลายหินใต้ (Larut torrent frog, Amolops larutensis)
  53. จงโคร่ง (River toad, Phrynoidis asper)
  54. อึ่งกรายลายจุด (Spotted litter frog, Leptobrachium hendricksoni)
  55. คางคกบ้าน (Asian common toad, Duttaphrynus melanostictus)
  56. กิ้งก่าเขาหนามยาว (Armored pricklenape, Acanthosaura armata)

เรื่อง : สิริพรรณี สุปรัชญา
ภาพ : สิริพรรณี สุปรัชญา, เอกโชค บูรณอนันต์

ขอขอบคุณ
ฮาลาบาลา ชุมชนท่องเที่ยวจุฬาภรณ์พัฒนา ๙ จ.ยะลา 

เอกโชค บูรณอนันต์, ไบโอเอ็ม ครูชีวะสายนก 
ปริญญา ภวังคะนันทน์, มูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์

อาสา คำภา, สถาบันไทยคดีศึกษา

อ้างอิง
[1] “ปิดฉากเที่ยวบินเบตง? ศอ.บต.อ้างเตรียมขยายรันเวย์.” ISRA NEWS, 31 October 2022. https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/113232-airbetong.html. Accessed 6 December 2024.

[2] “เปิดไส้ในงบประมาณแก้ปัญหาภาคใต้ปี 67 ถมดับไฟใต้ 20 ปี 3.41 แสนล้าน.” Thansettakij, 4 January 2024. https://www.thansettakij.com/politics/584978. Accessed 6 December 2024.

[3] Tewarit Maneechai, 23 October 2024. https://x.com/bus_te/status/1849070200483876951. Accessed 6 December 2024. 

[4] “25 ปี สันติภาพหาดใหญ่ อดีตกองทัพประชาชนพคม.วันที่เป็นไทย.” Komchadluek, 2 December 2014. https://www.komchadluek.net/news/196974. Accessed 6 December 2024.

[5] “เจรจาดับไฟใต้ ไปต่ออย่างไรในช่วงท้ายรัฐบาลทหารไทย.” BBC Thai, 16 October 2018. https://www.bbc.com/thai/thailand-45872714. Accessed 6 December 2024.


อ่านเพิ่มเติม : บทเรียนจากป่าน้ำท่วมถึง และ “ชาวแม่น้ำ” แห่งแอมะซอน เปลี่ยนมุมมองนักนิเวศวิทยา

Recommend