นักวิจัยพบคอนกรีตดักจับคาร์บอนฯ ในชั้นบรรยากาศได้ เตรียมต่อยอดสู่การก่อสร้างเพื่อสู้กับสถานการณ์โลกร้อน

นักวิจัยพบคอนกรีตดักจับคาร์บอนฯ ในชั้นบรรยากาศได้ เตรียมต่อยอดสู่การก่อสร้างเพื่อสู้กับสถานการณ์โลกร้อน

วัสดุก่อสร้างแบบใหม่ที่จะมาช่วยต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ด้วยความสามารถใหม่ในการกักเก็บคาร์บอนได้หลายพันล้านตัน 

ท่ามกลางภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่มีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลของมนุษย์ จนทำให้ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศพุ่งสูงทำลายสถิติหลายครั้งในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพื่อต่อสู้กับสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้นักวิทยาศาสตร์จึงได้พัฒนาแนวทางขึ้นมาหลายวิธี

บ้างก็มุ่งเน้นไปยังการลดคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่การปล่อยขั้นแรก ในขณะที่บางคนสนใจที่จะลดคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่อากาศเพื่อช่วยต่อสู้กับภาวะโลกร้อน อย่างไรก็ตามแนวทางหลังนี้ยังคงประสบปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งคือ คำถามที่ว่าคาร์บอนที่ถูกดักจับออกมาจะไปอยู่ที่ไหนได้บ้าง?

เนื่องจากคาร์บอนจำเป็นจะต้องไปลงเอยที่ไหนสักที่ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดจึงได้ร่วมมือกันเสนอทางเลือกใหม่ที่มีศักยภาพในการนำคาร์บอนไปใช้ ซึ่งก็คือกักเก็บมันไว้ในวัสดุก่อสร้างอาคารตามรายงานใหม่ที่เผยแพร่ไว้บนวารสาร Science

“มันมีศักยภาพค่อนข้างสูง” เอลิซาเบธ ฟาน โรเยน (Elisabeth Van Roijen) นักศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส ซึ่งเป็นผู้นำในการศึกษาวิจัยกล่าวและตั้งคำถามว่า “จะเป็นอย่างไรหากเราสามารถใช้ประโยชน์จากวัสดุที่เราผลิตได้ในปริมาณมากอยู่แล้วเพื่อกักเก็บคาร์บอน”

ทั้งนี้ เพื่อดูว่า ‘อะไร’ เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุดในการกักเก็บคาร์บอน ซึ่ง ฟาน โรเยน และทีมวิจัยได้นำวัสดุต่าง ๆ มาทดสอบรวมถึงศึกษาวิธีการต่าง ๆ ในการกักเก็บคาร์บอนเช่น การเติมไบโอชาร์ (Biochar) ลงไปในคอนกรีต การบรรจุคาร์บอนลงไปในหินเทียม การใช้พลาสติกบางประเภท ไม้ และอื่น ๆ อีกมากมาย

ผู้เขียนยอมรับว่าเทคนิคพิเศษต่าง ๆ เหล่านี้ยังอยู่ในขั้นตอนความพร้อมที่แตกต่างกันไป โดยบางเทคนิคถูกใช้ในเชิงพาณิชย์แล้ว ในขณะที่บางวิธียังอยู่ในห้องทดลอง แต่การศึกษาใหม่นี้จะช่วยสรุปแนวทางต่าง ๆ ที่เป็นไปได้

จากการวิเคราะห์อย่างละเอียดซึ่งให้ผลลัพธ์ที่น่าประหลาดใจ นักวิทยาศาสตร์พบว่าวัสดุที่กักเก็บคาร์บอนได้มากที่สุดตามน้ำหนักแล้วคือ พลาสติกชีวภาพ แต่เมื่อพิจารณาในมุมมองการก่อสร้างแล้วคงไม่มีใครจะนำพลาสติกไปสร้างเป็นตึกรามบ้านช่องแน่นอน

ด้วยเหตุนี้ วัสดุที่มีศักยภาพมากที่สุดในการกักเก็บคาร์บอนก็คือ คอนกรีต ซีเมนต์ อิฐ ซึ่งเป็นวัสดุที่ได้รับความนิยมในการก่อสร้างมากที่สุดในโลก โดยประเมินว่ามีการผลิตคอนกรีตมากถึง 18,000 ล้านตันต่อไป ซึ่งหมายความว่า หากคิดอย่างคร่าว ๆ แล้ววัสดุเหล่านี้สามารถช่วยโลกกักเก็บคาร์บอนได้ประมาณ 16,000 ล้านตันต่อปี ซึ่งถือเป็นปริมาณมากโขเมื่อเทียบกับข้อเท็จจริงที่ว่ามนุษยชาติได้ผลิตคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 37,400 ล้านตันในปี 2023 ที่ผ่านมา

“การกักเก็บคาร์บอนในคอนกรีตแม้เพียงเล็กน้อยก็สามารถสร้างประโยชน์ได้มากแล้ว” แซบบี้ มิลเลอร์ (Sabbie Miller) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส กล่าว

อย่างไรก็ตามยังคงมีความท้าทายรออยู่ ซึ่งทางทีมวิจัยยอมรับว่าอาจมีปัญหาโดยเฉพาะการนำไปใช้จริง เนื่องจากผู้รับเหมาก่อสร้างอาจมีความกังวลเรื่องความแข็งแรงหลังจากมีการกักเก็บคาร์บอนลงไปในคอนกรีต ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องมีการพิสูจน์ต่อไป อีกทั้งขั้นตอนการผลิตคอนกรีตเองก็ยังใช้พลังงานมากซึ่งหมายความว่าก็มีการปล่อยคาร์บอนมากด้วยเช่นกัน

สืบค้นและเรียบเรียงข้อมูล : วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ภาพประกอบ : คนงานในโรงงานอิฐ ในรัฐอัสสัมทางตะวันออกเฉียงเหนือ กำลังเติมอิฐที่ยังไม่เผาลงในเตาเผา แสดงให้เห็นว่าความต้องการวัสดุก่อสร้างเกิดขึ้นทั่วโลก ภาพโดย Paul Salopek

ที่มา

https://www.science.org

https://www.eurekalert.org

https://www.ucdavis.edu

https://thedebrief.org

https://www.popularmechanics.com


อ่านเพิ่มเติม : สัญญาณเตือนอันตราย ชั้นดินเยือกแข็งกำลังหายไป ปลดปล่อยคาร์บอนนับพันล้านตัน

Recommend