อาร์กติกร้อนจัด หลังขั้วโลกเหนือมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ย 20 องศาเซลเซียส

อาร์กติกร้อนจัด หลังขั้วโลกเหนือมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ย 20 องศาเซลเซียส

“อุณหภูมิของอาร์กติกในอาทิตย์ที่ผ่านมาพุ่งสูงเกินค่าเฉลี่ย 20 องศาเซลเซียส

จากที่เคยหนาวเย็นจนติดลบ ตอนนี้อาร์กติกมีอุณหภูมิเหนือกว่า 0 องศาเซลเซียสแล้ว”

ข้อมูลใหม่จากสำนักงานบริการการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโคเปอร์นิคัส (Copernicus Climate Change Service) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงกำไรที่คอยติดตามและวิเคราะห์สภาพอากาศของโลก ได้บันทึกอุณหภูมิผิดปกติในภูมิภาคทางตอนเหนือของสฟาลบาร์ดในนอร์เวย์ซึ่งเป็นพื้นที่ของขั้วโลกเหนือพุ่งสูงขึ้น 18 องศาเซลเซียสจากค่าเฉลี่ยในปี 1991 ถึง 2020

อย่างไรก็ตามทุ่นหิมะในอาร์กติก ซึ่งเป็นอุปกรณ์วัดความลึกและอุณหภูมิของหิมะก็ได้แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่น่ากังวลว่า พวกมันมีอุณหภูมิอยู่ที่ 0.5 องศาเซลเซียสแล้วทั้งที่อยู่ในช่วงฤดูหนาวของอาร์กติก (โดยทั่วไปแล้วฤดูหนาวของขั้วโลกเหนือจะอยู่ในเดือนตุลาคมถึงเมษายน ซึ่งจะมีอุณหภูมิอยู่ที่ -30 องศาเซลเซียส และอาจลดลงต่ำสุดได้ถึง -60 องศาเซลเซียส ช่วงที่หนาวที่สุดมักจะอยู่ที่เดือนมกราคมและกุมภาพันธ์)

“นี่คือปรากฏการณ์ที่อากาศอุ่นขึ้นอย่างรุนแรงมากในช่วงฤดูหนาว(ของอาร์กติก) มันอาจไม่ใช่เหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยพบมา แต่ก็ยังอยู่ในระดับขอบบนสุดของสิ่งที่น่ากังวลในอาร์กติก” มิคา รันทาเนน (Mika Rantanen) นักวิจัยด้านผลกระทบต่อสภาพอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากสถาบันอุตุนิยมวิทยาฟินแลนด์ กล่าว 

ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เคยบันทึกอุณหภูมิที่ผิดปกติในภูมิภาคนี้มาก่อน ซึ่งเกิดขึ้นในฤดูหนาวเมื่อปี 2016 เมื่อคลื่นความร้อนได้พุ่งสูงขึ้นเกินกว่า 0 องศาเซลเซียสเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม แต่เหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดนั้นเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2018 ที่ทำให้อุณหภูมิขึ้นไปแตะระดับ 6 องศาเซลเซียส

แนวโน้มเหล่านี้เป็นหลักฐานที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าอาร์กติกกำลังได้รับผลกระทบจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างรุนแรง นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าภูมิภาคนี้กำลังมีอุณหภูมิสูงขึ้นเร็วกว่าพื้นที่อื่น ๆ ของโลกประมาณ 4 เท่า ซึ่งจะไปเร่งให้น้ำแข็งมีการละลายมากขึ้น 

ปกติแล้วน้ำแข็งนั้นทำหน้าที่สะท้อนแสงแดดออกไปจากโลกได้มากกว่าพื้นดินหรือน้ำ ดังนั้นเมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทำให้น้ำแข็งในทะเลอาร์กติกละลาย ภูมิภาคนี้จากที่เป็นผู้สะท้อนแสงจะกลายเป็นผู้ดูดกลืนแสงมากกว่าเดิม ซึ่งจะไปซ้ำเติมผลกระทบให้อุณหภูมิเร่งตัวขึ้นมากกว่าเดิม

และท้ายที่สุดน้ำแข็งปริมาณมหาศาลจะไปเพิ่มระดับน้ำทะเลให้สูงขึ้น พร้อมกับทำให้ระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ สูญเสียที่อยู่อาศัยของมัน ผลการวิจัยเมื่อปี 2023 เผยว่าแผ่นน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์ติกในช่วงฤดูร้อนจะหายไปจนหมด แม้ว่ามนุษย์จะมีการลดมลพิษจากภาวะโลกร้อนลงอย่างมากก็ตาม

กล่าวคือผลกระทบจะยังอยู่แม้เราจะหยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในตอนนี้ทันที สิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วได้สร้างห่วงโซ่ผลกระทบที่ไม่อาจหยุดยั้งได้ อย่างไรก็ตามเราจำเป็นต้องหยุดปล่อยก๊าซอย่างมุ่งมั่นเช่นเดิมเพื่อไม่ให้สิ่งต่าง ๆ เลวร้ายลงกว่าเดิม

“เราคาดว่ามหาสมุทรอาร์กติกจะสูญเสียแผ่นน้ำแข็งในมหาสมุทรช่วงฤดูร้อนเป็นครั้งแรกในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้า” เดิร์ก นอตซ์ (Dirk Notz) นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก กล่าว “นี่อาจเป็นภูมิภาคแรกที่หายไปจากกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นอีกครั้งว่ามนุษย์นั้นมีบทบาทสำคัญเพียงใดในการสร้างรูปลักษณ์ของโลก” 

สืบค้นและเรียบเรียงข้อมูล 

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://climate.copernicus.eu

https://www.livescience.com

https://www.theguardian.com


อ่านเพิ่มเติม : การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

กำลังทำให้ฟอสฟอรัสในมหาสมุทรค่อย ๆ หายไป

Recommend