“การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อใช้ประโยชน์ กำลังคุกคามสัตว์ป่ามากกว่า 7,600 ชนิดทั่วโลก”
ตามรายงานใหม่จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันซึ่งเผยแพร่บนวารสาร Nature ได้เปิดเผยเกี่ยวกับการวัดครั้งแรกถึงระดับที่ประเทศต่าง ๆ ได้มีส่วนทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก โดยประเทศเหล่านั้นได้ย้ายต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมของตนไปต่างประเทศ
“การติดตามผลกระทบที่ประเทศต่าง ๆ มีต่อสิ่งแวดล้อมนอกพรมแดนของตนนั้นทำได้ยาก” อเล็กซ์ วีเบ (Alex Wiebe) นักวิจัยจากภาควิชานิเวศวิทยาและชีววิทยาวิวัฒนาการซึ่งเป็นผู้เขียนหลัก กล่าว “การผสมผสานภาพถ่ายดาวเทียมเข้ากับข้อมูลทางเศรษฐกิจและความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้เราสามารถวัดและทำแผนที่ได้อย่างแม่นยำว่าประเทศต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อสายพันธุ์ต่าง ๆ ทั่วโลกตรงจุดไหนเป็นครั้งแรก”
ผลกระทบระดับชาติ
ทีมวิจัยได้ตรวจสอบข้อมูลของประเทศที่มีรายได้สูง 24 ประเทศในด้านผลกระทบที่มีต่อนก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสัตว์เลื้อยคลานที่พึ่งพาป่าทั้งหมดราว 7,593 สายพันธุ์ จากนั้นก็ได้ผสานเข้ากับข้อมูลด้านการค้า เศรษฐกิจ แผนที่การทำลายป่าที่ได้จากดาวเทียม และข้อมุลพื้นที่ที่อยู่อาศัยของสายพันธุ์ช่วงปี 2001 ถึง 2015
สิ่งนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถมองเป็นพื้นที่การสูญเสียป่ากับพื้นที่ที่อยู่อาศัยของสัตว์ได้ชัดเจนขึ้น จนสามารถระบุ ‘จุดสำคัญ’ ของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่รุนแรง และยังได้วัดสัดส่วนของการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยของแต่ละสายพันธุ์จากการนำเข้าของประเทศที่พัฒนาแล้วในแต่ละประเทศได้
พวกเขาพบว่าการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อใช้งานในด้านอุปโภคและบริโภคในประเทศรายได้สูง 24 ประเทศดังกล่าวนั้น มักเกิดนอกประเทศ กล่าวคือประเทศเหล่านั้น ‘นำเข้า’ ไม้หรือพืชผลจากนอกพรมแดนของตน ซึ่งทำให้ประเทศผู้ส่งออกจำเป็นต้อง ‘ตัดไม้ทำลายป่า’ เพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการนี้
ดังนั้น 24 ประเทศที่ว่าจึงมีส่วนรับผิดชอบต่อการสูญเสียพื้นที่ป่าทั่วโลก 13.3% ของสัตว์มีกระดูกสันหลังที่พึ่งพาป่า โดยเฉลี่ยแล้วทีมวิจัยระบุว่าประเทศเหล่านี้ก่อให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพระดับนานาชาติมากกว่าผลกระทบภายในประเทศถึง 15 เท่า โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส ญีุ่่ปุ่น และจีนที่สร้างผลกระทบมากที่สุด
“การนำเข้าอาหารและไม้ทำให้ประเทศที่พัฒนาแล้วเหล่านี้ส่งออกการสูญพันธุ์อย่างแท้จริง” เดวิด วิลโคฟ (David Wilcove) ศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยา ชีววิทยา วิวัฒนาการ และกิจการสาธารณะ ผู้เขียนร่วมการศึกษา กล่าว “การค้าโลกทำให้ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการบริโภคของมนุษย์แพร่กระจายออกไป ซึ่งในกรณีนี้ทำให้ประเทศที่พัฒนาแล้วต้องหันไปหาอาหารจากประเทศที่ยากจน และมีความหลากหลายทางชีวภาพมากกว่าในเขตร้อน ส่งผลให้มีการสูญเสียสายพันธุ์ไปมากขึ้น”
งานวิจัยยังเผยอีกว่าประเทศต่าง ๆ มักมีผลกระทบต่อสายพันธุ์ในเขตร้อนที่อยู่ ‘ใกล้ตัว’ มากที่สุดเช่น การบริโภคของสหรัฐอเมริกาส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าในอเมริกากลางมากที่สุด ขณะที่การบริโภคของจีนและญี่ปุ่นส่งผลกระทบต่อสายพันธุ์ในพื้นที่ป่าฝนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างมาก
“การที่ประเทศต่าง ๆ ใช้ที่ดินจากต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ นั้นทำให้สามารถส่งผลกระทบต่อสายพันธุ์ต่าง ๆ ทั่วโลกได้มากกว่าการอยู่ในประเทศของตนเองเสียอีก” วีเบ กล่าว “สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในแนวทางที่มีภัยคุกคามใหม่ ๆ ต่อสัตว์ป่าเกิดขึ้น”
ผลกระทบต่อการอนุรักษ์
ไม่เพียงเท่านั้นงานวิจัยยังให้ข้อมูลอันมีค่าอย่างมากให้กับนักวิทยาศาสตร์ นั่นคือแนวทางการอนุรักษ์ซึ่งเชื่อมโยงกับรูปแบบการกระจายของสปีชีส์เมื่อเวลาผ่านไป รูปแบบเหล่านี้ทำให้นักวิจัยสามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำขึ้นว่าสปีชีส์ใดมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากที่สุด ทำให้วางแนวทางการอนุรักษ์ที่มีประสิทธิภาพได้มากยิ่งขึ้น
ศาสตราจารย์วิลโคฟได้เน้นยำถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการร่วมมือกันระหว่างประเทศผู้นำเข้าและประเทศผู้ส่งออก ในการสร้างแนวทางการค้าที่ยั่งยืนมากขึ้น
“การค้าอาหารและไม้ทั่วโลกจะไม่หยุดลง สิ่งสำคัญคือประเทศผู้นำเข้าต้องตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนี้ที่มีต่อประเทศผู้ส่งออก และร่วมมือกับประเทศเหล่านั้นเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว” ศาสตราจารย์วิลโคฟ กล่าว “ประเทศต่าง ๆ จะได้รับประโยชน์จากการส่งเสริมการปกป้องถิ่นที่อยู่อาศัยและการเกษตรที่ยั่งยืน เนื่องจากความหลากหลายทางชีวภาพได้ย้อนกลับมาสร้างประโยชน์ให้ประเทศ”
สืบค้นและเรียบเรียงข้อมูล
วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
อ่านเพิ่มเติม : เมื่อโลกร้อนทำให้พืชมีสารอาหารน้อยลง
ผลกระทบก็จะตกอยู่กับเราและห่วงโซ่อาหารทั่วโลก