“แหล่งน้ำจืดที่มีความเค็มมาเกินปกติ กำลังคุกคามสมดุลอันเปราะบาง
ของสิ่งมีชีวิตที่พึ่งพาระบบนิเวศในนั้น”
แหล่งน้ำจืดไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ ลำธาร และปากน้ำนั้นเป็นแหล่งระบบนิเวศที่สำคัญต่อสิ่งมีชีวิตจำนวนมากรวมถึงมนุษย์ เราพึ่งพาแหล่งน้ำเหล่านี้เป็นแหล่งอุปโภคและบริโภค เช่นเดียวกันสัตว์และพืชจำนวนมาก็พึ่งพาความสมดุลระหว่างน้ำจืดและน้ำเค็มในการใช้ชีวิตก่อเกิดเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร
แต่สถานการณ์ปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลงไปและแนวโน้มในอนาคตก็ดูไม่ดีมากนัก ตามรายงานใหม่ที่เผยแพร่บนวารสาร Biogeochemistry ระบุว่าแหล่งน้ำจืดทั่วโลกมีความเข้มข้นของไอออนของเกลือเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลเป็นวงกว้างและคุกคามทุกชีวิตที่เกี่ยวข้องรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากด้วยเช่นกัน
“งานวิจัยของเราเป็นครั้งแรกที่นักสมุทรศาสตร์ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่กำลังเติบโตของ ‘ปัญหาซ้ำซ้อน’: การเกิดดินเค็มจากทั้งบนบกและในทะเล” สุเจย์ เกาชัล (Sujay Kaushal) ศาสตราจารย์ด้านธรณีวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ กล่าว
“ขณะนี้เราตระหนักว่าเกลือเหล่านี้มาจากสองทิศทาง และแสดงถึงความเสี่ยงที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐาน ระบบนิเวศ การเกษตร และแหล่งน้ำดื่มจำนวนมากทั่วโลก”
วัฏจักรแห่งเกลือ
ศาสตราจารย์ เกาชัล นั้นเป็นผู้ศึกษาการปนเปื้อนของเกลือบนบกมานานกว่า 20 ปี โดยเขาทำการติดตามเกลือในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเกลือบนถนน การทำเหมือง การพัฒนาที่ดิน และกิจกรรมอื่น ๆ ของมนุษย์ ผ่านสิ่งที่เรียกว่า ‘วัฏจักรเกลือ’ หรือก็คือศึกษาว่าเกลือจากแหล่งต่าง ๆ เคลื่อนที่ไปอย่างไรบ้าง
ขณะเดียวกันก็ได้เพิ่มอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญคือเกลือที่มาจากน้ำเค็มหรือน้ำจากทะเลผสมเข้ากับแหล่งน้ำจืดตามชายฝั่ง รวมเข้ากับสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่มีแนวโน้มเลวร้ายมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง หรืออุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
ผลลัพธ์เหล่านั้นเผยให้เห็นว่าทุกปัจจัยต่างทำให้ปัญหาด้านความเค็มรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เกลือจากแหล่งหนึ่งสามารถเดินทางไปยังอีกแห่งหนึ่งพร้อมกับปนเปื้อนแหล่งใหม่ ๆ แล้วไหลลงสู่แหล่งน้ำท้องถิ่นและก่อให้เกิด ‘ความเป็นพิษ’ กลายเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อเนื่องไป
“สิ่งที่เราตระหนักได้ก็คือ ค็อกเทลสารเคมีที่เคลื่อนย้ายได้บางส่วนจะทำปฏิกิริยากับสารปนเปื้อนอื่น ๆ เพื่อสร้างค็อกเทลสารเคมีรอง ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของน้ำอย่างมาก” จีน อี. ไลเคนส์ (Gene E. Likens) ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยและผู้ก่อตั้งสถาบันวิจัยระบบนิเวศเครี (Cary Institute of Ecosystem Studies) กล่าว
“สิ่งที่น่ากังวลก็คือปฏิกิริยาลูกโซ่เหล่านี้กำลังเกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่น้ำจืดและน้ำทะเลในปัจจุบัน โดยส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อระบบนิเวศ เกษตรกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน”
ศาสตราจารย์ เกาซัล อธิบายเพิ่มเติมว่า ความเค็มจัดอาจเป็นปัจจัยกดดันเพิ่มเติมสำหรับทางน้ำที่กำลังประสบปัญหาอยู่แล้ว เช่น ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ยูโทรฟิเคชั่น (Eutrophication) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายได้รับสารอาหาร ‘มากเกินไป’ จนกระตุ้นให้สาหร่ายเพิ่มจำนวนจนกลายเป็น ‘เดดโซน’ (Dead Zone)
ทัายที่สุดแหล่งน้ำบริเวณดังกล่าวก็จะสูญเสียออกซิเจนและทำให้ปลากับสัตว์น้ำอื่น ๆ เสียชีวิตหรือได้รับผลกระทบที่รุนแรง ทีมวิจัยกล่าวว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อคาดการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจะส่งผลต่อปราฏการณ์เหล่านี้มากน้อยแค่ไหน แต่แนวโน้มนั้นน่ากังวล
ต้องมีมาตรการป้องกัน
แม้จะมีสิ่งที่ไม่รู้อีกมา แต่ศาสตราจารย์ เกาซัล ให้ความเห็นว่าผลกระทบหลายประการจากความเค็มจัดนั้นสามารถคาดการณ์และป้องกันได้ การวิจัยล่าสุดนี้เองก็ได้เสนอกรอบจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้น แม้จะยังไม่ครอบคลุม แต่ก็ยังถือว่าเป็นก้าวแรกที่ดีและสำคัญ
“ไม่มีเอกสารแนะนำที่ครอบคลุมซึ่งสามารถอธิบายถึงความเสี่ยงทั้งหมดและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นตั้งแต่ในน้ำจืดไปจนถึงน้ำทะเล ดังนั้นผมคิดว่าเอกสารของเราเป็นก้าวแรกในทิศทางนั้น” เขา กล่าว
ทีมวิจัยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสังเกตระดับเกลือที่อยู่ในสภาพแวดล้อมของแหล่งน้ำจืดอย่างต่อเนื่อง จากนั้นหาแนวทางที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่มาป้องกันการไหลบ่าของความเค็ม ขณะเดียวกันก็ควบคุมการใช้เกลือบนถนน เกลือจากภาคอุตสาหกรรม การบำบัดน้ำเสีย และการรุกล้ำของน้ำเค็มในชายฝั่ง
“เรายังไม่มีแผนที่จะจัดการกับเกลือ” ศาสตราจารย์ เกาซัล กล่าว “แผนการจัดการความเค็มระดับภูมิภาค เอกสารคำแนะนำ และการประเมินความเสี่ยงสำหรับแม่น้ำทั่วโลกซึ่งอิงตามกรอบการทำงานของเรา นั่นคือสิ่งที่ผมอยากเห็นเกิดขึ้นจากงานวิจัยของเรา”
ที่มา