“เป็นเวลาหลายทศวรรษที่ป่าฝนผืนใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
อยู่นอกสายตาของวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ”
แตตอนนี้นักวิจัยรุ่นใหม่ ผู้เติบโตในแอฟริกากลางกำลังเปลี่ยนแนวโน้มนี้ และสิ่งที่พวกเขาค้นพบ กำลังปฏิวัติความเข้าใจของเราเกี่ยวกับวิธีปกป้องโลก
ภายในเรือนยอดหนาทึบ ของป่าฝนลุ่มน้ำคองโก แสงบ่ายเริ่มตกคล้อย ทอประกายระยิบระยับบนหอโลหะสูงลิ่วที่ผุดขึ้นจากป่าดงดิบ ด้วยความสูง 55 เมตร โครงสร้างเหล็กตีบแคบดูเหมือนเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือ แต่ครบครันด้วยอุปกรณ์ตรวจจับทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ นักชีววิทยา ฟาบรีซ คิมเบซา ดูไม่หวั่นไหว หลังจากสวมสายรัดนิรภัยแล้ว เขายึดจับบันไดโลหะบางๆ แล้วปีนขึ้นไปอย่างปราดเปรียว ทิ้งฉันให้ตามหลังขึ้นไป ขณะเขาเร่งรุดไต่ไปยังแท่นเล็ก ๆ ที่ปลายยอด

โครงสร้างที่เปิดใช้งานเมื่เดือนตุลาคม ปี 2020 นี้ คือสิ่งที่เรียกกันว่า หอวัดก๊าซเรือนกระจกด้วยวิธีความ แปรปรวนร่วมแบบหมุนวน (eddy covariance flux tower) ถือเป็นหอแรกสุดที่เคยมีการติดตั้งในลุ่มน้ำคองโก สำหรับนักวิจัยด้านสภาพภูมิอากาศที่ติดตามการแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจกระหว่างผืนป่ากับชั้นบรรยากาศ ยอดแหลมเหล่านั้นทำหน้าที่เสมือนหูฟังแพทย์ขนาดยักษ์ พวกเขาสามารถติดตามได้ว่า มีการปล่อยและดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์โดยผืนป่ามากน้อยเท่าใด เพื่อช่วยในการคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกของโลกที่ถูกกักเก็บกลับสู่โลก และปัจจัยอื่น ๆ อีกมาก ดังนั้นทุกวัน คิมเบซาจะปีนขึ้นหออย่างน่าหวาดเสียว เพื่อตรวจสอบค่าที่อ่านได้จากอุปกรณ์ และเฝ้าติดตามรูปแบบการหายใจของผืนป่าได้อย่างแม่นยำ “เมื่อคุณพินิจดูข้อมูล… คุณจะรู้สึกได้ว่าตอนนี้คุณมีความเชื่อมโยงพิเศษกับผืนป่า” เขาบอก “คุณจะเห็นสิ่งที่คนอื่นไม่เห็นครับ”

วันนี้ หลังอาบแสงอาทิตย์ร้อนระอุในเขตศูนย์สูตรหลายชั่วโมง ป่าฝนดูเหมือนกำลังคายลมหายใจออกมา ชั้นเรือนยอดปกคลุมไปด้วยเมฆหมอก ข้อมูลที่บันทึกได้แสดงให้เห็นแนวโน้มเฉพาะเจาะจงมากขึ้น กล่าวคือในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในพื้นที่ลดลงอย่างมากในช่วงกลางวัน เมื่อต้นไม้และพืชพรรณอื่นๆ เปลี่ยนก๊าซเรือนกระจกดังกล่าวเป็นออกซิเจนระหว่างการสังเคราะห์แสง ก่อนจะก็ค่อยๆ กลับมาเพิ่มขึ้นหลังพระอาทิตย์ตกดิน


งานดังกล่าวไม่เคยสำคัญมากเท่านี้อีกแล้ว ป่าเขตร้อนเคยทำหน้าที่กักเก็บคาร์บอนบนภาคพื้นดินราวครึ่งหนึ่งของโลก แต่ประสิทธิภาพโดยรวมลดลงเรื่อยมาตั้งแต่ขึ้นถึงจุดสูงสุดในทศวรรษ 1990 ลุ่มน้ำคองโกครอบคลุมป่าฝนขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลกรองจากแอมะซอน โดยแผ่กว้างราวสองล้านตารางกิโลเมตรในภูมิภาคแอฟริกากลาง กระนั้น ขณะที่หอวัดก๊าซเรือนกระจกมากกว่าหนึ่งพันแห่งคอยเก็บข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการแลกเปลี่ยนก๊าซทั่วโลกมาหลายทศวรรษแล้ว ภูมิภาคนี้กลับเป็นช่องว่างกระทั่งปี 2020
หลายปีก่อนหน้านี้ สหภาพนักวิจัยนานาชาติกลุ่มหนึ่งเผยว่า จากตัวอย่างป่าดึกดำบรรพ์หลายผืนทั่วลุ่มน้ำคองโก ป่าฝนดูเหมือนจะกักเก็บคาร์บอนไว้ได้ในอัตราคงที่กว่าป่าแอมะซอน ซึ่งอัตราการดูดซับคาร์บอนลดน้อย ถอยลงอย่างรวดเร็ว แต่นักวิจัยกลุ่มนี้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา ป่าฝนแอฟริกาดูเหมือนจะอยู่ในเส้นทางขาลงคล้ายกับคู่ของมันในอเมริกาใต้ เพื่อหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ และอาจเสนอวิธีแก้ปัญหาบางประการด้วย คิมเบซากับพลพรรคนักวิทยาศาสตร์ชาวคองโกที่เพิ่งผ่านการฝึกอบรมมาหมาดๆ กลุ่มหนึ่ง ตอนนี้ร่วมกันปฏิบัติงานจากสถานีวิจัยที่ได้รับการปรับปรุงใหม่แห่งหนึ่งภายในเขตสงวนชีวมณฑลแยงแกมบี ซึ่งเป็นพื้นที่คุ้มครองขนาด 230 ตารางกิโลเมตรในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ดีอาร์ซี)

ความคิดที่ว่าคิมเบซาซึ่งเพิ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยคีซังกานีที่อยู่ใกล้เคียง อาจเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่องานวิจัยนี้ ครั้งหนึ่งอาจดูเหมือนไม่มีทางเป็นไปได้ ดีอาร์ซีซึ่งเป็นที่ตั้งของป่าฝนลุ่มน้ำคองโกมากกว่าครี่งหนึ่ง ยังคงดิ้นรนจากความยากจนสาหัส ประวัติศาสตร์ของการฉกฉวยประโยชน์ในยุคอาณานิคม ไปจนถึงระบอบเผด็จการ และความขัดแย้ง ซึ่งไม่เพียงฉุดรั้งการพัฒนาระบบมหาวิทยาลัยที่แข็งแกร่ง แต่ยังจำกัดการจ้างงานและทรัพยากรสำหรับนักวิทยาศาสตร์ท้องถิ่นด้วย
แต่เมื่อความสำคัญในเชิงนิเวศวิทยาของภูมิภาคนี้ปรากฏชัดเจนขึ้น ดีอาร์ซีก็ดึงดูดความสนใจมากขึ้นจากกลุ่มอนุรักษ์ทั่วโลก เช่น ศูนย์เพื่อการวิจัยป่าไม้นานาชาติที่ร่วมมือกับรัฐบาลและมหาวิทยาลัยในประเทศต่าง ๆ เพื่อทุ่มเงินทุนหลายล้านในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และการฝึกอบรมนักวิจัย นับจากปี 2005 เป็นต้นมา จำนวนนักศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรีในสาขาวิชาป่าไม้เพิ่มจากแค่หกคนเป็นมากกว่า 300 คน วันนี้แนวร่วมนักวิทยาศาสตร์หน้าใหม่ชาวคองโกเหล่านี้กำลังพยายามทำความเข้าใจระบบนิเวศขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งและได้รับการศึกษาน้อยกว่าที่ควรในโลกของเรา
การขาดแคลนข้อมูลที่เชื่อถือได้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระยะยาวของลุ่มน้ำคองโกย่อกหมายความว่าป่าฝนแห่งนี้จะยังคงถูกตัดออกหรือนำเสนออย่างคลาดเคลื่อนในรายงานและการวิเคราะห์ระดับโลกเมื่อปี 2021 มันเป็นหนึ่งในเพียงสองภูมิภาคจากทั่วโลกที่ไม่มีข้อมูลเพียงพอจะให้คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์กรสหประชาชาติ ใช้ประเมินแนวโน้มอากาศร้อนสุดโต่งในอดีต ซึ่งเป็นผลการสืบค้นที่รัฐบาลประเทศอื่นๆ อาจใช้ในการตัดสินใจเลือกสถานที่ที่ควรได้รับทรัพยากรเพิ่มขึ้นสำหรับดำเนินการศึกษาต่อไป หรือกระทั่งมอบความช่วยเหลือฉุกเฉินให้
ขณะที่เหตุการณ์สภาพอากาศสุดโต่งกำลังกลายเป็นเรื่องปกติในหลายพื้นที่ การวิจัยเรื่องผลกระทบทางภูมิอากาศส่วนใหญ่กลับมุ่งเน้นไปที่ประเทศร่ำรวย ส่งผลให้เกิด “ช่องว่างทางการรับรู้ผลกระทบ” การขาดแคลนข้อมูลที่หนักแน่นในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำอาจทำให้ผู้คนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โดยแทบไม่ได้รับการสนับสนุนด้านการบรรเทาผลกระทบ การเตรียมพร้อม และการปรับตัว
“ดีอาร์ซีเป็นประเทศที่มีความหนาแน่นของสถานีตรวจวัดสภาพอากาศน้อยที่สุดประเทศหนึ่งในโลกครับ” ไซมอน เลวิส นักวิจัยด้านป่าฝนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มหาวิทยาลัยลีดส์ในอังกฤษ อธิบาย
เลวิสเป็นหัวหน้าทีมจัดทำแผนที่ขอบเขตป่าพรุในลุ่มน้ำคองโกเมื่อหลายปีก่อน ทีมดังกล่าวค้นพบว่ามันเป็นป่าพรุเขตร้อนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และกักเก็บก๊าซจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไว้เป็นปริมาณเท่ากับที่ปลดปล่อยออกมาทั้งโลกสามปี “ความพยายามขนานใหญ่ด้านโลจิสติกส์และวิทยาศาสตร์ในภาคสนาม เป็นไปได้เพราะภูมิปัญญาท้องถิ่นอันลึกซึ้งของผู้ร่วมงานชาวคองโกของเราครับ” เขาบอก “พวกเขารู้เรื่องป่าพรุดี รู้ว่ามีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การค้นพบสำคัญ แต่พวกเขาไม่มีทรัพยากรให้ใช้ทำงาน”

เมื่อปี 2023 เลวิสจับมือเป็นพันธมิตรกับเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ในภูมิภาค เพื่อก่อตั้งโครงการริเริ่ม ทางวิทยาศาสตร์ในลุ่มน้ำคองโก (Congo Basin Science Initiative) เป็นกลุ่มวิจัยที่กำลังมองหาทุน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเปิดไฟเขียวให้กับงานศึกษาภายในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่อาจถึงกับทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับโลกในเรื่องความเข้าใจของเราเกี่ยวกับป่าฝน “เราจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือที่มีความเท่าเทียมและเอื้อประโยชน์ต่อทั้งนักวิทยาศาสตร์ในท้องถิ่นและจากต่างชาติ ไม่ใช่เค่เพราะเป็นสิ่งถูกต้อง แต่เพราะเป็นหนทางเดียวที่เราจะขยายขนาดงานให้ใหญ่ถึงระดับที่จำเป็นได้ ก่อนจะสายเกินไป”
เรื่อง เมลานี กูบี
ภาพถ่าย นิโคล โซเบกกี
แปล อัครมุนี วรรณประไพ