จับตาวิกฤตสารพิษปนเปื้อนแม่น้ำ ผลกระทบต่อชุมชนและมาตรการแก้ปัญหาขุดเหมืองแร่ต้นน้ำ

จับตาวิกฤตสารพิษปนเปื้อนแม่น้ำ ผลกระทบต่อชุมชนและมาตรการแก้ปัญหาขุดเหมืองแร่ต้นน้ำ

จับตาวิกฤตแม่น้ำกก หลังตรวจพบสารหนู-ตะกั่วปนเปื้อนในแม่น้ำกก ซึ่งไหลผ่านพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย โดยพบว่า ค่าที่ตรวจเกินกว่ามาตรฐานความปลอดภัย

เมื่อไม่นานมานี้ รายงานข่าวจากสื่อหลายสำนักระบุตรงกันว่า ที่จังหวัดเชียงราย ชาวประมงพื้นบ้านได้เผยแพร่ภาพปลาแค้ขนาดเล็กที่จับได้ในแม่น้ำโขง บริเวณหน้าวัดพระแก้ว และพื้นที่บ้านหาดไคร้ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีลักษณะตุ่มพุพองอย่างไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งได้สร้างความกังวลให้กับประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก นั่นเพราะการปนเปื้อนของสารพิษในแม่น้ำส่งผลโดยตรงถึงความปลอดภัยระดับชีวิตและส่งผลต่อระบบนิเวศในภาพรวม

แฟนเพจ สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ซึ่งเป็นองค์กรด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และติดตามผลกระทบจากการสร้างเขื่อนและโครงการผันน้ำในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในลุ่มแม่น้ำโขงและสาละวิน ให้ข้อมูลว่า ทีมงานสมาคมได้เก็บตัวอย่างปลาในพื้นที่เดียวกันนี้มาสักระยะ พบปลาที่มีลักษณะตุ่มพองแบบเดียวกันตั้งแต่ก่อนปรากฏเป็นข่าว โดยมากพบที่ปากแม่น้ำคำ บ้านสบคำ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายและใต้ฝายป่ายางมน ตำบลริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ซึ่งได้ส่งตัวอย่าง ไปยังประมงจังหวัดเชียงราย เพื่อนำไปตรวจโรคและสารโลหะหนัก

“ส่วนใหญ่พบในปลากินเนื้อ เช่น ปลาแค้ ปลาคัง ซึ่งสมาคมได้ทราบเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2567 เราสันนิษฐานว่า สาเหตุของเรื่องนี้มาจากสารปนเปื้อนในน้ำ ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับกิจกรรมเหมืองแร่ที่ตั้งอยู่บริเวณต้นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง การพบสารพิษในแม่น้ำกก ที่ไม่เคยพบมาก่อนในพื้นที่น่ากังวลมาก เพราะที่ จ.เชียงราย ปกติปลาก็ลดลงอยู่แล้ว การพบสารพิษ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ของปลา” สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต บอกกับ National Geographic ฉบับภาษาไทย

รายงานข่าวระบุว่า  ได้นำตัวอย่างปลาจากแม่น้ำโขงในพื้นที่ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ไปตรวจสอบ พบปรสิตและแบคทีเรียในปลาบางส่วน ทั้งนี้ ผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำในแม่น้ำกกโดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่ามีปริมาณสารหนูสูงสุดเท่าที่เคยตรวจพบที่บริเวณแก่งตุ๋ม อยู่ที่ระดับ 0.037 มิลลิกรัมต่อลิตร

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2568 สำนักข่าว Thai PBS รายงานคำให้สัมภาษณ์ของ เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ว่า จากภาพถ่ายดาวเทียมบริเวณต้นแม่น้ำกก ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา พบการทำเหมืองแรร์เอิร์ธ ซึ่งกรณีนี้อาจเป็นสาเหตุ ที่ทำให้น้ำและดินปนเปื้อนสารอันตรายหลายชนิด จนส่งผลกระทบต่อชุมชน

ขณะเดียวกัน บริเวณแม่น้ำสายเหนือชายแดนขึ้นไปประมาณ 2 กิโลเมตร พบมีการเปิดหน้าดินเพื่อทำเหมืองแร่กันอย่างต่อเนื่อง โดยชาวบ้านในเมืองตูม ประเทศเมียนมา รายงานว่ากองกำลังว้าได้เปิดโอกาสให้กลุ่มทุนจีนเข้ามาลงทุนเหมืองแร่ ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก รัฐบาลเมียนมา อาจไม่มีอำนาจในการดูแลพื้นที่ นอกจากนี้ทั้งลุ่มน้ำไม่มีการตรวจสอบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเพียงพอ ทำให้สัตว์น้ำในพื้นที่ตายเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวได้ถูกรายงานมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งวันนี้ (20 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ถึงข้อกังวลนี้ว่า ได้พูดคุยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ไปช่วยดูแลในเรื่องนี้ แล้ว และหากได้รายละเอียดเพิ่มเติมจะมาแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

ก่อนหน้านี้ สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ได้ระบุถึง ‘ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาแม่น้ำกก 7 ข้อ’ จากภาคประชาชนในลุ่มแม่น้ำกกประเทศไทย ที่เสนอต่อรัฐบาลเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ได้แก่

  1. แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษข้ามพรมแดน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาชน และนักวิชาการ เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาทั้งในแหล่งกำเนิดมลพิษ ระหว่างทาง และผู้รับผลพิษ จัดตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำกก จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย ภายใน 30 วัน
  2. เปิดเผยและซักซ้อมมาตรการรับมืออุทกภัยลุ่มน้ำกก และลุ่มน้ำสาย อย่างเป็นระบบ มีส่วนร่วม และมีประสิทธิภาพ
  3. สร้างความร่วมมือกับประเทศเมียนมา และกลุ่มกองกำลังว้า เพื่อเพิ่มจุดเก็บตัวอย่างน้ำ เพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาของสารปนเปื้อน ตลอดลำน้ำกก น้ำสาย ทั้งพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่ทำเหมืองในรัฐฉาน ประเทศพม่า และพื้นที่แม่น้ำกกในประเทศไทย
  4. การสร้างระบบสื่อสารสาธารณะที่โปร่ง เพื่อให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารด้านคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพน้ำจ.เชียงราย
  5. การขยายขอบเขตการศึกษา และวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เป็นการรุกล้ำหรือทำลายสิ่งแวดล้อม ตลอดลุ่มน้ำ
  6. เปิดการเจรจา 4 ฝ่ายคือ ไทย เมียนมา กองกำลังชาติพันธุ์ที่ควบคุมพื้นที่สัมปทานเหมือง และประเทศจีน เพื่อร่วมกันหาทางออกอย่างสร้างสรรค์และรับผิดชอบ โดยมีกลไกระดับอาเซียนบวกประเทศจีน
  7. การแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะทำงานในทุกระดับให้มีสัดส่วนของประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบภาคประชาสังคม

อ่านเพิ่มเติม : มหาสมุทรจะฟื้นตัว ความหวังของ Sir David Attenborough นักทำสารคดีวัย 99 ปี ชายผู้หลงรักโลกใต้ทะเล

Recommend