‘กรณ์ จาติกวณิช’ สิ่งแวดล้อม-คนรุ่นใหม่ อยู่ตรงไหนในยุทธศาสตร์ ‘ชาติพัฒนากล้า’

‘กรณ์ จาติกวณิช’ สิ่งแวดล้อม-คนรุ่นใหม่ อยู่ตรงไหนในยุทธศาสตร์ ‘ชาติพัฒนากล้า’

สนทนากับกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจในการสู้ศึกเลือกตั้ง

ในช่วงการเลือกตั้ง 2566 National Geographic Thailand ซักถามตัวแทนจากหลายพรรคการเมืองถึงแนวทางนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ในฐานะประเด็นสำคัญแห่งยุค ยิ่งเฉพาะในวันที่วิกฤตโลกร้อนและฝุ่น PM.2.5 เป็นปัญหาที่สัมผัสกันได้ในทุกๆวัน

2-3 สัปดาห์สุดท้าย บรรยากาศหาเสียงเข้มข้นขึ้น และสำหรับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม พรรคชาติพัฒนากล้าคืออีกพรรคที่ให้ความสำคัญจนนำมาเขียนเป็นยุทธศาสตร์

กรณ์  จาติกวณิช หัวหน้าพรรค ให้สัมภาษณ์ว่า ยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ใน ยุทธศาสตร์ 7 เฉดสี (Spectrum Economy)  ซึ่งสีเขียว ของนโยบายหลักสิ่งแวดล้อม (Green Economy) มีภาพใหญ่คือการเข้าสู่ภาวะความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ซึ่งจากนี้เป็นเรื่องพิจารณาว่า ไทยต้องเข้าไปลงทุนใหม่ในอุตสาหกรรมใดบ้าง ไม่ว่าจะเป็น ด้านพลังงาน คมนาคม อุตสาหกรรมเกษตร

ชาติพัฒนากล้า มีนโยบายในการส่งเสริมพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน อุดหนุนให้ประชาชนติดโซลาร์บนหลังคาบ้านตัวเองได้ รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนในโซลาร์ฟาร์ม อาทิ การลดต้นทุนตัวแผงวงจร มีการเข้าถึงแหล่งทุนในการติดตั้งที่ปลอดดอกเบี้ย เงินต้นให้แต่ละบ้านใช้คืนด้วยส่วนต่างค่าไฟที่ประหยัดได้จากการติดตั้งโซลาร์ มีระบบขายไฟส่วนเกินกลับเข้าสู่ระบบได้ การขยายพื้นที่ป่าเป็น 40% หรือ 26 ล้านไร่ของประเทศ ด้วยการออกพันธบัตรป่าไม้มูลค่า 65,000 ล้านบาท สร้างรายได้ให้ประชาชน ทั้งการขายพืชเศรษฐกิจและคาร์บอนเครดิต

“เรายังเสนอให้มียุทธศาสตร์ พันธบัตรป่าไม้ ที่จะช่วยเพิ่มพื้นที่ธรรมชาติในการดูดซับคาร์บอน ขณะเดียวกันก็แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เพราะมองว่า เรื่องฝุ่นต้องแก้ด้วยกลไกตลาด เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งของฝุ่น PM 2.5 มาจากการเผา โดยเฉพาะไร่ข้าวโพด ไร่อ้อย ซึ่งเมื่อคำนวณดูแล้ว รายได้ที่เกษตรกรได้จากการปลูกอ้อยน้อยมาก เราจึงนำเสนอปลูกป่าไม้เศรษฐกิจ 58 ชนิด และในระหว่างรอ ก็มีเงินจากกองทุนพันธบัตร ให้ใช้จ่ายเพื่อชดเชยรายได้ ซึ่งผมคำนวณผลตอบแทนกลับมาแล้วคุ้มกว่าชีวิตของการเป็นเกษตรกรปลูกข้าวโพดหลายเท่า เพราะไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี ยาฆ่าแมลง หรือปุ๋ยเคมี ดังนั้น ผลต่อระบบนิเวศก็ดีกว่า ความยั่งยืนและความเสมอต้นเสมอปลายจากแหล่งที่มาของรายได้ก็มั่นคงกว่า”

“ยุทธศาสตร์ 7 เฉดสี มาจากการคิดที่ว่า ประเทศไทยปรับจากประเทศเกษตรมาเป็นประเทศอุตสาหกรรม และมีโมเดลการทำธุรกิจที่อิงกับแนวคิด industrialization มานาน ทุกวันนี้เริ่มมีสัญญาณชัดเจนว่า พึ่งพาความคิดเดิมอย่างเดียวไม่ได้แล้ว เศรษฐกิจไม่โต ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ความต้องการของโลกเปลี่ยนไป เราต้องปรับตัว คำถามสำคัญ คือ บทบาทของไทยในเวทีโลกจะเป็นอย่างไร หรือพูดง่ายๆว่าเราจะขายอะไรให้กับประชาคมโลก นี่จึงเป็นที่มาของภาพใหญ่ในยุทธศาสตร์ 7 สีของพรรค”

ถามสั้น­ –ตอบเร็ว แบบ กรณ์ จาติกวณิช

Q: ปัญหามลพิษ ฝุ่น PM 2.5 กับน้ำท่วมอะไรแก้ยากกว่ากัน?

A: มันไม่ง่ายทั้งคู่ เพราะถ้าทำได้ง่ายคงทำได้แล้ว แต่ยืนยันว่าแก้ได้

การจะตอบต้องเข้าใจต้นตอของปัญหา ทั้ง 2 ส่วน มีทั้งสาเหตุจากธรรมชาติและฝีมือมนุษย์ และเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ อย่างเรื่องฝุ่นมีที่มาทั้งจากรถยนต์ ภาคอุตสาหกรรม เราก็ไปแก้ตรงนั้น ขณะที่ฝุ่นจากการเผาเราก็ต้องตั้งคำถามว่าเผาเพราะอะไร และถ้าการเผานั่นมาจากความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เราก็จะต้องแก้ด้วยเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน

ยกตัวอย่างว่าถ้าการเผาไร่ข้าวโพดนั้นมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งผู้ซื้อมาจากประเทศไทย  ถ้าเรารู้ข้อเท็จจริง วิธีการแก้ปัญหาคือการออกมาตรการภาษี สร้างแรงจูงใจให้หยุดเผา หรือพูดง่ายๆว่า ไร่ข้าวโพดที่พิสูจน์ได้ว่ามาจากการเผา ก็จะเสียภาษีสรรพสามิตที่สูง จากนั้นมาทบทวนว่าทำอย่างไรให้เกษตรกรเลือกที่จะทำเกษตรชนิดอื่น ซึ่งข้อเสนอคือการส่งเสริมให้ปลูกป่าเศรษฐกิจ 58 ชนิดที่ไม่ต้องเผาและทำให้รายได้สูงอย่างยั่งยืน

ส่วนน้ำท่วม ในส่วนที่เป็นฝีมือของมนุษย์ก็มาจากพื้นที่ดูดซับน้ำที่หายไป พื้นที่ป่าลดลง การที่ส่งเสริมด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจ รณรงค์ก็จะช่วยทั้ง PM2.5 และน้ำท่วม เป็นการเข้าใจประเด็นปัญหาต้นตอ ซึ่งพรรคได้สนเอการเพิ่มพื้นที่ป่า 40% จำนวน 26 ล้านไร่ การออกพันธบัตรป่าไม้ เพื่อให้มีเงินทุนเพียงพอที่จะรณรงค์เกษตรและสร้างให้เกษตรกรมีวิถีอาชีพที่ยั่งยืน

คำถามนี้ เอาว่าถ้ามันง่ายป่านนี้ ปัญหานี้คงไม่มีอีก คือยอมรับว่ายาก แต่ไม่ใช่ว่าแก้ไม่ได้ ผมมองว่าที่ผ่านมาไม่มีความพยายามอย่างเป็นระบบ มีความจริงใจและจริงจัง ฝุ่นนี่ชัดเจนเป็นวาระแห่งชาติหลายปี แต่ไม่มีมาตรการ แม้แต่ พ.ร.บ อากาศสะอาด ก็ยังไม่ถึงไหน สะท้อนว่าฝ่ายที่มีอำนาจในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่มีความจริงใจที่หรือมองว่ายังไม่สำคัญพอ

Q: ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าประเทศมีปัญหามากมาย คุณจะส่งมอบอนาคตแบบไหนให้แก่เด็ก?

A: ก่อนที่คนรุ่นผมจะมากำหนดว่าอนาคตของเขาเป็นอย่างไร ต้องถามก่อนว่าอยากได้อนาคตแบบไหน จากการที่คุย สัมผัสได้ว่าเขาก็ต้องการอิสระ เสรีภาพ สิ่งแวดล้อมที่ดีขั้น โอกาสทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมที่คนรุ่นนี้ตระหนักว่ามีปัญหามากกว่าในอดีต

ต้องยอมรับว่า คนรุ่นผม ซึ่งหมายถึงคนรุ่นก่อนหน้าคือกลุ่มที่สร้างความร่ำรวย จากความเสียหายของโลก เราไม่ได้หมายความว่าใครคนใดคนหนึ่ง แต่อธิบายว่าตลอด 40ปีที่ผ่านมา ธุรกิจ อุตสาหกรรมที่สร้างความมั่งคั่งให้แก่คนในรุ่นนั้นได้สร้างก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นจริงๆ ที่นี่ถ้าย้อนกลับมาว่า ความต้องการของพวกเขาเราจะสนองอย่างไร อันดับแรกคือพรรคชาตพัฒนากล้าเชื่อมั่นในเสรีนิยมประชาธิปไตย หมายความว่าทุกคนเชื่อในความหลากหลาย เชื่อโอกาสในการแข่งขัน และสิทธิที่ทุกคนควรมี จะมีต้องโปร่งใส และเป็นธรรม มีอำนาจเหนือตลาดและผูกขาด ซึ่งนโยบายที่มีจะสะท้อนถึงความคิดนั้น โดยไม่ลืมเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เป็นประเด็นของยุคสมัย

ขณะเดียวกันเราส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจสร้างสรรค์จาก Soft Power เพื่อส่งเสริมให้คนทุกวัยสามารถตั้งตัวในฐานะผู้ประกอบการได้ เน้นทุกวัย ขอให้เป็นเศรษฐกิจที่อยู่ในเกณฑ์สร้างสรรค์ อาหาร แฟชั่น กีฬา ได้หมด สะท้อนถึงความสำคัญของซอฟต์เพาเวอร์ โดยมีกองทุนมาส่งเสริม เหมือนเกาหลีที่มียุทธศาสตร์ Creative industry ซึ่งทำให้เขาฟื้นตัวได้

การท่องเที่ยวยังเชื่อมโยงกับเรื่องสิ่งแวดล้อม พรรคชาติพัฒนากล้ามีนโยบายส่งเสริมคุ้มครอง อุทยานท้องฟ้ามืด Dark Sky Reserves เพื่อให้ไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศชั้นนำของโลก เพื่อรักษาสภาพธรรมชาติให้คนไทยสามารถชมท้องฟ้าดวงดาวได้โดยปลอดมลภาวะทางแสงนโยบายนี้จะส่งผลทำให้พื้นที่ ๆ มีความเงียบสงบและห่างไกลในหลายจังหวัดกลายเป็นจุดขายซึ่งจะเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ เติมเงินในกระเป๋าให้ประชาชน

ปัจจุบันมีหน่วยงานในระดับองค์การมหาชนทำงานเรื่องนี้ แต่ขาดกฎหมายคุ้มครองและงบประมาณในการดูแลพื้นที่ ชาติพัฒนากล้าจะส่งเสริมดูแลเพื่อปกป้องสมบัติของชาติที่เป็นต้นทุนเดิมทางธรรมชาติของเราไม่ใช่แค่เพื่อการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่คนไทยทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้เห็นดวงดาวเต็มท้องฟ้าโดยเฉพาะลูกหลานของเรา ที่นับวันจะได้สัมผัสธรรมชาติน้อยลงทุกที

Q: นอกจากเกษตร ท่องเที่ยว เป็นฐานการผลิต ไทยควรมีรายได้จากอะไรอีก?

A: มีส่วนหนึ่งตอบไปกับคำถามที่แล้ว แต่หัวใจหลักของคำถามนี้คือการต่อยอด สร้างมูลค่าที่มีอยู่ การท่องเที่ยว เกษตรยังเป็นพื้นฐาน แต่จะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้มีมูลค่าสูงขึ้น ลองเปลี่ยนคำว่า กระทรวงเกษตรเป็นกระทรวงอาหาร วิธีคิดจะเปลี่ยนไปเลย และนำไปสู่คำถามว่าเราจะทำอย่างไรให้สินค้าของเรามีมูลค่าสูงกว่าที่ขายทุกวันนี้

Soft Power อยู่ในทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ศิลปะ อาหาร ประเพณี วัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยว กีฬา รอเพียงการส่งเสริม และด้วยยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนด้วยการสนับสนุนอย่างเป็นระบบของภาครัฐ พรรคชาติพัฒนากล้าเองก็มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน คือมีกองทุนสนับสนุน Soft Power

Q: ฝากอะไรถึงคนรุ่นใหม่?

A: คำถามนี้ยากที่สุด (หัวเราะ) เอาว่าถ้าเปรียบเทียบกับประสบการณ์ ก็อยากจะฝากว่าจะเลือกทำอะไรก็แล้ว แต่ต้องตั้งใจทำให้ดี่ที่สุด อย่าปิดทางตัวเอง เราไม่รู้จริงๆว่าสิ่งที่เราคิดในวันนี้ วันหน้าจะคิดแบบเดิมใหม่

ในอดีต ผมไม่เคยคิดเคยฝันเลยว่าจะทำงานการเมือง ผมเริ่มต้นด้วยความฝันในวงการการเงิน และตั้งใจทำตรงนั้น แต่ก็เปิดโลกทัศน์ รับฟัง เรียนรู้ โดยที่วันนี้มันนำพาเรามาสู่สิ่งที่คาดไม่ถึง ที่พอจะแนะนำได้คือทำให้ดีที่สุด จะมีเส้นทางที่ดีในอนาคต

 

อ่านเพิ่มเติม : แก้มลพิษ ยากตรงไหน? ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ นโยบาย Wow Thailand เปลี่ยนปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นความมั่นคงทางเกษตร

Recommend