แก้มลพิษ ยากตรงไหน? ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ นโยบาย Wow Thailand เปลี่ยนปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นความมั่นคงทางเกษตร

แก้มลพิษ ยากตรงไหน? ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ นโยบาย Wow Thailand เปลี่ยนปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นความมั่นคงทางเกษตร

อ่านความคิด วราวุธ ศิลปอาชาว่าด้วย นโยบาย Wow Thailand  ของพรรคชาติไทยพัฒนาที่ต้องการเปลี่ยนปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นความมั่นคงทางเกษตร และสร้างศูนย์กลางคาร์บอนเครดิตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

นับตามหลักคณิตศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนาคงไม่ใช่ตัวเต็งในการเป็นแกนนำจัดตั้งหลังรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของพรรค คือสิ่งที่หลายคนต่างติดตาม โดยเฉพาะเมื่อผู้นำพรรคคือ ท็อป-วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯ

สำหรับพรรคชาติไทยพัฒนา เนื้อหาด้านสิ่งแวดล้อมถูกบรรจุอยู่ในภาพใหญ่ของแคมเปญว้าวไทยแลนด์ “Wow Thailand” โดย W ตัวแรก มาจากคำว่า Wealth หมายถึง ความมั่งคั่ง มั่นคง ร่ำรวย, O มาจากคำว่า Opportunity ซึ่งหมายถึงการสร้างโอกาส ส่วน W ตัวสุดท้าย มาจากคำว่า Welfare for all แปลว่า สวัสดิการ ก่อนที่หลักคิดนี้จะเปลี่ยนเป็นนโยบายต่างๆ เช่น เกษตรรุ่นใหม่ ขายคาร์บอนเครดิตได้, แจกพันธุ์ข้าวฟรีทั่วประเทศ 60 ล้านไร่, ขยายเขตไฟฟ้าการเกษตรทั่วประเทศหน่วยละ 2 บาท

“ในฐานะที่ผมคลุกคลีกับเรื่องสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมเป็นโอกาสและแนวทางหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนสู่ความมั่นคง หากได้เป็นรัฐบาลสิ่งแรกๆที่จะทำให้ประเด็นนี้คือการตั้ง Excellence Center ซึ่งเป็นศูนย์กลางคาร์บอนเครดิตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีมาตรฐานด้านการวัด ประเมิน กำหนดเกณฑ์มาตรฐาน การรับรองผลการตรวจประเมิน การสร้างตลาดซื้อ-ขาย โดยมีประเทศไทยเป็นแกนหลักในภูมิภาค ซึ่งจากนั้นก็จะถูกนำมาสร้างเป็น Carbon credit token และใช้เป็นสินทรัพย์ในการซื้อขายซึ่งมูลค่าจะขึ้นอยู่กับมาตรการอันเป็นที่ยอมรับในสากล” วราวุธ ให้สัมภาษณ์กับ National Geographic Thailand

“สิ่งนี้ถูกนำเสนอให้เป็นรูปธรรมในนโยบายครั้งนี้ เพราะนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากที่ไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่ลงนามข้อตกลงถ่ายโอนคาร์บอนเครดิต กับ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ภายใต้ ข้อ 6.2 ของความตกลงปารีส (Paris Agreement Aticle 6.2) ซึ่งเป็นคู่แรกของโลกที่เซ็นสัญญาระหว่างประเทศ เมื่อปลายปี 2565 การทำเช่นนี้จะเอื้อให้เอกชนระหว่างไทย-สวิตเซอร์แลนด์มีการแลกเปลี่ยน อาทิ เรื่องเทคโนโลยี เรื่องเงินทุน ในทางกลับกันประเทศไทยจะมีการแลก คาร์บอนเครดิตกับทางสวิตเซอร์แลนด์ และเกษตรกรไทยหรือคนไทยก็จะตื่นตัวว่า การไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ สร้างรายได้ให้กับเราจริงๆ

แน่นอนว่า เงินขายคาร์บอนฯ ไม่ได้ทำให้ใครรวยชั่วข้ามคืน แต่ทำไมคาร์บอนเครดิตถึงถูกนำเสนอเป็นหนึ่งในไอเดียหลักของพรรคชาติไทยฯ

วราวุธ ยกตัวอย่างว่า นี่เป็นการเชื่อมโยงระหว่างภาคเกษตรซึ่งเป็นแกนหลักของประเทศและไทยเองก็มีจุดแข็งด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เข้ากับกติกาของโลก เทรนด์ของโลก ซึ่งปัจจุบันนี้วิกฤตโลกร้อน ได้ทำให้ประเทศสำคัญที่เป็นคู่ค้าให้ความสำคัญ

ตัวอย่างเช่น การมีกฎหมาย Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ของยุโรป เป็นกำแพงภาษีกีดกันเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นโอกาสที่เกษตรกรไทยจะต้องปรับเปลี่ยน โดยที่เมื่อเป้าหมายคือเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ระหว่างทางก็จะเกิดกระบวนการพัฒนาคุณภาพการตลิด กลายเป็นข้าวคาร์บอนต่ำหรือข้าวที่มี Carbon Footprint น้อยลงเพื่อให้ตลาดยอมรับ ขณะเดียวเองเกษตรกรต้องได้รับความรู้ในการทำเกษตรสมัยใหม่ เช่น การยกเลิกการเผาหลังการเก็บเกี่ยว การทำนาข้าวเป็นแบบเปียกสลับแห้ง การส่งเสริมวิถีเกษตรแบบปลอดสารพิษ การรับซื้อซากสินค้าเกษตรไปแปรรูป  การผลิตเผาถ่านบำรุงดิน ( BioChar)

“ผมยกตัวอย่างการเผา ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของปัญหา PM2.5 ในประเทศ เราต้องให้ความรู้กับประชาชนว่า สิ่งที่ทำอยู่กำลังฆ่าตัวเอง และถ้ามันเป็นวิถีชีวิตที่ทำมานานก็ถึงเวลาต้องเปลี่ยน เราจะบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้น ในทุกมิติ เช่น หากมีบริษัทสัญชาติไทยไปทำธุรกิจในต่างประเทศและมีส่วนก่อให้เกิดมลพิษเราก็จะดำเนินการให้มันเข้มข้นขึ้นมิเช่นนั้นก็จะเหมือนเดิม”

“สำหรับผมสิ่งที่ยากที่สุดในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมซ้ำซาก ไม่ได้อยู่ที่การมีกติกา มีกฎหมายที่ไม่ดีนะ แต่ความยากคือการบังคับใช้ และการเปลี่ยนพฤติกรรมให้เลิกทำสิ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์กับตัวเองในระยะสั้น แต่สร้างมลพิษให้กับส่วนรวม เป็นพฤติกรรมความเคยชินของคนบางกลุ่มที่ยังเหมือนเดิม”

  • สร้างมูลค่าสินค้าเกษตร เพิ่มรายได้ประเทศ

วราวุธ ยังอธิบายว่า การเชื่อมโยงด้านภาคเกษตรที่พรรคชาติไทยฯ ผลักดัน ยังหมายถึงการเพิ่มมูลค่าสินค้าให้กับภาคเกษตร เช่น การเข้าสินค้าเข้าไปผนวกกับเทคโนโลยีใหม่ การทำให้อาหาร สินค้าเกษตรไทยเป็น Soft power ผ่านรูปแบบอาหารและการกิน

“ผมเรียกมันว่า การต่อยอด เพราะประเทศไทยคงไม่ได้มีพื้นที่ทำการเกษตรมากกว่านี้แล้ว เมื่อพื้นที่เท่าเดิม เมื่อเราเพิ่มปริมาณไม่ได้ โจทย์ของเราคือจะทำให้อย่างไรให้พื้นที่เพาะปลูกที่เท่าเดิม เลี้ยงคนได้มากขึ้น มีมูลค่ามากขึ้น เช่น เวลาเราดูซีรีส์เกาหลีทุกๆฉากที่ต้องรับประทานอาหารจะมีเครื่องดื่มของคนเกาหลี ซึ่งเมื่อความต้องการบริโภคมากขึ้นก็จะทำให้ผลผลิตเกษตรราคาสูงขึ้นด้วย กลายเป็น Soft power ที่นักท่องเที่ยวอยากลิ้มลอง

หรือกรณีการลงทุนกับงานวิจัยนวัตกรรมทางการเกษตร เช่น ครั้งหนึ่งเราเคยขายเปลือกมังคุดให้กับต่างชาติที่มารับซื้อในราคากิโลกรัมละไม่กี่บาท แต่ถูกคนกลางนำไปขายต่อในราคาสูงขึ้น ก่อนที่ปลายทางจะเป็นสหรัฐอเมริกาที่นำเอาไปเป็นส่วนประกอบในยาต้านมะเร็งในราคาหลักหมื่นซึ่งมีราคาสูงกว่าที่เราเคยนับพันนับหมื่นเท่า

“นอกจากนั้น เรายังพร้อมจะสานต่อแนวทางให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สถานะความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2050 – 2065 ตามที่นายกรัฐมนตรี ได้แสดงเจตนารมณ์ไว้ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์

นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของชาติไทย ยังเน้นที่การเร่งขยายการตรวจวัด Carbon Net ที่ได้มาตรฐาน รวดเร็ว แม่นยำ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ และกำหนดตำแหน่งของแปลงการเกษตร ตรวจวัดอายุรายแปลง ให้ได้มาตรฐาน ในกลุ่มพืชเศรษฐกิจ ทั้ง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าว ไม้ผลยืนต้น ป่าไม้ สวนป่า ป่าเสื่อมโทรม ป่าฟื้นตัว และคาร์บอนในดิน  และนำเสนอแนวทางการบริหารจัดการไฟป่าอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างแบบจำลองจุดที่เกิดไฟป่าซ้ำซาก เพื่อกำหนดมาตรฐานการป้องกัน การพัฒนาแนวทางบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตจากไฟป่า โดยให้ประชาชน ชุมชน มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา และได้รับประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ซึ่งหากทำได้จะช่วยลดปัญหาวิกฤติฝุ่น PM 2.5 ได้

เรื่อง : อรรถภูมิ อองกุลนะ

ภาพ : วาระ สุทธิวรรณ

อ่านเพิ่มเติม : เดชรัต สุขกำเนิด : สิ่งแวดล้อมกับเศรษฐกิจคือเรื่องเดียวกัน มองนโยบายสิ่งแวดล้อมของก้าวไกลในการ เลือกตั้ง 2566

Recommend