เรื่อง วตา แซ่ตั้ง
เครดิตภาพจาก vanity fair,imdb
ในตอนที่ โอเวน ซัสคายด์ เกิด เขาดูเหมือนเด็กคนอื่นทั่วๆ ไป จนกระทั่งเมื่ออายุ 3 ขวบครอบครัวของเขาสังเกตได้ถึงความผิดปกติบางอย่าง เขาเริ่มไม่พูด ไม่สบตา ไม่มีการแสดงออกอย่างที่เคยเป็นมา เด็กที่ร่าเริงของครอบครัวซัสคายด์หายไป ทำให้พวกเขากังวลและพาโอเวนไปโรงพยาบาล หมอตรวจพบว่าอาการที่โอเวนเป็นอยู่นั้น คือภาวะออทิซึม หรือโรคออทิสติก ซึ่งทำให้พัฒนาการทางการสื่อสารของเขาหยุดลง ครอบครัวของเขาใจสลาย ก่อนภายหลังจะพบว่า การดูการ์ตูนของดิสนีย์ซึ่งเป็นกิจวัตรเดียวที่ครอบครัวทำร่วมกันได้จะช่วยนำโอเวนให้กลับมา
นั่นคือเรื่องราวของครอบครัวซัสคายด์ที่ถูกบันทึกเป็นหนังสือที่ชื่อว่า Life, Animated: A Story of Sidekicks, Heroes, and Autism โดย รอน ซัสคายด์ พ่อของโอเวน และภายหลังถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์สารคดีซึ่งได้คำตอบรับด้านบวกจากนักวิจารณ์ และเข้าชิงออสการ์ในสาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม
ไม่ใช่ครั้งแรกที่โรคออทิสติกถูกนำมาพูดถึงบนจอเงิน ในช่วงทศวรรษ 80 – 90 เป็นต้นมา มีหนังทั้งฮอลลี่วูดและหนังนอกกระแส ที่พยายามจะสอดแทรกตัวละครที่เป็นออทิสติกเข้ามา แต่บทบาทของพวกเขามักเป็นเพียงสีสัน หรืออุปสรรคให้กับเรื่องราวที่เกิดขึ้น ไม่ได้เพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับออทิสติกให้แก่ผู้ชมเท่าไหร่นัก ในช่วงแรกของทศวรรษที่ 80 ความเข้าใจในโรคออทิสติกของคนทั่วไปมีน้อยมาก คนมักเข้าใจว่าเป็นโรคหรืออาการเดียวกับอาการความบกพร่องทางจิตอื่นๆ อย่าง โรคดาวน์ซินโดรม แม้ว่ามากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เป็นโรคออทิสติกจะมีอาการปัญญาอ่อนร่วม แต่หลายๆครั้งพวกเขาก็เป็นอัจฉริยะผู้สร้างสรรค์โลกได้อย่างน่าทึ่ง อัลเบิร์ต ไอนสไตน์นักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงจากทฤษฎีสัมพันธภาพ เคยได้รับการวินิจฉัยว่าความอัจฉริยะของเขาก็มีอาการของออทิสติกร่วมอยู่ด้วย
โรคออทิสติก หรือ Autism มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกว่า autós (αὐτός) ซึ่งหมายถึง Self หรือ ตัวเอง มาจากลักษณะของผู้ป่วยที่มักจะแยกตัวอยู่ออกนอกจากผู้อื่น โรคนี้ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 1938 โดย นายแพทย์ ฮานส์ แอสเพอเกอร์ กุมารแพทย์จากโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยเวียนนา เขาเรียกพฤติกรรมที่ผิดปกติของเด็กที่มีลักษณะเข้าสังคมลําบาก หมกมุ่นอยู่กับการทําอะไรซ้ำๆ ว่า Asperger syndrome ซึ่งภายหลังถูกนับว่าเป็น 1 ในกลุ่มของอาการโรคออทิสติก ต่อมาในปีค.ศ.1943 จิตแพทย์ ลีโอ แคนเนอร์ จากสถาบันจอห์น ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา ได้ติดตามผู้ป่วยเด็กจํานวน 11 คน ที่มีพฤติกรรมผิดปกติ เช่น การทำซ้ำๆ สื่อสารไม่เข้าใจ ไม่สนใจคนอื่น อยู่นานถึง 5 ปี เขาแยกอาการของโรคออทิสติกออกจากความบกพร่องทางจิตชนิดอื่นและเรียกมันว่า Early Infantile Autism ภายหลังด้วยงานวิจัยที่มากขึ้นทำให้ในปี 2014 สมาคมจิตแพทย์อเมริกันได้เรียกกลุ่มอาการเหล่านี้ว่า “Autism Spectrum Disorder” ซึ่งแบ่งอาการเป็น 4 กลุ่ม คือ โรค Autistic disorder/Autism ,โรค Rett’s Disorder ,โรค Childhood Disintegrative Disorde และ โรค Asperger’s Disorder มีเพียง โรค Asperger’s Disorder ที่ไม่มีภาวะของการเป็นปัญญาอ่อนร่วมในอาการเลย
ในปัจจุบันยังไม่อาจทราบแน่ชัดได้ว่าโรคออทิสติกเกิดจากสาเหตุใด แต่เชื่อกันว่าเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมและภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ อาการโดยทั่วไปของคนเป็นโรคออทิสติก จะปรากฏให้เห็นในช่วง 3 เดือน – 3 ขวบ เด็กจะมีอาการไม่สบตา ไม่แสดงอารมณ์ ไม่พูด หรือมีการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่สามารถเล่นบทบาทสมมติได้ มักจะมีอาการทำซ้ำ ทำให้การเรียนรู้ของผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นไปค่อนข้างลำบากกว่าคนทั่วไป แต่อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยได้รับการรักษาและดูแลอย่างใกล้ชิดก็จะสามารถช่วยตัวเองและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้
ตลอดทั้งเรื่องของภาพยนตร์สารคดีแสดงให้เห็นว่า แม้ว่าบุคคลที่มีภาวะโรคออทิสติกจะมีปัญหาในการแสดงออก และการเข้าสังคมกับผู้อื่น แต่ไม่ใช่ว่าพวกเขาจะขาด หรือไร้ความรู้สึกเสียทีเดียว พวกเขามีอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด และ มีความรักอย่างมนุษย์ปุถุชนทั่วไป โอเวนมีความรัก มีแฟน และมีความรู้สึกอกหักหลังจากที่ต้องเลิกรากับแฟนสาว เขาแสดงความกระวนกระวายใจด้วยการเดินไปเดินมารอบห้อง และการดูการ์ตูนดิสนีย์ซ้ำตอน ระบายความรู้สึกคับข้องใจที่เขาไม่สามารถแสดงออกมาได้
ผู้ป่วยโรคออทิสติกไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง และอะไรที่ไม่มีการเตรียมการมาล่วงหน้า พวกเขาจะแสดงออกด้วยท่าทางแปลกๆเมื่อเกิดสิ่งไม่คาดคิดเกิดขึ้น ทำให้คนทั่วไปหวาดกลัวผู้ป่วย และมองว่าพวกเขาเป็นปัญหาสังคม ไม่ควรอยู่ร่วมกับผู้อื่น ทั้งนี้ในความเป็นจริงแล้วสิ่งเหล่านั้นเป็นการแสดงออกเพื่อขอความช่วยเหลือ หรือระบายความไม่สบายใจออกมา ดังนั้นหากเจอการแสดงพฤติกรรมแปลกๆ ของผู้ป่วย ไม่ควรเมินเฉย หรือปล่อยพวกเขาเพียงลำพัง การอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโรคออทิสติกไม่ใช่เรื่องยาก หากแต่มีความเข้าใจในธรรมชาติของโรคที่พวกเขาเป็น
สิ่งที่ภาพยนตร์สารคดีต้องการบอกพวกเราไม่ใช่แค่การพยายามทำความเข้าใจชีวิตของผู้ที่เป็นออทิสติกอย่างโอเวน แต่คือการกลับหันมามองชีวิตของพวกเรา บทสนทนาของโอเวน เรียบง่ายตรงไปตรงมาเช่นเดียวกับโลกที่ในมุมมองที่เขาเห็น การที่เขาถามแม่ของเขาถึงชีวิต ความเจ็บปวด ความเสียใจ การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ไม่ว่าเราจะเป็นมนุษย์แบบไหน เป็นออทิสติกหรือไม่ก็ตาม เราต่างต้องเผชิญปัญหาและความเปลี่ยนแปลง สิ่งเหล่านี้ทำให้เราทุกคนเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน แต่ไม่ว่ามันจะน่าหวาดหวั่นมากแค่ไหน ท้ายที่สุดแล้วมันจะผ่านพ้นไป ประสบการณ์จะสอนให้เรารู้จักที่จะรับมือ เติบโตขึ้น พร้อมที่จะอยู่กับมันได้และกล้าที่จะเผชิญโลกใหม่ที่กว้างขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา