ใครคือผู้ประดิษฐ์เครื่องมือหินอายุ 700,000 ปี ในฟิลิปปินส์?

ใครคือผู้ประดิษฐ์เครื่องมือหินอายุ 700,000 ปี ในฟิลิปปินส์?

ใครคือผู้ประดิษฐ์ เครื่องมือหิน อายุ 700,000 ปี ในฟิลิปปินส์?

เครื่องมือหิน ที่พบในฟิลิปปินส์ถูกประดิษฐ์ขึ้นก่อนที่มนุษย์สมัยใหม่จะเดินทางมาถึงหลายแสนปี และขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ต้องการหาคำตอบว่าใครกันคือผู้ประดิษฐ์?

รายงานของสิ่งประดิษฐ์อันน่าสะดุดตานี้ถูกเผยแพร่ลงในวารสาร Nature เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2018 มันถูกทิ้งร้างอยู่ข้างเศษซากของกระดูกแรดบนที่ราบลุ่มของเกาะลูซอน เห็นได้ชัดเจนว่าเครื่องมือหินเหล่านี้มีไว้เพื่อตัดเฉือนเนื้อแรดออกมากินจากรอยตัดเป็นมุมบริเวณซี่โครง นอกจากนั้นยังพบร่องรอยของการทุบกระดูกให้แตก คล้ายกับว่าใครบางคนต้องการกินไขกระดูกในนั้น

แต่สิ่งที่ทำให้การค้นพบครั้งนี้พิเศษก็คืออายุของมัน เครื่องมือหินและเศษกระดูกเหล่านี้มีอายุเก่าแก่ 631,000 – 777,000 ปี ซึ่งทีมนักวิจัยประมาณตัวเลขที่ใกล้เคียงที่สุดอยู่ที่ราว 709,000 ปี มันเป็นช่วงเวลาก่อนที่มนุษย์สายพันธุ์โฮโมเซเปียนส์จะเดินทางมาถึง และหลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่พวกเขามีเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในฟิลิปปินส์ก็คือกระดูกเท้าจากถ้ำ Callao บนเกาะลูซอน ซึ่งมีความเก่าแก่เพียง 67,000 ปีเท่านั้น

“มันน่าประหลาดใจมากที่พบการตั้งถิ่นฐานเก่าแก่ขนาดนี้ในฟิลิปปินส์” Thomas Ingicco หัวหน้าการวิจัย ผู้เป็นนักโบราณคดีจากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาในฝรั่งเศสกล่าว ดูเหมือนว่าผลงานครั้งนี้จะเป็นฝีมือของสายพันธุ์ที่เป็นญาติกับมนุษย์ แต่คำถามสำคัญที่ทำให้บรรดาผู้ศึกษาเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ต้องงงวยก็คือ พวกเขาเดินทางมายังฟิลิปปินส์ได้อย่างไร?

“มันเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นมากครับ” Michael Petraglia นักบรรพชีวินวิทยาจากสมาคมมักซ์พลังค์ ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์มนุษย์กล่าวว่า “แม้จะมีการอ้างก่อนหน้านี้ว่ามีมนุษย์ยุคแรกๆ เคยตั้งถิ่นฐานในฟิลิปปินส์ แต่ก็ไม่เคยมีหลักฐานที่ชัดเจนเท่าหลักฐานล่าสุดนี้”

 

พิสูจน์ความเก่า

ถิ่นที่อยู่หลายแห่งบริเวณเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้นั้นเป็นน่านน้ำเปิด ดังนั้นแล้วมนุษย์โบราณไม่สามารถเดินทางมาถึงได้หากพวกเขาไม่มีความรู้นการแล่นเรือ แต่แม้จะดูเป็นหนทางยากลำบาก สุดท้ายมนุษย์โบราณก็หาทางจนได้ ในปี 2004 มีรายงานการค้นพบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของ Homo floresiensis บนเกาะ Flores ทางตะวันออกของอินโดนีเซียเมื่อหลายแสนปีก่อน และในปี 2016 ทีมนักวิจัยพบเครื่องมือหินบนเกาะสุลาเวสี ทางตอนเหนือของเกาะ Flores โดยเครื่องมือดังกล่าวมีอายุเก่าแก่มากถึง 118,000 ปี หรือเรียกได้ว่าเกิดขึ้นก่อนการมาถึงของมนุษย์สมัยใหม่ 60,000 ปีเลยทีเดียว

“มันเป็นหลักฐานที่ชัดเจนครับว่าสายพันธุ์ของมนุษย์โบราณสามารถเดินทางข้ามทะเลน้ำลึกได้” Adam Brumm นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัย Griffith ผู้ศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์ Homo floresiensis กล่าว

และในการค้นหา Ingicco ร่วมมือกับ John de Vos นักชีววิทยาชาวเนเธอร์แลนด์ออกสำรวจพื้นที่โบราณคดีทางตอนเหนือของเกาะลูซอนที่มีชื่อว่าบริเวณ Kalinga พวกเขาพบตัวอย่างของกระดูกสัตว์และเครื่องมือหินที่ถูกค้นพบมาตั้งแต่ทศวรรษ 1950 แต่ด้วยความที่ตัวอย่างนั้นกระจัดกระจายเป็นเศษซากทำให้ไม่สามารถระบุอายุความเก่าแก่ได้ ฉะนั้นแล้วเพื่อพิสูจน์ว่าในอดีตเคยมีมนุษย์โบราณอาศัยอยู่ที่นี่จริงหรือไม่ พวกเขาจำเป็นต้องหาเครื่องมือหินที่ยังคงถูกฝังอยู่เพิ่มเติม

ในปี 2014 ทีมวิจัยขุดพบกระดูกของแรดที่สูญพันธุ์ไปแล้ว จากนั้นพวกเขาก็พบเครื่องมือหินตามมา ในการคำนวณหาอายุทีมนักวิจัยใช้ฟันของแรดเพื่อหาว่ามีปริมาณรังสีที่ดูดซับตามธรรมชาติอยู่เท่าไหร่ นอกจากนั้นพวกเขายังเก็บตัวอย่างของโคลนบริเวณรอบๆ ที่ค้นพบไปตรวจสอบ ผลปรากฏว่ามีร่องรอยของเศษหญ้าที่ถูกเผาจากการกระแทกของเศษดาวเคราะห์น้อยเมื่อราว 781,000 ปีก่อนอีกด้วย

“ทุกวันนี้คุณต้องใช้หลายวิธีมากในการพิสูจน์อายุ เนื่องจากในอดีตหลายงานวิจัยก็ผิดพลาด” Gerrit van den Bergh หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Wollongong กล่าว

 

ผู้ต้องสงสัยที่ไม่ธรรมดา

หนึ่งในผู้ต้องสงสัยที่อยู่ในลิสต์ของทีมวิจัย ว่าเป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องมือเหล่านี้คือ มนุษย์เดนีโซวัน อีกหนึ่งสายพันธุ์มนุษย์ในเอเชียที่ถูกค้นพบในภูมิภาคไซบีเรีย อย่างไรก็ดีผู้ต้องสงสัยหลักคือมนุษย์โฮโม อีเร็กตัส เนื่องจากมีหลักฐานทางฟอสซิลว่าพวกเขาตั้งถิ่นฐานในบริเวณเกาะชวาเมื่อ 700,000 ปีก่อน

ด้านทีมของ Ingicco เชื่อว่าผู้ประดิษฐ์เครื่องมือหินและสังหารแรดโบราณตัวนี้น่าจะเป็นมนุษย์ Homo floresiensis ซึ่งอาจสืบเชื้อสายมาจากมนุษย์โฮโม อีเร็กตัส วิวัฒนาการในช่วงหลายพันปีอาจช่วยให้พวกเขาอาศัยอยู่บนเกาะเล็กๆ ที่ปราศจากนักล่าได้อย่างรุ่งโรจน์

ทว่าในปี 2010 Armand Mijares นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัย Diliman ในฟิลิปปินส์ค้นพบกระดูกเท้าในถ้ำ Callao ซึ่งเป็นหลักฐานคาบเกี่ยวระหว่างมนุษย์สมัยใหม่และมนุษย์ Homo floresiensis เป็นไปได้หรือไม่ที่มีมนุษย์อีกสายพันธุ์หนึ่งซึ่งอาจจะสืบเชื้อสายมาจากมนุษย์โฮโม อีเร็กตัสเช่นกัน อาศัยอยู่ ณ พื้นที่แห่งนี้? อย่างไรก็ดียังเร็วเกินไปที่จะสรุปแบบนั้น “เราไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับช่วงเวลา 600,00 ปีก่อนเลยครับ” Petraglia กล่าว

 

งานวิจัยสุดหิน

ไม่ว่าใครก็ตามที่ประดิษฐ์เครื่องมือนี้ เป็นไปได้ว่าพวกเขาใช้เส้นทางอพยพ 2 เส้นทางมายังหมู่เกาะในฟิลิปปินส์ รายงานจากทีมของ Ingicco หนึ่งคือทางตะวันตกไปทางตะวันออกจากเกาะบอร์เนียว สองคือทางเหนือไปใต้จากจีนหรือไต้หวัน คำถามใหญ่ยังคงค้างคานั่นคือ มนุษย์โบราณเดินทางข้ามทะเลลึกได้อย่างไร

จินตนาการถึงภาพลูกพี่ลูกน้องสายพันธุ์มนุษย์ของเรากำลังใช้เรือ ย้อนกลับไปในปี 2010 เมื่อข่าวการค้นพบในถ้ำ Callao ถูกเผยแพร่ออกไป ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่ามนุษย์โบราณสามารถสร้างเรือได้ แต่สำหรับร่องรอยของแรดและช้างที่พบบนเกาะลูซอนล่ะ แน่นอนว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้สร้างเรือเองไม่ได้แน่ ฉะนั้นแล้วเป็นไปได้หรือไม่ว่าบรรดาสัตว์ใหญ่เหล่านี้อาจถูกพัดพามาโดยไม่ตั้งใจพร้อมกับดิคโคลนและพายุ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในฟิลิปปินส์  สึนามิที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอาจพัดเอามนุษย์ Homo floresiensis หลุดออกสู่ทะเล พวกเขาอาจคว้าจับเอาต้นไม้ที่ถูกพัดมาเช่นกัน และลงเอยขึ้นฝั่งที่เกาะแห่งนี้

“มันอาจเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ ไม่ใช่ความตั้งใจ” Russell Ciochon นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยไอโอวากล่าว ยังคงมีคำถามค้างคาก็คือ จะเป็นอย่างไรถ้าในอดีตมนุษย์ Homo floresiensis เหล่านี้เคยได้ติดต่อกับบรรพบุรุษของมนุษย์สมัยใหม่กลุ่มแรกที่เดินทางมาถึงเกาะลูซอน “พวกเขาได้เผชิญหน้ากันหรือไม่? พวกเขาจะมีท่าทีอย่างไรต่อกัน?” Brumm กล่าว

คำถามเหล่านี้ยังคงต้องค้นคว้าหาคำตอบกันต่อไป ซึ่งทีมนักวิจัยระบุว่าเรื่องราวความเป็นมาของมนุษย์บนเกาะลูซอนนั้นยังคงมีอีกมาก และนี่เพี่งจะเป็นบทเริ่มต้นเท่านั้น

เรื่อง มิคาเอง เกรสโค

 

อ่านเพิ่มเติม

มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ล่าสลอธยักษ์เป็นอาหาร

Recommend