ผมก็เป็นอเมริกันคนหนึ่ง เสียงจากชาวญี่ปุ่นใน ค่ายกักกัน สหรัฐฯ
เป็นเรื่องบังเอิญแท้ๆ ตอนที่ฉันไปห้องสมุดประชาชนในเมืองเล็กๆ อย่างแอชแลนด์ รัฐออริกอน เพื่อหาหนังสือน่าสนใจอ่าน ฉันประจันหน้ากับเด็กๆ ชาวเอเชียในภาพถ่ายขาวดำภาพหนึ่ง เด็กๆ เหล่านั้นยิ้มสดใสจากหลังรั้วลวดหนามของ ค่ายกักกัน
เมื่อพลิกดูไปแต่ละหน้า ฉันอดสงสัยไม่ได้ว่า “เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ไหนนะ” ในใจคิดว่าคงเป็นที่ไหนสักแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจเป็นส่วนหนึ่งของสงครามเวียดนามก็ได้ ตอนนั้นเองที่ฉันได้รู้เรื่องนี้เป็นครั้งแรกในวัย 17 ปีว่า พลเรือนอเมริกันที่มีบรรพบุรุษเป็นคนญี่ปุ่นถูกกวาดต้อนและกักกันในอเมริกา ตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และที่น่าประหลาดใจกว่านั้นคือ ฉันเองก็เป็นลูกสาวของผู้อพยพชาวญี่ปุ่น
อะไรทำให้อเมริกาต้องกักกันพลเรือนกว่า 120,000 คน ซึ่งสองในสามเป็นพลเมืองอเมริกัน โดยไม่มีกระบวนไต่สวนใดๆ ในช่วงสงคราม กระทั่งทุกวันนี้ จุนโซะ เจค โอฮาระ ยังพยายามหาคำตอบ “ผมว่ามันอาจเป็นเพราะอคติ ก็ไม่รู้เหมือนกัน” โอฮาระวัย 89 ปีผู้เคยถูกกักกันนานถึงสามปี กล่าว “เขาคงกลัวพวกเรากระมัง ผมเดานะ”
ตอนที่ญี่ปุ่นบุกจู่โจมเพิร์ลฮาร์เบอร์แบบสายฟ้าแลบ กดดันสหรัฐฯ ให้เข้าสู่สงครามด้วยยอดผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บกว่า 3,500 ราย รวมทั้งสร้างความเสียหายย่อยยับให้กองเรือสหรัฐฯ เหตุการณ์นี้เปรียบเสมือนไม้ขีดที่จุดเผากองเชื้อไฟสำหรับผู้มีเชื้อสายญี่ปุ่นในสหรัฐอเมริกา ความโกรธแค้นโหมกระพือทั่วประเทศ เมื่อญี่ปุ่นโหมโจมตีแปซิฟิกอย่างดุดัน ยึดเกาะกวม เกาะเวก และฮ่องกง รวมทั้งบีบบังคับกองทัพสหรัฐฯ ในฟิลิปปินส์ให้ยอมจำนน
ในไม่ช้าความกลัวว่าญี่ปุ่นอาจรุกรานชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ทำให้อเมริกาตระหนก เช่นเดียวกับข่าวบิดเบือนและข่าวลือที่ไม่ทราบแหล่งที่มาซึ่งแพร่สะพัดไปทั่วว่า ชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นในฮาวายให้การช่วยเหลือการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์
แฟรงก์ น็อกซ์ รัฐมนตรีทบวงทหารเรือสหรัฐฯ ให้น้ำหนักกับทฤษฏีสมคบคิด ขณะที่คนอื่นๆ เรียกร้องให้ใช้มาตรการเด็ดขาดต่อต้านชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่น มีเพียงไม่กี่คนกับสื่อมวลชนเพียงหยิบเท่านั้นที่ตั้งคำถามว่า การต่อต้านประชาชนที่มีเชื้อสายญี่ปุ่นนั้นชอบด้วยเหตุผลหรือถูกทำนองคลองธรรมจริงหรือ
ต่อมาทหารจากกองทัพบกสหรัฐฯ เริ่มเคาะประตูบ้านและติดคำสั่งเคลื่อนย้ายในย่านหรือชุมชนเป้าหมายในแคลิฟอร์เนีย ออริกอน วอชิงตัน และแอริโซนา โดยใช้ข้อมูลทางลับที่ได้จากสำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรสหรัฐฯ ประชาชนเหล่านั้นสามารถนำสัมภาระเท่าที่หอบหิ้วไปได้และถูกบีบให้ละทิ้งสมบัติที่ถือครองภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ หรือกระทั่งไม่กี่วัน บางคนจำต้องขายทรัพย์สินให้พวกฉกฉวยโอกาสอย่างขาดทุนชนิดประเมินไม่ได้ ขณะที่บางคนสุมสิ่งของมีค่าในโกดังที่ดัดแปลงจากโรงรถที่บ้าน ปล่อยบ้านให้เช่า หรือหาคนมาดูแลอสังหาริมทรัพย์ ทว่าบ้านเรือนจำนวนไม่น้อยถูกปล้น ค่าเช่าค้างจ่าย และคนดูแลบ้านไม่น้อยที่ทรยศต่อความไว้วางใจของครอบครัวเหล่านั้น ด้วยการขายหรือทอดทิ้งทรัพย์สินของพวกเขา แต่ละครอบครัวได้รับหมายเลขที่เขียนบนป้ายติดสัมภาระและตัวบุคคลเหมือนกัน และเป็นสิ่งระบุอัตลักษณ์ใหม่ของพวกเขา กองทัพทำงานอย่างมีประสิทธิภาพจนทำให้มี “ศูนย์แรกรับ” (assembly center) ชั่วคราวเกิดขึ้นตามลานตลาดนัดและสนามแข่งม้าในระหว่างก่อสร้าง “ศูนย์โยกย้าย” (relocation center) สนามแข่งม้าแซนตาแอนิตาในลอสแอนเจลิสเป็นศูนย์แรกรับใหญ่ที่สุด รองรับได้มากกว่า 18,000 คน และเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ผู้คนถูกบังคับให้อาศัยอยู่ในคอกม้า
แม้ชัยชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในสมรภูมิมิดเวย์ของสหรัฐฯ เมื่อเดือนมิถุนายนปี 1942 จะช่วยลบล้างความหวาดกลัวการโจมตีแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯ จากญี่ปุ่น แต่ค่ายเหล่านี้ก็ยังไม่ถูกปิด ท้ายที่สุด ชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นบางส่วนที่ได้รับการยืนยันว่าจงรักภักดี ก็ได้รับการปล่อยตัว แต่ส่วนใหญ่ยังถูกบังคับกักกัน เดือนแล้วเดือนเล่าจนล่วงเลยไปหลายปี ทารกกว่า 5,000 คนถือกำเนิดระหว่างพ่อแม่ถูกกักกัน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 คน หนึ่งในนั้นคือ โทราโซะ ซากาอุเอะ วัย 67 ปีที่ค่ายแมนซานาร์ วอลเตอร์ โยชิฮารุ ซากาอุเอะ ผู้เป็นหลานชายเล่าว่า “ผมว่าที่ปู่ตายคงเพราะตรอมใจครับ” เขาเสริมว่า “ท่านไม่ได้ทำอะไรผิดเลย”
คนที่แข็งขืนมีอยู่บ้าง อย่างชายหนุ่มนาม เฟรด โคเรมัตสึ ที่ปฏิเสธการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวและฝืนอยู่ในแซนลีแอนโดร แคลิฟอร์เนีย หลังจากกองทัพประกาศให้เป็น “พื้นที่ทหาร” และเขตหวงห้ามของประชาชนเชื้อสายญี่ปุ่นทั้งหมด โคเรมัตสึถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดฐานละเมิดคำสั่งให้ออกจากพื้นที่ เขาอุทธรณ์คำตัดสินตามกระบวนการยุติธรรมจนถึงศาลสูงสุด แฟรงก์ เมอร์ฟี ผู้พิพากษาศาลสูงสุดบันทึกว่า การปฏิบัติต่อประชาชนที่มีเชื้อสายญี่ปุ่นต่างจากประชาชนที่มีเชื้อสายอิตาลีหรือเยอรมันซึ่งล้วนเป็นประเทศที่บรรพบุรุษเคยเป็นคู่สงครามกับสหรัฐอเมริกา ถือว่าเป็น “การทำให้การเหยียดเชื้อชาติชอบด้วยกฎหมาย” กระนั้นศาลสูงสุดก็มีมติหกต่อสามให้ยืนคำพิพากษาลงโทษ โดยเห็นพ้องกับรัฐบาลว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความจำเป็นทางทหาร
คณะผู้พิพากษาไม่ทราบถึงรายงานจากหน่วยสืบราชการลับของกองทัพเรือที่ระบุว่า ไม่พบหลักฐานว่า ชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นแสดงความเป็นปฏิปักษ์ทางทหาร หรือทำตัวเป็นสายลับ หรือให้สัญญาณแก่เรือดำน้ำ อย่างที่รัฐบาลกล่าวอ้าง รัฐบาลสหรัฐฯ ยอมรับในปี 2011 ว่า ที่คณะผู้พิพากษาไม่ทราบเรื่องก็เพราะอัยการศาลสูงสหรัฐฯ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองจงใจปกปิดรายงานดังกล่าวต่อศาล
เวลาล่วงเลยมากว่า 70 ปี หลังการสอบสวนโดยคณะกรรมาธิการที่รัฐสภาสหรัฐฯ จัดตั้งขึ้น ในที่สุด ศาลสูงสุดก็เพิกถอนคำตัดสินในปี 1944 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประธานศาลสูงสุด จอห์น จี. โรเบิร์ตส์ จูเนียร์ เขียนไว้ว่า การบังคับขืนใจให้พลเมืองสหรัฐฯ เข้า “ค่ายกักกัน บนพื้นฐานของเชื้อชาติเพียงอย่างเดียวและโจ่งแจ้ง เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายอย่างชัดเจน และอยู่นอกเหนือขอบเขตอำนาจของประธานาธิบดี”
เรื่อง แอน เคอร์รี
ภาพถ่าย พอล คิตากากิ จูเนียร์
อ่านเพิ่มเติม