กำแพงเบอร์ลิน สัญลักษณ์แห่งสงครามเย็น ถูกสร้างขึ้นและพังทลายลงได้อย่างไร

กำแพงเบอร์ลิน สัญลักษณ์แห่งสงครามเย็น ถูกสร้างขึ้นและพังทลายลงได้อย่างไร

สัญลักษณ์ที่น่ารังเกียจของสงครามเย็นถูกสร้างขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ชาวเยอรมันตะวันออกหลบหนีไปยังเยอรมันตะวันตก การต่อสู้เพื่อปลดแอกที่กินเวลานานหลายทศวรรษทำให้ กำแพงเบอร์ลิน ล่มสลายลงในที่สุด

เป็นเวลาเกือบ 30 ปีที่เบอร์ลินถูกแบ่งแยก มิใช่เพียงอุดมการณ์เท่านั้น แต่ด้วยกำแพงคอนกรีตที่แผ่ขยายไปทั่วเมือง มันทำหน้าที่เสมือนเป็นสัญลักษณ์อันอัปลักษณ์ของสงครามเย็น กำแพงเบอร์ลิน ได้ถูกสร้างขึ้นอย่างเร่งรีบ และถูกทำลายลงโดยน้ำมือของผู้ประท้วง มีความยาวกว่า 43 กิโลเมตร ได้รับการปกป้องด้วยลวดหนาม สุนัขจู่โจม และทุ่นระเบิดกว่า 55,000 ลูก

ถึงแม้ว่ากำแพงจะสามารถยืนหยัดได้ในระหว่างปี 1961 ถึงปี 1989 ทว่า มันกลับไม่สามารถเอาตัวรอดจากการขบวนการประชาธิปไตยครั้งใหญ่ ที่ลงเอยด้วยการโค่นล้มสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี (German Democratic Republic – GDR) และนำมาสู่การสิ้นสุดสงครามเย็น

กำแพงเบอร์ลิน มีต้นกำเนิดในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อเยอรมนีถูกแบ่งแยกเป็นสี่ส่วนและถูกครอบครองโดยมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตร ถึงแม้เบอร์ลินจะตั้งอยู่ห่างจากพรมแดนสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี (GDR) และเยอรมนีตะวันตก กว่า 144 กิโลเมตร ซึ่งในตอนนั้นถูกล้อมด้วยเขตของโซเวียตทั้งหมด แต่เดิมเมืองนี้ถูกแบ่งออกเป็นสี่ส่วน แต่ในปี 1947 ก็ได้ถูกรวมเป็นโซนตะวันออกและตะวันตก

กำแพงเบอร์ลิน, เยอรมนีตะวันออก, เยอรมนีตะวันตก
กำแพงเบอร์ลินที่ทอดยาวเกือบ 44 กิโลเมตรทั่วเมือง ใช้กับระเบิด สุนัข และลวดหนามเพื่อกีดกันความพยายามในการหลบหนี กระนั้น ผู้คนมากกว่า 5,000 คน ยังสามารถหลบหนีไปถึงยุโรปตะวันตกได้ ภาพถ่าย NORBERT ENKER, LAIF/REDUX

ในปี 1949 ได้มีการตั้งสองเยอรมนีอย่างเป็นทางการ สังคมนิยมเยอรมนีตะวันออกประสบกับความยากจน การหยุดงานประท้วงของคนงานเพื่อตอบโต้ต่อระบบการเมืองและเศรษฐกิจใหม่ ภาวะสมองเสื่อมและการขาดแคลนแรงงาน ส่งผลให้เยอรมนีตะวันออกปิดกั้นพรมแดนที่ติดกับเยอรมนีตะวันตกในปี 1952 ส่งผลให้การข้ามพรมแดนจาก “คอมมิวนิสต์ยุโรป” สู่ “ยุโรปที่มีอิสระ” เป็นไปได้อย่างยากลำบาก

ชาวเยอรมันตะวันออกเริ่มหลบหนีผ่านพรมแดนระหว่างเบอร์ลินตะวันออกและเบอร์ลินตะวันตกที่ลอดผ่านเข้าไปได้ง่ายกว่า จนถึงจุดที่ผู้คนกว่า 1,700 คนต่อวัน ขอสถานะผู้ลี้ภัยเพื่อข้ามจากตะวันออกไปยังเบอร์ลินตะวันตก พลเมืองของเยอรมนีตะวันออกรวมกว่า 3 ล้านคนได้เดินทางไปเยอรมนีตะวันตกในช่วงปี 1949 ถึง 1961

กลางดึกของวันที่ 13 สิงหาคม 1961 ขณะที่ชาวเบอร์ลินหลับใหล เยอรมนีตะวันออกก็ได้เริ่มสร้างรั้ว และแนวกั้นเพื่อปิดทางเข้าจากเบอร์ลินตะวันออกไปยังส่วนตะวันตกของเมือง การเคลื่อนไหวชั่วข้ามคืนนี้ทำให้ชาวเยอรมันทั้งสองด้านตกตะลึงกับพรมแดนใหม่ ขณะที่ทหารของเยอรมนีตะวันออกตรวจตราแนวเขต และคนงานเริ่มสร้างกำแพงคอนกรีต เจ้าหน้าที่ทางการทูตและกองทัพของทั้งสองฝ่ายต่างก็ขัดแย้งกันอย่างตึงเครียด

กำแพงเบอร์ลิน, เยอรมนีตะวันออก, เยอรมนีตะวันตก
ชาวเยอรมันตะวันตกไต่กำแพงเบอร์ลินต่อหน้าทหารเยอรมันตะวันออก ในขณะที่กำแพงแห่งสงครามเย็นได้พังทลายลงในเดือนพฤศจิกายน ปี 1989 ภาพถ่าย HESSE, ULLSTEIN BILD/GETTY

ในที่สุด เยอรมนีตะวันออกได้สร้างกำแพงคอนกรีตยาว 44 กิโลเมตรทั่วเมือง ที่จริงแล้วกำแพงนั้นเป็นกำแพงคู่ขนานสองแห่งที่ถูกคั่นด้วยหอคอยป้องกัน และแยกจากกันด้วย “แถบมรณะ” (death strip) ซึ่งรวมถึงการวิ่งของสุนัขเฝ้ายาม ทุ่นระเบิด ลวดหนาม และสิ่งกีดขวางต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันการหลบหนี ทหารของเยอรมนีตะวันออกเฝ้าสังเกตการณ์ตลอด 24 ชม. พร้อมทั้งสอดส่องไปยังเยอรมนีตะวันตก และได้รับคำสั่งให้ยิงสังหารหากพบผู้หลบหนี

ในช่วงแรกผู้คนพยายามหลบหนี พวกเขาหนีออกจากบ้านตามแนวกำแพง ต่อมา บ้านเหล่านั้นว่างเปล่าและกลายเป็นป้อมปราการสำหรับกำแพงเสียเอง คนอื่นๆ วางแผนหลบหนีที่เสี่ยงมากกว่าโดยผ่านอุโมงค์ ขึ้นบอลลูน หรือแม้แต่รถไฟ ระหว่างปี 1961 ถึง 1989 ผู้คนกว่า 5,000 คนหลบหนีได้สำเร็จ แต่คนอื่นๆไม่ได้โชคดีนัก มีคนไม่ต่ำกว่า 140 คนถูกฆ่า หรือเสียชีวิตขณะพยายามข้ามกำแพง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กำแพงกลายเป็นสัญลักษณ์ที่น่าหดหู่ของสงครามเย็น จนกระทั่งปี 1989 ชาวเยอรมันตะวันออกจำนวนมากเริ่มไม่ยอมทนอีกต่อไป พวกเขาจัดการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยหลายครั้ง ในขณะเดียวกัน กลุ่มประเทศของสหภาพโซเวียตเกิดความไม่มั่นคงจากความวิบัติทางเศรษฐกิจ และการปฏิรูปทางการเมือง

นักธุรกิจ อัลฟีย โฟด์ (Alfine Fuad) แสดงให้เห็นวิธีที่เขาลักลอบนำครอบครัวของเขาออกจากเบอร์ลินตะวันออกผ่านจุดตรวจชาร์ลี (Checkpoint Charlie) ในปี 1976 ภาพถ่าย CHRIS HOFFMANN, PICTURE ALLIANCE/GETTY

ในคืนวันที่ 9 พฤศจิกายน 1989 Günter Schabowski เจ้าหน้าที่ของพรรคเบอร์ลินตะวันออกได้ประกาศการปฏิรูปการเดินทางที่จะเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการประท้วง แต่สื่อสารไปแบบไม่ระมัดระวังจนทำให้ดูราวกับว่าเยอรมนีตะวันออกได้เปิดพรมแดนแล้วจริงๆ ชาวเบอร์ลินตะวันออกหลายพันคนหลั่งไหลเข้าสู่จุดผ่านแดนตามแนวกำแพง จนในที่สุดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่กำลังสับสนได้เปิดประตูพรมแดน

ขณะที่ชาวเบอร์ลินตะวันออกเคลื่อนผ่าน ชาวเบอร์ลินตะวันตกหลายหมื่นคนได้พบกับพวกเขา มันเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ และการเฉลิมฉลองอย่างล้นหลาม ระหว่างที่พวกเขาเฉลิมฉลองด้วยแชมเปญ ดนตรี และน้ำตา ชาวเบอร์ลินได้ทุบทำลายกำแพงด้วยค้อน และสิ่ว ไม่ถึงเดือนหลังจากนั้นประเทศเยอรมนีตะวันออกได้ล่มสลายลงทั้งหมด และในปี 1990 เยอรมนีก็กลับมารวมตัวกันในที่สุด

สหภาพโซเวียตปฏิบัติตามคำร้อง ในปัจจุบันการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดของสงครามเย็น ทุกวันนี้ ก้อนหินปูถนนสองแถวทำเครื่องหมายเพื่อย้ำเตือนถึงสถานที่ที่ครั้งหนึ่งเคยมีกำแพงตั้งอยู่

เรื่อง เอริน เบลคมอร์

แปลโดย ปรมินทร์ แสงไกรรุ่งโรจน์

โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม โลกจะเป็นอย่างไรถ้าพรรคนาซีชนะสงคราม?

พรรคนาซี

Recommend