ผมก็เป็นอเมริกันคนหนึ่ง เสียงจากชาวญี่ปุ่นในค่ายกักกันสหรัฐฯ

ผมก็เป็นอเมริกันคนหนึ่ง เสียงจากชาวญี่ปุ่นในค่ายกักกันสหรัฐฯ

ผมก็เป็นอเมริกันคนหนึ่ง เสียงจากชาวญี่ปุ่นใน ค่ายกักกัน สหรัฐฯ

เป็นเรื่องบังเอิญแท้ๆ ตอนที่ฉันไปห้องสมุดประชาชนในเมืองเล็กๆ อย่างแอชแลนด์ รัฐออริกอน เพื่อหาหนังสือน่าสนใจอ่าน ฉันประจันหน้ากับเด็กๆ ชาวเอเชียในภาพถ่ายขาวดำภาพหนึ่ง เด็กๆ เหล่านั้นยิ้มสดใสจากหลังรั้วลวดหนามของ ค่ายกักกัน

เมื่อพลิกดูไปแต่ละหน้า  ฉันอดสงสัยไม่ได้ว่า “เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ไหนนะ” ในใจคิดว่าคงเป็นที่ไหนสักแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจเป็นส่วนหนึ่งของสงครามเวียดนามก็ได้ ตอนนั้นเองที่ฉันได้รู้เรื่องนี้เป็นครั้งแรกในวัย 17 ปีว่า พลเรือนอเมริกันที่มีบรรพบุรุษเป็นคนญี่ปุ่นถูกกวาดต้อนและกักกันในอเมริกา ตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และที่น่าประหลาดใจกว่านั้นคือ ฉันเองก็เป็นลูกสาวของผู้อพยพชาวญี่ปุ่น

อะไรทำให้อเมริกาต้องกักกันพลเรือนกว่า 120,000 คน ซึ่งสองในสามเป็นพลเมืองอเมริกัน โดยไม่มีกระบวนไต่สวนใดๆ ในช่วงสงคราม กระทั่งทุกวันนี้ จุนโซะ เจค โอฮาระ ยังพยายามหาคำตอบ “ผมว่ามันอาจเป็นเพราะอคติ ก็ไม่รู้เหมือนกัน” โอฮาระวัย 89 ปีผู้เคยถูกกักกันนานถึงสามปี กล่าว “เขาคงกลัวพวกเรากระมัง ผมเดานะ”

 

ตอนที่ญี่ปุ่นบุกจู่โจมเพิร์ลฮาร์เบอร์แบบสายฟ้าแลบ กดดันสหรัฐฯ ให้เข้าสู่สงครามด้วยยอดผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บกว่า 3,500 ราย รวมทั้งสร้างความเสียหายย่อยยับให้กองเรือสหรัฐฯ เหตุการณ์นี้เปรียบเสมือนไม้ขีดที่จุดเผากองเชื้อไฟสำหรับผู้มีเชื้อสายญี่ปุ่นในสหรัฐอเมริกา ความโกรธแค้นโหมกระพือทั่วประเทศ เมื่อญี่ปุ่นโหมโจมตีแปซิฟิกอย่างดุดัน ยึดเกาะกวม เกาะเวก และฮ่องกง รวมทั้งบีบบังคับกองทัพสหรัฐฯ ในฟิลิปปินส์ให้ยอมจำนน

ในไม่ช้าความกลัวว่าญี่ปุ่นอาจรุกรานชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ทำให้อเมริกาตระหนก เช่นเดียวกับข่าวบิดเบือนและข่าวลือที่ไม่ทราบแหล่งที่มาซึ่งแพร่สะพัดไปทั่วว่า ชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นในฮาวายให้การช่วยเหลือการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์

แฟรงก์ น็อกซ์ รัฐมนตรีทบวงทหารเรือสหรัฐฯ ให้น้ำหนักกับทฤษฏีสมคบคิด ขณะที่คนอื่นๆ เรียกร้องให้ใช้มาตรการเด็ดขาดต่อต้านชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่น มีเพียงไม่กี่คนกับสื่อมวลชนเพียงหยิบเท่านั้นที่ตั้งคำถามว่า  การต่อต้านประชาชนที่มีเชื้อสายญี่ปุ่นนั้นชอบด้วยเหตุผลหรือถูกทำนองคลองธรรมจริงหรือ

ต่อมาทหารจากกองทัพบกสหรัฐฯ เริ่มเคาะประตูบ้านและติดคำสั่งเคลื่อนย้ายในย่านหรือชุมชนเป้าหมายในแคลิฟอร์เนีย ออริกอน วอชิงตัน และแอริโซนา โดยใช้ข้อมูลทางลับที่ได้จากสำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรสหรัฐฯ  ประชาชนเหล่านั้นสามารถนำสัมภาระเท่าที่หอบหิ้วไปได้และถูกบีบให้ละทิ้งสมบัติที่ถือครองภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ หรือกระทั่งไม่กี่วัน บางคนจำต้องขายทรัพย์สินให้พวกฉกฉวยโอกาสอย่างขาดทุนชนิดประเมินไม่ได้ ขณะที่บางคนสุมสิ่งของมีค่าในโกดังที่ดัดแปลงจากโรงรถที่บ้าน ปล่อยบ้านให้เช่า หรือหาคนมาดูแลอสังหาริมทรัพย์ ทว่าบ้านเรือนจำนวนไม่น้อยถูกปล้น ค่าเช่าค้างจ่าย และคนดูแลบ้านไม่น้อยที่ทรยศต่อความไว้วางใจของครอบครัวเหล่านั้น ด้วยการขายหรือทอดทิ้งทรัพย์สินของพวกเขา  แต่ละครอบครัวได้รับหมายเลขที่เขียนบนป้ายติดสัมภาระและตัวบุคคลเหมือนกัน  และเป็นสิ่งระบุอัตลักษณ์ใหม่ของพวกเขา  กองทัพทำงานอย่างมีประสิทธิภาพจนทำให้มี “ศูนย์แรกรับ” (assembly center) ชั่วคราวเกิดขึ้นตามลานตลาดนัดและสนามแข่งม้าในระหว่างก่อสร้าง “ศูนย์โยกย้าย” (relocation center)  สนามแข่งม้าแซนตาแอนิตาในลอสแอนเจลิสเป็นศูนย์แรกรับใหญ่ที่สุด รองรับได้มากกว่า 18,000 คน และเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ผู้คนถูกบังคับให้อาศัยอยู่ในคอกม้า

ค่ายกักกัน

ค่ายกักกัน
จอร์จ ฮิราโนะ (ซ้ายสุด) วัย 18 ปี ที่เพิ่งถูกเกณฑ์ทหาร ถ่ายภาพร่วมกับ ฮิซะ ฮิราโนะ มารดา และ ยาซูเบะ ฮิราโนะ บิดา โดยมีธงชาติอเมริกาเป็นฉากหลัง แม่ของเขาประคองภาพลูกชายคนโต ชิเกระ ฮิราโนะ แรกทีเดียวทั้งครอบครัวถูกกักกันร่วมสามเดือนที่ศูนย์แรกรับซาลินัสซึ่งเคยเป็นลานตลาดนัดในแคลิฟอร์เนีย ก่อนจะใช้ช่วงเวลาตลอดสงครามโลกครั้งที่สองที่ศูนย์อพยพโพสตัน จอร์จ ฮิราโนะ ผ่านการฝึกทหารขั้นพื้นฐาน แต่ล้มป่วยด้วยโรคหัด ก่อนที่จะถูกส่งไปประจำการกับเพื่อนๆ เมื่อสงครามสิ้นสุด เขากลับไปยังวัตสันวิลล์ ในแคลิฟอร์เนีย และมีฟาร์มของตัวเองในที่สุด ในปี 2012 ด้วยวัย 86 ปี ฮิราโนะโพสท่าให้ถ่ายภาพอีกครั้งในฮาล์ฟมูนเบย์ แคลิฟอร์เนีย

 

แม้ชัยชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในสมรภูมิมิดเวย์ของสหรัฐฯ เมื่อเดือนมิถุนายนปี 1942 จะช่วยลบล้างความหวาดกลัวการโจมตีแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯ จากญี่ปุ่น แต่ค่ายเหล่านี้ก็ยังไม่ถูกปิด ท้ายที่สุด ชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นบางส่วนที่ได้รับการยืนยันว่าจงรักภักดี ก็ได้รับการปล่อยตัว แต่ส่วนใหญ่ยังถูกบังคับกักกัน เดือนแล้วเดือนเล่าจนล่วงเลยไปหลายปี  ทารกกว่า 5,000 คนถือกำเนิดระหว่างพ่อแม่ถูกกักกัน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 คน หนึ่งในนั้นคือ โทราโซะ ซากาอุเอะ วัย 67 ปีที่ค่ายแมนซานาร์ วอลเตอร์ โยชิฮารุ ซากาอุเอะ ผู้เป็นหลานชายเล่าว่า “ผมว่าที่ปู่ตายคงเพราะตรอมใจครับ” เขาเสริมว่า “ท่านไม่ได้ทำอะไรผิดเลย”

คนที่แข็งขืนมีอยู่บ้าง อย่างชายหนุ่มนาม เฟรด โคเรมัตสึ ที่ปฏิเสธการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวและฝืนอยู่ในแซนลีแอนโดร แคลิฟอร์เนีย หลังจากกองทัพประกาศให้เป็น “พื้นที่ทหาร” และเขตหวงห้ามของประชาชนเชื้อสายญี่ปุ่นทั้งหมด โคเรมัตสึถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดฐานละเมิดคำสั่งให้ออกจากพื้นที่ เขาอุทธรณ์คำตัดสินตามกระบวนการยุติธรรมจนถึงศาลสูงสุด แฟรงก์ เมอร์ฟี ผู้พิพากษาศาลสูงสุดบันทึกว่า การปฏิบัติต่อประชาชนที่มีเชื้อสายญี่ปุ่นต่างจากประชาชนที่มีเชื้อสายอิตาลีหรือเยอรมันซึ่งล้วนเป็นประเทศที่บรรพบุรุษเคยเป็นคู่สงครามกับสหรัฐอเมริกา ถือว่าเป็น “การทำให้การเหยียดเชื้อชาติชอบด้วยกฎหมาย” กระนั้นศาลสูงสุดก็มีมติหกต่อสามให้ยืนคำพิพากษาลงโทษ โดยเห็นพ้องกับรัฐบาลว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความจำเป็นทางทหาร

คณะผู้พิพากษาไม่ทราบถึงรายงานจากหน่วยสืบราชการลับของกองทัพเรือที่ระบุว่า ไม่พบหลักฐานว่า  ชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นแสดงความเป็นปฏิปักษ์ทางทหาร  หรือทำตัวเป็นสายลับ หรือให้สัญญาณแก่เรือดำน้ำ อย่างที่รัฐบาลกล่าวอ้าง  รัฐบาลสหรัฐฯ ยอมรับในปี 2011 ว่า ที่คณะผู้พิพากษาไม่ทราบเรื่องก็เพราะอัยการศาลสูงสหรัฐฯ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองจงใจปกปิดรายงานดังกล่าวต่อศาล

ค่ายกักกัน

ค่ายกักกัน
เมื่อปี 1942 นักศึกษาปีหนึ่ง โดโรที ทาเกอิ ยิ้มกว้างสดใส ขณะโหนตัวจากรถของครอบครัวที่แล่นเข้าสนาม แข่งม้าแซนตาแอนิตา ซึ่งเป็นศูนย์กักกันชั่วคราวในแคลิฟอร์เนีย ไม่นานเธอก็ตระหนักว่า ชีวิตไม่ได้ตื่นเต้นโลดโผนอย่างที่คิดไว้ ครอบครัวของเธอถูกส่งต่อไปยังค่ายกักกันในเจโรม อาร์คันซอ เมื่อได้รับการปล่อยตัวในปี 1943 เธอย้ายไปชิคาโก ซึ่งเป็นที่ที่ได้พบกับสามี ทั้งคู่ย้ายไปแซนโฮเซ แคลิฟอร์เนีย ในทศวรรษ 1950 เมื่อปี 2017 โดโรที ฮิอูระ ในวัย 93 ปี เป็นแบบให้ถ่ายภาพอีกครั้งที่บ้านของตัวเอง เธอไม่เคยคุยเรื่องการกักกันกับลูกชายและลูกสาวเลย

 

เวลาล่วงเลยมากว่า 70 ปี  หลังการสอบสวนโดยคณะกรรมาธิการที่รัฐสภาสหรัฐฯ จัดตั้งขึ้น  ในที่สุด ศาลสูงสุดก็เพิกถอนคำตัดสินในปี 1944 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประธานศาลสูงสุด จอห์น จี. โรเบิร์ตส์ จูเนียร์ เขียนไว้ว่า การบังคับขืนใจให้พลเมืองสหรัฐฯ เข้า “ค่ายกักกัน บนพื้นฐานของเชื้อชาติเพียงอย่างเดียวและโจ่งแจ้ง เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายอย่างชัดเจน และอยู่นอกเหนือขอบเขตอำนาจของประธานาธิบดี”

เรื่อง แอน เคอร์รี

ภาพถ่าย พอล คิตากากิ จูเนียร์

ค่ายกักกัน

ค่ายกักกัน
ป้ายที่ติดหน้าร้านขายของชำของครอบครัวมาซูดะในโอกแลนด์ แคลิฟอร์เนีย ที่ถ่ายไว้เมื่อปี 1942 ประกาศความจงรักภักดีต่ออเมริกา กระนั้น กระแสต่อต้านชาวญี่ปุ่นก็แพร่กระจายไปทั่วประเทศ คาเรน ฮาชิโมโตะ (กลาง) ซึ่งมีคุณปู่เป็นผู้ก่อตั้งร้าน อายุเพียงสามเดือน ตอนที่ถูกพาตัวไปยังศูนย์โยกย้ายกิลาริเวอร์ ส่วนแกร์รี นารูโอะ และเท็ด ทานิซาวะ ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับเธอ เกิดหลังจากที่ค่ายต่างๆ ปิดตัวลงแล้ว พื้นที่ตั้งร้านขายของชำนี้ได้รับการพัฒนาอีกครั้งในทศวรรษ 1980 ในปี 2016 นารูโอะ วัย 67 ปี ฮาชิโมโตะ วัย 73 ปีและทานิซาวะวัย 70 ปี ได้ถ่ายรูปร่วมกันอีกครั้งในตำแหน่งที่เคยเป็นร้านขายของชำ

 

ค่ายกักกัน

ค่ายกักกัน
ที่ศูนย์โยกย้ายฮาร์ตเมาน์เทนในไวโอมิง ปี 1943 ลูกเสือจุนโซะ เจค โอฮาระ วัย 14 ปี ทาเกชิ โมโตยาซุ วัย 14 ปี และ เอ็ดเวิร์ด เท็ตสึจิ คาโตะ วัย 16 ปี ทำความเคารพธงชาติอเมริกัน ในปี 2013 หรืออีก 70 ปีให้หลัง พอล คิตากากิ จูเนียร์ ตามหาพวกเขาและขอให้ทำท่าเดียวกัน ที่บริเวณนอกบ้านของคาโตะในเมืองมอนเทเรย์พาร์ก แคลิฟอร์เนีย

 

อ่านเพิ่มเติม

สีผิวที่แตกต่าง

 

Recommend