ประวัติของ ขงจื๊อ นักปรัชญา นักการเมือง และอาจารย์ที่สำคัญต่อประวัติศาสตร์จีน

ประวัติของ ขงจื๊อ นักปรัชญา นักการเมือง และอาจารย์ที่สำคัญต่อประวัติศาสตร์จีน

ขงจื๊อ เชื่อว่าคนทั้งหลายและสังคมที่พวกเขาอยู่ ล้วนได้รับผลประโยชน์จากการเรียนรู้และการฝึกศีลธรรมชั่วชีวิต

ตำราจีนโบราณฉบับหนึ่งบันทึกไว้ว่า ขงจื๊อ มีความสูงกว่า 289 เซนติเมตร แม้ตำราฉบับดังกล่าวอาจกล่าวเกินเลยในเรื่องนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ต้องสงสัยคือชื่อเสียงอันโด่งดังในฐานะอาจารย์และนักปรัชญา อันเห็นได้จากคติธรรมซึ่งฝังรากลึกซึ้งเป็นเนื้อเดียวกับอัตลักษณ์ประจำชาติของจีน และในอารยธรรมเอเชียตะวันออก

บุคคลผู้เป็นที่รู้จักในนาม Confucius ในโลกตะวันตก มีชื่อเดิมว่าขงชิว (Kongqiu) เขาเกิดเมื่อ 251 ปีก่อนคริสตกาลใกล้เมืองชิวฝู ในภาคตะวันออกของจีน ตระกูลของเขาอาจเคยเป็นชนชั้นสูงก่อนต้องเผชิญกับความยากลำบาก อันเป็นสิ่งที่เห็นได้จากงานชั้นต่ำที่เขาเคยทำ

ความใฝ่เรียนรู้

ขงจื๊อแสดงความใฝ่เรียนตั้งแต่ครั้งวัยเยาว์ “ข้าพเจ้าตั้งใจแน่วแน่ว่าจะเรียนหนังสือตั้งแต่อายุ 15 ปี” เขากล่าวกับเหล่าลูกศิษย์ เขาศึกษาทั้งดนตรี คณิตศาสตร์ วรรณคดีโบราณ ประวัติศาสตร์ และวิชาอีกหลากแขนง ช่วงเวลาที่เขาชื่นชอบมากที่สุดอยู่ในช่วงต้นราชวงศ์โจว (1046 ถึง 256 ปีก่อนคริสตกาล) ซึ่งเป็นช่วงเวลาอันสงบสุขและเป็นยุคทองซึ่งเขาเห็นว่าควรค่าแก่การนำมาเป็นแบบอย่าง

ขงจื๊อ
ภาพวาดจากยุคราชวงศ์ซ่ง แสดงให้ว่าขงจื้อกำลังสอนลูกศิษย์ PHOTOGRAPH BY HOWARD SOCHUREK, THE LIFE PICTURE COLLECTION, GETTY IMAGES

ขงจื๊อเชื่อว่าการศึกษาและการไตร่ตรองในตนเองนำไปสู่คุณธรรม และผู้ต้องการเป็นผู้นำจำต้องบ่มเพาะวินัยและคุณธรรมซึ่งฝึกฝนมาอย่างดี เขาต้องการเลื่อนขั้นในฐานะข้าราชการ แต่บุคลิกเฉียบขาดกลับทำให้เขาไม่เป็นที่ชื่นชอบของผู้คนเท่าใดนัก โดยเขามักใช้อำนาจในฐานะข้าราชการเทศนาผู้อื่นถึงการปกครองที่ดี ในท้ายที่สุด เขาได้รับตำแหน่งขั้นสูงในฐานะผู้ชำระคดีความในแคว้นหลู่ ก่อนสูญเสียการสนับสนุนเนื่องจากความพยายามปฏิรูปอย่างแข็งกร้าว

แม้ว่าขงจื๊อพยายามอยู่หลายปีในการกลับไปรับราชการใหม่เพื่อปรับปรุงระบบจากภายใน เขากลับประสบความสำเร็จมากที่สุดในฐานะอาจารย์ ความคิดของเขาแปลกแยกจากแนวคิดตามธรรมเนียม เนื่องจากเขาเชื่อว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับมนุษย์ทุกคน เขาสนับสนุนการเรียนรู้ ”เพื่อตนเอง” อันหมายความถึงการรู้จักและพัฒนาตนเอง นักปรัชญาผู้นี้มีลูกศิษย์มากมาย และเป็นที่รู้จักในนามขงฟูจื้อ (อาจารย์ขง) ซึ่งเหล่านักเรียนเป็นผู้บันทึกคำสอนด้านจริยศาสตร์ของเขาลงในคัมภีร์หลุนอวี่ (The Analects)

ขงจื๊อ
ขงจื๊อ เป็นนักปรัชญา นักการเมือง และอาจารย์ชาวจีน ซึ่งคำสอนเกี่ยวกับความรู้ ความกรุณา ความซื่อสัตย์ และคุณธรรม กลายเป็นปรัชญาหลักสำหรับประเทศจีนมายาวนานนับพันปี ภาพวาดโดย BY CHRISTOPHEL FINE ART ภาพจาก GETTY

คัมภีร์หลุนหวี่บันทึกไว้ว่า ขงจื๊อเชื่อว่าความกลมเกลียวในสังคมเกิดจากลำดับความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างปัจเจกบุคคล โดยมีครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสังคมที่ดี แนวคิดนี้ทำให้เขาเน้นย้ำว่าการบ่มเพาะในคุณลักษณะเช่นความเมตตา ความเอื้อเฟื้อ และความกตัญญูที่บุตรมีต่อครอบครัว เป็นรากฐานอันสำคัญสำหรับผู้มีการศึกษาที่ดีและมีมโนธรรมสำนึก ซึ่งสามารถทำประโยชน์ต่อสังคมโดยการรับราชการต่อไปได้

เผยแผ่คำสอน

ในช่วงที่ขงจื๊อมีชีวิต คำสอนของเขาไม่ถูกทำตามมากนัก อย่างไรก็ตาม หลังจากเขาเสียชีวิตเมื่อ 479 ปีก่อนคริสตกาล ลูกศิษย์ราว 3,000 คนได้อุทิศตนในการสืบทอดและเผยแผ่คำสอนของอาจารย์ผู้นี้ ต่อมา ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 2 ราชวงศ์ฮั่นได้นำคำสอนของเขามาเป็นอุดมการณ์ประจำรัฐ (State Ideology) นอกจากนี้ คัมภีร์หลุนอวี่ยังถูกนำมาชี้แนะปัจเจกทั้งในระดับผู้ปกครองและประชาชนมานับพันปี และเป็นอีกสิ่งหนึ่งซึ่งช่วยสร้างและส่งอิทธิพลต่อประวัติศาสตร์และอารยธรรมจีนมาอย่างยาวนาน

วัดขงจื๊อ, ขงจื๊อ
คำสอนขงจื้อเชื่อว่าถูกฝังที่วัดขงจื้อ มณฑลชานตง ประเทศจีน PHOTOGRAPH BY WERNER FORMAN/UNIVERSAL IMAGES GROUP/GETTY IMAGES

ชิวฝู บ้านเกิดของขงจื๊อ

ในช่วงชีวิตของเขา ขงจื๊อไม่ได้รับการยอมรับมากนักในชิวฝู บ้านเกิดของเขาในภาคตะวันออกของจีน แต่กาลเวลาได้เปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ การอุทิศตนตามคำสอนของผู้ปกครองและประชาชนชาวจีนอย่างต่อเนื่องมาหลายศตวรรษเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เมืองดังกล่าวกลายเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ของเขา

ในปัจจุบัน วัด สุสาน และบ้านประจำตระกูลของเขาเป็นมรดกโลก และพวกมันยังเป็นจุดหมายยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวและผู้แสวงบุญ วัดขงจื๊อ (Temple of Confucius) ถูกสร้างไม่นานหลังจากเขาเสียชีวิต และถูกเติมแต่งจนกลายเป็นหมู่อาคารซึ่งมีพื้นที่กว่า 202,343 ตารางเมตร สัญลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดของวัดแห่งนี้คือหลังคาของมัน โดยหลังคากระเบื้องเคลือบสีเหลืองนี้ เป็นสัญลักษณ์สำหรับอาจารย์ซึ่งเหล่าลูกศิษย์กล่าวขานถึงด้วยความเคารพในฐานะ “กษัตริย์ผู้ไร้บัลลังก์” เนื่องจากสีดังกล่าวเป็นสีสำหรับพระจักรพรรดิเท่านั้น

เรื่อง KRISTIN BAIRD RATTINI


อ่านเพิ่มเติม โสกราตีส คือใคร

Recommend