พระเจ้าอโศก กษัตริย์อินเดียผู้น้อมรับพุทธศาสนาและปกครองผู้คนอย่างเป็นธรรม

พระเจ้าอโศก กษัตริย์อินเดียผู้น้อมรับพุทธศาสนาและปกครองผู้คนอย่างเป็นธรรม

พระเจ้าอโศก แห่งอินเดีย หรือ พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงโศกเศร้าจากการพิชิตดินแดนต่างๆ ซึ่งส่งผลให้ชีวิตเรือนแสนต้องจบลง สิ่งนี้ทำให้พระองค์น้อมรับพุทธศาสนาและปฏิบัติต่อราษฎรอย่างเป็นธรรม

พระเจ้าอโศก ผู้เป็นหลานชายของพระเจ้าจันทรคุปต์ เมารยะ (Chandragupta Maurya) มีชีวิตอยู่ในช่วงประมาณ 304 ถึง 233 ปีก่อนคริสตกาล พระองค์ทรงนำจักรวรรดิเมารยะ (Mauryan) ไปสู่ยุคที่มีอาณาเขตกว้างขวางและเรืองอำนาจมากที่สุด กระนั้น การเปลี่ยนแปลงราชอาณาจักรของพระองค์มิได้มาจากการใช้ความรุนแรงอันดุเดือดเหมือนเมื่อครั้งต้นรัชสมัย ตรงกันข้าม มันเป็นผลจากการน้อมรับพุทธศาสนา และสารแห่งขันติธรรมและสันติวิธีที่พระองค์เผยแผ่ไปทั่วทั้งจักรวรรดิอันกว้างขวาง

แปดปีหลังการยึดอำนาจในช่วง 270 ปีก่อนคริสตกาล พระเจ้าอโศกได้นำกองทัพเข้าพิชิตราชอาณาจักรกลิงคะ (Kalinga) ในบริเวณชายฝั่งในภาคตะวันออก-กลางของอินเดีย และยังส่งผลให้พระองค์สามารถขยายอาณาจักรให้กว้างใหญ่กว่ากษัตริย์องค์ก่อนหน้าทุกองค์ มีการบันทึกไว้ว่า ผู้คนกว่า 100,000 ถึง 300,000 คนเสียชีวิตระหว่างการศึกครั้งนี้

ความสูญเสียดังกล่าวส่งผลต่อสภาพจิตใจของพระเจ้าอโศกอย่างรุนแรง พระองค์ได้บันทึกไว้ว่า “การฆ่าฟัน ความตาย และการเนรเทศที่เกิดขึ้นเมื่อดินแดนที่ไม่เคยถูกพิชิตกลับถูกพิชิตลง ได้ยังความเจ็บปวดอย่างหนักหนา [ต่อตัวเรา]” หลังจากนั้น พระเจ้าอโศกทรงละทิ้งทั้งการใช้กำลังทหารพิชิตผู้อื่น และความรุนแรงในรูปแบบอื่น รวมถึงการทารุณสัตว์ พระองค์กลายเป็นผู้อุปถัมภ์พุทธศาสนา ซึ่งสิ่งนี้ได้ส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองของศาสนาดังกล่าวในทั่วทั้งอินเดีย มีการร่ำลือว่าพระองค์ส่งคณะทูตไปยังดินแดนหลายแห่ง รวมถึงซีเรียและกรีก และยังส่งลูกหลานของพระองค์เองไปยังศรีลังกาในฐานะผู้เผยแผ่ศาสนา

พระเจ้าอโศกได้เผยแผ่มุมมองใหม่ที่พระองค์มีต่อชีวิต ผ่านราชกฤษฎีกาที่สลักลงบนก้อนหินและเสาหินตามแหล่งแสวงบุญ และตามเส้นทางการค้าที่คึกคัก ราชกฤษฎีกาเหล่านี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในตัวอย่างยุคแรกๆ ของระบบการเขียนในประวัติศาสตร์อินเดีย โดยภาษาที่ใช้จารึกพวกมันมิใช่สันสกฤต อันเป็นภาษาประจำชาติของอินเดีย แต่กลับเป็นภาษาท้องถิ่น เพื่อให้ผู้คนเข้าใจสารเหล่านั้นได้โดยง่าย ตัวอย่างที่เห็นได้คือราชกฤษฎีกาที่จารึกอยู่ในบริเวณใกล้กับกันดาฮาร์ (Kandaher) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในอัฟกานิสถาน อันเป็นบริเวณที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชปกครองเป็นเวลายาวนาน โดยราชกฤษฎีกาเหล่านั้นจารึกด้วยภาษากรีกและอาราเมอิก (Aramaic)

เช่นเดียวกับพระเจ้าไซรัส (Cyrus) ในเปอร์เซีย พระเจ้าอโศกทรงมีนโยบายแห่งความเคารพและขันติธรรมต่อผู้นับถือศรัทธาอื่น มีราชกฤษฎีกาซึ่งประกาศว่า “มนุษย์ทุกคนคือลูกหลานของเรา และเหมือนดั่งที่เราประสงค์ให้ลูกหลานมีสวัสดิภาพและความสุขทุกสิ่งอย่างของทั้งภพนี้และภพหน้า เราประสงค์ให้มนุษย์ถ้วนทุกตัวตนได้รับสิ่งนั้นเช่นกัน”

พระราชกฤษฎีกาอื่นๆ สนับสนุนให้ประชาชนมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความใจบุญ และเมตตาธรรม ในบางโอกาส พระเจ้าอโศกและข้าราชบริพารระดับสูงเดินทางไปทั่วราชอาณาจักรเพื่อตรวจเยี่ยมสวัสดิภาพของผู้คน และดูว่าราชกฤษฎีกาได้ถูกปฏิบัติตามหรือไม่ เสาหินต้นหนึ่งบันทึกไว้ว่าเหล่าข้าราชบริพารได้แจกจ่ายยาและสร้างโรงพยาบาลให้กับทั้งผู้คนและสัตว์

 

พระเจ้าอโศก สร้างวัดในภาพเมื่อสามร้อยปีก่อนคริสตกาล ในเมืองสาญจี (Sanchi) รัฐมัธยะประเทศ (Madhya Pradesh) ภาพถ่ายโดย ROBERT HARDING PICTURE LIBRARY, NAT GEO IMAGE COLLECTION
พระเจ้าอโศกสร้างวัดในภาพเมื่อสามร้อยปีก่อนคริสตกาล ในเมืองสาญจี (Sanchi) รัฐมัธยะประเทศ (Madhya Pradesh) ภาพถ่ายโดย ROBERT HARDING PICTURE LIBRARY, NAT GEO IMAGE COLLECTION

 

ปกครองบ้านเมือง

นอกจากราชกฤษฎีกาแล้ว พระเจ้าอโศกยังสร้างสถูป วิหาร และสิ่งก่อสร้างทางศาสนาอื่นๆ ในสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาเช่นสารนาถ (Sarnath) อีกด้วย อย่างไรก็ตาม พระองค์ไม่ใช่ผู้ปกครองที่ละทิ้งทางโลกเสียทีเดียว พระองค์ทรงบริหารรัฐบาลรวมศูนย์ (Centralized Government) จากเมืองปาฏลีบุตร (Pataliputra) อันเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบราชการขนาดใหญ่เก็บภาษี ผู้ตรวจการรายงานกลับไปยังพระองค์ การชลประทานช่วยขยายเกษตรกรรม มีการสร้างถนนสภาพยอดเยี่ยมเพื่อเชื่อมต่อศูนย์กลางการค้าและการเมืองที่เป็นกุญแจสำคัญ อันเป็นลักษณะสำคัญที่พบเห็นได้บ่อยในจักรวรรดิยุคโบราณ โดยพระองค์ได้มีพระราชบัญชาให้ถนนแต่ละสายมีทั้งต้นไม้เพื่อสร้างร่มเงา บ่อน้ำ และที่พัก

หลังพระเจ้าอโศกสิ้นพระชนม์ การปกครองด้วยเมตตาธรรมได้สิ้นสุดลงพร้อมกับจักวรรดิเมารยะ รัชสมัยของพระองค์กลับกลายเป็นตำนาน กระทั่งนักโบราณคดีแปลราชกฤษฎีกาของพระองค์ได้ในอีกสองพันปีต่อมา ในครั้งนั้น ราชกฤษฎีกาเหล่านี้ได้ช่วยรวบรวมจักรวรรดิอันกว้างใหญ่ให้เป็นปึกแผ่นผ่านสารแห่งคุณธรรม และพวกมันยังช่วยเร่งการเผยแผ่พุทธศาสนาไปทั่วทั้งอินเดีย

 

สารนาถ เสาหินแห่งศรัทธา

เสาหินที่โด่งดังที่สุดของพระเจ้าอโศกถูกสร้างขึ้นที่เมืองสารนาถ ในรัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) ในตอนเหนือของอินเดีย สถานที่แห่งนี้เป็นที่สักการะของผู้แสวงบุญชาวพุทธ เนื่องจากเป็นที่ที่พระพุทธเจ้าทั้งทรงแสดงคำสอนเป็นครั้งแรก และตรัสถึงอริยสัจสี่

เสาหินความสูงกว่าสองเมตร มีหัวเสาที่ถูกสลักอย่างประณีตและแบ่งเป็นสามช่วง ฐานเป็นรูปดอกบัว อันเป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา แป้นหัวเสารูปทรงกระบอกมีการสลักรูปม้า สิงโต วัวกระทิง และช้าง ซึ่งหันหน้าไปทางทิศหลักทั้งสี่ โดยมีธรรมจักรคั่นระหว่างสัตว์แต่ละตัว บนยอดเสามีรูปสลักราชสีห์อันทรงอำนาจสี่ตัวซึ่งหันหน้าไปยังสี่ทิศ ซึ่งเชื่อกันว่าพวกมันคือสัญลักษณ์ของอำนาจอันแผ่ไปทั่วดินแดนของพระเจ้าอโศก หัวเสาดังกล่าวถูกนำมาใช้ในฐานะสัญลักษณ์แห่งชาติของอินเดียในปี 1950 และปรากฏบนเหรียญและธนบัตรต่างๆ

พระเจ้าอโศก
พระเจ้าอโศก ได้รับการยกย่องในฐานะผู้น้อมรับพุทธศาสนา และเปลี่ยนแปลงราชวงศ์เมารยะจากเครื่องจักรสงครามไปเป็นสังคมแห่งความอดกลั้นและสันติ ภาพวาดจาก PRIVATE COLLECTION/DINODIA/BRIDGEMAN IMAGES

 

จารึกที่เป็นหลักฐานสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ

บทบาทของพระเจ้าอโศกมีความสำคัญในฐานะผู้บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ผ่านบันทึกบนเสาอโศก ดังเช่นการบอกเล่าเรื่องราวของอุทยานลุมพินีเป็นหนึ่งในสังเวชนียสถานสี่ตำบลในพุทธศาสนา ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปทางตะวันออกประมาณ 25 กิโลเมตร ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตประเทศเนปาล

จารึกข้อความอักษรพราหมี (นักวิชาการบางคนแย้งว่าเป็นภาษามคธ) บนเสาอโศก เสาหินทรายขนาดใหญ่ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่สาม ถอดความได้ว่า ”…สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี (พระนามของพระเจ้าอโศกมหาราช) ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ เมื่ออภิเษกแล้วได้ 20 ปี ได้เสด็จมาด้วยพระองค์เอง ด้วยว่าพระพุทธศากยมุนีได้ประสูติ ณ ที่นี้ โปรดให้สร้างรูปสลักหิน (บางท่านแปลว่ารั้วหิน) และประดิษฐานหลักศิลาไว้เป็นที่หมาย โดยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประสูติ ณ สถานที่นี้ จึงโปรดให้ยกเว้นภาษีแก่หมู่บ้านลุมพินี และทรงให้เสียแต่เพียงหนึ่งในแปดของผลผลิต เป็นค่าภาษีที่ดิน…„ [ถอดเป็นภาษาไทยโดยเจ้าคุณพระราชธรรมมุนี]

ข้อความในจารึกและลักษณะทางภูมิศาสตร์สนับสนุนความเป็นไปได้ที่ว่า เจ้าชายสิทธัตถะน่าจะประสูติในสวนป่าลุมพินีแห่งนี้ เนื่องจากที่ตั้งของสวนป่าอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะ บ้านเกิดของพระนางมายาเทวี พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ และพระมารดาของเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อใกล้ถึงเวลามีพระประสูติกาล พระนางน่าจะมีพระประสงค์เสด็จกลับสู่กรุงเทวทหะ เพื่อให้กำเนิดราชบุตรตามธรรมเนียมพราหมณ์ แต่อาจมีเหตุสุดวิสัยบางประการที่ทำให้พระนางมีพระประสูติกาลในสวนป่าแห่งนี้

 

 

 


อ่านเพิ่มเติม: ขงจื๊อคือใคร

 

Recommend