อาวุธยุทโธปกรณ์ซึ่งบางส่วนเป็นวัตถุระเบิดที่ยังไม่ ระเบิดในลาว ถูกทำลายในปี 2012 เพื่อทำให้ท้องทุ่งแห่งนี้ปลอดภัย
สหรัฐอเมริกาทิ้ง ระเบิดในลาว มากกว่าสองล้านตัน ระหว่างปี 1964 ถึง 1973 ในช่วงสงครามเวียดนาม เทียบเท่ากับการทิ้งระเบิดด้วยเครื่องบินทุกๆ 8 นาที ติดต่อกันเป็นเวลา 9 ปีเต็ม ชาติเล็กๆแห่งนี้ฟื้นตัวจาก การทำลายล้างครั้งนั้นได้อย่างไร
เรื่อง ที. ดี. ออลแมน
ภาพถ่าย สตีเฟน วิลก์ส
ตลอดช่วงเวลาหลายวันบนทุ่งไหหิน ผมพยายามเก็บภาพ คิดคำ พูดเปรียบเปรย ตกผลึกความคิดที่สามารถสื่อความหมาย ของความเป็นลาว ชาติที่ถูกทิ้งระเบิดถล่มมากที่สุดชาติหนึ่งในประวัติศาสตร์ แต่สามารถหยัดยืนและก้าวต่อไปจนพบอนาคตอันสดใส สุดท้ายผมพบสิ่งที่ตามหาบนถนนสายหลักอันจอแจในโพนสะหวัน เมืองเอกของแขวงเชียงขวางนั่นคือเปลือกระเบิดกองมหึมาที่หลงเหลือจากยุทธศาสตร์ทิ้งระเบิดของสหรัฐฯในลาว
ครั้งหนึ่งผู้คนในแขวงเชียงขวางแห่งนี้ต้องใช้ชีวิตหลบๆ ซ่อนๆ ในถ้ำและอุโมงค์อยู่นานหลายปี ทุกวันนี้โพนสะหวันเป็นเมืองคึกคักถึงขนาดต้องมีไฟจราจรพร้อมจอดิจิทัลบอกให้คนเดินเท้ารู้ว่ามีเวลาข้ามถนนกี่วินาที สองฝั่งถนนเรียงรายไปด้วยร้านรวง ธนาคาร และตลาดสด ทว่าสิ่งที่อยู่เคียงคู่บรรดาคนโทหินขนาดใหญ่อันโด่งดังแห่งทุ่งไหหิน คือเศษซากจากสงครามทางอากาศของสหรัฐฯที่ยืดเยื้อตั้งแต่ปี 1964 จนถึงปี 1973 ซากอดีตเหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว กองเปลือกระเบิดกองนั้นตั้งอยู่หน้าสำนักงานการท่องเที่ยวของท้องถิ่น
ด้วยภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนคล้ายลูกระนาดสลับกับที่ราบและทุ่งหญ้า บางส่วนของทุ่งไหหินจึงดูละม้ายสนามกอล์ฟขนาดมหึมา บ่อทรายหลายแห่งเกิดจากห่าระเบิดที่ทิ้งลงมา มีนับล้านๆลูกที่ระเบิดตูมตาม ขณะที่อีกหลายล้านลูกไม่ระเบิดและกลายเป็นภัยถาวร โดยเฉพาะต่อผู้ประกอบการชาวลาวที่หาเงินจากการเก็บกู้โลหะมีค่าจากลูกระเบิดด้าน
“ยินดีต้อนรับสู่นายเพด นาเพีย ผู้ผลิตช้อนและกำไล” เป็นข้อความบนป้ายโฆษณาติดอยู่หน้าบ้านของเพด นาเพีย ที่บ้านนาเพีย ภายในโรงหล่อหลังบ้าน เพดหลอมอะลูมิเนียมจากเปลือกอาวุธยุทธภัณฑ์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกปืนครก และเศษโลหะต่างๆที่หาได้ในท้องถิ่น จากนั้นก็เทลงในเบ้าหล่อเพื่อผลิตพวงกุญแจรูปลูกระเบิดและเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ดูเหมือนว่าภัตตาคารในท้องถิ่นล้วนแล้วแต่มีช้อนส้อมและตะเกียบที่ทำจากเศษเหล็กจากสมัยสงคราม
ผลตอบแทนจากความอุตสาหะของเพดปรากฏในรูปของบ้านหลังใหม่ ทีวีติดจานดาวเทียม และแสงสว่างจากไฟฟ้า เพดเป็นช่างฝีมือผู้มีหัวการค้าเช่นเดียวกับชาวลาวจำนวนมาก แต่เขายังต้องพยายามทำความเข้าใจกับความคิดที่ว่า ในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีนั้น ค่าใช้จ่ายไม่ได้หมดลงเมื่อเราจ่ายเงินซื้อของอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จานนี้รับได้ 60 ช่องเชียวนะครับ เพดบอกระหว่างที่เรายืนชื่นชมจานดาวเทียมของเขา ”แต่เราต้องจ่ายค่าไฟกันอีก” โทรศัพท์มือถือของเขาช่วยดึงลูกค้าใหม่ๆมาให้ ”แต่ถึงจะซื้อโทรศัพท์นี่แล้ว คุณก็ยังต้องจ่ายเงินถึงจะใช้พูดคุยได้” เขาว่า
ย้อนหลังไปหลายสิบปีก่อน ขณะยืนอยู่ริมฝั่งแม่นํ้าโขงในกรุงเวียงจันทน์ ผมครุ่นคิดถึงคำถามหนึ่งที่รู้ว่าคงไม่มีวันตอบได้ นั่นคือ เพราะเหตุใดผู้คนที่ดูเป็นคนมีเหตุผล เช่น อเมริกันชนอย่างผม จึงอุตริคิดไปได้ว่าตนจะชนะสงครามในเวียดนามได้โดยใช้ลาวเป็นเป้าการทำลายล้างเช่นนั้น ตอนที่ผมเขียนข่าวว่ามีสงครามลับดำเนินอยู่ในลาว เรื่องนี้กลายเป็นข่าวพาดหัวไปทั่วโลก
ในความเป็นจริง การแทรกแซงทางทหารของสหรัฐฯในลาวซึ่งเริ่มต้นขึ้นในช่วงทศวรรษ 1950 และยืดเยื้อไปจนถึงปี 1974 ไม่เคยเป็นความลับอะไรเลย ทุกคนในประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็นแม่ค้าขายดอกบัวในตลาดเช้า หรือเด็กหนุ่มรับจ้างถีบสามล้อ ล้วนรู้เรื่องราว ไม่เฉพาะแค่เรื่องเส้นทางโฮจิมินห์ [Ho Chi Minh Trail–เส้นทางลำเลียงผู้คน อาหาร กำลังพล และยุทโธปกรณ์สำคัญในช่วงสงครามเวียดนาม] แต่ยังรวมถึงเรื่องกองทัพลับของซีไอเอและการทิ้งระเบิดถล่มเป้าหมายพลเรือนอย่างลับๆโดยสหรัฐฯ และยังรู้เรื่องการที่สหรัฐฯเข้าไปพัวพันกับการค้าฝิ่นอีกด้วย
ในปี 1968 หรือ “ปีแห่งการโจมตีในวันตรุษญวน” (Tet Offensive) ในเวียดนาม ผมซึ่งตอนนั้นเป็นผู้สื่อข่าววัย 23 ปีนั่งรถแท็กซี่ลงขันกันเช่าจากที่ลุ่มแม่นํ้าโขงไปยังที่ราบสูงบอละเวน เครื่องบินทิ้งระเบิดของสหรัฐฯส่งเสียงกรีดแหลมข้ามหัวผมไป ตรงขอบฟ้าแถวชายป่า ผมเห็น
ร่างในชุดพรางวิ่งหลบกันลนลาน นั่นเป็นครั้งเดียวในช่วงสงครามที่ผมเห็นกองทหารเวียดนามเหนือกับตาตัวเอง รวมถึงเครื่องบินรบของสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดลงมาจริงๆ
(อ่านต่อหน้า 2)