เกิดอะไรขึ้นในหายนะนิวเคลียร์แห่งเชอร์โนบิล

เกิดอะไรขึ้นในหายนะนิวเคลียร์แห่งเชอร์โนบิล

เหตุการณ์โรงงานนิวเคลียร์ระเบิดที่ เชอร์โนบิล ทำให้ผู้คนอกสั่นขวัญแขวน อีกทั้งเปลี่ยนภูมิภาคนี้ไปตลอดกาล นอกจากนี้ ยังทิ้งคำถามที่ยังไม่มีคำตอบอีกมากมาย

เมื่อวันที่ 25-26 เมษายน 1986 เกิดอุบัติเหตุเตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดที่เลวร้ายที่สุดในโลก ในพื้นที่ที่ปัจจุบันคือเมือง เชอร์โนบิล ซึ่งตั้งอยู่ ทางตอนเหนือของประเทศยูเครน โดยหลังจากผ่านมากว่า 30 ปี นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าพื้นที่รอบๆ โรงงานไม่สามารถอยู่อาศัยไปอีกราว 20,000 ปี

โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 1977 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวโซเวียต ได้ติดตั้งเตาปฏิกรณ์แบบแชนแนลแกรไฟต์ (graphite channel reactor) หรือ RBMK (reaktor bolshoy moshchnosti kanalniy) ไว้ที่โรงงานแห่งนี้

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 1986 ขณะเจ้าหน้าที่กำลังจัดการทดสอบเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ว่า ระบบหล่อเย็นยังคงทำงานได้ตามปกติหรือไม่ หากไม่มีพลังงานไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ระหว่างการทดสอบ เจ้าหน้าที่ได้ละเมิดเกณฑ์ความปลอดภัย และพลังงานในเตาปฏิกรณ์ได้พุ่งสูงขึ้น แม้จะพยายามปิดระบบเตาปฏิกรณ์ทั้งหมดแล้ว แต่พลังงานที่เพิ่มขึ่นก่อให้เกิดปฏิกริยาลูกโซ่ของการระเบิดภายใน ในที่สุด แกนหลักของนิวเคลียร์เกิดระเบิด และได้ปล่อยวัตถุกัมมันตรังสีสู่ชั้นบรรยากาศ

เชอร์โนบิล, โรงไฟฟ้านิวเคลียร์,
ราว 2-3 เดือนหลังจากเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลได้ก่อให้เกิดประกายไฟพิษเมื่อปี 1986 เตาปฏิกรณ์นี้ก็ถูกหุ้มไว้ด้วย “โลงหิน” (sarcophagus) เพื่อกักเก็บวัตถุกัมมันตรังสีที่อยู่ภายใน โดยโครงสร้างเก่าแก่ที่เห็นอยู่นี้ถูกคลุมไว้ด้วยโครงสร้างครอบเตาปฏิกรณ์อันใหม่ เมื่อปี 2016 ภาพถ่ายโดย GERD LUDWIG, NAT GEO IMAGE COLLECTION

แม้จะเกิดระเบิดขึ้น และได้มีการส่งคนงาน รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่ปฏิบัติงานไปยังโรงพยาบาลแล้ว แต่ก็ไม่มีการอพยพผู้คนในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งรวมไปถึงเมือง Pripyat ที่สร้างขึ้นเมื่อทศวรรษ 1970 เพื่อให้เป็นที่พักคนงาน เป็นเวลาถึง 36 ชั่วโมงหลังจากหายนะครั้งนี้เกิดขึ้น

หลังเกิดเหตุ รัฐบาลโซเวียตได้ปิดข่าว จนกระทั่งวันที่ 28 เมษายน มีการแถลงข่าวเรื่องนี้สั้นๆ และคนทั้งโลกก็ได้เป็นประจักษ์พยานในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้ แร่ยูเรเนียมราว 190 ตัน ซึ่งเป็นจำนวนร้อยละ 30 ที่มีอยู่ในโรงไฟฟ้าพลังงานเชอร์โนบิลได้ลอยสู่อากาศ รัฐบาลโซเวียตได้อพยพคนกว่า 335,000 คน และประกาศให้พื้นที่ 30 กิโลเมตรรอบเตาปฏิกรณ์ให้เป็นเขตห้ามเข้า

มีผู้เสียชีวิต 28 คน และผู้บาดเจ็บมากกว่า 100 คน คณะกรรมการวิทยาศาสตร์ในเรื่องผลกระทบจากรังสีปรมาณูขององค์การสหประชาชาติ (The United Nation Scientific Committee on the Effects of Atomic Radiation) ได้รายงานว่ามีเด็ก และวัยรุ่นกว่า 6,000 คน มีอาการของมะเร็งต่อมไทรอยด์หลังได้รับสารกัมมันตรังสีจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น แต่ก็ยังคงมีข้อถกเถียงในเรื่องนี้ในกลุ่มนักวิชาการ

นักวิจัยจากทั่วโลกได้คาดการณ์ว่า คนราว 4,000 คนที่ได้รับรังสีในระดับสูงนั้นอาจเป็นมะเร็งซึ่งเกี่ยวข้องกับกัมมันตรังสี ในขณะที่คนราวอีก 5,000 คนที่ได้รับกัมมันตรังสีในระดับต่ำกว่านั้นอาจจะต้องพบเจอกับชะตากรรมเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ของเหตุการณ์ และผลกระทบต่อจิตใจที่ส่งผ่านมาแม้กระทั่งคนรุ่นต่อมาก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่

สิ่งที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในเตาปฏิกรณ์คือโครงสร้างโลหะขนาดใหญ่ซึ่งถูกเคลื่อนย้ายไปเมื่อปี 2016 และคาดการณ์ว่าความพยายามควบคุม สังเกตการณ์ และการทำความสะอาดเชอร์โนบิล ยังคงอยู่ต่อไปจนถึงปี 2065

เชอร์โนบิล, กัมมันตรังสี, อัลตราซาวด์
เด็กคนนี้มีอายุแค่เพียง 1 ขวบ ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์หายนะแห่งเชอร์โนบิล เขากำลังได้รับการอัลตราซาวด์เพื่อตรวจหาผลกระทบที่เกิดจากการได้รับกัมมันตรังสีในระยะยาว ภาพถ่ายโดย GERD LUDWIG, NAT GEO IMAGE COLLECTION

ผลกระทบระยะยาว

ยังคงมีการวิจัยในเรื่องผลกระทบจากหายนะครั้งนี้ที่มีต่อพื้นที่ป่าและบรรดาสัตว์ป่ารอบๆ โดยหลังจากเหตุการณ์ระเบิดเกิดขึ้น พื้นที่รอบๆ ในรัศมี 6.5 กิโลเมตรกลายเป็นพื้นที่ “ป่าแดง” (Red Forest) เนื่องจากมีต้นไม้มากมายเปลี่ยนเป็นสีแดง-น้ำตาล และตายไปหลังจากดูดซึมกัมมันตรังสีในระดับสูง

ทุกวันนี้ ในพื้นที่ต้องห้ามยังคงเงียบอย่างน่าขนลุก โดยหลังจากห้ามมิให้ผู้คนเข้าไปในพื้นที่ต้องห้าม จำนวนของสายพันธุ์สัตว์ป่าก็เพิ่มมากขึ้น เมื่อปี 2015 นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่ามีหมาป่าเพิ่มขึ้นในพื้นที่ต้องห้ามมากถึง 7 เท่า เมื่อเทียบกับพื้นที่อนุรักษ์ที่อยู่ใกล้เคียง เนื่องจากการหายไปของมนุษย์

เชอร์โนบิล, Pripyat
เมือง Pripyat ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นที่พักของคนงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เมื่อช่วงทศวรรษ 1970 แต่ได้ถูกทิ้งร้างไปหลังจากเหตุการณ์หายนะแห่งเชอร์โนบิล ตอนนี้เมืองแห่งนี้ถูกใช้งานเป็นห้องทดลองเพื่อศึกษาผลกระทบที่ตามมาจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ภาพถ่ายโดย GERD LUDWIG, NAT GEO IMAGE COLLECTION

หายนะเชอร์โนเบิลได้มีผลกระทบอื่นตามมา นั่นคือผลทางเศรษฐกิจและการเมืองที่มีส่วนเร่งให้สหภาพโซเวียตต้องล่มสลาย และก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวในการต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ในระดับโลก เหตุการณ์ในครั้งนี้ก่อให้เกิดความเสียหายมูลค่า 235 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และที่ดินในประเทศเบรารุสที่อยู่ใกล้เคียงราวร้อยละ 23 ปนเปื้อนกัมมันตรังสีโดยบังเอิญ ทำให้สูญเสียพื้นที่การเกษตรราวหนึ่งในห้า เมื่อปี 1991 เบรารุสต้องใช้งบประมาณแผ่นดึงถึงร้อยละ 22 เพื่อจัดการปัญหาที่เกิดจากหายนะเชอร์โนบิล

ในทุกวันนี้ พื้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลเป็นพื้นที่สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจประวัติศาสตร์และความอันตรายที่เกิดขึ้นในที่แห่งนี้ ถึงแม้ว่าเชอร์โนบิลจะเป็นสัญลักษณ์ของการทำลายล้างของพลังงานนิวเคลียร์ ก็ดูเหมือนรัสเซียไม่ได้เรียนรู้จากประวัติศาสตร์หรือพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มเติม เพราะแม้กระทั่งในปี 2019 ยังคงมีเตาปฏิกรณ์แบบแชนแนลแกรไฟต์ จำนวน 11 เตาที่กำลังทำงานอยู่ในรัสเซีย

เรื่องโดย ERIN BLAKEMORE


อ่านเพิ่มเติม หมาป่าจากเชอร์โนบิลอาจกำลังแพร่ยีนกลายพันธุ์

Recommend