พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์: ทหาร-นายกฯ-องคมนตรีแห่งประวัติศาสตร์ไทย

พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์: ทหาร-นายกฯ-องคมนตรีแห่งประวัติศาสตร์ไทย

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขอบคุณภาพจาก https://www.posttoday.com/politic/news/590212


พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ คือผู้ที่ไต่เต้ามาจากสามัญชน มาสู่ประธานองคมนตรี และเป็นผู้ที่มีบทบาทและอิทธิพลในประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัยมาตลอดช่วงชีวิต

หลังจากที่ประเทศไทยได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปเมื่อวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 ก็ได้มีข่าวสำคัญที่สร้างความสั่นสะเทือนเป็นอย่างยิ่งในประเทศไทย นั่นคือข่าวที่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ได้ถึงแก่อสัญกรรม ในวัย 98 ปี 9 เดือน ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อเช้าวันที่ 26 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะเป็นคนไทยในยุคสมัยใด ก็คงจะมีภาพจำของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ในฐานะประธานองคมนตรี ที่ทำงานสนองเบื้องพระยุคคลบาท รัชกาลที่ 9 และ รัชกาลที่ 10 และได้มีบทบาทสำคัญทั้งในการทหารและการเมืองไทยมาหลายทศวรรษ

จากสามัญชนจากจังหวัดสงขลา พลเอกเปรมฯ ได้กลายมาเป็นบุคคลสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ไทยได้อย่างไร

พลเอกเปรม
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ / อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมงานเลี้ยงรับรองเนื่องในวันกองทัพบก ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ 20 มกราคม 2553 ขอบคุณภาพจาก https://th.wikipedia.org

นักเรียนทหารบกจากจังหวัดสงขลา

พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2463 ที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นบุตรของรองอำมาตย์โทหลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) และนางวินิจทัณฑกรรม (ออด ติณสูลานนท์) เข้าศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา และเข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7 – 8 แผนกวิทยาศาสตร์ ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

ในวัยเด็ก พลเอกเปรมเคยมีความใฝ่ฝันอยากเป็นแพทย์ แต่ด้วยฐานะทางการเงินของครอบครัวที่ไม่สู้ดีนัก ดังนั้น เมื่อสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยแล้ว จึงได้เบนเข็มไปศึกษาที่โรงเรียนเทคนิคทหารบก หรือโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าในปัจจุบัน โดยระหว่างศึกษาชั้นปีที่ 3 ได้เกิดสงครามอินโดจีน ปี 2484 ขึ้น พลเอกเปรมได้มาเป็นทหารม้า และได้เติบโตในเส้นทางทหารม้าเรื่อยมา และในปี 2485 – 2488 ได้ร่วมรบในมหาสงครามเอเชียบูรพาที่เมืองเชียงตุง

หลังสงครามสงบ พลเอกเปรมได้รับทุนไปศึกษาต่อเพิ่มเติมที่ต่างประเทศ ณ โรงเรียนยานเกราะของกองทัพบกสหรัฐอเมริกา ที่มลรัฐเคนตักกี เมื่อสำเร็จการศึกษา ได้กลับมารับตำแหน่งรองผู้บัญชาการโรงเรียนยานเกราะ และได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า ยศพลตรี ในปี 2511

ระหว่างที่ทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า พลเอกเปรมฯ มักเรียกแทนตัวเองว่ากับผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าเป็น “ป๋า” และเรียกผู้อาวุโสน้อยกว่าว่าเป็น “ลูก” จึงเป็นที่มาของคำว่า “ป๋าเปรม” ซึ่งเป็นที่คุ้นเคยกันในวงการการทหาร การเมือง และสื่อมวลชนมาโดยตลอด

ปี 2517 พลเอกเปรมได้เลื่อนตำแหน่งให้เป็นแม่ทัพภาคที่ 2 รับผิดชอบพื้นที่ทหารในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก่อนจะก้าวสู้จุดสูงสุดในชีวิตราชการทหารเมื่อได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพลเอก รับตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เมื่อปี 2520 และได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารบก เมื่อปี 2521

ก้าวสู่ชีวิตการเมือง

นอกจากบทบาทในฐานะนายทหารแล้ว บทบาทสำคัญอีกประการหนึ่งของพลเอกเปรมคือการเป็นนักการเมืองผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ไทย โดยก้าวแรกในวงการการเมืองเริ่มต้นขึ้นเมื่อพลเอกเปรมได้เข้าร่วมการรัฐประหารในประเทศไทย 2 ครั้ง คือยึดอำนาจจากรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมทย์ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และจากรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เมื่อ วันที่ 20 ตุลาคม 2520

พลเอกเปรมฯ เริ่มรับตำแหน่งทางการเมืองในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในสมัยรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2520 และได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอีกหนึ่งตำแหน่ง

โดยการดำรงตำแหน่งของรัฐมนตรีฯ กลาโหมฯ และเป็นผู้บัญชาการทหารในสมัยนั้น ก็ถือว่าพลเอกเปรมฯ มีทั้งกำลังทหาร และตำแหน่งการเมืองอยู่กับตัว ประกอบกับในเวลาช่วงนั้น ความนิยมของรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์เริ่มเสื่อมถอย แต่ความนิยมในพลเอกเปรมฯ ของรัฐบาลเริ่มเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น เมื่อพลเอกเกรียงศักดิ์ ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2523 รัฐสภาก็ได้เลือกให้ พลเอกเปรม เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียงที่ท่วมท้น และเป็นจุดเริ่มต้นชีวิตของพลเอกเปรมในฐานะ “นายกรัฐมนตรี” ซึ่งมีระยะเวลานานถึง 8 ปี 5 เดือนด้วยกัน

พลเอกเปรม
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร กับ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่มาภาพ https://www.facebook.com/baanlaesuanmag

นายกรัฐมนตรียุค “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”

ในระหว่างการดำรงตำแหน่ง พลเอกเปรมฯ ได้ประสานและคานอำนาจของกลุ่มการเมือง 3 เสาหลัก ได้แก่ กองทัพ ภาคการเมือง และสถาบันพระมหากษัตริย์ โดย “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” เป็นชื่อเรียกขานยุคการเมืองการเมืองการปกครองในช่วงของพลเอกเปรม เนื่องจากสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรของท่านมาจากการเลือกตั้ง แต่นายกรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้งของบุคคลในกองทัพ ถือเป็นรูปแบบการจัดสรรอำนาจและความสัมพันธ์ของขณะรัฐมนตรีและกองทัพ และมีวุฒิสภา 3 ใน 4 มาจากการแต่งตั้ง อันเป็นรูปแบบการเมืองที่มีเอกลักษณ์รูปแบบหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ลักษณะทางการเมืองของพลเอกเปรม ที่แสดงออกมาคือผู้เป็นคนดีมีคุณธรรม ซื่อสัตย์สุจริต จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จนได้รับความเชื่อถือ และพร้อมประสานความร่วมมือให้กับทุกฝ่าย

แนวทางในการบริหารการเมืองของของท่านคือมอบหมายให้กระทรวงด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ เช่น กระทรวงกลาโหม มหาดไทย ศึกษาธิการ คมนาคม การคลัง ให้อยู่ในการดูแลของ “เทคโนแครต” หรือกลุ่มข้าราชการผู้มีความรู้ความสามารถในด้านเศรษฐกิจมามีส่วนในการกำหนดและบริหารนโยบายสำคัญของประเทศ และแบ่งปันกระทรวงที่เหลือนอกจากนี้ให้กับบรรดานักการเมือง ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการวางรากฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศในทศวรรษต่อมา

ผลงานที่สำคัญอย่างหนึ่งของท่านคือการแก้ปัญหาภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ในขณะนั้น โดยการออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เพื่อให้พรรคคอมมิวนิสต์อ่อนกำลัง นำนักศึกษาและชาวบ้านที่เคยจับอาวุธสู้กับรัฐบาลในฐานะสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ให้วางอาวุธและมาเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย”

อย่างไรก็ตาม ในยุคสมัยการเป็นนายกรัฐมนตรีของท่าน ก็มีความพยายามในการรัฐประหารถึง 2 ครั้งด้วยกัน (และไม่สำเร็จ จนกลายเป็นกบฏ) ครั้งแรกคือวันที่ 1-3 เมษายน 2524 หรือกบฏยังเติร์ก มีสาเหตุจากกลุ่มนายทหารที่ไม่พอใจการต่ออายุราชการของพลเอกเปรมฯ และการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีที่มาจากพวกพ้อง และในวันที่ 9 กันยายน 2528 หรือกบฏ 9 กันยา ซึ่งอ้างปัญหาในการบริหารประเทศด้านเศรษฐกิจ และความเป็นเอกภาพของประเทศ

ในช่วงปี 2531 หลังจากพลเอกเปรมฯ ได้ดำรงตำแหน่งมาได้ 8 ปี ก็เกิดความไม่พอใจของนักการเมืองและนักวิชาการที่มองว่า พลเอกเปรมอยู่ในอำนาจนานเกินไป รวมไปถึงมีเสียงในสภาที่เริ่มแตกแยก ไม่สนับสนุนพลพลเอกเปรมฯ มากขึ้น จึงทำให้มีการยุบสภาในปีนั้น และท่านตัดสินใจไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก

สู่ตำแหน่ง “องคมนตรี” สองรัชกาล

หลังจากไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นองคมนตรี ในวันที่ 23 สิงหาคม 2531 รวมทั้งโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2531 ซึ่งเป็นรัฐบุรุษคนที่ 2 ต่อจากนายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรีและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่ได้รับการยกย่องเป็นรัฐบุรุษเมื่อปี 2488

โดยพลเอกเปรมฯ ได้ทำงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคคลบาทในฐานะองคมนตรีมาตลอด และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานองคมนตรีในปี 2541

ในอีกด้านหนึ่ง ก็ยังเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางการทหารและการเมือง เพราะมีหลายครั้งที่ผู้นำเหล่าทัพ ในหลายยุคหลายสมัย ต้องเข้าพบพลเอกเปรม เมื่อต้องการปรึกษาหารือในด้านการทหาร การแต่งตั้งผู้นำทางทหาร หรือแม้กระทั่งนักการเมืองก็ต้องเข้ามาคารวะในฐานะประธานองคมนตรี ที่ “บ้านสี่เสาเทเวศร์” ซึ่งเป็นบ้านพักของท่านนับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเป็นต้นมา

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ระหว่างเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2559 และได้รับโปรดเกล้าให้เป็นประธานองคมนตรีต่อเนื่องมายังรัชกาลที่ 10 จนกระทั่งท่านได้แก่อสัญกรรม เป็นการปิดฉากชีวิตสามัญชนที่ได้ก้าวสู่ประธานองคมนตรี และจากนายทหารสู่ตำแหน่งสูงสุดทางการเมือง ที่มีบทบาทสำคัญต่อประเทศไทยในยุคสมัยใหม่ และได้รับการยกย่องมาจนถึงทุกวันนี้

แหล่งอ้างอิง

30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (2) : 8 ปี 5 เดือน ของนายกฯ เปรม ภายใต้การเมืองสามเสา 

30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (3) : เงื้อมเงาของเปรมหลังระบอบเปรมาธิปไตย

เผยที่มาตำแหน่ง “รัฐบุรุษ” ยกย่องผู้มีความสามารถ ทำประโยชน์ต่อชาติเป็นเอนกประการ 

เปิดประวัติโดยละเอียด พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

องคมนตรีสองรัชกาล ชีวิต ‘คนดี’ ของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ฝังรากลึกในการเมืองไทย

เปรม ติณสูลานนท์ : จากนายกรัฐมนตรี สู่ “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ”

รู้จัก “คำสั่ง 66/23” การปรองดองและยุติสถานการณ์สู้รบในชนบทที่ถูกพูดถึงอีกครั้งยุค คสช.

ประวัติ “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” นายกรัฐมนตรี คนที่ 16 ของไทย

เปิดประวัติ 99 ปีรัฐบุรุษชาติไทย ‘พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์’


อ่านเพิ่มเติม: พระผู้เป็นศูนย์รวมใจไทยทั้งชาติ

Recommend