อาร์กติก จะกลายเป็นสมรภูมิสงครามเย็นครั้งใหม่จริงหรือ
เกือบตลอดประวัติศาสตร์มนุษยชาติ โลกที่อยู่เหนือละติจูด 66 องศา หรือเส้นอาร์กติกเซอร์เคิลขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นเขตที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ยังไม่อาจเข้าถึงได้ ทั้งนักสำรวจ นักเก็งกำไร และนักวิทยาศาสตร์เชื่อกันมานานแล้วว่า มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์และเส้นทางเดินเรือซ่อนอยู่ใต้น้ำแข็งและหิมะของ อาร์กติก แต่หลักฐานที่จะยืนยันว่า ความมั่งคั่งเหล่านี้มีอยู่จริง ถูกบดบังด้วยความหนาวเย็นสุดขั้ว ความมืดมิด และความห่างไกล ทั้งหมดคือปราการขวางกั้นการเข้าไปใช้ประโยชน์จากดินแดนแห่งนี้
ปัจจุบัน ภูมิทัศน์ อาร์กติก เขียวขึ้นชนิดที่คุณอาจนึกไม่ถึง กวางแคริบูและกวางเรนเดียร์มีจำนวนน้อยลง แต่ยุงชุมขึ้น และฤดูร้อนอุณหภูมิสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดและน่ากังวลที่สุดเกิดขึ้นในภาคพื้นทะเล ที่ซึ่งน้ำแข็งทะเลในฤดูร้อนกำลังหดหายไปในอัตราที่เร็วอย่างน่าตกใจ
แม้น้ำแข็งที่ว่านี้จะหดเล็กลงเป็นปกติเสมอมาในระหว่างเดือนที่อากาศอบอุ่น และขยายใหญ่ขึ้นอีกครั้งเมื่อความหนาวเย็นหวนกลับมา แต่การสูญเสียน้ำแข็งอยู่ในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นอกจากนี้ นักวิจัยบางคนยังเชื่อว่า น้ำแข็งกำลังหายไปในอัตราที่เร็วขึ้นด้วย นักวิทยาศาสตร์ขององค์การนาซาประเมินว่า โดยเฉลี่ยแล้วภูมิภาค อาร์กติก สูญเสียน้ำแข็งราว 54,000 ตารางกิโลเมตรในแต่ละปี และผู้เชี่ยวชาญที่ยังทำนายว่า มหาสมุทรอาร์กติกจะปราศจากน้ำแข็งในฤดูร้อนก่อนถึงปี 2050
การแข่งขันในพรมแดนใหม่นี้จะไม่เกี่ยวข้องกับการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดน นอกเหนือจากพื้นที่ไม่กี่แห่งที่มีข้อพิพาทค้างคาอยู่ พรมแดนต่างๆในภูมิภาคอาร์กติกถูกขีดแบ่งไว้ชัดเจนอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันชาติและบรรษัทต่างๆ กำลังช่วงชิงส่วนแบ่งในแร่ธาตุมูลค่านับล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น ทอง คำ เพชร และกลุ่มธาตุโลหะหายาก รวมทั้งปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ปลา ตลอดจนการเข้าถึงเส้นทางเดินเรือใหม่ๆที่อาจช่วยให้ลดต้นทุนลงได้
ในบางพื้นที่ น้ำแข็งที่ถอยร่นนำไปสู่การลงทุนขนาดใหญ่ รัสเซียและนอร์เวย์เป็นสองชาติในกลุ่มประเทศอาร์กติกที่กระตือรือร้นที่สุด โดยในช่วงสิบปีที่ผ่านมาได้ทุ่มงบไปแล้วหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน การสร้างท่าเรือน้ำลึก และเรือที่สามารถแล่นฝ่าผืนน้ำที่ยังเต็มไปด้วยน้ำแข็งของมหาสมุทรอาร์กติกได้ ขณะที่จีนซึ่งเป็นชาติที่ตั้งอยู่ใต้ขั้วโลกเหนือไกลออกไปกว่า 4,000 กิโลเมตรก็พยายามปักธงในภูมิภาคนี้เช่นกันโดยให้การสนับสนุนโครงการผลิตก๊าซของรัสเซีย และเสนอเงินกู้เพื่อการพัฒนาให้ชาติอาร์กติกอื่นๆ นอกจากนี้ จีนกำลังสร้างกองเรือตัดน้ำแข็งของตัวเองด้วย
ในทางกลับกัน ที่ผ่านมาชาติตะวันตกส่วนใหญ่ รวมทั้งแคนาดาและสหรัฐฯ ซึ่งรวมกันแล้วเป็นผู้ควบคุมแนวชายฝั่งอาร์กติกอยู่เกือบครึ่งหนึ่ง ดูแทบไม่ไยดีอะไรกับดินแดนทางเหนือนี้ สหรัฐฯมีเรือตัดน้ำแข็งที่ใช้การได้เพียงห้าลำ (เทียบกับ 51 ลำของรัสเซีย) และไม่มีท่าเรือน้ำลึกอยู่เหนือเส้นอาร์กติกเซอร์เคิลขึ้นไปแม้แต่แห่งเดียว เรื่องราวของเขตแดนใหม่ดำเนินควบคู่มากับความขัดแย้งที่อาจปะทุขึ้นได้ในไม่ช้า หรืออาจกระทั่งส่งผลให้เกิดสงครามเย็นครั้งใหม่ได้
นักวิทยาศาสตร์ขององค์การนาซาประเมินว่า โดยเฉลี่ยแล้วภูมิภาคอาร์กติกสูญเสียน้ำแข็งราว 54,000 ตารางกิโลเมตรในแต่ละปี และผู้เชี่ยวชาญที่ยังทำนายว่า มหาสมุทรอาร์กติกจะปราศจากน้ำแข็งในฤดูร้อนก่อนถึงปี 2050
ปัจจุบัน รัสเซียคือมหาอำนาจเกือบทุกด้านในภูมิภาคอาร์กติก โดยมีกองเรือตัดน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และกำกับดูแลฐานทัพทหารหลายสิบแห่ง ขณะที่สหรัฐฯ มีฐานทัพหนึ่งแห่งในเขตอาร์กติก และสนามบินหนึ่งแห่งในพื้นที่ยืมใช้ทางเหนือของกรีนแลนด์
รัสเซียส่งกองทหารใหม่ๆไปประจำการอยู่ทางเหนือมาโดยตลอด นอกจากนี้ยังเพิ่มกิจกรรมของเรือดำน้ำและส่งเครื่องบินรบหวนคืนสู่น่านฟ้าอาร์กติก แต่ผู้สันทัดกรณีชี้ว่า กิจกรรมต่างๆ ของรัสเซียในภูมิภาคอาร์กติกสะท้อนถึงแผนการภายในประเทศ มากกว่าจะส่อถึงความทะเยอทะยานในระดับโลก
ดินแดนอาร์กติกในครอบครองของรัสเซียมีประชากรรัสเซียอาศัยอยู่สองล้านคน และมีเมืองขนาดใหญ่ตั้งอยู่หลายเมือง รวมถึงเมือง มูร์มันสค์และเมืองนอริลสค์ ประชากรแคนาดากับสหรัฐฯ ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคอาร์กติก รวมกันแล้วยังไม่ถึงหนึ่งในสี่ของตัวเลขทางรัสเซีย
ขณะที่การแผ่อำนาจของจีนเข้าสู่ภูมิภาคอาร์กติกเป็นไปตามกลยุทธ์มุ่งเก็บเกี่ยวทรัพยากรคล้ายคลึงกับทางรัสเซีย ไม่ใช่เพื่อขยายดินแดน นอกเหนือจากการลงทุนในโครงการน้ำมันและก๊าซของรัสเซียแล้ว จีนยังมีความสนใจโดยเฉพาะกับการได้สิทธิ์เข้าถึงเส้นทางเดินเรือใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางจากท่าเรือในเอเชียสู่ตลาดในยุโรปได้มากขึ้นถึงสองสัปดาห์
เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลจีนเผยแพร่เอกสารปกขาวฉบับหนึ่ง เพื่อชี้แจงจุดประสงค์ของการเข้าไปมีส่วนร่วมในดินแดนทางเหนือ ในเอกสารดังกล่าว จีนเรียกตัวเองว่า “รัฐใกล้ภูมิภาคอาร์กติก” ซึ่งหวังจะได้ร่วมมือกับชาติอื่นๆ เพื่อสร้าง “เส้นทางสายไหมขั้วโลกเหนือ” ที่อุทิศให้กับการพาณิชย์และการวิจัย
ไม่มีเจ้าหน้าที่จากกลุ่มประเทศนาโตคนใดที่ผมคุยด้วยเชื่อว่า รัสเซียจะก่อสงครามในดินแดนอาร์กติก แต่หลายคนมีความเห็นว่า ความขัดแย้งอาจปะทุขึ้นที่ไหนสักแห่งทางใต้ และจะค่อยๆแผ่ขึ้นไปถึงดินแดนอาร์กติกในที่สุด บางคนอ้างอิงถึงการยึดครองไครเมียด้วยความรุนแรงของรัสเซีย และท่าทีแข็งกร้าวของจีนในกรณีทะเลจีนใต้
แต่คนนอกกองทัพจำนวนมากเชื่อว่า ยังมีความหวังสำหรับอาร์กติกที่เปลี่ยนโฉมไป เป็นความหวังที่มองอาร์กติกไม่เหมือนสมรภูมิสงครามเย็น แต่เหมือนทวีปแอนตาร์กติกาหรืออวกาศมากกว่า ในภูมิภาคเหล่านั้น ซึ่งทั้งสองแห่งถือเป็นพรมแดนใหม่ ข้อตกลงระหว่างประเทศและความห่างไกล ช่วยลดผลกระทบจากความตึงเครียดทางการเมืองลงได้
“ประเทศต่างๆที่มีปัญหากันในภูมิภาคอื่น พบว่าตนจำเป็นต้องหันมาร่วมมือกันในภูมิภาคที่หนาวเย็น มืดมัว อันตราย และมีค่าใช้จ่ายสูง” ไมเคิล ไบเยอร์ส ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย กล่าวและเสริมว่า “ความจำเป็นต้องร่วมมือกันนี้นำไปสู่การทำงานร่วมกันครับ”
เรื่อง นีล เช
ภาพถ่าย ลูอี ปาลู
*อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกันยายน 2562
สารคดีแนะนำ