106 ปี ชาติกาล จันตรี ศิริบุญรอด บิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์ไทย เปิดประวัติและผลงานของนักเขียนที่ปรากฎใน Doodle

106 ปี ชาติกาล จันตรี ศิริบุญรอด บิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์ไทย เปิดประวัติและผลงานของนักเขียนที่ปรากฎใน Doodle

จันตรี ศิริบุญรอด ถูกเลือกให้ปรากฏใน Doodle การเปลี่ยนโลโก้ของ Google เพื่อเฉลิมฉลองวันสำคัญของแต่ละประเทศ

31 มีนาคม เป็นวันเกิดของ จันตรี ศิริบุญรอด นักเขียนที่ถูกยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์ไทย ซึ่ง Google เสิร์ชเอนจิ้นอันดับ 1 ของโลกได้ร่วมเฉลิมฉลองวันเกิดของเขาด้วยการขึ้นภาพและข้อความว่า Juntree Siriboonrod ‘s 106th Birthday หรือ 106 ปี ชาติกาล จันตรี ศิริบุญรอด

ประวัติ จันตรี ศิริบุญรอด

จันตรี ศิริบุญรอด เกิดที่ฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2460 แต่อีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า สุชาติ สวัสดิ์ศรี เปิดเผยว่า จันตรีเป็นคนจังหวัดสงขลา ขณะที่บางแห่งแจ้งข้อมูลวันเกิดของ จันตรี ว่าเป็นวันที่ 11 มีนาคม มีความเป็นไปได้ว่า เขาอาจจะเกิดวันที่ 11 มีนาคม แต่ที่บ้านไปแจ้งเกิดวันที่ 31 มีนาคม ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของคนไทยในสมัยอดีตที่จะมีวันเกิดสองวัน คือวันจริง กับ วันที่ระบุในบัตรประจำตัวประชาชน ด้วยความที่การติดต่อหน่วยงานราชการในสมัยก่อนไม่ค่อยมีความสะดวก

จันตรี สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 แผนกวิทยาศาสตร์ ทำงานครั้งแรกที่กรมเชื้อเพลิง หลังลาออกจากงานได้สมัครเป็นครูในโรงเรียนหลายแห่ง ช่วง พ.ศ. 2493–2496 จันตรีเริ่มเขียนนิยายและบทความทางวิทยาศาสตร์เผยแพร่ในวงแคบ ๆ ขณะเป็นครูสอนวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมปลายที่โรงเรียนเคนเน็ตแม็คเคนซี จังหวัดลำปาง

ปี พ.ศ. 2498 จันตรีจัดทำนิตยสาร วิทยาศาสตร์-มหัศจรรย์ ในนามของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย โดยร่วมกับ ดร.ปรีชา อมาตยกุล ผู้ช่วยเลขาธิการสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในขณะนั้น โดยตีพิมพ์เรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เช่น นิยายวิทยาศาสตร์ บทความวิทยาศาสตร์ ประวัตินักวิทยาศาสตร์ และจัดพิมพ์เรื่อยมาจนเลิกพิมพ์ใน พ.ศ. 2502

การหันมาทำหนังสือทำให้จันตรีจำเป็นต้องเลิกอาชีพครู และตั้งสำนักพิมพ์ของตนเพื่อจัดทำหนังสือและนิตยสาร วิทยาศาสตร์-อัศจรรย์ จนเลิกไปใน พ.ศ. 2505 แต่ก็ยังคงเขียนหนังสือส่งไปพิมพ์ตามสำนักพิมพ์ต่าง ๆ และออกหนังสือของตัวเองบ้างสลับกันไป

ด้านชีวิตส่วนตัว จันตรี สมรสกับ คุณสอางค์ มีลูกด้วยกัน 10 คน เขาใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายจนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคไตเมื่อปี พ.ศ. 2511

จันตรี ศิริบุญรอด
จันตรี ศิริบุญรอด

ผลงานของ จันตรี ศิริบุญรอด

ทายาทของ จันตรี ประมาณว่าผลงานทั้งหมดของเขามีประมาณ 300 ชิ้น แบ่งเป็นบทความ สารคดี และเรื่องสั้น อย่างละไม่ต่ำกว่า 100 ชิ้น อาทิเช่น โลกถล่ม ผู้ดับดวงอาทิตย์ ผู้พบแผ่นดิน มนุษย์คู่ วิทยาศาสตร์วิทยากล วิทยาศาสตร์มหัศจรรย์ วิทยาศาสตร์อัศจรรย์ จันทรมนุษย์ ผู้สร้างอนาคต วิทยาศาสตร์บันทึก และ หุ่นล้างโลก เป็นต้น

ส่วนผลงานที่สร้างชื่อให้กับ จันตรี คือ ผู้ดับดวงอาทิตย์ และ ผู้พบแผ่นดินโดยได้รับคัดเลือกโดยคณะวิจัยโครงการวิจัยหนังสือดีวิทยาศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้เป็นหนึ่งใน 88 หนังสือดีวิทยาศาสตร์ไทย

ทั้งนี้ ใน พ.ศ. 2548 นานมีบุ๊คส์ ร่วมกับ ชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ (นวจท.) สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (JSTP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมกันจัดโครงการประกวดนิยายวิทยาศาสตร์ รางวัลจันตรี ศิริบุญรอด ขึ้นเป็นครั้งแรก

งานเขียนนิยายของ จันตรี มีในแบบเรื่องสั้นและนวนิยายของ จันตรี ศิริบุญรอด มาเริ่มต้นจริงจังครั้งแรก หลังจากที่เขาย้ายจากจังหวัดลำปางมาทำงานร่วมกับ คุณปรีชา อมาตยกุล ซึ่งเป็นบรรณาธิการผู้ก่อตั้งนิตยสาร วิทยาศาสตร์–มหัศจรรย์ ของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ที่ร่วมงานกับบริษัทไทยวัฒนาพานิช ก่อเกิดนิตยสารรายเดือนฉบับนี้ขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2498

หลังจากที่ จันตรี ศิริบุญรอด ได้ขึ้นเป็นบรรณาธิการนิตยสารแทน คุณปรีชา อมาตยกุล จนเมื่อนิตยสาร วิทยาศาสตร์–มหัศจรรย์ ได้ยุติการจัดทำลงในปี พ.ศ. 2503 จันตรี ศิริบุญรอด ก็ได้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ ศิริบุญรอด จัดทำนิตยสาร วิทยาศาสตร์–อัศจรรย์ รายเดือนของตนเอง และจัดพิมพ์นิยาย ‘ไซไฟ’ ที่เขาเขียนขึ้นเป็นหนังสือเล่มในชื่อต่างๆ มากมาย เมื่อรวมชิ้นงานในนิตยสาร วิทยาศาสตร์–มหัศจรรย์ และ วิทยาศาสตร์–อัศจรรย์ ที่มีผลงานเขียนและแปลของเขาแทบจะคนเดียว บทบรรณาธิการ บทความสารคดีทางวิทยาศาสตร์ ชิ้นงานต่างๆ เมื่อรวมแล้ว เข้าใจว่าน่าจะมีมากกว่า 1,000 ชิ้น และแม้ในปัจจุบันก็ยังไม่เคยมีใครนำมารวบรวมจัดพิมพ์อย่างเป็นระบบมาก่อน

สำหรับผลงานของ จันตรี ศิริบุญรอด ที่ยังพอหาซื้อได้ในปัจจุบันมี นิทานอีสป เรื่องที่ผู้คนทั่วโลกต่างรู้จักและนำมาบอกเล่าสั่งสอนเป็นคติเตือนใจและเป็นตัวจุดประกายจินตนาการให้เด็กๆและผู้คนทั่วโลกสิ่งที่ “อีสป” นำมาผูกเป็นเรื่องนั้นเขามักนำเอาเรื่องราวเกี่ยวกับบรรดาสัตว์และเทพเจ้ากรีกรวมไปถึงบุคคลทั่วไปที่มีสัมมาอาชีพเป็นที่รู้จักมาผูกเป็นเรื่องราวสอดแทรกแง่คิดต่างๆและสร้างภาพให้เกิดจินตนาการด้วยรูปแบบที่เข้าใจได้ง่ายทำให้ผลงานของเขากลายเป็นงานอมตะที่ยืนยาวมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ ผู้พบแผ่นดิน : The Explorers ก็ยังคงมีสำนักพิมพ์สนใจนำมาพิมพ์ซํ้าเป็นระยะกับเรื่องราวแฟนตาซีเกี่ยวกับชนชาวฟินิเชียนออกล่องเรือเพื่อการค้าและการแสวงหาในยุคต้น ถึงการค้นพบแผ่นดินใหม่ ๆ โลกทัศน์ที่เปลี่ยนไปของบรรดานักเดินทาง ผู้ที่ไม่เพียงแค่ต้องมีหัวใจแสวงหาเท่านั้น หากต้องมุ่งมั่นบากบันและเอาชีวิตเข้าแลก เพื่อให้ได้มาซึ่งความสําเร็จและการได้รู้จักโลกใบที่เราดํารงอยู่อย่างจริงแท้แน่นอน

แต่ที่หายากและราคาพุ่งสูงคือหนังสือเรื่อง ผู้ดับดวงอาทิตย์ หนังสือรวมเรื่องสั้นประเภทนิยายวิทยาศาสตร์ ตัวละครของทุกเรื่องเป็นคนไทย หรือมีตัวละครไทยเป็นตัวเอก แนวเนื้อเรื่องแต่ละเรื่องหลากหลาย มีทั้งลึกลับ ผจญภัย ปรัชญา โดยมีท้าทายให้ขบคิด และเฉลยในตอนท้าย ซึ่ง จันตรี ศิริบุญรอด จัดพิมพ์ครั้งแรกโดย บริษัท สำนักพิมพ์ดวงกมล จำกัด เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2521 โดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบรรณาธิการ เป็นเล่มที่ 1 ในชุดนิยายวิทยาศาสตร์ ราคา 15 บาท ฉบับพิมพ์ในช่วงหลังๆราคาประมาณ 300 บาท แต่ด้วยความที่มีจำนวนน้อย ราคาจึงขยับขึ้นไปถึงหลักพันบาท

สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์

อ้างอิงข้อมูล

https://th.wikipedia.org/wiki/จันตรี_ศิริบุญรอด

https://www.naiin.com/writer/002477

https://anowl.co/anowlrod/readclassic/ part5/

อ่านเพิ่มเติม จากใบไม้เปลี่ยนสีถึงปริศนาเอกภพ ป๋องแป๋ง อาจวรงค์ จันทมาศ ค้นหาเสน่ห์ในวิทยาศาสตร์มาเล่าเป็นเรื่อง

 

 

Recommend