มองจากภายใน: สถานการณ์การระบาดในประเทศไทย

มองจากภายใน: สถานการณ์การระบาดในประเทศไทย

ความคาดหวังว่าจะพบเจอกับสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่านี้ ช่างภาพถ่ายทอดสารคดีการแพร่ระบาดในกรุงเทพ เขาถูกทำให้ประหลาดใจจากสิ่งที่เขาพบเจอ

ผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีนคนแรกถูกรายงานพบที่ประเทศไทย เมื่อมีข่าวเกิดขึ้นในเดือนมกราคม ความกระวนกระวายใจได้เกิดขึ้นท่ามกลางประชาชน บางคนมั่นใจว่า รัฐบาลของเราสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คือนักธุรกิจใหญ่โดยที่ไม่มีประสบการณ์ทำงานทางด้านสุขภาพ เว้นแต่ว่าคุณนับเรื่องการสนับสนุนกัญชาให้ถูกกฎหมาย หลายๆ คนคิดว่าเราอาจต้องดูแลตัวเองเหมือนอย่างที่เคยเป็น

ความคาดหวังว่าสถานการณ์จะเลวร้ายกว่านี้ ผมเริ่มการถ่ายภาพกรุงเทพฯ ในช่วงวันแรกๆ ของการแพร่ระบาด ผมกลัวว่า การแพร่ระบาดจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในชุมชนแออัด และอุปกรณ์ทางการแพทย์จะไม่เพียงพอต่อความต้องการ แต่ผลกลับไม่เป็นเช่นนั้น การทำงานทำให้ท้อแท้ในเวลานั้น ไม่ใช่เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อมีมาก แต่เป็นเพราะมีน้อย ผมรู้สึกได้โล่งใจที่สถานการณ์ไม่เลวร้ายมาก ผมค่อยๆ ออกไปสำรวจเมืองและถ่ายภาพ

เจ้าหน้าที่ตำรวจสวมหน้ากากและถือถุงอาหารขณะที่เขาขี่รถจักรยานยนต์ผ่านประตูมณีนพรัตน์ ส่วนหนึ่งของพระบรมมหาราชวังในกรุงเทพ โดยปกติแล้ว เมืองนี้เป็นหนึ่งในเมืองที่มีการจราจรย่ำแย่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก แต่ถนนกลับว่างเปล่าเมื่อรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ช่วงต้นเดือนเมษายนและประชาชนถูกผลักดันให้อยู่บ้าน

รัฐบาลสร้างความประหลาดใจให้กับเราด้วยประสิทธิผลของนโยบายที่ประกาศออกมา ประเทศจีนรายงานการระบาดครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่น เมื่อเดือน 31 ธันวาคม 2019 เพียงสามวันให้หลัง สนามบินไทยตั้งด่านตรวจสอบผู้มาเยือนจากเมืองอู่ฮั่น (ประเทศไทยคือหนึ่งในจุดหมายปลายทางอันดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวจากอู่ฮั่น) หนึ่งวันหลังจากนั้น กระทรวงสาธารณสุขจัดตั้งศูนย์ดำเนินการฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 8 มกราคม ผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อโควิด-19 รายแรกถูกตรวจพบในราชอาณาจักร ซึ่งถูกยืนยันว่าเป็นผู้ติดเชื้อรายแรกนอกประเทศจีน เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2020

จากวันนั้น ผู้นำรัฐบาลได้ตัดสินใจเพื่อให้เรื่องนี้อยู่ในการดูแลของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ซึ่งในประเทศไทยถูกยกย่องเป็นอย่างมาก และเรายังมีสถาบันทางการแพทย์ที่ดีและมีสถานพยาบาลรองรับที่เพียงพอ ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ผู้ทำงานที่สถานพยาบาลตรวจสอบวัดอุณหภูมิของคนที่มาถึงสนามบินและกักตัวพวกเขาถ้ามีความจำเป็น จนสุดท้ายทุกคนที่มาจากต่างประเทศต้องถูกกักตัวอยู่ในสถานที่รัฐบาลจัดเตรียมไว้

ประเทศไทยไม่สามารถตรวจหาเชื้อจากประชากรทุกคนได้ ดังนั้น การติดตามผู้สงสัยว่าติดเชื้อจึงเป็นวิธีที่แลดูมีประสิทธิภาพ ทั่วประเทศมีทีมตรวจสอบการระบาดของโรคจำนวนกว่า 1000 ทีม ที่ออกสืบสวนผู้ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อ และตรวจหาเชื้อ ทุกอย่างดูราวกับว่าเป็นไปด้วยดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตั้งแต่การติดตามผู้ต้องสงสัยที่เริ่มขึ้นในช่วงแรก ผมมีโอกาสติดตามหนึ่งในทีมตรวจเชื้อเคลื่อนที่เป็นเวลากว่าหนึ่งสัปดาห์ ทีมเดินทางไปพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ เพื่อจัดการทดสอบโดยไม่มีค่าใช้จ่ายกับประชาชน ซึ่งอ้างอิงตามบันทึกว่าอาจมีความเสี่ยงได้รับเชื้อ ผลคือ ในจำนวนหลายร้อยคนที่ทำการทดสอบ พบว่าไม่ติดเชื้อโควิด-19 จากผู้สงสัยที่ได้รับการตรวจโดยทีมที่ผมได้มีโอกาสติดตามไป

ชายคนหนึ่งเดินผ่านห้องโถงที่ว่างเปล่าของห้างสรรพสินค้าเซนทรัลพลาซา สาขาปิ่นเกล้า ซึ่งถูกปิดในช่วงล็อกดาวน์ ทางห้างสรรพสินค้าอนุญาตให้เปิดเฉพาะร้านอาหารและซูเปอร์มาร์เก็ต

ตอนแรก ผมคิดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีรายงานออกมาจำนวนน้อย เกิดจากการตรวจหาเชื้อที่ไม่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ไม่มีจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างไม่ทราบสาเหตุเพิ่มขึ้น รายงานอย่างเป็นทางการก็ปรากฏไปในทางที่ถูกต้อง

การร่วมมือกันของประชาชนทั่วไปมีบทบาทสำคัญต่อการยับยั้งการแพร่ระบาด จากการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า ร้อยละ 95 คนไทยสวมใส่หน้ากากในพื้นที่สาธารณะในช่วงระหว่างการแพร่ระบาด ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กว่าหลายปีที่ผ่านมา การสวมใส่หน้ากากกลายเป็นเรื่องธรรมดาในกรุงเทพฯ เนื่องจากมีมลพิษทางอากาศที่แย่จากหลายปัจจัย ทั้งการคมนาคม ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรม ผมมีหน้ากากหลายชิ้นที่บ้าน ซึ่งรวมถึงหน้ากาก N95 ติดตัว เพื่อใช้ระหว่างวันที่คุณภาพอากาศย่ำแย่ หน้ากากอนามัยทางการแพทย์สามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านสะดวกซื้อ ถึงแม้ว่าในช่วงแรกของการแพร่ระบาด ประชาชนบางส่วนกักตุนสินค้าเพื่อส่งออกไปต่างประเทศหรือขายให้คนท้องถิ่นเกินราคา ประชาชนที่ออกมาเดินในที่สาธารณะเข้มงวดกับการใส่หน้ากากมาก ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมลืมใส่หน้ากาก คุณป้าที่อยู่บนถนนจะจ้องมองแปลกๆ ทำให้ต้องวิ่งกลับบ้านเพื่อไปหยิบหน้ากากมาใส่

บุคคลากรทางการแพทย์กับการทดสอบโควิดเคลื่อนที่ รวบรวมตัวอย่างจากคนที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโคโรนาไวรัส

ในกรุงเทพฯ ไม่รู้สึกถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดจนกระทั่งถึงเดือนมีนาคม เมื่อระดับการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด จากกลุ่มผู้ติดเชื้อที่สนามมวยและสถานบันเทิงยามค่ำคืน เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2020 ธุรกิจที่ไม่สำคัญส่วนใหญ่ถูกสั่งให้ปิดบริการ รวมถึงโรงเรียน และสถานบันเทิง ห้าวันหลังจากนั้น มีพระราชกฤษฎีกาฉุกเฉินส่งผลต่อสถานที่ที่มีการรวมตัวทั้งหมด เที่ยวบินต่างประเทศถูกห้ามบินเข้าราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 4 เมษายน ยกเว้นการรับคนไทยกลับเข้ามาจากต่างประเทศ

เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส รัฐบาลไทยปิดสถานที่หลายแห่ง เช่น ร้านอะโกโก้ในซอยคาวบอย

บรรยากาศของเมืองเปลี่ยนไปแทบจะทันที ประตูของเขตย่านเริงรมณ์ถูกปิด และพนักงานบริการทางเพศจำนวนมากได้เริ่มเดินทางออกจากกรุงเทพ เพราะงานที่หายไป ในระหว่างฤดูกาลท่องเที่ยว โดยปกติจะมีนักท่องเที่ยวราว 50,000 คน อยู่กันเนืองแน่นที่ถนนข้าวสาร จุดศูนย์กลางของนักท่องเที่ยวแบบแบ็กแพ็กเกอร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อผมไปที่นั่นช่วงเมืองถูกปิด มันว่างเปล่า เว้นแต่คนทำงานก่อสร้างบางคน

กรุงเทพกลายเป็นเมืองที่เงียบงัน ผมไม่เคยจินตนาการว่าเมืองที่มีประชากรมากกว่าแปดล้านคน เมืองศูนย์กลางของธุรกิจของประเทศไทย จะปราศจากการจราจรที่ติดขัด หรือผู้คนที่หนาแน่นบนการขนส่งสาธารณะ ความรู้สึกของการเดินเท้าเรื่อยๆ คนเดียวบนถนนของเมืองกรุงเทพที่ไม่วุ่นวาย มันเป็นอะไรที่ไม่คุ้นเคย

ถึงแม้ว่าประเทศจะถูกเปิดแล้ว หน้ากากอนามัยยังเป็นสิ่งที่รัฐบาลขอความร่วมมืออย่างเข้มงวด แม้แต่การโฆษณาโปรโมตการใส่หน้ากากถูกแสดงขึ้นด้านข้างของห้างสรรพสินค้า ขณะที่ผู้คนพยายามที่จะรักษาระยะห่างทางสังคมที่ป้ายรถเมล์

แต่การแพร่ระบาดยังคงแสดงให้เห็นความน่าเกลียดที่ยังอยู่ที่นี่เสมอ ประเทศไทยจัดอยู่อันดับที่ 4 ที่แย่ที่สุดของโลก เรื่องความเหลื่อมล้ำของรายได้ อ้างอิงจากรายงานล่าสุดโดย the Credit Suisse Research Institute หลายคนไม่สามารถหาเงินเพื่อซื้ออาหารจากซูเปอร์มาร์เก็ตได้ ซึ่งหมายความว่าพวกเขาต้องไปซื้ออาหารจากตลาดสดที่ยังพอเปิดอยู่ ซึ่งเป็นสถานที่ที่การรักษาระยะห่างทางสังคมค่อนข้างปฏิบัติได้ยาก และในอีกมุมหนึ่งผมก็ยังมีเพื่อนที่สั่งหอยเม่นและซาชิมิราคาประมาณสามพันบาท มากินที่บ้าน สำหรับมื้อกลางวันมื้อเดียว

ไม่ใช่ทุกคนสามารถทำงานจากที่บ้านได้ ผมได้ยินคำพูดบนท้องถนนบ่อยๆว่าการตายจากไวรัสก็ยังดีกว่าตายจากความอดอยาก อัตราการว่างงานในกรุงเทพฯ ถูกประเมินว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 ในเดือนพฤษภาคม และผู้คนกว่า 8.4 ล้านคนทั่วประเทศมีความเสี่ยงเป็นผู้ว่างงานตามที่รัฐบาลประเมินไว้ จำนวนคนไร้บ้านอาจเพิ่มขึ้นเพราะพวกเขาไม่สามารถหาเงินเพื่อจ่ายค่าเช่าได้ แม้ว่าประชาชนหลายกลุ่ม รวมถึงองค์กรภาคเอกชนออกมาบริจาคอาหารให้คนไร้บ้าน แต่รัฐบาลคงจำเป็นต้องดูแลพวกเขามากกว่านี้ และแก้ความไม่เท่าเทียมที่ฝังรากลึกในสังคมเรามาอย่างยาวนานกันอย่างมีประสิทธิภาพกว่านี้

ตอนนี้ กรุงเทพฯ ก็กำลังกลับมาเปิดเมืองอีกครั้ง มาตรการเคอร์ฟิวถูกยกเลิก และธุรกิจส่วนมากในกรุงเทพฯ ก็กลับมาดำเนินการอย่างปกติ แต่มาตราการป้องกันบางอย่างยังคงอยู่ เช่น การสวมใส่หน้ากาก และรักษาระยะห่างทางสังคม เมื่อเราเข้าร้านค้าหรือร้านอาหาร เราต้องแสกนคิวอาร์โค้ดด้วยโทรศัพท์ของเราเพื่อลงทะเบียนว่าเราเคยอยู่ที่นั่น บางคนกังวลว่ารัฐบาลจะใช้การลงทะเบียนนี้ในการติดตามสะกดรอยผู้คน ดังนั้น พวกเขาจึงแค่แกล้งทำเป็นแสกนโทรศัพท์ของพวกเขา หรือเขียนข้อมูลปลอมๆ ถึงแม้โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่สบายใจที่จะแบ่งปันข้อมูลส่วนบุคคล แต่ผมก็คงยังต้องทำตามมาตรการนี้ เพราะผมคิดว่า มันสำคัญต่อกระทรวงสาธารณสุขที่จะรู้ข้อมูลที่ถูกต้องในการบริหารจัดการควบคุมโรคระบาดนี้ให้ได้

มาถึงวันนี้เรารู้สึกโชคดีมาก จำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 3,147 คน และเสียชีวิตรวม 58 ราย (ข้อมูลวันที่ 21 มิถุนายน 2020) แต่สถาณการณ์โคโรนาไวรัสยังไม่จบลงในประเทศไทย ถึงแม้ว่าเราไม่ได้ประสบการระบาดที่ร้ายแรง แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอาจจะส่งผลต่อประเทศไทยเป็นระยะเวลานาน

เรื่องและภาพถ่าย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย
เรียบเรียง ราเชล ฮาร์ติแกน

ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย เป็นช่างภาพสารคดีชาวไทยและนักสำรวจของสมาคมเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก ที่ทำงานด้านประเด็นอนุรักษ์ทางทะเล บทความนี้ได้รับการสนับสนุนโดยกองทุนฉุกเฉินโควิด-19 ของสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เกาหลีใต้ป้องกันการระบาดอย่างไร

Recommend