ภาพถ่ายยุคแรกของไทย : มุมมองในประวัติศาสตร์ภาพถ่ายของโลก
ค.ศ. 1839 (หรือเมื่อ 182 ปีก่อน) นับเป็นหมุดหมายที่สำคัญในประวัติศาสตร์การถ่ายภาพของโลก เพราะเป็นปีที่มนุษย์คิดค้นวิธีการถ่ายภาพได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในเวลาไล่เลี่ยกันถึง 2 วิธี คือ กระบวนการดาแกโรไทพ์ (daguerreotype) และกระบวนการคาโลไทพ์ (calotype)
ทั้งสองวิธีใช้หลักการเดียวกันคือ สร้างภาพขึ้นมาในกล้องที่เป็นกล่องทึบแสง โดยให้แสงลอดเข้ามาผ่านรูรับแสง ตามกลไกของ “คาเมรา ออบสกูรา” (camera obscura) ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยศิลปินในการร่างภาพเหมือนมานานหลายร้อยปี เมื่อแสงตกกระทบและทำปฏิกิริยากับแผ่นรับแสงที่เคลือบสารไวแสงไว้ เกิดเป็นภาพที่สามารถคงอยู่ได้ถาวร นับเป็นครั้งแรกที่มนุษย์สามารถบันทึกภาพช่วงเวลาที่เกิดขึ้นชั่วขณะหนึ่ง ให้คงอยู่ไปตลอดกาล
****************
กระบวนการถ่ายภาพทั้งสองแบบแพร่หลายอย่างรวดเร็วในทวีปยุโรป โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นกลาง กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวัน ในขณะเดียวกัน การถ่ายภาพก็ได้เดินทางไปยังดินแดนต่าง ๆ ทั่วโลกพร้อมกับนักเดินทาง พ่อค้า และมิชชันนารีชาวยุโรป มีการตั้งสตูดิโอถ่ายภาพ โดยเฉพาะในเมืองท่าและเมืองที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการเมืองและการค้าสำหรับชาติมหาอำนาจยุโรป
สยามเป็นหนึ่งในชาติอันดับแรกๆ ของทวีปเอเชียที่รู้จักเทคนิคการถ่ายภาพ เพียง 6 ปีหลังการถ่ายภาพถือกำเนิดขึ้น กล้องถ่ายรูปแบบดาแกโรไทพ์ก็ได้เดินทางมาถึงแผ่นดินสยามเมื่อ ค.ศ. 1845 ในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) โดยบาทหลวงลาร์นอดี (Larnaudie) ชาวฝรั่งเศส ได้นำเข้ามาตามจดหมายสั่งของสังฆราชปาลกัว (Pallegoix) สมัยนั้นเรียกภาพถ่ายว่า “รูปชัก” ซึ่งหนังสือ “อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์ได้ให้คำนิยามไว้ว่า “คือรูปที่เขาทำวิธีอย่างฝรั่งเสศ ทำให้รูปเข้าไปอยู่ในแผ่นเงินเปนต้น” อันหมายถึงกระบวนการดาแกโรไทพ์
****************
ปัจจุบัน ภาพถ่ายดาแกโรไทพ์รุ่นแรกของสยามที่หลงเหลืออยู่มีเพียงไม่กี่ภาพ หนึ่งในนั้นคือ พระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเครื่องต้นสำหรับกษัตริย์ ประทับบนพระราชอาสน์ ถ่ายเมื่อ ค.ศ. 1857 และได้ส่งไปถวายสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย พร้อมกับเครื่องราชบรรณาการและพระราชสาสน์ เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีทางการทูต
รูปดาแกโรไทพ์จากสยามใบนี้สะท้อนประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการถ่ายภาพในยุคแรกของโลก หากมองย้อนกลับไปในสมัยนั้น ภาพถ่ายได้สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการติดต่อระหว่างมนุษย์ เป็นครั้งแรกที่เราสามารถเห็นรูปร่างหน้าตาของคน สิ่งของ และสถานที่เสมือนจริง โดยที่ตัวเราไม่จำเป็นต้องอยู่ที่นั่น
การส่งภาพถ่ายบุคคลเหมือนตัวจริง นอกจากจะเป็นการบอก “ข้อมูล” เกี่ยวกับลักษณะภายนอกของตัวบุคคลแล้ว ยังเป็นการสร้าง “ประสบการณ์” ราวกับได้พบหน้าและสบตากันจริง เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ในรูปแบบที่ตัวหนังสือหรือภาพวาดก็ไม่อาจเทียบเคียงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่อยู่ห่างไกลกันคนละทวีป เช่นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย
การถ่ายภาพทำให้มนุษย์สามารถบันทึกภาพตัวเองได้สำเร็จ ต่างจากภาพเขียนเหมือนที่ต้องถ่ายทอดผ่านสายตาและฝีแปรงของจิตรกรซึ่งอาจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ในการถ่ายภาพ ผู้เป็นแบบสามารถกำหนดได้ว่าจะนำเสนอตัวตนต่อสังคมภายนอกอย่างไร ผ่านสีหน้า ท่าทาง เครื่องแต่งกาย และของประดับตกแต่งในรูป ส่วนประเด็นว่า ภาพถ่ายสะท้อนความเป็นจริงหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันตั้งแต่ยุคแรกที่การถ่ายภาพเกิดขึ้นแล้ว
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าภาพดาแกโรไทพ์จะสามารถบันทึกรายละเอียดได้ครบถ้วน แต่ก็ยังเป็นภาพที่มีสีเดียว จึงเป็นที่มาของการระบายสีภาพด้วยมือเพื่อความสมจริงและความสวยงาม ดังเช่นภาพดาแกโรไทพ์ของรัชกาลที่ 4 ข้างต้น ซึ่งระบายสีทองโดยฝีมือช่างชาวสยาม แสดงให้เห็นลวดลายไทยและสื่อความหมายเชิงสัญลักษณ์ถึงความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์สยาม ถือเป็นรูปถ่ายเก่าที่สุดของสยามที่มีการระบายสีรูปด้วย
น่าเสียดายที่ปัจจุบันไม่พบภาพดาแกโรไทพ์รุ่นแรกของสยามหลงเหลืออยู่ในประเทศไทย พบแต่ฟิล์มกระจกสำเนาและรูปวาดลายเส้น (engraving) ซึ่งสันนิษฐานว่าวาดจากต้นฉบับภาพดาแกโรไทพ์ ส่วนภาพถ่ายแบบคาโลไทพ์ ยังไม่พบหลักฐานในประเทศไทย
****************
ในยุคแรกที่กล้องถ่ายรูปเข้ามาในสยาม ภาพถ่ายได้รับความนิยมในวงจำกัดเฉพาะในราชสำนัก ขุนนาง และผู้ที่ติดต่อทำการค้ากับต่างประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอุปกรณ์ยังมีราคาสูง และกระบวนการดาแกโรไทพ์ต้องใช้ความรู้ความชำนาญด้านเทคนิค อีกทั้งชาวสยามส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า การสร้างรูปเขียนหรือรูปปั้นเหมือนตัวจริง อาจทำให้ถูกทำร้ายทางไสยศาสตร์ได้ จึงทำให้การถ่ายภาพยังไม่แพร่หลายในหมู่ประชาชนทั่วไปเหมือนในโลกตะวันตก
****************
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความชุดที่หยิบยกประเด็นที่น่าสนใจในประวัติศาสตร์ภาพถ่ายของไทยมาเล่าโดยสังเขป โดยเชื่อมโยงกับพัฒนาการภาพถ่ายของโลกผ่านมุมมองทางวัฒนธรรม
ถึงแม้ว่าประวัติศาสตร์ภาพถ่ายของไทยจะไม่มีเหตุการณ์สำคัญในลักษณะของการค้นพบหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ส่วนใหญ่เป็นการรับเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากกว่า แต่หลักฐานภาพถ่ายที่พบก็สะท้อนให้เห็นพัฒนาการของการถ่ายภาพที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมโลกเช่นกัน เนื่องจากมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ ผู้เขียนจึงขอแบ่งเป็นบทความสั้นพร้อมภาพประกอบจากการค้นคว้า ซึ่งจะทยอยเผยแพร่ในลำดับต่อไป
เรื่อง อธิคม แสงไชย
https://www.instagram.com/s.athikhom/
พระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ถ่ายเมื่อ ค.ศ. 1857 (ไม่ทราบชื่อผู้ถ่าย) และได้ส่งไปถวายสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีทางการทูต ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ใน The Royal Collection ของราชวงศ์วินด์เซอร์ สหราชอาณาจักร เป็นหนึ่งในภาพถ่ายรุ่นแรกของสยามที่ยังหลงเหลืออยู่
จากการค้นคว้าวิจัยโดยศาสตราจารย์กิตติคุณศักดา ศิริพันธุ์ และอเนก นาวิกมูล พบหลักฐานว่า บาทหลวงลาร์นอดีเป็นช่างถ่ายรูปคนแรกบนแผ่นดินสยาม และได้ถ่ายทอดวิชาการถ่ายรูปให้แก่ช่างภาพสยามในยุคแรก เช่น นายโหมด อมาตยกุล (พระยากระสาปน์กิจโกศล) ช่างภาพเชื้อสายไทยคนแรก นายจิตร จิตราคนี (หลวงอัคนีนฤมิตร) ซึ่งเป็นช่างถ่ายรูปอาชีพคนแรกของสยาม
กระบวนการถ่ายภาพแบบดาแกโรไทพ์ (daguerreotype) เป็นผลงานการร่วมกันค้นคว้าโดยนักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศสสองคน โจเซฟ นิเซฟอร์ เนียพส์ (Joseph Nicéphore Niepce) และหลุยส์-ฌาคส์-มองเด ดาแกร์ (Louis-Jacques-Mandé Daguèrre) โดยประกาศต่อสาธารณชนเมื่อวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1839
กระบวนนี้ใช้แผ่นโลหะเคลือบเงินเป็นตัวรับแสง เมื่อถ่ายแล้วเกิดภาพบนแผ่นโลหะนั้นเลย และไม่สามารถทำซ้ำได้ จุดเด่นคือสามารถเก็บรายละเอียดได้คมชัด ใกล้เคียงกับความเป็นจริง จึงนิยมใช้ถ่ายภาพบุคคลและบันทึกภาพที่ต้องการเก็บรายละเอียด
เนื่องด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยี การถ่ายภาพแบบนี้ในยุคแรกต้องใช้เวลาเปิดหน้ากล้องรับแสงนานหลายนาที ผู้เป็นแบบจึงต้องพยายามอยู่นิ่งให้มากที่สุด ส่วนที่เคลื่อนไหวจะปรากฎเป็นภาพเบลอ
เนื่องจากดาแกร์ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลฝรั่งเศสซึ่งต้องการมอบสิ่งประดิษฐ์นี้เป็นของขวัญให้แก่ประชาคมโลก เขาจึงไม่ได้จดสิทธิบัตร ทำให้กระบวนการดาแกโรไทพ์แพร่หลายและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก
ภาพผู้หญิงไม่ระบุชื่อ ถ่ายโดย Mathew Brady ระหว่าง ค.ศ. 1851 – 1860 ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ Library of Congress ประเทศสหรัฐอเมริกา
กระบวนการถ่ายภาพแบบคาโลไทพ์ (calotype) พัฒนาโดยนักประดิษฐ์ชาวอังกฤษ วิลเลียม เฮนรี ฟอกซ์ แทลบอต (William Henry Fox Talbot) ซึ่งเขาได้เปิดเผยต่อสาธารณชนเมื่อวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1839 (3 สัปดาห์หลังการประกาศของดาแกร์)
กระบวนการนี้ใช้กระดาษอาบน้ำยาเป็นตัวรับแสง ภาพที่ได้ออกมาเป็นภาพเนกาทีฟที่ต้องนำไปอัดลงบนกระดาษอีกแผ่นหนึ่ง เกิดเป็นภาพโพซิทีฟ มีข้อดีคือสามารถนำไปอัดซ้ำได้ ถือเป็นต้นกำเนิดของวิธีอัดภาพถ่ายในยุคปัจจุบัน
ภาพที่ได้จากกระบวนการคาโลไทพ์ซึ่งอัดลงบนแผ่นกระดาษ มีรายละเอียดนุ่มนวล ต่างจากภาพดาแกโรไทพ์ที่โดดเด่นเรื่องความคมชัดบนพื้นผิวแผ่นโลหะขัดมัน
อันที่จริง แทลบอตสามารถคิดค้นวิธีบันทึกภาพโดยไม่ต้องใช้กล้องถ่ายรูปได้สำเร็จตั้งแต่ ค.ศ. 1835 แล้ว โดยเขาสามารถสร้าง “ภาพวาดด้วยแสง” (photogenic drawing) หรือที่ปัจจุบันเรียกว่า โฟโทแกรม (photogram) ด้วยการวางวัตถุบนกระดาษที่เคลือบสารไวแสงและนำไปวางกลางแดด เมื่อล้างด้วยน้ำยาแล้ว บริเวณที่ถูกแสงจะกลายเป็นสีดำ รูปที่ออกมาจะให้สีตรงข้ามกับต้นแบบคือ ขาวเป็นดำ และดำเป็นขาว (ภาพเนกาทีฟ)
แทลบอตพยายามปรับปรุงกระบวนการดังกล่าวเรื่อยมา จนในที่สุด ค.ศ. 1841 เขาก็ได้จดสิทธิบัตรกระบวนการคาโลไทพ์ เนื่องจากผู้ใช้ต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมค่อนข้างสูง จึงเป็นสาเหตุทำให้กระบวนการคาโลไทพ์ไม่ได้รับความนิยมมากนักในช่วงแรก
ภาพ An oak tree in winter, Lacock (ด้านซ้ายเป็นภาพเนกาทีฟ ด้านขวาเป็นภาพโพสิทีฟ) ถ่ายโดย William Henry Fox Talbot ระหว่าง ค.ศ. 1842 – 1843 ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ British Library ประเทศอังกฤษ
ภาพดาแกโรไทพ์ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นภาพแรกของโลกที่บันทึกการทำงานของช่างภาพ ในภาพ จาเบซ ฮอกก์กำลังถ่ายภาพนายจอห์นสัน โดยมือหนึ่งถือนาฬิกาจับเวลาที่เปิดหน้ากล้องรับแสง และอีกมือหนึ่งถือฝาครอบหน้ากล้อง
ภาพ Jabez Hogg photographing Mr. Johnson in Richard Beard’s studio ถ่ายโดย Richard Beard เมื่อประมาณ ค.ศ. 1843 ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ใน National Media Museum ประเทศอังกฤษ
ภาพดาแกโรไทพ์ซึ่งระบายสีด้วยมือ ให้ภาพที่สวยงามและสมจริงตามธรรมชาติ
ภาพผู้หญิงไม่ระบุชื่อ ถ่ายโดย สตูดิโอ เซาธ์เวิร์ธ แอนด์ ฮอวส์ (Southworth & Hawes) สตูดิโอถ่ายภาพดาแกโรไทพ์ชั้นนำที่เมืองบอสตัส ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อประมาณ ค.ศ. 1850 ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ใน The George Eastman House Collection ประเทศสหรัฐอเมริกา