วัดบวรนิเวศวิหาร จุดเริ่มต้นแผนพัฒนาคนให้เป็นอารยชน ผ่านการศึกษาในวัด พื้นที่ชุมชนพร้อมสรรพที่กระจายอยู่ทั่วเมืองไทย
เช้าสดใสในเดือนอากาศดีของกรุงเทพฯ กับการตื่นเช้าเข้าวัดครั้งนี้ที่ไม่ได้หยุดแค่การทำบุญเช่นทั่วไป หากแต่เป็นการซึมซับเรื่องราวเล่าขานของเมืองไทยผ่านหลักฐานหน้าประวัติศาสตร์ฉบับจริงที่ถูกจัดแสดงให้สัมผัสประสบการณ์ด้วยตัวเอง กับพิพิธภัณฑ์ในวัดแบบเข้าใจง่าย และเป็นมิตรกับทุกคน
ในวโรกาสเฉลิมพระเกียรติคุณวาระครบรอบ 100 ปี แห่งการสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วันที่ 2 สิงหาคม 2564 รัฐบาลไทยและองค์การยูเนสโกร่วมเฉลิมพระเกียรติด้วยการยกย่องให้พระองค์เป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาสันติภาพ ประจำปีพุทธศักราช 2564 อันเป็นโอกาสอันดีในการจัดงาน ‘พระมหาสมณานุสรณ์’ เทิดพระเกียรติ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ สำหรับประชาชนไทยทุกคนได้เข้ามาเดินเยี่ยมชมวัดในมุมมองที่ต่างออกไป
นอกจากนิทรรศการที่จัดแสดงรายรอบบริเวณวัดบวรนิเวศวิหาร ผ่านสถาปัตยกรรมวัด พระตำหนัก อาราม พร้อมคำบรรยายแบบอินเตอร์แอคทีฟแล้ว ผู้ที่ไม่มีโอกาสได้ลงพื้นที่จริงยังสามารถชมพื้นที่ภายในวัด และชมนิทรรศการแบบประสบการณ์เสมือนจริง 360 องศา ไปพร้อมๆ กับบทความของเราในครั้งนี้ได้ผ่านทางเวบไซต์ https://mahasamana.org
จากฟากวัด เดินเท้าข้ามมายังฝั่งโรงเรียน เลียบเลาะผ่านตรอกเล็ก ๆ ระหว่างโรงเรียนวัดบวรนิเวศสู่ทางเข้าอาคารกวีบรรณาลัย อาคารสีขาวซึ่งเป็นที่ตั้งของหอจดหมายเหตุ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พื้นที่เล่นระดับภายในอาคารถูกตกแต่งอย่างโปร่งสบายแบบห้องนั่งเล่น เผยให้เห็นสถาปัตยกรรมอาคารดั้งเดิม พร้อมกับการจัดหมวดหมู่ของบันทึกประวัติศาสตร์ที่ยังคงเก็บรักษาไว้ในสภาพดี
บวร : บ้าน วัด โรงเรียน
บ้าน วัด โรงเรียน แม้จะเป็นศัพท์ใหม่ที่พึ่งบัญญัติไม่นานนี้ แต่ก็สอดพ้องพอดีกับชื่อของวัดบวร และระบบการศึกษาไทยที่เริ่มต้นภายใต้ร่มเงาของวัด
เท้าความว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) และเป็นพระอนุชาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) จากที่ทรงได้ศึกษาทั้งในแบบฉบับตะวันออกและตะวันตกในรั้ววัง จึงทรงมีความรู้ด้านวิทยาการอย่างกว้างขวาง ภายหลังทรงออกผนวช และใช้บทบาทการเป็นพระเถระในการสร้างซอฟท์พาวเวอร์ผ่านการจัดการศึกษา นัยหนึ่งเพื่อสร้างประชาชนที่มีคุณภาพในประเทศ และอีกนัยเพื่อคานอำนาจจากยุคล่าอาณานิคมจากประเทศตะวันตก
ในอดีต กระบวนการเรียนการสอนเกิดเฉพาะที่วังกับวัด สำหรับวัด เด็กผู้ชายจำเป็นต้องเข้ามาบวชก่อนจึงค่อยได้เข้ารับการศึกษาแต่ยังไม่เป็นระบบมากนัก สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ก็ทรงรู้สึกว่าถ้าอยู่วัดแบบไหน ลูกศิษย์ลูกหาก็จะเป็นแบบนั้น จึงดำริจัดแนวทางการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบขึ้นในวัดก่อน โดยกำหนดให้พระทุกรูปเรียนรู้ 4 วิชาที่จำเป็น ได้แก่ กระทู้ ธรรมะ พุทธะ และวินัย ผ่านการเรียนพระธรรม พุทธประวัติ และพระวินัย แล้วรวมองค์ความรู้ทั้งสามอย่างมาแต่งกระทู้แสดงธรรมสั่งสอน หลังเรียนเสร็จ ก็จะมีการสอบวัดผล เรียกว่า “นักธรรม” แล้วจึงเริ่มส่งพระที่มีความรู้ กระจายออกไปสั่งสอนทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
ช่วงเดียวกันนั้นเองที่ชาวตะวันตกกำลังออกล่าอาณานิคม และชาวตะวันออกถูกมองว่าเป็นอนารยชน หรือพวกป่าเถื่อน สิ่งหนึ่งที่จะช่วยพิสูจน์ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมคือการศึกษา จากที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเล็งเห็นว่าวัด เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับชุมชนที่มีอยู่ประจำทุกแห่งหน พระก็คือผู้มีการศึกษา มีธรรมะ รวมทั้งบทบาทของวัดและชุมชนคือการเกื้อกูลอิงอาศัยซึ่งกันและกัน จุดแข็งทั้งหมดจึงรวมกันกลายเป็นการจัดการศึกษาอย่างเป็นระบบโดยทรัพยากรที่มีอยู่แล้วทั่วประเทศไทย
เมื่อโรงเรียนเริ่มต้นขึ้น เด็กชายหญิงได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันแบบไม่แบ่งเพศ การจัดการศึกษาอย่างเป็นระบบจึงค่อยเป็นไปผ่านการให้ความรู้เพิ่มเติมกับพระที่เป็นอาจารย์ หรือนักเรียนที่จบไปมีความรู้แล้วกลับมาเป็นครูสอน สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงเรียบเรียงหลักสูตรการศึกษาเป็นระดับชั้นประถม มัธยม และอุดมศึกษา จากที่ทรงแลกเปลี่ยนความรู้จากอังกฤษและฝรั่งเศสผ่านการติดต่อจากความสัมพันธ์ส่วนพระองค์และพิธีทางการทูต ตอนนั้นเองที่ประเทศไทยเริ่มมีการเรียนการสอนวิชาอย่างตะวันตก อย่างวิชาสายวิทยาศาสตร์ วิชาแปรธาตุหรือเคมี หรือภาษาต่างประเทศอย่างอังกฤษ บาลี หรือฝรั่งเศส
“การศึกษาคือการให้เด็กวัดและเด็กบ้านเป็นผู้เป็นคน” วลีที่เป็นหัวใจสำคัญของระบบการศึกษา ซึ่งชี้ให้เห็นว่าในองค์ความรู้ด้านวิชาชีพ คือวิชาการดำรงชีพ และวิชาอาชีพ เพื่อทำมาหากินแล้ว ยังต้องมีวิชาจรรยา คือวิชาความประพฤติจากครูผู้สอนซึ่งเป็นพระ เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้เป็นคน และสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข
สืบเสาะรากฐานการศึกษา ผ่านหน้ากระดาษ
พื้นที่หอจดหมายเหตุแห่งนี้เป็นห้องสมุดรวบรวมหนังสือและสื่อด้านพระพุทธศาสนา และวโรกาสสำคัญพิเศษครั้งนี้ยังมีการจัดแสดงเอกสารโบราณ พระนิพนธ์ และภาพถ่ายโบราณ บอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 ยาวจนถึงจวบจนสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ตั้งแต่เหตุการณ์จิปาถะ เรื่องราษฎร์ เรื่องหลวง จนถึงเรื่องราวระดับนานาชาติ ทั้งหมดแฝงด้วยพระนิสัยสนใจใฝ่รู้และรักการศึกษาผ่านการจดบันทึก
ภาษา คือหนึ่งในเรื่องราวความสนพระทัยของพระองค์ บทบันทึกเอกสารโบราณที่ถูกจัดแสดงจึงมีทั้งในภาษาไทยแบบโบราณ และภาษาต่างประเทศ ทั้งที่เรารู้จักกันดีอย่างภาษาฝรั่งเศส ขอม สันสกฤต อาหรับ หรือแม้กระทั่งอักษรทรงประดิษฐ์ใหม่โดยรัชกาลที่ 4 อย่างอักษรอริยกะ สำหรับสื่อสารภาษาบาลี ซึ่งแต่เดิมสื่อสารกันด้วยอักษรขอม ก่อนที่อักษรอริยกะจะหายไป แล้วถูกแทนที่ด้วยการเขียนแบบการยุต ด้วยการใส่ไม้ทัณฑฆาตท้ายเสียงที่ไม่ใช้ และการเขียนแบบนิคหิต-พินทุ อย่างตะวันตก เช่นในปัจจุบัน ตามลำดับ
พระอัจฉริยภาพด้านภาษาถูกบันทึกบนหน้ากระดาษผ่านหลากหลายเหตุการณ์ อย่างเรื่องราวจุดเริ่มต้นเหตุการณ์ในสังคม เช่นในปี 2456 ที่เริ่มมีการพระราชทานนามสกุล สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ก็ทรงเป็นหนึ่งในผู้พระราชทานนามสกุลให้กับประชาชน เช่น คอมันตร์ เหราบัตร์ หรือพวงพุ่ม โดยยุคนั้นถือเอาที่อยู่อาศัย อาชีพ หรือชื่อปู่ชื่อพ่อเป็นทางตั้งต้นสำหรับการตั้งนามสกุล
ความปรีชาสามารถด้านภาษาอีกประการของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส คือสามารถขยายอรรถที่ลึกให้ตื้นเข้า ที่แคบให้กว้างที่ยืดยาวให้ย่อแบบได้ใจความเท่าเกือบเท่าแบบเดิม ดังที่เห็นได้จากที่ทรงเป็นผู้ริเริ่มรจนาพุทธศาสนสุภาษิต คัมภีร์มหาวงศ์ พงศาวดารลังกา ที่ทรงสรุปย่อให้กับรัชกาลที่ 5 สำหรับศึกษาระหว่างทางเสด็จพระราชดำเนินเยือนกรุงลังกา ก่อนเสด็จประพาสยุโรป หรือพระนิพนธ์ ประวัติพระสาวกที่กระจัดกระจายตามคัมภีร์ต่าง ๆ ก็ทรงจับมารวบรวม แต่งเป็นหนังสือชื่อว่า ‘อนุพุทธประวัติ’ สำหรับนักธรรมตรี นักธรรมโท ให้ศึกษาได้อย่างสะดวกสบาย
นอกจากหนังสือที่เป็นบันทึกในด้านวิชาการแล้ว ที่หอจดหมายเหตุแห่งนี้ยังจัดแสดงบันทึกการทำงานของคณะสงฆ์ในอดีตที่ออกตรวจตราวัดในต่างจังหวัดอีกด้วย โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ทรงรับมอบหมายให้ดูแลงานคณะสงฆ์ในภาคใต้ บันทึกโบราณจัดแสดงให้เห็นถึงกิจการทำงานที่ไม่ได้จำกัดเพียงแค่การศาสนา แต่ยังรวมถึงกิจด้านราชการ อย่างบริบทประวัติศาสตร์ การเกษตรกรรม ภาษีอากร ไปจนถึงคดีความ สำหรับถวายรายงานต่อรัชกาลที่ 5 ต่อไป
เรื่องราวเกร็ดความรู้ทั้งในทางสงฆ์ ทางทั่วไป รวมถึงเรื่องราวปกิณกะในชีวิตประจำวันทั่วไป ก็ทรงจดลงในกระดาษทั้งเป็นบันทึกส่วนพระองค์ และสำหรับสั่งการทำงาน รวมทั้งจดหมายที่ทรงติดต่อกับการต่างประเทศ ทั้งในทางเป็นส่วนตัวอย่างการติดต่อกับลูกชายของหมอบรัดเลย์ซึ่งเป็นอาจารย์ด้านภาษาศาสตร์อยู่ที่ University of California, Berkeley ในการปรึกษางานด้านวิชาการ หรือเอกสารติดต่อสัมพันธ์กับศาสตราจารย์ที.ดับบลิว.รีส เดวิดส์ แห่ง Royal Asiatic Society ในลอนดอน ในเรื่องการแลกเปลี่ยนความรู้และขอความช่วยเหลือ ก็ทรงส่งจดหมายพูดคุยอย่างสม่ำเสมอและถูกจัดเก็บไว้เป็นอย่างดี
เรียกว่าสิ่งทรงบันทึกตลอดช่วงชีวิต และเอกสารบันทึกโบราณที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ ครอบคลุมตั้งแต่ครั้งยังทรงมีชีวิตอยู่ กระทั่งไปจนถึงการจัดการภายหลังการการสิ้นพระชนม์ ถูกนำมาจัดแสดงที่นี่ โดยนอกจากจะเป็นการเล่าเรื่องส่วนพระองค์ผ่านทางบันทึก ลายพระหัตถ์แล้ว ยังเป็นการจัดแสดงให้เห็นวิวัฒนาการของจดหมาย โทรเลข บัตรฎีกานิมนต์ บัตรฎีกาหลวง รวมทั้งตราสัญลักษณ์ในเมืองไทย ที่เกิดขึ้นจริงและยังคงมีชีวิตเพื่อบอกเล่าเรื่องราวให้ผู้คนรุ่นหลังต่อไป
ความถนอมเวลา เป็นหนึ่งในตัวบทที่ทรงบันทึกไว้ว่า เวลาเป็นของมีค่า อาจอนุมานได้เช่นเดียวกับการดื่มด่ำกับคุณค่าของช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ที่ถูกปลุกให้มีชีวิตผ่านทางการตามรอยพระบาท งาน ‘พระมหาสมณานุสรณ์’ 100 ปีแห่งการสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ในครั้งนี้ก็เป็นได้
(นิทรรศการในอาคารกวีบรรณาลัย และอาคารมนุษยนาควิทยาทาน ใน วัดบวรนิเวศวิหาร เปิดให้เข้าชมวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.00 น.-17.00 น.)
ข้อมูล :
พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดบวรนิเวศวิหาร
ดร. ศรัณย์ มะกรูดอินทร์ อาจารย์ประจำมหามกุฎราชวิทยาลัย
เรื่อง ณัฐนิช ชัยดี
ภาพ อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม, นวชา ธรรมลักษมีบุญ
อ่านเพิ่มเติม ชมภาพบรรดาวัดที่มีความสวยงามจากทั่วโลก