มัมมี่ เหล่านั้นทอดร่างอยู่ในถํ้าหลายแห่งบน หมู่เกาะคะแนรี ความเป็นมานั้นเล่ายังเป็นปริศนา บัดนี้ นักวิทยาศาสตร์กําลังใช้ เครื่องมือไฮเทคต่างๆ ศึกษาผู้เฝ้ารักษาประวัติศาสตร์เหล่านี้ เพื่อไขปริศนาว่า การตั้งถิ่นฐานบน หมู่เกาะคะแนรีเกิดขึ้นได้อย่างไร
จากทางเดินเลียบหน้าผาที่ทอดลงสู่ทะเล ไกลออกไปราวสี่กิโลเมตร ฉันหยุดเดิน จุดนี้นี่เอง ถ้ำซึ่งแทบมองไม่เห็นทางเข้า ฉันเงยหน้ามองผาหินตระหง่านเบื้องหน้า รู้สึกเหมือนกำลังถูกจ้อง มองกลับราวกับจะเชิญชวนให้เข้าไปสำรวจความเร้นลับข้างใน นั่นคือถ้ำหลายร้อยถ้ำที่ก่อตัวขึ้น จากธารลาวาของภูเขาไฟเตย์เดตลอดหลายร้อยปี ถ้ำสักแห่งจากถ้ำเหล่านี้อาจเป็นจุดหมายของเรา ได้ทั้งนั้น เพราะที่นี่ประวัติศาสตร์ยังมิได้จารจารึก
ภายในโกรกธารแห่งนี้ทางใต้ของเกาะเตเนรีเฟ ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะคะแนรีของสเปน นายร้อยทหารราบและข้าหลวงชาวสเปนชื่อ หลุยส์ โรมัน พบถ้ำอันน่าตื่นตะลึงแห่งหนึ่งเมื่อปี 1764 บาทหลวงท้องถิ่นและนักเขียนร่วมสมัยบรรยายสิ่งที่ค้นพบไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ของหมู่เกาะ “ในสักการสถานอัศจรรย์แห่งหนึ่งที่เพิ่งค้นพบ” โฆเซ บิเอรา อี กลาบีโฆ เขียนไว้ “มีมัมมี่จำนวนมหาศาลนับได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งพันร่าง” และตำนานเกี่ยวกับ “ถ้ำพันมัมมี่” ก็เกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้
เตเนรีเฟคือเกาะสุดท้ายในกลุ่มเกาะที่ตกเป็นของอาณาจักรคาสตีลนับจากปี 1494 มีลา อัลบาเรซ โซซา นักประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นและนักไอยคุปต์วิทยาท้องถิ่น คิดว่า เกิดความขัดแย้งรุนแรงในช่วงปลายศตวรรษที่สิบห้า เมื่อทหารต่อสู้กับมนุษย์ถ้ำจากยุคหินใหม่ “แต่ถึงอย่างนั้น คนเหล่านี้ก็เคารพผู้วายชนม์ ตระเตรียมผู้ตายให้พร้อมสำหรับการเดินทางครั้งสุดท้าย” อัลบาเรซ โซซา บอก “พวกเขารักษาสภาพศพของผู้ตายค่ะ”
ความสงสัยใคร่รู้เรื่องความตายทำให้ชาวอาณานิคมบันทึกพิธีกรรมการทำศพของชาวเกาะไว้อย่างละเอียด “นั่นคือสิ่งที่กระตุกความสนใจของผู้พิชิตชาวคาสตีลค่ะ” อัลบาเรซ โซซา บอก พวกเขารู้สึกทึ่งเป็นพิเศษกับกระบวนการดองศพ หรือ มีร์ลาโด ที่เตรียมเหล่า ฮาโฮ หรือมัมมี่กวนเช ให้พร้อมสำหรับชีวิตนิรันดร์
วิธีรักษาสภาพศพนั้นเรียบง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ อัลบาเรซ โซซา บอกว่า “ศพจะได้รับการทาด้วยสมุนไพรแห้งและไขมันสัตว์ แล้วนำไปตากแดดให้แห้งก่อนรมควันด้วยไฟ” การเตรียมฮาโฮใช้เวลา 15 วัน เมื่อเทียบกับ 70 วันในการเตรียมมัมมี่อียิปต์ (ทำให้แห้งตามธรรมชาติโดยใช้เกลือเนตรอน 40 วัน จากนั้นแช่น้ำมันและเครื่องเทศ 30 วัน ก่อนยัดศพด้วยฟางหรือเศษผ้า และพันด้วยผ้าลินิน) ความแตกต่างสำคัญอีกประการก็คือ ข้อมูลจดหมายเหตุต่างๆระบุว่า ผู้หญิงบนหมู่เกาะคะแนรีมีส่วนในกระบวนการเตรียมศพของสตรี ทั้งนี้ก็เพื่อความเหมาะสม
จากนั้นครอบครัวผู้วายชนม์จะนำฮาโฮไปบรรจุถุงที่เย็บอย่างประณีตด้วยหนังสัตว์ที่ฟอกแล้ว โดยปกติเป็นหนังแพะ การทำมัมมี่ไม่ได้มีเฉพาะบนเกาะเตเนรีเฟ เรายังพบมัมมี่บนเกาะกรันกานาเรียที่อยู่ใกล้ๆด้วย
“เรายังมีคำถามอีกมาก และมีตัวอย่างให้ศึกษาน้อยนิดค่ะ” มาเรีย การ์เซีย นักโบราณคดีและภัณฑารักษ์ประจำสถาบันมานุษยวิทยาชีวภาพในเมืองซานตากรุซเดเตเนรีเฟ บอก เธอจัดทำระเบียนประวัติ ระบุอายุ และที่มาของฮาโฮราว 30 ร่างในลิ้นชักของสถาบันอย่างพิถีพิถัน ฮาโฮที่หลงเหลืออยู่เหล่านี้พบโดยนักเดินป่าและคนเลี้ยงแกะในที่ต่างๆบนเกาะเตเนรีเฟ ดังนั้น คำถามที่ยังค้างคาอยู่ก็คือ เกิดอะไรขึ้นกับ ‘พันมัมมี่’ หรือว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องลวงโลก
“นี่คือการปล้นอย่างเป็นระบบค่ะ” การ์เซียเอ่ยออกมาตรงๆ “ในช่วงศตวรรษที่สิบเจ็ดและสิบแปด มัมมี่คือสิ่งดึงดูดสำหรับชนชั้นวัฒนธรรมในยุโรป ฮาโฮของเราเดินทางรอบโลกเพื่อไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์และคลังสะสมส่วนบุคคล และบางส่วนถึงขั้นถูกบดเป็นผงเพื่อใช้เป็นยาบำรุงกำลังทางเพศด้วย”
ในปี 1764 มัมมี่ถูกส่งลงเรือไปมาดริดเป็นบรรณาการถวายพระเจ้าชาร์ลส์ที่สาม เพื่อให้ราชสำนักสเปนได้เห็นงานฝีมือของชาวกวนเชในการส่งผู้วายชนม์ไปสู่ชีวิตนิรันดร์ ในปี 1878 มัมมี่ได้รับการจัดแสดงในงานนิทรรศการโลก ณ กรุงปารีส ก่อนส่งกลับมาดริด และคงอยู่ต่อมาอีกกว่าหนึ่งร้อยปีในสถานที่ที่ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาแห่งชาติ จากนั้นในปี 2015 จึงย้ายมายังที่พำนักปัจจุบัน นั่นคือพิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งชาติในมาดริด คืนหนึ่งเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2016 มัมมี่ถูกนำออกไปทำซีทีสแกนที่โรงพยาบาลใกล้ๆ ภายใต้การรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
“เรามีผลซีทีสแกนมัมมี่อียิปต์หลายร่างแล้วครับ” ฆาบิเอร์ การ์รัสโกโซ รองหัวหน้าแผนกรังสีวิทยาของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยกีรอนซาลุดในมาดริด ซึ่งเอื้อเฟื้อเทคโนโลยีในการศึกษามัมมี่กวนเช บอก ข้อมูลจากการสแกนหักล้างสมมุติฐานที่ว่า มัมมี่เหล่านี้ถูกปล่อยให้แห้งตามธรรมชาติ และทฤษฎีที่ว่า กระบวนการทำมัมมี่กวนเชได้มาจากอียิปต์ ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 5,000 กิโลเมตร
โรซา เฟรเฆล นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลาลากูนาในเตเนรีเฟ ซึ่งศึกษาประชากรยุคต้นของเกาะมาหลายปี ใช้เทคนิคการหาลำดับดีเอ็นเอล่าสุดกับมัมมี่ 40 ร่างที่เหลือ ข้อค้นพบสอดคล้องกับการทดสอบก่อนหน้านี้ จึงมั่นใจได้ว่ามัมมี่เหล่านี้เป็นเครือญาติกับชาวแอฟริกาเหนือ แสดงว่าผู้ตั้งถิ่นฐานยุคแรกๆมาจากภูมิภาคมาเกร็บ หรือดินแดนตอนเหนือสุดของทวีปแอฟริกาที่อยู่ติดทะเล เมดิเตอร์เรเนียน แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขามาจากที่เดียวกันหรือมาในเวลาเดียวกัน “เราพบว่าประชากรในแต่ละเกาะล้วนมีลักษณะเฉพาะเป็นของตัวเองค่ะ” เธออธิบาย
โฆเซ ฟาร์รูเฆีย เด ลา โรซา อาจารย์ด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลาลากูนาในเตเนรีเฟ บอกว่า เจ็ดในแปดเกาะมีการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยก็ในช่วงหนึ่งพันปี ที่ผ่านมา ประชากรบนเกาะเหล่านี้มีลักษณะทางกายภาพเหมือนกัน และภาษาที่สาบสูญไปแล้วของพวกเขาก็พัฒนามากจากภาษาเบอร์เบอร์ของลิเบีย ฟาร์รูเฆีย เด ลา โรซา ยังชี้ด้วยว่า ภาพเขียนบนผนังถ้ำที่พบบนกลุ่มเกาะนี้มีลักษณะคล้ายที่พบในแถบเวสเทิร์นสะฮารา แอลจีเรีย และเทือกเขาแอตลาสของโมร็อกโก
เรื่อง เอมมา ลีรา
ติดตามสารคดี มัมมี่ที่เราไม่เคยรู้จัก ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมีนาคม 2565
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/541514