ชินชอร์โร มัมมี่ ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

ชินชอร์โร มัมมี่ ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

ชินชอร์โร กลางทะเลทรายในชิลี ซากศพมนุษย์ที่ได้รับการรักษาสภาพไว้อย่างพิถีพิถันเป็นสัญลักษณ์ของความภาคภูมิใจของคนท้องถิ่น แต่ภูมิอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลงกำลังคุกคาม มัมมี่ เหล่านี้

เมื่อปี 1917 ขณะที่นักโบราณคดีชาวเยอรมัน แม็กซ์ อูห์เลอ กำลังสำรวจชายฝั่งอันร้อนระอุของทะเลทรายแห้งแล้งที่สุดในโลกอยู่นั้น เขาบังเอิญพบกับกลุ่มซากศพมนุษย์ที่ดูแปลกประหลาด ใต้ดินสีกากีที่ขุดลึกลงไป เขาพบซากศพที่ทำให้ผิดรูปผิดร่างด้วยกิ่งไม้และต้นกก ส่วนหัวของศพตกแต่งด้วยวิกอย่างประณีตและหน้ากากดินเหนียวสีดำแดงแปลกตา

“หลายศพมีร่องรอยของบาดแผลหลังการตาย เช่นการเอาหัวปลอมมาใส่แทนที่ รอยแตกบนศีรษะที่มีการซ่อมแซมและใส่แขนขาทำจากฟางแทนแขนขาจริง” แม็กซ์ อูห์เลอเขียนไว้

เหล่ามนุษย์โบราณที่ค้นพบในทะเลทรายอาตากามาของชิลี ใกล้กับเมืองอาริกานี้ กลายเป็นที่รู้จักในนาม “มัมมี่ชินชอร์โร” ศพของคนเก็บของป่าล่าสัตว์เหล่านี้มาจากกลุ่มประชากรที่เคยเร่ร่อนอยู่ตามชายฝั่งทะเลของชิลีตอนเหนือและเปรูตอนใต้ตั้งแต่ราว 7,000 ถึง 1,500 ปีก่อนคริสตกาล จนเมื่อศพได้รับการขุดค้นขึ้นมาเพื่อทำการบันทึก แต่แล้วกลับถูกหลงลืมไปเป็นเวลากว่า 50 ปี

มัมมี่ , ชินชอร์โร
พิพิธภัณฑ์ซาน มิเกล ดิ อาซาปา ในอาริกา ประเทศชิลี เป็นแหล่งอนุรักษ์และวิจัยมัมมี่ชินชอร์โร โดยมัมมี่ที่จัดแสดงเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น พิพิธภัณฑ์ใหม่กำลังสร้างขึ้นในบริเวณใกล้เคียง รูปภาพโดย IVAN ALVARADO, REUTERS/ALAMY

ชนพื้นเมืองผู้เสียชีวิตมาช้านานแล้วเหล่านี้กำลังเป็นจุดสนใจเมื่อยูเนสโกประกาศให้ทั้ง มัมมี่ และถิ่นฐานชินชอร์โรในประเทศชิลีปัจจุบันเป็นมรดกโลกตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2021 พิพิธภัณฑ์ล้ำสมัยกำลังเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเพื่ออนุรักษ์และจัดแสดง มัมมี่ เหล่านี้ในเมืองอาริกา ซึ่งเป็นเมืองชายฝั่งเล็กๆที่ขึ้นชื่อเรื่องแหล่งโต้คลื่น ท่ามกลางภัยคุกคามจากกการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การได้รับสถานะมรดกโลกและการอนุรักษ์ อีกทั้งการท่องเที่ยวที่เป็นผลตามมาอาจช่วยกู้วิกฤติให้ มัมมี่ เหล่านี้ได้อย่างทันเวลา

ทำไมมัมมี่เก่าแก่ที่สุดในโลกถึงอยู่ในชิลี

แม้วัฒนธรรมการเก็บรักษาศพจะพบแพร่หลายตั้งแต่แถบแอฟริกาจนถึงเอเชีย แต่มัมมี่ชินชอร์โรซึ่งถือเป็นมัมมีเก่าแก่ที่สุดที่จงใจสร้างขึ้นนั้นนับว่าเก่าแก่ยิ่งกว่าธรรมเนียมการห่อพระศพฟาโรห์ในอียิปต์ไม่ต่ำกว่า 2,000 ปี อย่างไรก็ตาม มัมมี่เหล่านี้ไม่เป็นที่รู้จักเพราะไม่ได้ถูกฝังอยู่ในพีระมิดขนาดมหึมา หรือไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่สร้างจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่และมีความทะเยอทะยานอันสูงส่ง ตรงกันข้าม ชาวชินชอร์โรห่อหุ้มศพคนทุกชนชั้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะชนชั้นสูงด้วยเสื่อกก ก่อนนำไปฝังตื้นๆในพื้นดินอันแห้งแล้งด้วยความนอบน้อม

“สถานที่ส่วนใหญ่ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกเท่าที่เรารู้จักมักเป็นสิ่งก่อสร้างระดับอภิมหาโครงการอย่างมาชูปิกชู” เบอร์นาร์โด อาร์เรียซา นักมานุษยวิทยาสังกัดมหาวิทยาลัยตาราปากา ซึ่งเป็นหัวหอกในการเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นมกดกโลกของยูเนสโก กล่าว “ศพคนเก็บของป่าล่าสัตว์ไม่ได้อยู่ในที่ที่ผู้คนจะพบเห็น และแหล่งโบราณคดีเองก็ไม่มีอะไรเป็นที่สังเกต ไม่ได้โดดเด่นหรือใหญ่โตอะไร เลยไม่ค่อยมีใครพูดถึงหรือเป็นที่รู้จัก”

แม่น้ำคามาโรเนส, ทะเลทรายอาตากามา, ชิลี , ชินชอร์โร
แม่น้ำคามาโรเนสตัดผ่านกลางทะเลทรายอาตากามาในชิลี ภูมิภาคแห้งแล้งแห่งนี้คือที่ที่มัมมี่ชินชอร์โรถูกค้นพบครั้งแรกในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 รูปภาพโดย DE AGOSTINI, GETTY IMAGES

ชาวชินชอร์โรเริ่มทำมัมมี่ผู้วายชนม์มาตั้งแต่ 7,000 ปีก่อน ใกล้ๆกับหมู่บ้านคาเลตาคามาโรเนส ซึ่งเป็นหมู่บ้านประมงเล็กๆ อยู่ห่างจากเมืองอาริกาไปทางใต้ 100 กิโลเมตร หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ในหุบเขา มีแม่น้ำคามาโรเนสไหลผ่านลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก บริเวณนี้มีความเขียวขจีอย่างน่าประหลาดท่ามกลางภูมิประเทศสีจืดชืดของทะเลทรายอาตากามา ภายในเมืองมีหาดทะเลสีทอง ร้านอาหารพื้นเมือง และสุสานชาวชินชอร์โร

บนถนนเข้าสู่หุบเขาคามาโรเนสความยาว 32 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวจะได้พบกับสัญลักษณ์อันน่าตื่นตาของวัฒนธรรมในพื้นที่ นั่นคือประติมากรรมร่วมสมัยขนาดใหญ่หกรูป บางรูปสูงถึง 4 เมตร ประติมากรรมเหล่านี้มีไว้เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถจินตนาการภาพของมัมมี่ที่ยังถูกฝังอยู่ใต้พื้นดินสีน้ำตาลนั้นเอง

ในภูมิภาคแถบนี้เมื่อราว 5,050 ปีก่อนคริสตกาล ชาวชินชอร์โรได้พัฒนาเทคนิคการทำมัมมี่ที่นับว่าเก่าแก่ที่สุด ผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนทะเลทรายอาตากามาเหล่านี้จะถลกหนังของคนตายออก เอากล้ามเนื้อและอวัยวะภายในต่างๆออกไป ก่อนจะเปลี่ยนรูปทรงศพด้วยกิ่งไม้ หญ้ากก และดินเหนียว อาร์เรียซาให้เหตุผลว่า นี่เป็นการเพิ่มปริมาตรหรือเนื้อหนังมังสาให้โครงกระดูก ก่อนที่ช่างทำศพจะเย็บทุกอย่างเข้าด้วยกันโดยใช้หนังมนุษย์หรือหนังสิงโตทะเล

ชินชอร์โร
มันมี่เด็กชายวางบนเสื่อกกที่ใช้ในการประกอบพิธีฝังศพ
มัมมี่
ชาวชินชอร์โรใช้หน้ากากดินเหนียวและเศษไม้ในการประดับตกแต่งมัมมี่ รูปภาพโดย MARTHA SAXTON, NATIONAL GEOGRAPHIC IMAGE COLLECTION

จะไปดูมัมมี่ได้ที่ไหน

ถ้าอยากไปชมมัมมี่แห่งชินชอร์โร แนะนำให้ไปที่พิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุซาน มิเกล ดิ อาซาปา ในเมืองอาริกาซึ่งอยู่ทางเหนือของทะเลทรายอาตากามา เมื่องนี้มีเสน่ห์ดึงดูดนักเล่นกระดานโต้คลื่นมายังชายหาดสีน้ำตาลแดง คนที่ชอบประวัติศาสตร์ ที่นี่รุ่มรวยไปด้วยเรื่องราวของสมรภูมิรบแปซิฟิกสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ส่วนคนที่ชอบธรรมชาติ การเดินป่าในอุทยานที่มองเห็นภูเขาไฟน่าจะเป็นกิจกรรมที่ถูกใจ นับจากทศวรรษ 1980 อาริกายังเป็นบริเวณที่ค้นพบมัมมี่ชินชอร์โรจากยุคที่วัฒนธรรมมีความก้าวหน้าที่สุด (และใหม่ที่สุด) มัมมี่ส่วนใหญ่ได้รับการขุดค้นจากเนินเขาสีสนิมมอร์โร ดิ อาริกา ซึ่งตั้งเด่นเป็นสง่าด้วยความสูง 138 เมตรเหนือมหาสมุทรแปซิฟิก จากมัมมี่ทั้งหมดที่ขุดพบ มี 48 ร่างที่ถูกจัดแสดง ณ ตำแหน่งที่ขุดพบโดยสามารถชมผ่านพื้นกระจกของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นโคลอน 10

คู่รักกำลังชมวิวมหาสมุทรแปซิฟิกจากเนินมอร์โร ดิ อาริกา มัมมี่ชินชอร์โรหลายร่างค้นพบใกล้เนินเขาเตี้ยๆ แห่งนี้
รูปภายโดย OLIVER BOLCH, ANZENBERGER/REDUX

พิพิธภัณฑ์อาซาปาซึ่งเปิดมาตั้งแต่ ค.ศ. 1967 เป็นที่เก็บรักษามัมมี่ชินชอร์โรจำนวนมากที่สุดในโลก ศพถูกเก็บไว้ในตู้กรอบสีขาวคล้ายโลงศพฝาแก้ว บางศพมีขนาดเล็ก และตกแต่งจนคล้ายกับตุ๊กตา หลายศพดูไม่ต่างไปจากหุ่นไล่กาฮาโลวีนที่มีแขนเป็นกิ่งไม้กับหน้ากากชวนขนลุก

คอลเลคชั่นของพิพิธภัณฑ์มีมัมมี่อยู่ราว 300 ร่าง แต่ร้อยละ 90 อยู่ในพื้้นที่จัดเก็บเฉพาะที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศหรือระบบควบคุมความชื้น พิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าและติดตั้งระบบควบคุมความชื้นที่เหมาะสมกำลังอยู่ระหว่างก่อสร้าง โดยมีกำหนดเปิดในปี 2024

ทำไมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถึงเป็นอันตรายต่อมัมมี่
สภาพอากาศที่แห้งแล้งของอาตากามาช่วยถนอมรักษามัมมี่ชินชอร์โรมานับพันปี แต่บางศพผุพังอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยผิวหนังเริ่มย่อยสลายกลายเป็นเขม่าสีดำสีดำ นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้จุลินทรีย์เข้าทำลายคอลลาเจนของมัมมี่

ปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรงขึ้นทำให้ความชื้นในภูมิภาคเพื่มขึ้น ส่งผลอันตรายต่อมัมมี่ทั้งที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์และที่ยังอยู่ในทะเลทราย ชาวบ้านทางตอนใต้ของคาเลตา คามาโรเนสมักพบเห็นเศษเส้นใย กระดูก และเศษซากอื่นๆจากมัมมี่หลุดร่วงลงมาจากเนินเขาสีน้ำตาลอ่อนอยู่เสมอ นักโบราณคดีที่แหล่งขุดค้นชินชอร์โร แจนนินา แคมปอสกล่าวว่า “ทุกครั้งที่ฝนตก กระดูกดูราวกับสะพรั่งบานออกมาจากทะเลทราย ว่ากันว่าปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทุกๆ 100 ปี แต่เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเปลี่ยน จึงเกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้นทุกครั้ง”

ทุกครั้งที่ฝนตก แคมปอสจะทำระเบียนและบันทึกตำแหน่งที่พบมัมมี่ แล้วฝังร่างกลับลงในดินที่แห้งแล้ง แทนที่จะเคลื่อนย้าย “ทันทีที่คุณเอาวัตถุทางวัฒนธรรมนี้ออกมาจากพื้นดิน มันจะเริ่มเสื่อมสภาพ” เธอกล่าวและเสริมว่า จนกว่าพิพิธภัณฑ์ใหม่จะสร้างเสร็จเราก็ไม่มีที่ที่จะนำชิ้นส่วนไปเก็บรักษาไว้อยู่ดี

“พิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ที่มีสภาพแวดล้อมสมดุลจะส่งผลดีต่อการรักษาสภาพมัมมี่อย่างมากค่ะ” มารีเอลา ซานโตส ผู้รับผิดชอบงานด้านการอนุรักษ์และพิพิธภัณฑ์แห่งมหาวิทยาลัยทาราปากากล่าว เธอหวังว่าการรับรองของยูเนสโกจะช่วยเปลี่ยนดินแดนทางเหนือสุดของชิลีทั้งอาริกาและปารินาโคตาให้เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมแห่งใหม่

ผู้เขียน Mark Johanson นักข่าวผู้มีถิ่นพำนักในชิลีและรายงานเรื่องการท่องเที่ยว อาหารและวัฒนธรรม

ติดตามเขาได้ทาง Instagram และ Twitter

แปล นิธิพงศ์ คงปล้อง


อ่านเพิ่มเติม 100 อัศจรรย์ทาง โบราณคดี

โบราณคดี

Recommend